20 พ.ค. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
แดจังกึม : ซีรีส์ที่ทำให้อาหารเกาหลี กลายเป็น “จานโปรด” ของหลายๆ คน
เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักซีรีส์ยอดฮิต แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง ซึ่งมีเค้าโครงจากเรื่องจริงของจังกึม ผู้เป็นหมอหลวงสตรีคนแรกเมื่อ 500 กว่าปีก่อน ในสมัยราชวงศ์โชซอน
โดยซีรีส์เรื่องนี้ถ่ายทอดวัฒนธรรมเกาหลี ตำรับอาหาร และการแพทย์สมัยโบราณของเกาหลีได้อย่างน่าสนใจ จนกลายเป็นซีรีส์ที่โด่งดังไปทั่วเอเชีย ปลุกกระแสคลั่งไคล้วัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วทุกมุม ผู้คนที่ไม่เคยกินอาหารเกาหลีต่างก็อยากลิ้มลองรสชาติ ส่งผลให้อาหารเกาหลีก็เริ่มเป็นที่นิยมมานับตั้งแต่นั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ซีรีส์ระดับตำนานเรื่องนี้ ยังช่วยให้เกิดกระแสความนิยมอาหารเกาหลีที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนคนมากมายหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวเกาหลีเพื่อตามรอยสถานที่สำคัญๆ ที่อยู่ในเรื่อง อาจจะพูดได้ว่าซีรีส์แดจังกึม เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีพลังอย่างมากในช่วงเวลานั้นและเป็นรากฐานสำคัญของซีรีส์เกาหลีในทุกวันนี้
ในบทความนี้ Bnomics จะพาทุกคนไปดูว่า แค่ซีรีส์เพียงเรื่องเดียวนี้ สร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในเวลาต่อมาได้มากเพียงใด
📌 อาหารเกาหลี : ซอฟต์พาวเวอร์ที่กินได้
ถ้าพูดถึงอาหารเกาหลี ทุกคนน่าจะนึกภาพกิมจิ ต็อกบกกี ซอสโคชูจังสีแดงๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นอาหารประจำชาติเกาหลีไปเสียแล้ว โดยปกติอาหารประจำชาติมักจะเป็นเหมือนตัวแทนสื่อข้อความและบรรทัดฐานของสังคมนั้นๆ และเมื่ออาหารประจำชาติถูกเผยแพร่ไปยังทั่วโลก ก็ช่วยให้ค่านิยมและแนวความคิดต่างๆ ที่คนในชาติต้องการจะสื่อสาร สามารถส่งผ่านไปถึงโต๊ะกินข้าวของผู้กินทุกคนได้
อาหาร ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีประสิทธิภาพอย่างมากและเติบโตได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะถูกใช้แบบตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม อีกทั้งไม่ใช่แค่มีอิทธิพลต่อสังคมเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลในแง่ของการเมืองและเศรษฐกิจอีกด้วย
หลังจากที่แดจังกึมประสบความสำเร็จเป็นวงกว้าง ในปี 2008 เกาหลีจึงได้ใช้อาหารประจำชาติเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการทูต ซึ่งสาเหตุที่เลือกใช้อาหารเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมเกาหลี ก็เพราะว่าอาหารเกาหลีมีเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน แล้วก็สื่อถึงอัตลักษณ์ของชาติ ซึ่งเป็นมรดกอันน่าภาคภูมิใจ
การทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักอาหารเกาหลี จึงไม่เพียงแต่เสริมสร้างภาพลักษณ์ของเกาหลีเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกิดความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ของอาหารทั่วโลก แนวคิดโลกาภิวัฒน์ทางอาหารของเกาหลีจึงเริ่มขึ้นนับแต่นั้น
📌 ผลของกระแสนิยมเกาหลี (Korean Wave) ต่อเศรษฐกิจ
Bnomics น่าจะเคยเล่าถึงบ่อยๆ ว่าเกาหลีนั้นพึ่งจะได้เริ่มพัฒนาประเทศในช่วงทศวรรษ 1960 หรือ 1970 นี้เอง ในตอนนั้นสินค้าทางวัฒนธรรมของเกาหลี หรือแม้แต่อาหารเกาหลี ก็ไม่ได้เป็นที่่รู้จักอะไร
(อันนี้ถ้าใครได้ดูซีรีส์เรื่อง Pachinko น่าจะเห็นฉากที่ซุนจา หญิงสาวเกาหลีที่อพยพไปญี่ปุ่นพยายามจะขายกิมจิสูตรบ้านเกิด แต่ผู้คนต่างพากันรังเกียจอาหารเกาหลีและบอกว่ามีกลิ่นแรง อีกทั้งวัฒนธรรมการกินอาหารของชาวเกาหลีก็โดนดูถูกเช่นกัน) ยาวนานมาจนถึงหลังจากวิกฤตการเงินปี 1997 ถึงแม้ว่าเกาหลีจะฟื้้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ในช่วงเวลานั้น วัฒนธรรมเกาหลีในสายตาชาวโลกก็ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักอยู่ดี
ในปี 1998 ทางรัฐบาลเกาหลีจึงได้ก่อตั้งกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวขึ้นมา เพื่อที่จะลงทุนและสนับสนุนอุตสาหกรรมเอนเตอร์เทนเม้นท์ต่างๆ โดยหวังว่าจะกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ช่วยให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้เติบโตขึ้นมาหลังวิกฤตการเงินปี 1997
ดังนั้นทางกระทรวงจึงได้มีการใช้งบประมาณมหาศาลเพื่ออุดหนุนสิ่งที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมเกาหลี ในช่วงต้นปี 2000 กระแสวัฒนธรรมเกาหลีหรือ Korean Wave จึงได้แพร่กระจายไปทั่ว ผู้คนนิยมดูหนังเกาหลี ซีรีส์เกาหลี ฟังเพลงเกาหลี กินอาหารเกาหลี และเปิดรับอะไรต่างๆ ที่เป็นวัฒนธรรมเกาหลี
เกือบ 10 ปี ให้หลัง จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เพื่อความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งในกระทรวงนี้ก็จะมีหน่วยงานแยกย่อยที่ดูแลเกี่ยวกับเพลง K-Pop, แฟชั่นเกาหลี, เอนเตอร์เทนเม้นท์, หนังสือการ์ตูน, และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเกาหลี เพื่อหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการส่งออกอุตสาหกรรมวัฒนธรรม โดยได้รับทั้งงบประมาณจากภาครัฐ และการลงทุนจากภาคเอกชน
กระแสวัฒนธรรมเกาหลีจึงได้กลายเป็นปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมไปทั่วเอเชีย และได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเกาหลีในปี 2019 ได้มากถึง 1.23 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว
นอกจากนี้การส่งออกวัฒนธรรมเกาหลี ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอื่นๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2019 สร้างรายได้ได้ถึง 2.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 17.5 ล้านคนเข้ามาในเกาหลีใต้ และน่าจะแตะหลัก 1.8 พันล้านคนในปี 2030
นอกจากการท่องเที่ยวที่ได้รับอานิสงค์แล้ว เมื่อคนมาเที่ยวเกาหลีก็จะได้ลิ้มลองอาหารเกาหลี ช่วยให้อาหารเกาหลีเป็นที่นิยมจนกลายเป็น จานโปรด (https://www.facebook.com/janprod.co) ของใครหลายๆ คนด้วย
📌 เกร็ดเล็กน้อย
  • ปี 2021 มูลค่าการส่งออกรามยอน ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยมูลค่ากว่า 674.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งการส่งออกรามยอนไปต่างประเทศยังเพิ่มขึ้นติดต่อกันมา 7 ปีแล้ว
  • ปี 2021 มูลค่าการส่งออกกิมจิ ก็ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ด้วยมูลค่ากว่า 159.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี 2020 มูลค่าการส่งออกโคชูจัง ซึ่งเป็นซอสพริกแดงเกาหลีที่อยู่ในหลายๆ เมนูก็มียอดส่งออกสูงสุดในรอบ 4 ปี ด้วยมูลค่ากว่า 50.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา