5 พ.ค. 2022 เวลา 18:29
บันทึกจากนี้ไป เกิดขึ้นเมื่อ 37 ปีก่อน ในวันที่แม่ของวิกิกับพี่พิม มีโอกาสได้ไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ( The Democratic People’s Republic of Korea-D.P.R.of Korea) หรือที่เรา ๆ รู้จักกันดีในชื่อประเทศเกาหลีเหนือ จากการไปดูงาน ตามคำเชิญของรัฐบาลด้านการศึกษาและวัฒนธรรม (สมาคมสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี)
อันที่จริง วิกิกับพี่พิมได้อ่านเรื่องราวที่แม่ได้จดบันทึกไว้ ตลอดการไปเยือนประเทศเกาหลีเหนือ (ขออนุญาติเรียกชื่อประเทศสั้นๆ) เป็นเวลา 19 วัน ได้ไม่นาน เนื่องจากวิกิผู้มีชีวิตติดซีรีส์ แนะนำแม่ให้ดูซีรีส์ “ปักหมุดรักฉุกเฉิน” หรือ “Crash Landing on You “
สหายผู้กองสุดหล่อ สามีแห่งชาติในอดีตของชาวเรา (ที่ปัจจุบันยุนเซรีได้ครอบครองหัวใจผู้กองไป จำพวกเราต้องหลีกทางและอวยพรอย่างเต็มใจ เพราะพวกเขาช่างเหมาะสมกันเสียนี่กระไร)…….กลับมากลับมา
1
หลังจากแม่ได้ดูสหายผู้กองจบ นอกจากอินกับความหล่อของผู้กองและอินกับบรรยากาศ เสื้อผ้า หน้าผม ของชาวเกาหลีเหนือในเรื่อง แม่จะบอกตลอดว่าเหมือนที่แม่เคยเห็น เคยเจอในเกาหลีเหนือเลย แม้วิกิจะบอกแม่ไปหลายหนว่า แม่แม่ นั่นมันฉากนะ!
ซีรีส์จบแต่แม่ไม่จบ
แม่สะบัดบ๊อบ (แม่ไว้ผมบ๊อบจริง ๆ ) พร้อมหันไปรื้อหาซองเอกสารที่แม่เก็บสมุดบันทึกเรื่องราวอันน่าสนใจของประเทศเกาหลีเหนือไว้ แม่บอกลูกต้องได้อ่าน ลูกจะรู้ว่ามันใช่เลย
เราสองคนพี่น้องเริ่มอ่านบันทึกของแม่ พร้อมกับคิดว่าน่าจะดี ถ้าเรารวบรวมสิ่งที่แม่เคยบันทึกไว้ด้วยลายมือ บนกระดาษสีเปลือกไข่ (จริง ๆ คงเป็นสีขาวมาก่อน) ลงบนไฟล์ดิจิตอล
เราสองศรีพี่น้องช่วยกันเรียงกระดาษจากสมุดบันทึกของแม่ เนื่องจากสมุดเริ่มเสื่อมสภาพตามกาลเวลา บางแผ่นหลุดออกมา สลับหน้ากันพอให้เราสนุกในการต่อจิ๊กซอว์
เราใช้เวลากันหลายสัปดาห์ ในการต่อจิ๊กซอว์บันทึกของแม่ เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการพิสูจน์อักษร เนื่องจากแม่จดบันทึกทับศัพท์ภาษาอังกฤษมากพอสมควร เราหวังว่าเราจะเรียบเรียงภาษาได้อย่างถูกต้อง ถ่ายทอดบันทึกของแม่ออกมาอย่างสละสลวย เสมือนเราได้ร่วมเดินทางไปกับแม่ด้วย……แม้ความจริงในเวลานั้นเรายังคงเป็นเพียงแค่เด็กประถม ที่สนใจแต่เล่นหมากเก็บและกระโดดหนังยางกันอยู่!
บันทึกของแม่ มีทั้งหมด 25 ตอน แต่ละตอนสั้นบ้างยาวบ้าง วิกิเดาว่าตามอารมณ์และความสนใจของแม่ปนๆกันไป เพื่อไม่ให้เสียเวลา เราไปรับอรุณพร้อมกันที่เปียงยางกันเลยค่ะ
บันทึกอรุณสงบที่เปียงยาง
เขียนเมื่อปี พ.ศ.2528
โดย วิ-พิม
มีฟองน้ำเป็นตัวเล่าเรื่อง…..เชิญทุกท่านอ่านตามอัธยาศัย
ตอนที่ 1 เกริ่นก่อนกรายถึง
ตอนที่ 1
เกริ่นก่อนกรายถึง
“กายกรรมเปียงยาง” ชื่อนี้คุ้นหูบ้างไหม?
กิตติศัพท์การโชว์กายกรรมชนิดหวาดเสียวจนหัวใจคนดูแทบหล่นลงไปที่ตาตุ่มของคณะจากเมืองเปียงยางอันเป็นเมืองหลวงของเกาหลีเหนือนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในบ้านเราในช่วงหลาย ๆปีที่ผ่านมา แต่ชาวภูธรอย่างฟองน้ำ มีโอกาสได้ชมเพียง”หนังตัวอย่าง” จากจอทีวีเท่านั้น ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะได้ไปนั่งใจเต้นดูจนถึง “ถิ่นเขา” ด้วยว่า เกาหลีเหนือยังไม่ได้เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเดินเตร็ดเตร่ชมบ้านชมเมือง….นอกเสียจากว่าเขาจะเชิญมา
“เจ้านาย” ของฟองน้ำ เป็นสาวน้อย (แต่แก่มากแล้ว)…เมื่อหลายปีมาแล้ว เขาได้อ่านหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่งโดยบังเอิญ ชื่อ “เกาหลี:เมืองแห่งอรุณที่แสนสงบ- La Coree:le martin calme” แล้วประทับใจจนอยากไปเที่ยว ตอนนั้น นายกำลังนั่งเบื่อ ๆ ง่วง ๆ อยู่บนรถไฟจากปารีสไปแฟรงเฟิร์ต (นายจะลงต่อเครื่องบินที่นั่นบินไปเยี่ยมพ่อแม่ทูนหัวที่เบอร์ลิน)
คุณลุงที่นั่งข้างหน้าผู้มีรูปร่างหนาแต่ผมบาง และใส่แว่นหนาเตอะคนนั้น คงจะขำและเวทนาที่เห็นนายนั่งตาปรือสัปหงกคำนับคุณลุงอยู่นับครั้งไม่ถ้วน คุณลุงจึงใจดี ยื่นหนังสือเล่มดังกล่าวให้นายยืมอ่านฆ่าเวลา นายอ่านไปไม่ถึงครึ่งเล่ม รถไฟก็ถึงจุดหมายปลายทางเสียแล้ว… รายละเอียดของหนังสือที่อ่านเป็นอย่างไร นายก็นึกไม่ออกแล้ว จำได้เพียงแต่ว่า เมืองเกาหลีนี้คงสวยสงบ น่าไปเที่ยวไปเห็นสักครั้ง
ด้วยเหตุนี้ นายจึงยินดีนักเมื่อทราบว่าจะมีโอกาสได้ไปเยือนเมืองในฝันด้วยตาตัวเอง ตามคำเชิญของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งเกาหลีเหนือ
ฟองน้ำเองก็ดีใจ เพราะแน่ใจร้อยเปอร์เซนต์ว่า นายจะต้องไม่ลืมพกพาฟองน้ำไปด้วยเช่นเคย ก็เราเป็นปาท่องโก๋กันนี่นา ถ้านายขาดฟองน้ำ นายจะเก็บพาสปอร์ต ตั๋วเรือบิน สะตุ้งสะตังค์ ตลอดจนเจ้าแท่งสีแดงสีส้มที่นายเอาไว้ทาปากเหล่านั้นไว้ที่ไหนกันเล่า?
ฟองน้ำเตรียมตัวเต็มที่ ค้นข้อมูลทุกวัน และขออนุญาติถ่ายทอดให้คุณๆได้อ่านเกี่ยวกับความเป็นมาของประเทศเกาหลีอย่างย่นย่อที่สุดว่า เป็นยังไง มายังไง ประเทศนี้จึงได้แบ่งเป็นเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ประเทศเกาหลีเคยเป็นอาณานิคมของจีนมานาน ระหว่างศตวรรษที่ 7-9 กษัตริย์เกาหลีในสมัยนั้น ได้พยายามรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น แต่ต่อมาก็ถูกพวกมองโกลยึดครองในศตวรรษที 13 และต่อมาก็กลับมาตกอยู่ในความปกครองของจีนอีก
ในต้นศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่จีนและญี่ปุ่นแข่งกันขยายอำนาจในคาบสมุทรเกาหลี เมื่อจีนแพ้สงครามญี่ปุ่น(ค.ศ. 1894- 1895) ญี่ปุ่นจึงยึดเอาเกาหลีมาเป็นประเทศในอารักขา และในค.ศ. 1910 ญี่ปุ่นก็ถือโอกาสผนวกเกาหลีเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนเสียเลยตั้งแต่บัดนั้น
ญี่ปุ่นส่งคนมาปกครองเกาหลี โดยพยายามเปลี่ยนโฉมเกาหลีให้เป็นแบบญี่ปุ่น ตามฟอร์มของผู้ชนะทั่ว ๆ ไป มีการออกคำสั่งให้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการ เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ และในโรงเรียนก็ให้ใช้ภาษาญี่ปุ่นในการเรียนการสอน และที่แน่นอนก็คือ นอกจากเอกราชแล้ว เกาหลีได้สูญเสียทรัพยากรอันมากมายให้แก่ญี่ปุ่น
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 พันธมิตรก็เข้ายึดครองเกาหลีแทน สภาพเมืองเกาหลีสะบักสะบอมเต็มที เพราะถูกพันธมิตรรุมทิ้งระเบิดไปทั่ว ฐานเป็นที่หลบซ่อนของทหารญี่ปุ่น
และแล้ว “ลมการเมือง” ก็ได้พัดพาให้เกาหลีต้องแบ่งประเทศออกเป็น 2 ส่วน ตามอิทธิพลของผู้ยึดครองในสมัยนั้น นั่นคือ ในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1948 ประเทศเกาหลีตอนเหนือ ซึ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียต ได้ประกาศตนเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (The Democratic People ‘s Republic of Korea หรือเรียกย่อๆว่า D.P.R.K. หรือ D.P.R.of Korea)
ในขณะที่ประเทศเกาหลีตอนใต้ ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศตนเป็นสาธารณรัฐเกาหลี (The Republic of Korea) ในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1948 โดยการสนับสนุนของ สหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติ ด้วยเหตุนี้ เรา ๆ ท่าน ๆ จึงได้รู้จักและเรียกเหล้าเก่าแต่แบ่งใส่ 2 ขวดใหม่นี้ตามประสาชาวบ้านว่า ประเทศเกาหลีเหนือกับประเทศเกาหลีใต้ โดยทั้งสองฝ่ายแบ่งเขตประเทศด้วยเส้นขนานที่ 38 และเซ็นสัญญากันที่ตำบลปันมุมจอม ที่จัดให้เป็นเขตแดนปลอดทหาร…….วันนั้นเซรีคงลอยไปไกลเกินเขตปลอดทหารสินะ:)
โซเวียตส่งทหารมาควบคุมเกาหลีเหนือ และได้เร่งจัดตั้งการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ขึ้น มีการชี้แนะยุยงให้ผู้นำเกาหลีที่ลี้ภัยอยู่ในจีนที่เคยทำสงครามกองโจรต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นให้กลับมาเป็นผู้บริหารประเทศ ผู้นำที่โดดเด่นในขณะนั้นมีนามว่า คิม อิล ซุง (12 เมษายน 1912- 8 กรกฎาคม 1994)
วันที่ 25 มิถุนายน 1950 เกิดสงครามเกาหลี เมื่อเกาหลีเหนือได้ยกทัพล้ำเส้นขนานที่ 38 บุกเข้ามาโจมตีเกาหลีใต้ สงครามเกาหลีนี้ คนเกาหลีจะเรียกว่า “สงครามอเมริกัน” เพราะเขาถือว่า สหรัฐเป็นผู้หนุนเกาหลีใต้ให้สู้รบกับเกาหลีเหนือ
สหรัฐได้ขอมติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ส่งทหาร 16 ประเทศรวมทั้งไทยไปร่วมรบในนามกองทัพสหประชาชาติ
สงครามเกาหลียืดเยื้ออยู่ 3 ปี และเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1953 เกาหลีทั้งสองฝ่ายจึงทำข้อตกลงสงบศึกกันที่ตำบลปันมุมจอม ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่คร่อมเขตแดนทั้งสองฝ่าย อยู่ห่างจากกรุงเปียงยาง 215 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงโซลเพียง 55 กิโลเมตร
ความบอบช้ำด้วยบาดแผลเรื้อรังจากพิษสงครามญี่ปุ่นและสงครามเกาหลี ทำให้เกาหลีเหนือปิดประเทศและเริ่มก่อร่างสร้างตัวใหม่ ด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูลของมิตรประเทศใหญ่ที่ขนาบอยู่สองข้างคือ จีนและรัสเซีย บวกกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีชื่อว่า “แนวคิดจูเช่” (Juche Idea) ทำให้เกาหลีเหนือมีรูปแบบของการพัฒนาประเทศและการปกครองที่เป็นแบบฉบับของตนเอง ซึ่งเขาเห็นว่าเหมาะสมกับการเริ่มต้นฟื้นฟูบูรณะประเทศจากเลขศูนย์ บุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้คือ ประธานาธิบดี คิม อิล ซุง นั่นเอง
คุณผู้อ่านหลายท่านอาจเคยได้ดูข่าวผ่านดาวเทียม เกี่ยวกับงานฉลองครบรอบ 40 ปี ที่เกาหลีปลดแอกจากญี่ปุ่น (1945-1985) ซึ่งจัดขึ้นอย่างใหญ่โตที่กรุงเปียงยาง ในการนี้โซเวียต มหามิตรประเทศ ได้ส่งนักแสดงกายกรรมกลางแจ้งมาร่วมฉลองถึง 50,000 คน!
และนั่นคือความเป็นมาอย่างย่นย่อที่สุดของประเทศเกาหลีเหนือ จากการสรุปแบบ “นักไม่ประวัติศาสตร์” อย่างฟองน้ำ!
ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า เกาหลีเหนือเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เลี้ยงตัวเองได้ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วเขาค้าขายกับประเทศจีนและโซเวียตเป็นหลัก เกาหลีเหนือเพิ่งจะเริ่มเปิดศักราชค้าขายกับประเทศทุนนิยมประมาณปี 1960 และหน่วยงานเอกชนของบ้านเราหลายแห่ง ได้มีการติดต่อการค้ากับประเทศนี้มากว่าสิบปีแล้วเช่นกัน
เข้าใจว่าคงจะเป็นราว ๆ ปี 1980 เป็นต้นมา ที่เกาหลีเหนือได้เริ่มแง้มประตูบ้าน และส่งคนออกมาเชื้อเชิญบุคคลฝ่ายต่างๆ ในประเทศเครือเสรีนิยม ให้เข้ามาชมความเป็นไปภายในบ้านของเขา ที่ได้รับการจัดและตกแต่งให้พออวดชาวโลกค่ายอื่นได้แล้ว
สำหรับประเทศไทยเท่าที่ทราบ ก็มีคณะสื่อมวลชนได้รับเชิญเข้าไปเมื่อปี 1980 และปี 1982 คณะผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดซึ่งนำทีมโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีในขณะนั้น ก็ได้รับเชิญไปเยือนเกาหลีเหนือเป็นต้น และขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ก็ทยอยกันไปชมบ้านเมืองเกาหลีเหนืออยู่เรื่อย ๆ ตามคำเชิญอย่างเป็นทางการของเขา
เหตุผลที่คณะของแม่มีโอกาสได้รับเชิญกับเขามั่ง ก็เพราะว่านโยบายของเกาหลีเหนือในปีนี้ (1985) คือการเชิญผู้สอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกให้มา “เบิ่งเกาหลีเหนือ” (แม่ของวิกิกับพี่พิมเป็นอาจารย์นั่นเอง)
รายการนี้ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบเชิญอาจารย์ด้านอักษรศาสตร์และสังคมศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาหลายๆแห่งได้ส่ง ศาสตราจารย์ ชา บอง จู หนึ่งในสามของรองประธานสมาคมมาเยือนประเทศไทยเพื่อเชื้อเชิญด้วยตนเอง ทางเกาหลีเหนือให้เราจัดคณะอาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ไปเยือนบ้านเขาจำนวน 15 คน ทั้งนี้ เราจะต้องรับผิดชอบค่าเดินทางเอง และเขาจะดูแลเราเองตลอดระยะเวลาที่เราอยู่ในประเทศเขา
หลังจากตอบรับคำเชิญของทางสมาคมแล้ว ประมาณ 10 วัน เราก็ได้รับร่างกำหนดการเดินทางที่ฝ่ายเกาหลีเหนือแจ้งมาอย่างละเอียด สัญญาณไฟเขียวจากเปียงยางบอกมาว่า โปรแกรมบางรายการคงจะต้องเปลี่ยนแปลงเมื่อคณะเราเดินทางไปถึงแล้ว และยังแจ้งด้วยว่า พวกเราจะต้องเดินทางไปปักกิ่งก่อนเพื่อทำวีซ่าเข้าเกาหลีเหนือ ทั้งนี้เพราะเราไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกัน การจะเข้าประเทศเกาหลีเหนือได้ก็โดยผ่านเพียงสองทาง คือผ่านจากปักกิ่งหรือไม่ก็ผ่านทางมอสโคว์เท่านั้น
จากข้อจำกัดนี้ ทำให้คณะของเราต้องขอความอนุเคราะห์จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เขาเชิญคณะเราดูงานด้วยเลยเพื่อไม่ให้เสียเที่ยว ซึ่งคำขอร้องของพวกเราก็ได้รับการตอบสนองด้วยดี โดยการประสานงานอย่างเปี่ยมประสิทธิภาพและเข้าอกเข้าใจของสถานทูตจีนที่กรุงเทพ
ก่อนออกเดินทาง บรรดาผู้ที่จะร่วมกัน “เปิดประตูเกาหลีเหนือ” ครั้งนี้ทั้ง 15 คน ก็ได้นัดหมายมาเจอกันเพื่อซักซ้อมความเข้าใจหลายประการก่อน แค่เห็นหน้าผู้ร่วมเดินทางซึ่งล้วนแล้วแต่คนคุ้นหน้ากันทั้งนั้น ฟองน้ำก็พอเดาได้ล่วงหน้าว่าทริปนี้คงสนุกแน่
เรามีผู้ที่ถูกอุปโลกให้เป็นหัวหน้าคณะเฉพาะกิจคือ “พี่ยะ” ผู้มีเอกลักษณ์อยู่ที่ส่วนเกินของพุง มี “คุณรุ่ง” ผู้สันโดษและมองโลกในแง่ดีเสมอ ผู้ถือคติ “ปลงเสียเถิด แม่จำเนียร” อยู่เรื่อย นอกจากนี้ยังมี “พี่แมว” ผู้ไม่ชอบกินปลาเลย (จริงๆ) มี “พี่จินต์” ผู้มีเสียงหัวเราะที่แสนจะมันในอารมณ์ มี “คุณหมอ” ที่ร้องเพลงด้วยเสียงทุ้มนุ่มละไมยิ่งกว่าเสียงแพรส่ายสะบัดบนทรายนิ่มของหาดหัวหิน
มี “คุณปุ้ม” ผู้ถือคติ “การนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด มี “คุณพึง” ผู้เข้าถึงธรรมะด้วยวิธีการออสโมซิส โดยการนอนและกางหนังสือธรรมะปิดหน้า พร้อมกับหลับตาทำสมาธิเข้าสู่ภวังค์ไปเลย มี”คุณชาย” นักประวัติศาสตร์ผู้ผันตัวเองไปเป็นนักมองเซรามิคในบางเวลา (เพราะฟองน้ำแอบเห็นคุณชายบรรจงห่อถ้วยกระเบื้องโบราณที่เพิ่งขุดพบในบ้านเราใส่กระเป๋าไปด้วย นายว่าคงจะเอาไปให้นักโบราณคดีที่ปักกิ่งพิสูจน์ว่าถ้วยนี้ทำในยุคไหนกันแน่)​
ผู้ร่วมเดินทางท่านอื่น ๆ ฟองน้ำจะขอแนะนำในลำดับต่อไป
1
เจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้าของเกาหลีเหนือที่กรุงเทพชื่อ คุณลอ ได้มีไมตรีแจกเอกสารน่ารู้เกี่ยวกับประเทศเกาหลีเหนือให้พวกเราอ่านล่วงหน้าปึกใหญ่ ทั้งยังแนะนำว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่าแขกของประเทศควรมีของขวัญเพื่อฝากมอบแด่ประธานาธิบดีและบุตรชายผู้เป็นทายาททางการเมืองของท่าน เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งมิตรภาพ
ของขวัญทุกชิ้นจากแขกที่มาเยือนอย่างเป็นทางการ จะถูกส่งไปเก็บไว้เป็นที่ระลึก ณ ตึกนิทรรศการมิตรภาพนานาชาติ ท่านมิได้เก็บเป็นสมบัติส่วนตัวแต่อย่างใด นี่ก็เป็นสิ่งที่คณะเราเต็มใจทำ เพราะธรรมเนียมไทยเรา จะไปเยือนเรือนชานใครก็ไม่ได้ไปมือเปล่าอยู่แล้ว
ในคณะของเรา มีผู้ที่เคยไปปักกิ่งมาแล้วสองคน คือพี่จินต์กับคุณชาย รายหลังนี้มีอีกฉายาหนึ่งซึ่งฟองน้ำไม่ทราบที่มาที่ไปว่า “องค์ชายสี่” พวกเรามอบภาระให้องค์ชายสี่ช่วยติดต่อกับสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ขอให้เขาจองโรงแรมที่ปักกิ่งวันไปถึง และจองตั๋วเรือบินจากปักกิ่งไปเปียงยางให้ด้วย
ทั้งนี้เนื่องจากการบินไทยไม่อาจจองให้ได้ เพราะสายการบินจีนคือ CAAC (Civil Aviation Administration of China) และสายการบินเกาหลีเหนือ ซึ่งผลัดกันบินมากรุงเทพเพียงอาทิตย์ละ 3 หนนั้น ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)
ทั้งสองสายนี้จึงจัดเวลาบินอย่างเป็นเอกเทศ การขอยืนยันเที่ยวบินและเวลาเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่แน่นอน และเครื่องที่ใช้บินเที่ยวปักกิ่ง-เปียงยางของทั้งสองประเทศ ก็จุผู้โดยสารได้เพียง 30-35 ที่ การที่คณะเราขอจองตั้ง 15 ที่ จึงยากที่จะได้ครบ สรุปคือเขาไม่ตอบกลับยืนยันที่นั่งให้เราเลย
เมื่อเป็นดังนี้ เราจึงต้องโทรเลขบอกสมาคมมิตรภาพที่ปักกิ่งว่า ถ้าไม่ได้ตั๋วเรือบินก็ขอจองตั๋วรถไฟให้ก็แล้วกัน….และหนึ่งวันก่อนการเดินทาง เราก็ได้รับเทเล็กซ์ตอบกลับจากสมาคมมิตรภาพว่า ได้จองโรงแรมให้เรา 2 คืน และจองตั๋วรถไฟให้ในวันที่ 24 สิงหาคม เพราะวันที่ 23 ที่เราต้องการนั้น ไม่มีรถไฟเดิน เป็นอันว่าชาวคณะจะต้องเตร็ดเตร่อยู่ปักกิ่ง 2 วัน 2 คืน จึงจะได้เดินทางเข้าเกาหลีเหนือ
คุณคงบ่นในใจแล้วสิว่า……ว้าเมื่อไหร่จะถึงเปียงยางซะทีหล่ะนี่ ฟองน้ำขออภัย….ที่จำเป็นต้องพาคุณแวะปักกิ่งก่อน
โปรดติดตามตอนต่อไป…….

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา