14 พ.ค. 2022 เวลา 04:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“แจกไฟล์ Excel การประเมินมูลค่าหุ้นแบบง่ายๆ ด้วยตนเอง สำหรับนักลงทุนหุ้นมือใหม่”
นักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นก้าวเท้าเข้าสู่วงการตลาดหุ้นอันสุดแสนผันผวน โดยเฉพาะผู้ที่พยายามศึกษา เรียนรู้ และเจริญรอยตามแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) ซึ่งมีแก่นของหลักการอันยึดถือกระบวนการลงทุนตามมูลค่าพื้นฐานหรือมูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ของหลักทรัพย์ที่เราสนใจจะนำเงินใส่เข้าไป
1
จากนั้นก็ปล่อยให้เงินค่อยๆทำงานไปเรื่อยๆ ตามผลประกอบการของบริษัทและมูลค่าพื้นฐานของกิจการที่เติบโตสูงขึ้นในอนาคต
เกริ่นนำอีกสักนิดว่าวิธีการคำนวณหามูลค่าพื้นฐานของหุ้นในบทความนี้ “เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่” ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นกระบวนการศึกษาเพิ่มพูนความรู้ ค้นหาตัวตน และ “อยากพัฒนาตนเองไปอีกขั้นด้วยการทดลองทำบางสิ่งซึ่งเป็นสิ่งสำคัญด้วยตนเอง”
อยากที่จะลองเชื่อมั่นและศรัทธาในแนวคิดหรือวิสัยทัศน์ในการคาดการณ์อนาคตด้วยตนเอง อยากที่จะควบคุมและกำหนดวิถีชีวิตนักลงทุนด้วยตนเองดูสักครั้ง ในโลกแห่งการเงินและการลงทุนนั้น การฝากชีวิตและความคิดไว้กับผู้อื่นเพียงอย่างเดียวคงไม่อาจทำให้เราเดินทางไปสู่เป้าหมายได้อย่างตลอดรอดฝั่ง
หากคิดเอง ลงมือทำเอง ล้มเอง และเจ็บเอง อาจเสียใจน้อยกว่าถูกคนอื่นผลักให้ล้มลงเป็นไหนๆ บทเรียนที่จะได้เรียนรู้หลังจากการล้มขมำนั้นมันช่างแตกต่างกันเสียเหลือเกิน เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการลงมือทำสิ่งสำคัญซึ่งจะกำหนดชะตาชีวิตในโลกการลงทุนด้วยตนเอง แน่นอนว่าคุณคงต้องเป็นผู้ที่ตอบคำถามนี้ “ด้วยตนเอง”
จุดเริ่มต้นของบทความชิ้นนี้ และไฟล์ Excel ที่แนบไว้เพื่อให้เพื่อนๆนักลงทุนมือใหม่ Download นำไปใช้งานกันได้อย่างง่ายๆ เกิดจากการที่ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือด้านการลงทุนเล่มหนึ่งชื่อว่า “Stock Lecture : ลงทุนหุ้นได้ในเล่มเดียว” โดยลงทุนศาสตร์ สำนักพิมพ์ 13357 Publishing
หากท่านใดอยากศึกษาเพิ่มเติมสามารถซื้อหามาอ่านได้ อยู่ในส่วนของบทที่ 9 “การประเมินมูลค่าหุ้น” ขอขอบคุณ "ลงทุนศาสตร์ - Investerest" ที่เป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในโลกการลงทุนสำหรับมือใหม่หลายๆคน รวมทั้งตัวผมเองด้วยนะครับ
เข้าเรื่องกันสักที ในไฟล์ Excel นั้นแบ่งการประเมินมูลค่าหุ้นออกเป็นสองส่วน สองวิธีการคือ การประเมินมูลค่าด้วยวิธีการ P/E และ PEG ซึ่งเป็นวิธีการพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก และได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกมากที่สุด
นั่นหมายความว่าหากเราคาดการณ์อนาคตได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากเท่าไร ค่าตัวเลขที่หยิบนำมาใช้คำนวณก็จะแม่นยำ และมีโอกาสเกิดขึ้นจริงได้มากเท่านั้น เหตุเพราะผู้คนส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการเดียวกัน แนวโน้มอนาคตจึงควรวิ่งไปในทิศทางที่คาดการณ์ไว้นั่นเอง
1
วิธีประเมินมูลค่าแบบ P/E นั้น หากเรารู้ กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) และ P/E ที่เหมาะสมในอนาคต เราก็จะรู้มูลค่าพื้นฐานของหุ้น [EPS*PE = มูลค่าพื้นฐาน]
วิธีประเมินมูลค่าแบบ PEG นั้น หากเรารู้ กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS), P/E และอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) ในอนาคต เราก็จะรู้มูลค่าพื้นฐานของหุ้น [(PE/CAGR*100)*EPS = มูลค่าพื้นฐาน]
สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยที่เจาะลึกถึงที่มา วิธีการ สูตรคำนวณ และความหมายของตัวเลขหรืออักษรย่อทางการเงินต่างๆขออนุญาตข้ามผ่านไปก่อน เนื่องจากอาจทำให้บทความนี้ยืดยาวน่าเบื่อจนเกินไป อีกทั้งเรื่องดังกล่าวผู้อ่านที่สนใจนั้นสามารถศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองได้อย่างไม่ยากเย็นเกินไปนัก
ในไฟล์ Excel ผู้เขียนพยายามออกแบบมาให้นักลงทุนมือใหม่ใช้งานได้ง่ายที่สุด แต่แน่นอนว่ามันคงไม่ง่ายดายจนคุณไม่ต้องทำอะไรเลยขนาดนั้น ยังมีค่าตัวเลขอีกหลายตัวที่คุณจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานด้านการลงทุน การเงิน การบัญชี ธุรกิจ และเศรษฐกิจในภาพรวมอยู่บ้าง เพื่อที่จะนำชุดความรู้และข้อมูลที่คุณมีมาวิเคราะห์ คาดการณ์ ประเมินสถานการณ์ จนได้ค่าตัวเลขที่เหมาะสม
จากนั้นจึงนำตัวเลขนั้นๆมาใส่ลงในไฟล์ Excel เพื่อทำการคำนวณหาสิ่งที่เราต้องการเป็นลำดับถัดไป เรามาค่อยๆดูกันไปทีละส่วนนะครับ
1
จากไฟล์ Excel มีรายละเอียดดังนี้
1
“Current EPS” คือ กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ณ ปัจจุบัน คุณสามารถหาตัวเลขนี้มาใส่ได้ง่ายๆ โดยดูจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
1
“EPS Growth” คือ อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้นแบบทบต้นเฉลี่ยต่อปี นับจากปัจจุบันไปในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า คุณจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ คาดการณ์ และประเมินสถานการณ์ต่างๆในอนาคตเพื่อค้นหาค่าตัวเลขที่เหมาะสม และนำมาใส่ในช่องนี้ด้วยตนเอง
2
“Future EPS” คือ กำไรสุทธิต่อหุ้นในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า เป็นผลจากการผูกสูตรคำนวณระหว่าง EPS ในปัจจุบัน กับอัตราการเติบโตของ EPS แบบทบต้นเฉลี่ยต่อปี
4
“Forward P/E” คือ ค่า P/E ที่เหมาะสม ขอย้ำว่านี่คือค่า P/E ที่ “คุณคิดว่าเหมาะสม” ไม่ใช่ P/E ที่ปรากฏอยู่ในงบการเงินของบริษัท คุณต้องวิเคราะห์ คาดการณ์การเติบโต ความแข็งแกร่งของกิจการ และสภาวะอุตสาหกรรมของบริษัทนั้นๆด้วยตนเอง
“Future Value” คือ มูลค่าหุ้นพื้นฐานหรือมูลค่าที่แท้จริง ที่เหมาะสมในอนาคต นับจากปัจจุบันไปอีกใน 3 ปีข้างหน้า เกิดจากผลคูณระหว่าง “Forward P/E” และ “Future EPS”
“Expected Return” คือ อัตราผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยต่อปีที่คุณคาดหวังว่าจะได้รับจากการลงทุนในหุ้น หากน้อยเกินไปก็ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญและเวลาที่สูญเสียไปกับการวิเคราะห์หาข้อมูลต่างๆ แต่หากมากเกินไปจนไม่สมเหตุสมผลก็ยากเย็นที่จะทำตามแผนการให้สำเร็จได้ในความเป็นจริง
“Present Value” คือ มูลค่าหุ้นพื้นฐานที่เหมาะสมในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการคิดลดมูลค่าพื้นฐานในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้าด้วยผลตอบแทนที่คาดหวัง ให้ย้อนถอยหลังกลับมา 3 ปี จนกลายมาเป็นมูลค่าที่เหมาะสมในปัจจุบันนั่นเอง
“Margin of Safety” คือส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย มีไว้เพื่อเป็นเกราะป้องกันและลดความเสี่ยง อันเกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาดหุ้นและความผิดพลาดจากอคติการตั้งสมมุติฐานอันไม่สมเหตุสมผลของตัวคุณเอง เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) เคยกล่าวไว้ว่า บทบาทสำคัญของส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยคือ ทำให้การคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น
“CAGR” ย่อมาจาก “Compound Annual Growth Rate” คือ อัตราการเติบโตแบบทบต้นเฉลี่ยต่อปี ณ ที่นี้ใน Excel คือการทบต้นเฉลี่ยต่อปีไปอีก 3 ปีข้างหน้า จริงๆแล้วมันคือตัวเลขค่าเดียวกับ EPS Growth นั่นเอง
“Suitable PEG” คือ PEG ที่เหมาะสม เป็นการคำนวณหาค่าระหว่าง P/E และอัตราการเติบโตทบต้นเฉลี่ยต่อปีในอนาคต แน่นอนว่าเป็นอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้าอีกเช่นกัน
“Present P/E” คือ P/E ในปัจจุบัน สามารถหาตัวเลขนี้มาใส่ได้จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเช่นกัน
“PEG” คือ ผลลัพธ์ของการเปรียบเทียบระหว่างค่า P/E ในปัจจุบัน และอัตราการเติบโตทบต้นเฉลี่ยต่อปีในอนาคต 3 ปี
“Coefficient” คือ “ค่าสัมประสิทธิ์” เป็นตัวแปรที่เราจะนำไปคูณกับ PEG หลักการคือเราจะยอมซื้อหุ้นในราคาตลาดที่ไม่เกิน 2 เท่าของ PEG คุณอยากจะใส่เลข 2 ก็ได้เมื่อคุณเห็นว่าบริษัทนี้แข็งแกร่งมากและมั่นใจกับอนาคตของพวกเขา ทั้งนี้คุณอาจจะใส่เลข 1.5 หากคุณไม่มั่นใจกับการเติบโตของบริษัทในอนาคตมากนัก หรือใส่ 1 สำหรับการประเมินแบบอนุรักษ์นิยมไปเลยก็ได้ คุณต้องประเมินทุกอย่างด้วยตัวคุณเอง
**ข้อสังเกตเพิ่มเติม** (สำคัญมาก)
1. การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีการ P/E และ PEG นั้นค่าตัวเลขผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาไม่เท่ากัน คุณควรยึดถือวิธีการแบบ P/E เป็นหลัก เพราะเป็นการประเมินมูลค่าที่ละเอียดกว่า
2. การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีการ PEG จะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตของกำไรสุทธิในอนาคต ควรใช้เพื่อตรวจสอบและคัดกรองความถูกแพงคร่าวๆของราคาหุ้นในเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อนำไปประเมินมูลค่าอย่างละเอียดอีกครั้ง คุณอาจจะใช้วิธีการเช่น พยายามหาหุ้นที่มี PEG ต่ำกว่า 1.5 หรือ 2 จากนั้นจึงนำไปวิเคราะห์ประเมินอย่างละเอียดให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง
3. การประเมินมูลค่าด้วยวิธีการ PEG นั้นเหมาะสมกับการเติบโตทบต้นเฉลี่ยต่อปีในช่วง 10 – 30% เท่านั้น หากมากหรือน้อยกว่านี้ให้กลับไปใช้วิธีการประเมินมูลค่าแบบ P/E
4. การประเมินมูลค่าและการคำนวณอัตราการเติบโตทบต้นใน Excel ดังกล่าวนี้ ตัวเลขที่ปรากฏทั้งหมดจะเป็นการผูกสูตรคำนวณทบต้นไปในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าจะเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไปสำหรับการคาดการณ์อนาคตอันไม่แน่นอน อัตราผลตอบแทนทบต้น มูลค่าพื้นฐานทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงตัวเลขต่างๆ จึงเป็นการคำนวณทั้งทบต้นและคิดลดในระยะเวลา 3 ปีทั้งสิ้น อย่าลืม!
5. Margin of Safety กรณีที่คุณมั่นใจในแนวโน้มของบริษัท และความสามารถในการคาดการณ์อนาคตของตัวคุณเอง คุณอาจเริ่มเข้าซื้อหุ้นในราคาตลาดซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่ปรากฏอยู่ในช่อง 10% นั่นคือการมีส่วนลดจากราคาหุ้นพื้นฐานในปัจจุบันอยู่ที่ 10% นั่นเอง แต่หากคุณไม่ได้มั่นใจมากขนาดนั้น คุณก็ควรเริ่มต้นซื้อเมื่อราคาหุ้นในตลาดลดต่ำกว่าตัวเลขในช่อง 30% จะมากหรือน้อยก็ตาม
ทุกครั้งที่คิดจะซื้อหุ้น คุณจำเป็นต้องมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเสมอ
6. โดยสรุปแล้วในไฟล์ Excel ที่แนบให้ไปนี้ ช่องที่ “ไฮไลท์เป็นสีส้มอ่อน” นั่นคือช่องที่คุณจำเป็นต้องค้นหาข้อมูล วิเคราะห์คาดการณ์ เหตุการณ์และปัจจัยต่างๆ เพื่อให้ได้ค่าตัวเลขที่เหมาะสมออกมา จากนั้นจึงนำตัวเลขมาใส่ด้วยตนเอง ช่องอื่นๆนอกเหนือจากนั้นคุณไม่จำเป็นต้องแก้ไขสิ่งใด ตัวเลขจะปรากฏออกมาโดยอัติโนมัติทั้งหมด เนื่องจากได้ทำการผูกสูตรคำนวณไว้ให้เรียบร้อยแล้ว
ทุกช่องตารางจะปรากฏตัวเลขโดยสมบูรณ์ทั้งหมดก็ต่อเมื่อคุณได้ทำการใส่ตัวเลขลงไปในช่องสีส้มอ่อนจนครบถ้วน
สุดท้ายนี้ เนื่องด้วยบทความและไฟล์ Excel ดังกล่าวจัดทำขึ้นสำหรับนักลงทุนหุ้นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตด้านการลงทุนและการศึกษาเพิ่มพูนความรู้ ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก
หวังว่าไฟล์นี้จะไม่ใช่เพียงแค่สูตรสำเร็จในกระบวนการลงทุน หากแต่เป็นการทดลองอันน่าตื่นเต้น และเป็นใบเบิกทางไปสู่กระบวนการกระตุ้นให้คุณกระหายใคร่รู้ในอีกหลายๆสิ่งที่คุณกำลังสนใจที่จะหาคำตอบบนโลกการลงทุนอันกว้างใหญ่ไพศาล
และในทิศทางเดียวกันนั้น ส่วนตัวผมเองแน่นอนว่าก็ยังจัดอยู่ในระดับชั้นของนักลงทุนมือใหม่ถึงใหม่มากๆ ที่ไม่ประสีประสา ยังคงพบข้อผิดพลาดมากมายในทุกๆวันระหว่างเส้นทางของการเป็นนักลงทุนที่ดี ทั้งในกระบวนการลงทุนเองและวิธีการหาความรู้
ข้อผิดพลาดต่างๆนั้น ในทุกวันนี้ ก็มีทั้งที่สามารถแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้บ้างแล้ว แต่อีกมากมายนับไม่ถ้วนยิ่งกว่านั้นก็ยังไม่สามารถแก้ไขและหาคำตอบให้ตนเองได้อย่างกระจ่างชัด อนาคตทางการลงทุนยังมีหมอกจางๆขวางกั้นอยู่เสมอ มิได้เจนจัดในเส้นทางนี้แต่อย่างใด ขอได้โปรดอย่าเข้าใจผิดคิดว่าผมตั้งตนเป็นผู้รู้ผู้ตื่นแต่ประการใด
สิ่งเดียวที่ผมมั่นใจว่ามีคุณสมบัติในฐานะที่ริอาจคิดอยากเป็นนักลงทุนอาชีพในตอนนี้คือ “ความกระหายใคร่รู้” ในสิ่งที่ตนเองสนใจ นั่นคือโลกแห่งการลงทุน และหวังว่าความกระหายนี้จะนำพาชีวิตผมไปสู่บางสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต อย่างน้อยก็ยิ่งใหญ่มากพอสำหรับตัวตนผมเอง
จุดประสงค์ทั้งหมดทั้งมวลเพียงเพื่อต้องการทบทวนความรู้เป็นสำคัญ และแบ่งปันข้อมูลความรู้นั้นกับเพื่อนร่วมทางที่มีความสนใจและมีประสบการณ์ในโลกการลงทุนร่วมกัน หลายขั้นหลายตอนในกระบวนการประเมินมูลค่าหุ้นนี้มีการปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อให้ตรงกับจริตส่วนตัวผมเอง มิอาจรับประกันได้ว่ามันจะสมเหตุสมผล หรือถูกต้องที่สุดแต่ประการใด
1
หากมีข้อผิดพลาด ข้อที่ควรปรับปรุงแก้ไข หรือข้อสงสัยประการใด สามารถทักทายกันเพื่อติชม ซักถาม หรือบอกเล่าได้เสมอ ผมยินดีน้อมรับและอ่านทุกข้อความอย่างตั้งใจทุกตัวอักษร
เหตุเพราะนั่นจะทำให้ตัวผมเองและเพื่อนนักลงทุนมือใหม่ที่บังเอิญได้ผ่านมาติดตามเพจนี้อยู่ สามารถก้าวข้ามผ่านประสบการณ์อันยากลำบากในช่วงเริ่มต้นกระบวนการลงทุน และพัฒนาตนเองไปอีกขั้นหนึ่งได้ไม่มากก็น้อย ก้าวเล็กๆอย่างต่อเนื่องก็คุ้มค่ามากเพียงพอแล้วสำหรับการถือกำเนิดขึ้นของเพจนี้
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ 🙂
โฆษณา