Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คีตาแห่งสยาม
•
ติดตาม
1 พ.ค. 2022 เวลา 03:28 • หนังสือ
✴️ บทที่ 2️⃣ สางขยะกับโยคะ : ปัญญาจักรวาลกับวิธีเข้าถึงปัญญาญาณนั้น ✴️ (ตอนที่ 42)
🌸 โยคะ : โอสถบำบัดความสงสัย ความสับสน และการขาดความพอใจในปัญญาญาณ 🌸
⚜️ โศลกที่ 4️⃣5️⃣ ⚜️ หน้า 296 – 299
หน้า 296 – 299
โศลกที่ 4️⃣5️⃣
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
โอ อรชุน พระเวทยังเกี่ยวอยู่ด้วยองค์คุณสากลทั้งสาม จงละเสียจากตรีคุณนั้นและละธรรมสิ่งคู่❗ จงสงบอยู่เป็นนิตย์ ไม่คิดถึงการได้และการเก็บ จงมั่นคงอยู่กับตัวตนที่แท้แห่งตน
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
“พระเวทสรรเสริญและบูชาอำนาจอันทรงพลังของธรรมชาติ ซึ่งได้สําแดงรูปลักษณะนานาจากความเวียนวนสับสนขององค์คุณทั้งสามนั้น ทว่า ผู้ภักดีเอ๋ย จงอย่าเพิ่งใจไปที่วัตถุ แต่จงเพ่งสู่บรมวิญญาณ นำตนให้พ้นจากการเอาอารมณ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับภาพฝันแห่งธรรมชาติไม่ว่าในทางดีหรือร้าย จงมั่นคงอยู่กับธรรมชาติแท้จริงของเจ้า (นิตยสัตตวสถ) — สงบอยู่ภายใน อย่าให้องค์คุณ ทั้งสามและความเป็นสิ่งคู่ของคุณเหล่านั้นมารบกวน — เป็นอิสระจากข่ายมายาของความใคร่และความยึดมั่น จงหนักแน่นมั่นคงอยู่กับตัวตนอันประเสริฐแท้แห่งตน”
.
◾ พิธีกรรมภายนอก อาจทำให้ได้อำนาจ แต่ไม่ได้โมกษะ ◾
💥 โศลกนี้ชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติพิธีกรรมที่ไร้ประสิทธิภาพทางวิญญาณ หากเป็นการกระทําอย่างผิวเผิน แม้จะทำตามที่คัมภีร์บัญญัติแล้วอย่างเคร่งครัดสมบูรณ์ก็ตาม นอกจากการชำระชีวิตด้านในแล้ว ไม่มีอำนาจใดที่จะปลดปล่อยมนุษย์จากการเกิดใหม่ด้วยองค์คุณทั้งสาม —สัตวะ (การยกขึ้น) รชะ (การเคลื่อนไหว) และตมะ (การเสื่อม) ได้
พระเวทหลายคัมภีร์ได้ซ่อนความหมายเชิงสัญลักษณ์อันลุ่มลึกไว้ อย่างที่นักปราชญ์ผู้ผิวเผินไม่อาจมองเห็นได้ พร้อมกับมีนัยภายนอกเกี่ยวกับจารีตและพิธีกรรมเพื่อเป้าหมายทางโลก บางโศลกในคัมภีร์พระเวทเมื่อดูเพียงผิวเผินจะว่าด้วยวิธีการที่จะพัฒนาคุณลักษณะตื่นตัว (รชะ) ในมนุษย์เพื่อผลบางอย่าง เช่น ชัยชนะเหนือศัตรูในสงคราม หรือทำให้ชีวิตทางโลกมั่งคั่ง สุขภาพดี และมีความก้าวหน้า เป็นต้น ส่วนโศลกอื่น ๆ อาจพูดถึงการพัฒนาตมคุณ คือ อำนาจและการแสวงหาเพื่อบำเรอกิเลสและธรรมชาติฝ่ายของมนุษย์ ส่วนบางโศลกพูดถึงสัตตวคุณ การสร้างวัฒนธรรมอันดีงามของมนุษย์
🛑 คนทั่วไปที่เข้าใจพระเวทแต่เพียงผิวเผิน แล้วหลับหูหลับตาทำตามคำสอนอย่างไม่รู้ความจริง ว่ามนุษย์ที่มัวหมกมุ่นอยู่กับปรากฏการณ์ทางโลกขององค์คุณทั้งสามนั้น ต้องเวียนตายเวียนเกิดไปตามกำลังความอยากของตน อย่างเช่น ถ้าคนคนหนึ่งร่ายมนตร์พระเวทบางบทเพื่อชัยชนะเหนือศัตรู ถ้าเขาทำได้สำเร็จ ความสำเร็จนั้นจะฝังอยู่ในจิตทำให้เขาอยากมีอำนาจในอนาคตต่อ ๆ ไป ความอยากใน จิตใต้สำนึกนี้จะทำให้รชคุณในตัวผู้ภักดีเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเหตุโดยตรงที่จะทำให้เขาเกิดใหม่ สนองความปรารถนาที่ยังต้องการต่อ ๆ ไป ความปรารถนาใด ๆ ที่เกิดจากองค์คุณทั้งสามนี้ ไม่ว่าเกิดหนึ่งลักษณะ หรือมากกว่านั้น — การขึ้น กับ การเคลื่อน หรือ การเสื่อม — ล้วนผูกเขาไว้กับกงล้อแห่งการเกิดใหม่เรื่อยไป ๆ
🌟 คำ เวท หมายถึงความรู้ พระเวท หมายถึง “ทิพยสำแดง” (การเปิดเผยอันศักดิ์สิทธิ์) เป็นคัมภีร์ที่ชาวฮินดูนับถืออย่างสูงยิ่ง เป็นตำราว่าด้วยญาณปัญญาทั้งฝ่ายวัตถุและฝ่ายจิตวิญญาณ แรกสุด คัมภีร์นี้มุ่งหมายเพื่อการปลดปล่อยวิญญาณมนุษย์จากพันธนาการแห่งการเกิด ส่วนประการที่สองนั้นก็เพื่อสอนศิลปะการสร้างความสําเร็จในชีวิตทางวัตถุ แต่ผู้คนบางกลุ่มบางเหล่าหลับหูหลับตาบูชาพระเวท มองว่าบทบัญญัติทั้งหมดในพระเวทนั้น —ว่ากันตามตัวอักษร— เป็นบทบัญญัติศักดิ์สิทธิ์เพื่อการบรรลุโมกษะ ผู้รจนาคัมภีร์โบราณเหล่านี้ฉลาดพอที่จะกระตุ้นทำให้คัมภีร์นี้เป็นที่สนใจ ด้วยการเสนอวิธีสร้างความสำเร็จทางวัตถุซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนชอบกัน แล้วนำเขาเหล่านั้นให้เป็นไปตามหลักการสร้างวินัยในตน เพื่อการหลุดพ้นทางจิตวิญญาณในท้ายที่สุด 🌟
.
◾ คีตาแนะนำมนุษย์ให้ใช้ความสงบ ที่ไม่เจือความใคร่ ปลดปล่อยตนให้พ้นจากพันธนาการ ◾
🛑 “คีตา” หนทางอันเลิศสู่อิสรภาพ แนะนำผู้ภักดีให้ปลดปล่อยตนจากกิจกรรมที่จะเป็นเหตุแก่การเกิดใหม่ของคุณทั้งสาม และ มุ่งไปที่การทำสมาธิอย่างถูกต้อง เพื่อพัฒนาสหัชญาณที่ไม่เจือความใคร่ เมื่ออยู่ในภาวะหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ผู้ภักดีจะได้รับพรและคําแนะน่าอันเลิศโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เขาไม่จำเป็นต้องอ้อนวอน “พระเจ้า” ในธรรมชาติ ผู้จะอ้างเอากรรมของเขาเป็นค่าตอบแทน
✨ เมื่ออยู่กับความสงบอันเป็นผลโดยธรรมชาติของสมาธิลึก ผู้ภักดีที่จริงใจจะปลดปล่อยตนพ้นจากการกวัดแกว่งไปกับสิ่งคู่ ซึ่งอยู่คู่กับคุณทั้งสาม นั่นคือ ดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ ร้อน-เย็น ชอบ-ชัง เป็นต้น เมื่อมนุษย์ไขว่หาลักษณะหนึ่งเขาจะได้คู่ตรงข้ามตามมาอย่างอัตโนมัติ เขาเจ็บปวดเพราะรอคอยความสุข และผู้ที่มีความสุขก็กลัวจะสูญเสียสิ่งนั้นไป❗✨
🛑 จิตที่สงบมีดุลยภาพอย่างดีจะไม่หวั่นไหวไปกับความเจ็บปวดหรือความสุข เขาจึงเข้าถึงบรมสุขไร้การเปลี่ยนแปลงที่แฝงอยู่ในวิญญาณ ผู้หลงวัตถุรังเกียจปรัชญานี้ เพราะเขากลัวว่าชีวิตจะไร้รสชาติ ไร้สีสัน พวกเขายึดแพแห่งความหวังที่ล้วนแล้วด้วยมายาไว้จนเคยชิน อย่างไม่รู้เลยว่าความสุขแท้ที่ไม่มีวันหมดสิ้นนั้นอยู่ที่การปรับจิตเข้ากับธรรมชาติของวิญญาณซึ่งคงความสงบแท้ตลอดกาลด้วยการทำสมาธิ ซึ่งย่อมช่วยป้องกันจิตของเขาที่อยู่บนคลื่นความสุขความทุกข์ไม่ให้จมลงไปในความลึกล้ำแห่งความเฉยเมย
ความสุขชั่วครั้งคราวย่อมตามมาด้วยการสูญเสีย ซึ่งจะยิ่งทําให้เราทุกข์มากขึ้นไปอีก คีตาจึงแนะนำผู้ภักดีให้ปลดปล่อยตนจากความตื่นเต้นทั้งหลาย มีสมาธิอยู่กับธรรมชาติอันประเสริฐแห่งวิญญาณ
🌟 ยิ่งกว่านั้น อภิจิตแห่งวิญญาณควรแนบแน่นอยู่กับจิตจักรวาล ซึ่งไม่กระเทือนไปกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ผู้ภักดีจึงพึงละจากชีวิตที่ขึ้นอยู่กับความอยากและความยึดมั่น — พล่านอยู่กับการแสวงหาและยึดวัตถุ เขาควรมีเป้าหมายชีวิตอยู่ที่พระเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไข 🌟
.
◾ การตีความพระเวทตามหลักการโยคะ ◾
โยคีผู้ประเสริฐได้ตีความพระเวทและบัญญัติแห่งพระเวทในแง่จิตวิญญาณ และได้จัดแบ่งพระเวทเป็น ‘หมวดพิธีกรรม’ กับ ‘ความเร้นลับและความรู้เกี่ยวกับความเร้นลับเหล่านั้น’ ⏹️ร่างกายภายนอกกับศูนย์ประสาททั้งหลายที่กระตุ้นกิจกรรมทางอินทรีย์เปรียบได้กับ ‘พิธีกรรมตามพระเวท’ ⏺️ส่วนศูนย์ทิพย์ภายในและภาวะจิตที่สูง ๆ ขึ้นไปเปรียบได้กับ “หลักการแห่งโยคะ”
✨ โยคีทั้งหลายกล่าวว่า ผู้ภักดีที่อยู่บนเส้นทางสมาธิเพื่อการหยั่งรู้ อาตมันนั้น อยู่เหนือจิตสำนึกทางโลก นั่นคือผัสสอินทรีย์ และ กาย (พิธีกรรมตามพระเวท) เพ่งอยู่ที่จักระตามแนวไขสันหลังและปราณ (หลักการเร้นลับแห่งพระเวท) จากนั้นผู้ภักดีจะได้รับคำแนะนำให้ยกจิตพ้นไปจากการรับรู้บริเวณจักระก้นกบ กระเบนเหน็บ และ บั้นเอว (เปรียบได้กับพระเวทระดับล่างทั้งสาม ซึ่งว่าด้วยแง่มุมชีวิตฝ่ายวัตถุ) ให้เพ่งที่จักระลำตัว คอ ท้ายสมอง และจักระที่สมองใหญ่ (เปรียบได้กับฤคเวท ซึ่งเป็นพระเวทสูงสุดที่ว่าด้วยจิตวิญญาณ)★ ✨
★ในบรรดาพระเวททั้งสี่นั้น ฤคเวทเป็นคัมภีร์ดั้งเดิมเก่าแก่ที่สุด ปรัชญาและบทบัญญัติทั้งหลายแสดงถึงการวิวัฒน์จากการบูชาพลังธรรมชาติ จนถึงการบูชาบรมวิญญาณอันสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว —พรหมัน— จึงเป็นการวิวัฒน์จากการพึ่งอำนาจของ “พระเจ้าหลายองค์” มาเป็นการเป็นนายเหนืออาตมันของตน
โดยทั่วไปแล้ว ยอมรับกันว่า ยชุรเวท กับ สามเวท นั้นได้มาจากฤคเวท ▶️ยชุรเวทว่าด้วยพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นคู่มือสำหรับพราหมณ์ผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม ▶️สามเวทเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทสวดที่คัดสรร พร้อมกับสังคีตที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม ▶️อาถรรพเวทเกิดขึ้นในชั้นหลัง ส่วนใหญ่แล้วเป็นบทร่ายมนตร์กับสูตรการสยบพลังร้าย ๆ ทั้งหลาย เพื่อเอาใจชาวโลก ในบรรดาบทบัญญัติที่ปฏิบัติกันนั้น หลาย ๆ อย่างถือเป็นการเริ่มต้นศาสตร์การแพทย์ของอินเดีย
ปราชญ์ผู้มีทิพยญาณที่ไม่แค่อ่านความหมายผิวเผิน แต่ได้อ่านสาระแห่งพระเวท ประกาศว่าคัมภีร์เหล่านี้เป็นแหล่งความรู้มาอย่างไร้กาลเวลา ทั้งด้าน ฆราวาส ศาสนา ศิลปะ และวิทยาศาสตร์
{หมายเหตุผู้จัดพิมพ์} — ตัวอย่างเช่น ศังกราจารย์แห่งปุรี ผู้โด่งดัง คือพระเดชพระคุณท่านชคัทคุรุ สวามี ศรี ภารตี กฤษณะ ตีรถะ ได้พบว่าโศลกอาถรรพเวทสิบหกโศลกใน “คณิตสูตร” ซึ่งนักปราชญ์ชาวตะวันตกเห็นว่า “ไร้สาระทางปัญญา” นั้นแท้ที่จริงมีสูตรเด่นที่นำไปใช้กับคณิตศาสตร์ได้ในทุกสาขา ตั้งแต่เลขคณิตง่าย ๆ ไปจนถึงแคลคูลัส ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ประยุกต์ทุกรูปแบบ
(อ่าน Vedic Mathematics เขียนโดยพระเดชพระคุณท่านชคัทคุรุ จัดพิมพ์โดย Motilal Banarsidas, พาราณสี, 1965 เมื่อค.ศ. 1958 พระเดชพระคุณท่านชคัทคุรุ —ประธานโควรรธันมัฐ ที่เมืองบุรี และเป็นทายาททางจิตวิญญาณโดยตรงของท่านอาทิศังกราจารย์ ในยุคศตวรรษที่ 18— ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาโดยคำเชิญของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ตลอดสามเดือนที่อยู่ในอเมริกา ท่านได้แสดงปาฐกถาเกี่ยวกับอภิปรัชญาพระเวทกับคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยสำคัญ ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่ศังกราจารย์สาวกเดินทางไปในโลกตะวันตก)
(มีต่อ)
หนังสือ
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เล่ม 1 บทที่ 2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย