30 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ “เคนยา” ประเทศผู้ร่ำรวยที่สุดในแอฟริกาตะวันออก ที่กำลังมีปัญหากับ “โลกโซเชียลมีเดีย”
2
การเข้าซื้อทวิตเตอร์ของมหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของโลกอย่างอีลอน มัสก์ เป็นข่าวที่มีสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อคุณอีลอน ประกาศกร้าวว่า จะทำการปฏิรูปแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ยักษ์ใหญ่นี้ให้มีการแสดงความเห็นได้อย่างเสรี
ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาประจวบเหมาะอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อข้ามมาที่อีกทวีปของโลกในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก มีหนึ่งประเทศที่ตอนนี้กำลังมีประเด็นกับการแสดงความเห็นในโลกโซเชียลมีเดียเช่นกัน ประเทศนั้น คือ ประเทศเคนยา
โดยประเด็นสำคัญที่พวกเขากำลังถกเถียงกันอยู่ เป็นเรื่องของการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จ “เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเมือง” เพราะพวกเขากำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีกันในเดือนสิงหาคมปี 2022 แล้ว
ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สำคัญกับภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกด้วย เพราะ ประเทศเคนยาเองถือเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน และเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาค เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่ช่วยวางรากฐานของชาติ จนเกิดเป็นความได้เปรียบมากกว่าประเทศอื่น
ในบทความนี้ ทาง Bnomics จึงจะพาผู้อ่านทุกท่านไปติดตามเส้นทางการพัฒนาของประเทศเคนยา พร้อมทั้งปัญหาความขัดแย้งในประเด็นการใช้สื่อออนไลน์ ที่อาจจะมีพลังในการตัดสินหน้าอนาคตของประเทศเลยทีเดียว
📌 เคนยา ถิ่นฐานของมนุษย์ยุคแรก และศูนย์กลางทางการค้าของอาหรับ
เคนยาถือเป็นหนึ่งในดินแดนที่พบหลักฐานการอาศัยอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว โดยไม่ได้พบหลักฐานแค่เผ่าพันธุ์ Homo sapiens ที่เป็นเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ในยุคปัจจุบันเท่านั้น
1
แต่ยังมีหลักฐานการอาศัยอยู่ของ Homo habilis และ Homo erectus ที่เป็นญาติสนิทของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ซึ่งช่วงเวลาการดำรงอยู่ของทั้งสองเผ่าพันธุ์คาดว่า ย้อนกลับไปได้กว่าหลักล้านปีจนถึงหลายแสนปี ก่อนที่มนุษย์เผ่าพันธุ์ปัจจุบันจะมายึดครองความยิ่งใหญ่
1
ซึ่งเวลาล่วงเลยมา มนุษย์สมัยใหม่ก็เริ่มมีการแบ่งแยกตัวตนและภาษาของตัวเองอย่างช้าๆ ดินแดนของประเทศเคนยาก็เป็นดินแดนสำคัญ ที่มีมนุษย์หลายเผ่าพันธุ์เข้ามาตั้งถิ่นฐาน
แต่หากจะแบ่งแบบง่ายๆ ก็จะมีคนสองกลุ่มหลักที่มีความสำคัญที่สุด คือ กลุ่มคนที่พูดภาษา Nilotic (เข้ามาช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล) และกลุ่มคนที่พูดภาษา Bantu (เข้ามาใน สหัสวรรษที่ 1)
ที่บอกว่าสำคัญเพราะประชากรในเคนยาปัจจุบันส่วนใหญ่ก็มีรากฐานมาจากสองกลุ่มนี้ และอย่างกลุ่มคนที่พูดภาษา Bantu ก็ยังมีบทบาทที่พัฒนาวิถีชีวิตของคนเคนยาให้เปลี่ยนจากการล่าสัตว์ เก็บของป่า มาทำเกษตรกรรมมากขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น
ในยุคต่อมา เคนยาก็มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางการค้า ที่ได้รับความนิยมในการเป็นเส้นทางการพักเรือของชนชาติอาหรับ ที่มักจะนิยมหยุดเรือที่นี่มากกว่าที่จะล่องเรือต่อไปทางใต้ ซึ่งคือประเทศโซมาเลียในปัจจุบัน
โดยมีเมืองท่าสำคัญ ที่ในปัจจุบันก็ยังคงดำรงตัวตนในฐานะเมืองท่าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค อย่างเมือง Mombasa
และการเข้ามาของอาหรับเพื่อทำการค้าขาย ยังทำให้เกิดการพัฒนา “ภาษา Swahili” ซึ่งมาจากคำว่า “ชายฝั่ง” ในภาษาอาหรับ
ซึ่งในปัจจุบันภาษา Swahili ยังคงถูกใช้เป็นภาษาราชการควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษด้วย
(เกร็ดความรู้: คำว่า Hakuna Matata ซึ่งเป็นเพลงในหนัง The Lion King เป็นภาษา Swahili แสดงการส่งผ่านของวัฒนธรรมของแอฟริกาไปสู่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์)
📌 การเข้ามาของชาติมหาอำนาจตะวันตก
พื้นที่บริเวณประเทศเคนยา ถูกรู้จักในฐานะที่เป็นเมืองท่าและเส้นทางการค้าที่สำคัญ และความหลากหลายของประชากร จากที่มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนต่างๆ มาตลอด จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การเข้ามาของมหาอำนาจตะวันตก
ประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกที่เข้ามาสู่เคนยาประเทศแรก คือ ประเทศโปรตุเกส จากเข้ามาสำรวจของ Vasco da Gama ในปี ค.ศ. 1498
ซึ่งเริ่มแรก โปรตุเกสก็เข้ามาเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ แต่ก็ยกระดับการรุกราน เข้ามาควบคุมเส้นทางการค้าชายฝั่งที่เป็นเส้นทางไปสู่ประเทศการค้าที่สำคัญอย่างอินเดีย
2
แต่ก็ถูกต่อต้านอยู่เสมอจากกลุ่มชนต่างๆ ในช่วงตลอดเวาที่โปรตุเกสพยายามควบคุมเส้นทางการค้าเส้นนี้ จนถูกยึดคืนได้เป็นช่วงๆ ในระยะเวลาเป็นร้อยปี
จนถึงในยุคต่อมา ที่เยอรมัน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส เริ่มให้ความสนใจกับภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกมากขึ้น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19
จึงได้เข้าไปแบ่งไปแพร่ขยายอำนาจกับประเทศต่างๆ โดยดินแดนเคนยาปัจจุบันก็ตกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหราชอาณาจักร ซึ่งดำเนินงานผ่านบริษัท East African
อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักร ก็ได้มีการวางรากฐานสำคัญให้กับประเทศเคนยาเช่นกัน เช่น
การสร้างพื้นที่สำหรับเพาะปลูกมากขึ้น โดยเฉพาะ การปลูกชาที่เป็นสินค้าที่มีความต้องการอย่างสูงในสหราชอาณาจักร ซึ่งก็ทำให้เคนยาเป็นผู้ปลูกชารายสำคัญคนหนึ่งของโลกมาจนถึงตอนนี้
และที่สำคัญอีกอย่าง ก็คือ การสร้างทางรถไฟเส้นทางสำคัญ ชื่อว่า “Kenya Uganda Railway” ที่ทางอังกฤษได้พาแรงงานจากอินเดียจำนวนมากเข้ามาก่อสร้างด้วย
1
นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟนี้ก็ยังช่วยผลักดันให้ “เมืองไนโรบี” ขึ้นมาเป็นเมืองหลวงของประเทศต่อมา เพราะเส้นทางรถไฟตัดผ่านเมืองนี้และก็เชื่อมไปจนถึงเมืองท่าด้านตะวันออกของประเทศ
หลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคของสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างสหราชอาณาจักรและเยอรมัน ที่เคยตกลงกันว่าจะแบ่งกันปกครองดินแดนคนละส่วน
แต่หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 เคนยาก็ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหราชอาณาจักร และคราวนี้เป็นในฐานะของประเทศอาณานิคมเต็มตัว
ซึ่งก็ดำเนินต่อมา จนกระทั่งมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราช โดยกลุ่มคนสำคัญที่ออกมาเรียกร้อง ถูกรู้จักกันในชื่อ “Mau Mau” ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวในช่วงประมาณปี 1950 – 1960
ที่แม้จะไม่สำเร็จด้วยกลุ่มตนเองทั้งหมด แต่ก็เป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ฝังแนวคิดเข้าไปในใจของประชาชนเรียบร้อย จนนำมาสู่เอกราชอย่างเบ็ดเสร็จของประเทศในปี 1963
📌 สภาพประเทศหลังจากได้รับเอกราช
หลังจากได้รับเอกราช ประเทศเคนยาก็เข้าสู่ช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้การนำของผู้นำคนแรก Jomo Kenyatta ที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเอกราชให้กับประเทศเช่นกัน
ซึ่งเศรษฐกิจที่เติบโตไปได้ดีนี้ ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณรากฐานการวางทางรถไฟ การเพาะปลูกที่ครองสัดส่วนแรงงานจำนวนมากของประเทศ และสภาพภูมิศาสตร์ที่ช่วยเชื่อมต่อการค้าจากประเทศในแอฟริกาไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะอินเดียและจีน
และอีกด้านหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมาเพิ่มเติม คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่เคนยามีอุทยานแห่งชาติและเขตสงวนล่าสัตว์ป่า (อนุญาตให้ล่าสัตว์เป็นกีฬา) จำนวนมาก
แห่งที่สำคัญก็เช่น อุทยานแห่งชาตินาไรบี ที่ตั้งอยู่แทบจะติดกับพื้นที่บริเวณตัวเมืองหลวง ทำให้มีภูมิทัศน์พิเศษอย่างยากที่จะมีเมืองหลวงไหนจะเหมือน เมื่อมีทั้งตึกระฟ้าและสัตว์ป่าในใกล้ๆ กัน
และอุทยานแห่งชาติ Masai Mara ที่ทุกปีจะมี “เหตุการณ์อพยพของฝูงสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (The Great Migration)” ที่ดึงดูดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศทุกปี
1
โดยโครงสร้างที่เป็นศูนย์กลางทั้งการค้า การเงิน และการท่องเที่ยวแบบนี้ ทำให้รายได้หลักของประเทศมาจากภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวด้วย
ซึ่งก่อนหน้านี้ภาพก็ดำเนินต่อไปได้ดีพอควร คุณภาพชีวิตของประชากรก็ยกสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไม่เพียงแต่สัตว์ป่าเท่านั้นที่อพยพเข้าสู่ประเทศ ประชากรในประเทศรอบข้างก็ต่างมองว่า เคนยาเป็นประเทศแห่งโอกาสและก็ย้ายเข้ามาใช้ชีวิตกันจำนวนมากเช่นกัน
คุณภาพชีวิตที่ดี ก็ผลักดันให้ประชากรชาวเคนยามีโอกาสในการไปเติบโตและได้รับการศึกษาในต่างแดนมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ก็คือ คุณพ่อของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ Barack Obama ที่ก็เป็นชาวเคนยา
1
แต่ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในเคนยาตอนนี้ มาจากความขัดแย้งทางด้านการเมือง ที่ในปีนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม
แต่มีรายงานออกมาว่า มีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเท็จ ซึ่งก็อาจจะดูไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจขนาดนั้นครับ แต่กลับเคนยากลับเป็นปัญหาที่น่ากังวลพอสมควร
เพราะข่าวสารเท็จที่ออกมาจำนวนหนึ่ง ได้สร้างการเหมารวมและแบ่งแยก พอเกิดกับประเทศที่มีความหลากหลายของกลุ่มชนจำนวนมากแบบเคนยา จึงทำให้เหตุการณ์แบบนี้เคยนำไปสู่ความรุนแรงมาแล้วในการเลือกตั้งปี 2007 และ 2008
หรืออย่างในตอนปี 2013 ที่แคมเปญหาเสียงของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Uhuru Kenyatta ใช้บริการของ Cambridge Analytica ซึ่งนำมาสู่ความตึงเครียดระหว่างชาติพันธุ์ไม่น้อย
ซึ่งบางคนก็ออกมากล่าวโทษว่า การที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ปล่อยปะละเลย ให้มีการโพสต์ข่าวสารพวกนี้ บางครั้งถึงขั้นยอมให้มีการซื้อโฆษณาด้วยซ้ำนี่แหละ เป็นต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้งครั้งนี้
ซึ่งไม่รู้เป็นเรื่องบังเอิญหรืออย่างไร ที่ทางอีลอน มัสก์ก็พึ่งประกาศซื้อทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่เผยแพร่ข่าวสารเท็จไปในเคนยาเช่นกัน
คุณมัสก์เริ่มประกาศออกมาเบื้องต้นแล้วว่า เขามีแผนจะปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่อย่างแน่นอน เรื่องที่พูดอย่างชัดเจนอย่างหนึ่งว่าจะทำคือ “การส่งเสริมให้มีการแสดงความเห็นอย่างเสรี”
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าแนวทางที่ว่านี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาที่ประเทศเคนยากำลังเจอ และทำให้ความขัดแย้งระหว่างผู้คนของเคนยาลดลงไปได้ไหม...
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ : Art of Safari

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา