19 พ.ค. 2022 เวลา 12:52 • อาหาร
“ปลาทูระกำต้มยำ: ปลาทูสด ระกำหอม กับต้มยำสองสามสี่ห้ารสของคนชายทะเล”
ปกติเมนูนี้จะถูกเรียกว่า "ปลาทูต้มระกำ" หรือจะเรียกให้น่ากินขึ้นอีกนิดก็ว่า "ปลาทูต้มยำใส่ระกำ" รสดั้งเดิมก็มีแค่เค็ม เปรี้ยว และเผ็ดจากพริกที่ใส่ลงไปแล้วแต่มากน้อย กับรสมันจากปลาทูหน้าหนาว และรสหวานที่ซ่อนอยู่ในผลระกำ
ปลาที่เหมาะสำหรับกับการต้มระกำไม่มีข้อจำกัด ใช้ได้ทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเล ขึ้นกับความชอบล้วน ๆ อย่างปลาช่อน ปลาหมอไทย ปลาตะเพียน ปลากะพง ปลากระบอก ปลาขนุน ปลาเห็ดโคน ปลาทู และปลาเก๋า เป็นต้น ในที่นี้ผมเลือกเอาที่หาง่าย ราคาถูก และเนื้อมัน ผู้โชคดีได้แก่ ปลาทู (ลัง) ครับ
ปลาทู (ลัง) สำหรับสำรับคนชายทะเลทั้งทีก็ขอเป็นปลาทูสด ส่วนคนเมืองที่อยากลองทำกินแต่หาปลาทูสดไม่ได้จริง ๆ ค่อยเป็นปลาทูนึ่ง ซึ่งต้องบอกก่อนว่า รสชาติ และรสสัมผัสนั้นห่างกันไกล ปลาทูสดเนื้อจะนุ่ม มัน และหอมกว่ามาก
1
ได้ปลาทูสดมาก็จัดการ “ทำปลา” สำหรับปลาทู สิ่งที่ต้องทำเพียงอย่างเดียว คือ เปิดเหงือกควักเอาไส้ออก ล้างน้ำให้สะอาด ถ้ามีปลาเยอะก็เลือกตับและไตปลาทูเก็บไว้ เอามาต้มน้ำปลา ใส่ตะไคร้ใบมะกรูดหน่อย ต้มแห้ง ๆ คลุกข้าวกินจนบางครั้งไม่แตะต้องเนื้อปลาทูเลยก็บ่อยไป
มาดูระกำกันบ้าง "ระกำ" เป็นไม้ตระกูลเดียวกับ "สละ" แต่ลักษณะของผลต่างกันค่อนข้างชัด คือ ระกำจะมีผลสีแดงออกส้ม และลูกจะป้อม ๆ ค่อนข้างไปทางกลม ส่วนสละผลจะรี สีค่อนข้างคล้ำและเข้มกว่ามาก ออกไปทางน้ำตาลดำ
เมื่อจะต้องเลือกผลไม้สองอย่างนี้มาทำอาหาร ต้องวัดกันที่รสชาติ ข้อดีเด่นของระกำ คือ รสเปรี้ยวจัด เหมาะกับการทำอาหารพวก น้ำพริกระกำ แกงส้มระกำ หรือทำปลาต้มระกำ ไม่ก็นำไปแช่อิ่มหรือดองแบบมะม่วง ไม่เหมาะกับการกินสดเท่าไหร่ ส่วนสละจะมีรสหวานมากกว่าเปรี้ยว เหมาะกับการกินสด หรือนำไปทำสละลอยแก้ว และแน่นอนว่าราคาแพงกว่า
1
ได้ปลาทูกับระกำมา ทำปลา ปอกเปลือกระกำเสร็จพร้อมก็ลงมือต้มปลาทูกับระกำได้เลย ใช้เวลาแค่ 10 นาทีก็กินได้แล้ว
กะน้ำสะอาดพอประมาณ เอาให้เหมาะกับปริมาณปลาทู ใส่หม้อตั้งไฟจนน้ำเดือด ใส่น้ำปลา (หอมกว่าใส่เกลือ) และระกำลงไป ถ้าขยันฝานเอาเฉพาะเนื้อก็จะออกรสเปรี้ยวไว หากขี้เกียจฝานใส่ลงไปทั้งลูกก็ใช้เวลาหน่อย รวมทั้งพอระกำเริ่มสุก อาจต้องใช้ช้อนบี้ให้แหลกสักหน่อยด้วย พอน้ำเดือดพล่านก็ตามด้วยปลาทู ช่วงนี้อย่าคนเด็ดขาดเพราะจะทำให้คาว
ผมเลือกที่จะใส่ปลาทู ระกำ และน้ำปลาลงไปพร้อมกันทีเดียว และปิดฝาหม้ออบให้ความร้อนระอุอยู่ในนั้นซึ่งใช้เวลาไม่นาน และไม่มีความจำเป็นต้องคน กะพอสุกได้ทีเปิดฝาออกชิมรส ความหอมของปลา ระกำ และน้ำปลาจะพุ่งใส่จมูก ความรู้สึกชวนหิวข้าวมาทันที
พอปลาสุกก็ให้ชิมดู รสจะออกเปรี้ยวและเค็มปนหวานจากเนื้อปลาและระกำ ถ้าชอบเปรี้ยวก็บี้ระกำให้แหลกเพิ่ม ถ้าชอบเค็มก็เพิ่มน้ำปลาเอา พอได้รสถูกใจแล้วก็ยกลงจากเตา อย่าเคี่ยวนาน เพราะเนื้อปลาจะแข็ง กินไม่อร่อย
1
และหากต้มหม้อใหญ่ ก็ให้ตักแบ่งใส่ชามเท่าที่ต้องการ ซอยพริกขี้หนูและผักชีลงไปหน่อย ผักชีไทย ลาว หรือฝรั่งได้หมด เลือกเอาที่สบายใจ ตามรสนิยมทางจมูกส่วนบุคคล ของใครของมัน การปรุงแบบนี้แหละที่คนไทยโบราณในชนบทเรียกว่า "ต้มยำนอกหม้อ" หรือ “แกงนอกหม้อ”
ปลาทู (ลัง) หน้าหนาวตัวป้อม ๆ ที่พุงจะมีไขมันมาก ไข่เต็มพุง กินอร่อยที่สุดของช่วงปี แต่พุงก็แตกง่ายโดยเฉพาะปลาทูที่ไม่สดพอ แต่กระนั้นส่วนพุงก็ยังคงอร่อยอยู่เสมอ
“แกงนอกหม้อ” ที่อยู่ใน ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ คือ จัดเตรียมวัตถุดิบต่าง ๆ ให้สุกก่อน ใส่ชามพร้อมปรุงรส ค่อยรินน้ำแกงหรือน้ำซุปตาม จะว่าไปก็ไม่ต่างจากก๋วยเตี๋ยว แต่คนบ้านนอกจะหมายถึงการทำต้มยำ ที่จะต้มกุ้งหอยปูปลาหรือไก่หมูกับข่าตะไคร้ใบมะกรูดในหม้อใบใหญ่ เวลาจะกินค่อยตักแบ่งใส่ชามแล้วปรุงรสด้วยพริกเผา หอมเผา ผักชีซอย และมะนาวบีบ กรณีที่มีระกำอยู่แล้ว มะนาวก็อยู่เฉย ๆ
1
ปลาทูต้มระกำจะมีรสหลัก 2 รส คือ เปรี้ยว เค็ม กับรสปะแล่ม ๆ 3 รส คือ เผ็ด หวาน และมัน กินกับข้าวสวยร้อน ๆ ซดน้ำต้มระกำตามเป็นน้ำซุป หรือจะราดน้ำระกำจนท่วมข้าว ก็ได้ข้าวต้มปลาทูที่กินคล่องคอ
ปลาทูต้มระกำยังไม่จบ แบบที่ต้มพอสุกแล้วกินทันทีก็จะได้ความสด หวาน และสดชื่น ใส ๆ วัยรุ่นชอบ แต่ถ้ายังเหลือหรือใครไม่ชอบสดๆ ติว่าคาว ก็ให้ทิ้งไว้ข้ามวันข้ามคืน อุ่นอีก 1-2 ครั้ง น้ำต้มจะข้น รสจัดจ้าน และปลาจะเปื่อย แทบจะกินได้ทั้งตัว เว้นแต่กระดูกกลางอันเดียวที่ต้องทิ้ง
โฆษณา