12 มิ.ย. 2022 เวลา 11:37 • ประวัติศาสตร์
“ยุโรปตะวันออก (Eastern Europe)” ดินแดนม่านเหล็กในสงครามเย็น
3
สงครามเย็นเป็นการปะทะกันของอุดมการณ์โลกเสรีประชาธิปไตยและโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์...
สนามประลองได้ขยายไปทั่วโลกตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี โดยเฉพาะในยุโรป แอฟริกา เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้...
1
การปะทะอย่างดุเดือดได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในดินแดนต่างๆ ซึ่งบางที่ถึงขนาดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือหรือถอนรากถอนโคนเลยทีเดียว...
และหากพูดถึงการปะทะกันในยุโรป ทุกท่านอาจรู้จักหรือคุ้นเคยกับยุโรปตะวันตกซึ่งเป็นฟากของโลกเสรีประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐอเมริกามากกว่า...
1
แต่ในครั้งนี้ผมจะเล่าถึงโลกอีกฟากหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต...
1
ดินแดนในฟากนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น...
และดินแดนฟากนี้ก็เป็นจุดจบของสงครามเย็นเช่นเดียวกัน...
1
ภาวะหลังสงครามโลก...
วิกฤตเบอร์ลิน...
กำแพงแห่งการแบ่งแยก...
การปฏิวัติอันนองเลือด...
ความขัดแย้ง...
การล่มสลาย...
การก่อตัวของสงครามครั้งใหม่...
และนี่ คือเรื่องราว “ยุโรปตะวันออก (Eastern Europe)” ดินแดนม่านเหล็กในสงครามเย็น
1
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ยุโรปตะวันออก (Eastern Europe) เป็นคำที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งบ่งบอกถึงดินแดน 8 ประเทศที่อยู่ในยุโรป…
1
โปแลนด์ เยอรมนีตะวันออก เชโกสโลวาเกีย ฮังการี โรมาเนีย บัลเกเรีย อัลเบเนีย และยูโกสลาเวีย
ผมขอย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กันก่อน เพื่อให้ทุกท่านได้เข้าใจที่มาที่ไปของประเทศเหล่านี้มากขึ้น
โดยก่อน WW1 กระแสชาตินิยมเริ่มบูมขึ้นมา ดินแดนต่างๆ ก็แห่กันสร้างชาติตัวเองโดยรวมคนชาติพันธุ์เดียวกันให้มาอยู่ในเขตแดนเดียวกัน
1
ซึ่งประเทศในยุโรปตะวันออกที่เกิดขึ้นก่อน WW1 คือ โรมาเนีย บัลเกเรีย และอัลเบเนีย
2
และหากมองไปทางตอนใต้อย่างบอลข่าน ก่อน WW1 ก็เกิดการสร้างชาติขึ้นมาหลายชาติเหมือนกัน คือ เซอร์เบีย บอสเนีย มอนเตเนโกร กรีซ
ซึ่งการสร้างชาติทางด้านบอลข่านนี่แหละ ก็เป็นชนวนที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1
คราวนี้ผมจะข้ามไปช่วงหลังสงคราม โดยผลคือฝ่ายมหาอำนาจกลางแพ้ ซึ่งทำให้ขั้วอำนาจในยุโรปถูกเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก โดยเฉพาะแกนนำมหาอำนาจกลาง
เยอรมนีตกต่ำถึงขีดสุด...
ออสเตรีย-ฮังการี ถูกแบ่งดินแดน...
1
ออตโตมันล่มสลาย...
และมันทำให้เกิดประเทศใหม่ๆ ในยุโรปตะวันออกขึ้นมา
1
ไม่ว่าจะเป็น "โปแลนด์" ที่รวมจากดินแดนของเยอรมนีและรัสเซีย...
"ฮังการี" ที่แยกจากออสเตรีย...
หรือดินแดนบางส่วนที่เคยเป็นของเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ก็รวมตัวกันสร้างชาติขึ้นมากลายเป็น "เชโกสโลวาเกีย"
ในบอลข่านก็มีการรวมชาติคือเซอร์เบีย บอสเนีย มอนเตเนโกร และดินแดนที่เคยเป็นของออสเตรีย-ฮังการีอย่างสโลวิเนียและโครเอเชีย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการรวมกันของชาวสลาฟใต้ในชื่อ "ยูโกสลาเวีย"
3
ซึ่งประเทศที่เกิดขึ้นใหม่นี้แน่นอนครับว่ายังไม่ค่อยมีความมั่นคงเท่าไหร่ การปกครองยอดฮิตที่สะดวกเหมาะสมที่สุดในสภาพแบบนี้คือเผด็จการ
แต่ด้วยความเปราะบางนี่แหละ อุดมการณ์ต่างๆ ก็สามารถไหลเข้าไปได้ง่าย โดยเทรนด์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง WW1 มี 2 เทรนด์ใหญ่ๆ คือ...
2
1) คอมมิวนิสต์ ที่ค่อนข้างมาแรงจากการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 และทำให้เกิดรัฐคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียตขึ้นในปี 1922
2) ฟาสซิสต์ เป็นอุดมการณ์ที่เกิดในอิตาลีและขึ้นมาแลกหมัดกับคอมมิวนิสต์อย่างดุเดือดเช่นเดียวกัน
ซึ่งเหล่าผู้นำเผด็จการของประเทศในยุโรปตะวันออกก็มักโปรฟาสซิสต์...
1
แต่ประชาชนในประเทศนั้นกลับโปรคอมมิวนิสต์ อยากขับเคลื่อนสังคมให้กลายเป็นแบบโซเวียต...
2
อุดมการณ์ 2 ขั้วก็ได้ปะทะกันในแถบยุโรปตะวันออก และสร้างความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จนกระทั่งเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพจาก Vivid Map (ประเทศในยุโรปที่เกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1)
เยอรมนีที่บอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งเศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงานเป็นเบือ แถมยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้กับผู้ชนะ ทำให้การเมืองภายในมีการตีกันอย่างดุเดือด
แต่ท้ายที่สุด พรรคนาซีและผู้นำคืออดล์ฟ ฮิตเลอร์ก็กุมอำนาจ และนำแนวทางแบบฟาสซิสต์มาปกครอง พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจและกองทัพของเยอรมันขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จ
เมื่อกลับมาผงาดอีกครั้ง เยอรมนีก็ก้าวเท้าเข้าแย่งชิงดินแดนที่เคยเสียไป รวมถึงดินแดนข้างเคียงกลับมาอีกครั้งอย่างซูเดเตนและโปแลนด์ ซึ่งการขยายดินแดนนี้ก็ได้นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเองครับ
1
ด้วยความพีคของเยอรมัน ทำให้ยึดโปแลนด์ได้ใน 4 สัปดาห์ และเวลาต่อมาก็บุกนอร์เวย์รวมถึงประเทศในแถบสแกนดิเนเวียต่ออย่างรวดเร็ว และสามารถยึดประเทศเหล่านั้นได้อย่างไม่ยากเย็น
1
และในที่สุด เยอรมนีก็ตัดสินใจบุกมหาอำนาจรายใหญ่อย่างฝรั่งเศส ซึ่งน่าเหลือเชื่อเหมือนกันครับที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ลงอย่างรวดเร็ว เหลือแค่อังกฤษที่ยืนประจันหน้ากับเยอรมัน
1
แต่ไม่ทันจะปิดเกมกับอังกฤษ เยอรมนีก็เปิดศึกด้านตะวันออกยกทัพบุกโซเวียต...
ซึ่งก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามครับ เมื่อเยอรมันไม่สามารถปิดเกมกับโซเวียตได้ แถมยังเสียทั้งคน อาวุธ และเงินไปมหาศาล
1
กองทัพที่อ่อนแอลงทำให้โซเวียตพลิกเกมตีทัพเยอรมันกลับไป อีกทั้งทางด้านตะวันตก อังกฤษก็ฟื้นขึ้นมาแถมมีสหรัฐอเมริกาเข้ามาร่วมก๊วนยกทัพตีเยอรมันอีกด้านด้วยเช่นกัน
ทัพโซเวียตเข้ายึดดินแดนในยุโรปตะวันออก ถล่มเบอร์ลินจนราบคาบ เยอรมันเลยประกาศยอมแพ้ในที่สุด
2
ความพ่ายแพ้ของเยอรมัน และการตะลุยเข้ามาในยุโรปตะวันออกของกองทัพแดง ทำให้ผู้นำเผด็จการที่เข้าข้างเยอรมันก็พากันถูกโค่นล้มตามๆ กันไป และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟาสซิสต์ก็ล่มสลายลง
คราวนี้แหละครับ ให้ทุกท่านนึกถึงสภาพยุโรปตะวันออกที่ฟาสซิสต์ถูกโค่นล้ม แถมแนวคิดแบบเสรีก็อ่อนแอเพราะประเทศเกิดจากการแบ่งดินแดนจากมหาอำนาจโดยส่วนใหญ่
แถมโซเวียตที่มีส่วนโค่นล้มผู้นำเผด็จการในยุโรปตะวันออก ก็มีพาวเวอร์มากพอที่จะแทรกแซงการเมืองของประเทศเหล่านี้
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เหมือนเป็นการแลกหมัดระหว่างฟาสซิสต์ คอมมิวนิสต์ และประชาธิปไตย
แต่หลังสงคราม ฟาสซิสต์ก็โดนคว่ำน็อกเอาท์ไปก่อน เหลือเพียงคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยที่ยังยืนประจันหน้ากันอยู่
ซึ่งมันก็แบ่งโลกออกเป็น 2 ขั้ว เกิดเป็นสงครามเย็นขึ้นมา...
และจุดที่เห็นว่าสงครามเริ่มต้นแบบชัดเจนก็มาจากเหตุการณ์ในยุโรปตะวันออกที่ชื่อวิกฤตเบอร์ลิน...
ภาพจาก Rare Historical Photos (เบอร์ลินหลังสงครามโลกครั้งที่ 2)
ดินแดนที่ถูกปลดปล่อยจากฝ่ายสัมพันธมิตรและสหภาพโซเวียต
อย่างที่ผมได้เล่าไปครับว่าในช่วงแรกของ WW2 กองทัพเยอรมันพีคมากจนยึดยุโรปในภาคพื้นทวีปได้เกือบหมด
แต่หลังจากเกมพลิกในช่วงหลัง ด้านตะวันออกก็ถูกโซเวียตโต้กลับ ส่วนด้านตะวันตกก็ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกากับอังกฤษตีโต้อีกที และทัพทั้งสองก็ไปบรรจบกันที่เบอร์ลิน
2
การเดินทัพเข้าขยี้นาซีเยอรมันของทั้งสัมพันธมิตรและโซเวียตนี่แหละครับ เหมือนเป็นการกำหนดพื้นที่แบ่งฝ่ายสงครามเย็นกลายๆ แล้ว
2
ฟากที่ฝ่ายสัมพันธมิตรปลดปล่อย ก็กลายเป็นประเทศที่มีอุดมการณ์แบบเสรีประชาธิปไตยตามสหรัฐอเมริกา...
1
ส่วนฟากที่โซเวียตปลดปล่อย ก็กลายเป็นประเทศที่มีอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ตามโซเวียต...
1
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า พื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเดินทัพมาบรรจบกันอย่างเบอร์ลินต้องมีการคุยกันอย่างชัดเจนว่า "ควรจะเอายังไงต่อและใครจะเข้ามาควบคุม?"
ผลคือ เยอรมันเลยถูกแบ่งเป็น 4 เขต รวมถึงเบอร์ลินก็ถูกแบ่งเป็น 4 เขตด้วยเหมือนกัน โดยแต่ละเขตให้สหรัฐฯ โซเวียต อังกฤษ และฝรั่งเศสเป็นผู้เข้ามาปลดอาวุธแต่ละเขต
ในเบื้องต้นเหมือนจะตกลงกันได้ แต่พอเวลาผ่านไปก็เกิดคำถามขึ้นมาอีก "แล้วหลังจากนั้นล่ะ เยอรมนีจะปกครองในรูปแบบไหน?"
1
โดยสหรัฐฯ ก็ยืนยันว่า "ต้องเป็นเสรีประชาธิปไตยเท่านั้น!"
1
แต่โซเวียตกลับยืนกรานว่า "ควรสนับสนุนคอมมิวนิสต์มากกว่า!"
คราวนี้เมื่อตกลงกันไม่ได้ แต่ละฝ่ายก็พากันทำตามใจตัวเอง สหรัฐฯ ก็ร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งในเขตที่มีสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศสดูแลอยู่ โดยเราจะเรียกส่วนนี้ว่า "ตะวันตก"
2
ส่วนโซเวียตก็ร่างรัฐธรรมนูญตามฉบับโซเวียตแล้วใช้ในเขตที่โซเวียตคุมอยู่เช่นเดียวกัน โดยเราจะเรียกส่วนนี้ว่า "ตะวันออก"
1
ฝ่ายสหรัฐฯ เห็นแบบนั้นเลยสร้างระบบเงินตราพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ในฝั่งเยอรมันตะวันตก โดยใช้เงินดอลลาร์ของตัวเองหนุนเอาไว้
ฝ่ายโซเวียตเลยกลัวครับว่าระบบเงินที่สหรัฐฯ สร้างในฝั่งตะวันตกมันจะไหลมาฝั่งตะวันออกของตัวเองด้วย ถ้าถูกระบบเงินของอีกฝั่งควบคุมได้ อำนาจต่อรองของโซเวียตในฝั่งนี้อาจลดลงไป
คราวนี้ผู้นำอย่างโจเซฟ สตาลินเลยสั่งให้กองทัพแดงยึดเบอร์ลินทั้งหมดในปี 1948 ปิดล้อมไม่ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาได้ เป็นการบล็อกเบอร์ลินกับเยอรมันตะวันออกให้ตัดขาดจากเยอรมันตะวันตก
2
แน่นอนว่าสหรัฐฯ ไม่ยอมเด็ดขาด ส่งกำลังทางอากาศลำเลียงอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ดรอปลงไปให้เบอร์ลินตะวันตก ซึ่งพอโซเวียตเห็นว่าการปิดล้อมนี้คงไม่มีประโยชน์อะไร เลยถอนกำลังออก และให้เบอร์ลินตะวันตกเป็นเขตของสัมพันธมิตรเหมือนเดิม...
และในปี 1949 เขตของสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสก็รวมกันเป็น "เยอรมนีตะวันตก" ส่วนเขตของโซเวียตก็กลายเป็น "เยอรมนีตะวันออก" โดยทั้งสองก็จ้องจะบุกเพื่อรวมประเทศอยู่ตลอดเวลา
ความตึงเครียดของทั้งสองประเทศเลยเหมือนเป็นนกหวีดที่เป่าเริ่มสงครามเย็นแบบเต็มตัว
แต่ดูเหมือนว่าประชาชนฝั่งเยอรมนีตะวันออกจะไม่ค่อยชอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่มีโซเวียตแทรกแซงอยู่ เลยพากันอพยพไปฝั่งเยอรมนีตะวันตกตลอด 10 ปีเลยล่ะครับ
1
โซเวียตที่เห็นคนไหลไปอีกฝั่งเลยเห็นท่าไม่ดี สร้างกำแพงกั้นทั้งสองประเทศชื่อ "กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)" ในปี 1961 ป้องกันคนตะวันออกอพยพข้ามไปอีกฝั่ง
1
กำแพงเบอร์ลินเป็นกำแพงที่สร้างตลอดสงครามเย็น ซึ่งมีความยาวรวม 155 กิโลเมตร และมีกฎหมายแบบเข้มข้นว่าใครลักลอบข้ามกำแพงจะถูกยิงทิ้งทันที!
3
และแน่นอนครับว่ามีคนที่ฝ่าฝืนยอมเสี่ยงชีวิตข้ามกำแพงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งขุดอุโมงค์หรือแม้กระทั่งใช้บอลลูน ซึ่งสามารถลอบข้ามไปได้สำเร็จกว่า 100 คนเลยล่ะครับ แต่อีกด้านก็มีคนถูกยิงทิ้งจากการลอบข้ามกำแพงในหลัก 500 คนเหมือนกัน
2
กำแพงเบอร์ลินเลยเปรียบเสมือนเส้นกั้นยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก ซึ่งทำให้สภาพการเมือง สังคม วัฒนธรรม และอุดมการณ์ของทั้งสองฝั่งเดินไปคนละทางอย่างสิ้นเชิง...
ภาพจาก Quora (การแบ่งเขตเยอรมนีและเบอร์ลิน)
ภาพจาก Research Gate (การอพยพของคนเยอรมันตะวันออกไปเยอรมันตะวันตก จะเห็นว่าช่วงก่อนสร้างกำแพงเบอร์ลินตัวเลขการอพยพสูงมาก แต่พอมีกำแพงตัวเลขลดต่ำลง และสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสงครามเย็น)
ภาพจาก religious LeftLaw (กำแพงเบอร์ลิน)
ภาพจาก Chronik de Mauer (ปีเตอร์ เฟชเตอร์ ถูกยิงขณะลอบข้ามไปอีกฝั่งและปล่อยให้เลือดไหลจนตาย)
ภาพจาก El Mundo (ศพปีเตอร์ เฟชเตอร์ที่กำลังเคลื่อนย้าย)
เอาล่ะครับ คราวนี้เราลองมามองดูแต่ละประเทศในยุโรปตะวันออกกันดีกว่า...
แน่นอนว่า การเมืองภายในนั้น โซเวียตมีส่วนเข้ามาช่วยพรรคคอมมิวนิสต์แต่ละประเทศให้ปฏิวัติได้สำเร็จ และพอความตึงเครียดในเยอรมันรุนแรงขึ้น โซเวียตก็เห็นว่าพรรคพวกที่ดีที่สุดของตัวเองคือยุโรปตะวันออกนี่แหละ
โซเวียตเลยสร้างองค์การ "โคมินฟอร์ม (Cominform) เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกัน และ "โคมีคอน (COMECON)" เพื่อร่วมมือทางเศรษฐกิจกับยุโรปตะวันออก โดยโซเวียตจะเข้าไปช่วยฟื้นฟูความเสียหายจากสงครามของประเทศเหล่านี้
และเมื่อฝ่ายสหรัฐฯ เห็นว่าคงหลีกเลี่ยงการงัดข้อกับโซเวียตไม่ได้ เลยเสริมความแข็งแกร่งของตัวเองตั้งองค์การทหารที่รวมสหรัฐฯ แคนาดา และยุโรปตะวันตกเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ชื่อว่า "เนโต้ (NATO)" ขึ้นมาในปี 1949
1
ฝ่ายโซเวียตก็ไม่ยอมน้อยหน้าสิครับทีนี้ สร้างองค์การทหารต่อต้านเสรีประชาธิปไตยขึ้นมาที่รวมโซเวียตกับยุโรปตะวันออกในชื่อ "วอร์ซอ (Warsaw Pact)"
ทั้งโคมินฟอร์ม โคมิคอน และวอร์ซอ ทำให้โซเวียตเข้าไปมีอิทธิพลในยุโรปตะวันออก ถึงขนาดส่งทหารเข้าไปประจำการในประเทศต่างๆ ได้ ซึ่งโซเวียตต้องการให้ดินแดนเหล่านี้เป็นเกราะป้องกันตัวเองจากโลกตะวันตก ทำให้ยุโรปตะวันออกเปรียบเสมือน "ม่านเหล็ก" ของโซเวียตนั่นเอง
ผมขออธิบายเพิ่มเติมอีกว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำเผด็จการหรือกษัตริย์ในประเทศยุโรปตะวันออกต่างถูกปฏิวัติโค่นล้มลงไป และมีผู้นำที่โปรคอมมิวนิสต์ขึ้นมาปกครองแทน ทำให้มีการวางรากฐานการปกครองใหม่แทบทั้งหมด...
2
ระบบเศรษฐกิจใช้แบบ "คอมมูน" โดยที่ดินทุกผืนเป็นของรัฐ...
ศาสนาถูกยกเลิกและลบล้างเพราะขัดกับหลักคอมมิวนิสต์...
การปกครองก็มีพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองอยู่พรรคเดียว แต่ว่ายังมีการเลือกตั้งอยู่ ซึ่งก็มีพรรคเดียวให้เลือกนั่นแหละครับ...
1
เรียกได้ว่า ยุโรปตะวันออกต่างถอดพิมพ์เขียวจากโซเวียตมาทั้งดุ้น ทำให้สหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกต่างมองว่ายุโรปตะวันออกเป็นเหมือนรัฐบริวารหรือลูกน้องที่ภักดีของโซเวียต
แต่จริงๆ แล้ว โซเวียตและม่านเหล็กไม่ได้มีความเป็นเอกภาพขนาดนั้น เพราะยิ่งเวลาผ่านไป ยุโรปตะวันออกยิ่งอยากตีตัวออกห่างจากโซเวียตมากขึ้น
1
ซึ่งจุดเริ่มต้นของรอยร้าวมาจากประเทศในบอลข่านที่ชื่อว่า "ยูโกสลาเวีย"
2
ภาพจาก Wikipedia (การแบ่งข้างในสงครามเย็น)
ยูโกสลาเวียถึงแม้จะเป็นส่วนหนึ่งในยุโรปตะวันออก แต่เป็นประเทศเดียวที่โซเวียตไม่ได้ช่วยในเรื่องปฏิวัติ
ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดย "โยซิป บรอซ ตีโต (Josip Broz Tito)" ปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์และนำยูโกสลาเวียเข้าสู่คอมมิวนิสต์ด้วยตัวเอง
และจุดแตกหักมาถึงเมื่อโซเวียตสร้างโคมิคอน แต่ยูโกสลาเวียไม่ต้องการให้โซเวียตเข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจของตัวเองเลยไม่ยอมร่วมมือด้วย และมากกว่านั้นตีโตยังไปแอบดีลกับยุโรปตะวันออกลับหลังโซเวียตว่า "เรามาสร้างกลุ่มคอมมิวนิสต์ของเราเองโดยไม่ต้องขึ้นตรงกับโซเวียตกันดีกว่า!"
3
เมื่อโซเวียตรู้เข้าก็โจมตียูโกสลาเวียว่า "เป็นพวกคอมมิวนิสต์ปลอมและลัทธิแก้!"
1
ฝ่ายยูโกสลาเวียก็โต้กลับว่า "ยุโรปตะวันออกควรจะมีสิทธิเลือกเส้นทางของตัวเอง!"
3
โซเวียตเลยตัดสินใจเตะยูโกสลาเวียออกจากโคมินฟอร์ม และพยายามบีบตีโตให้ลงจากตำแหน่ง แต่อย่างที่ผมได้เล่าไปครับว่าโซเวียตไม่ได้มีอำนาจในยูโกสลาเวียขนาดนั้น เลยทำอะไรตีโตไม่ได้...
ยุโรปตะวันออกที่ถึงแม้จะเห็นด้วยกับยูโกสลาเวียแต่ในตอนนี้โซเวียตสำคัญกว่าเลยหันไปเข้าข้างโซเวียตและร่วมกันคว่ำบาตรยูโกสลาเวีย
การถูกตัดขาดจากโลกคอมมิวนิสต์ ทำให้เศรษฐกิจของยูโกสลาเวียล้มอย่างหนักเลยล่ะครับ ตีโตเลยตัดสินใจเจรจากับสหรัฐฯ ให้เข้ามาช่วยเหลือเศรษฐกิจของยูโกสลาเวีย
สหรัฐฯ ที่เห็นว่าควรจะมีพันธมิตรในบอลข่านเอาไว้ เลยช่วยอุ้มเศรษฐกิจของยูโกสลาเวีย แต่ก็ปล่อยให้ตีโตอยู่ในอำนาจและสร้างระบบคอมมิวนิสต์ในแบบของตัวเองต่อไป
2
จากกรณีของยูโกสลาเวีย ทำให้โซเวียตเริ่มควบคุมยุโรปตะวันออกมากขึ้น แต่มันก็ทำให้เหล่าม่านเหล็กเริ่มหันหน้าเข้าทิ่มแทงโซเวียตมากขึ้นเช่นเดียวกัน...
ภาพจาก Yousuf Karsh (โยซิป บรอซ ตีโต)
โซเวียตนั้นต่างพยายามควบคุมให้ยุโรปตะวันออกเดินตามแนวทางคอมมิวนิสต์ของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วบริบทของประเทศต่างๆ ไม่สามารถทำแบบนั้นได้...
2
อย่างโปแลนด์ ที่แต่ก่อนเป็นรัฐที่เคร่งศาสนาแบบสุดๆ พอเกิดการปฏิวัติและพรรคคอมมิวนิสต์เข้าปกครอง ศาสนาเลยถูกล้มล้างไป แต่ความศรัทธาใช่ว่าจะลบออกไปได้ง่ายๆ ทำให้ต่อมาผู้นำอยากให้เสรีภาพในการนับถือศาสนากับคนโปแลนด์
3
แต่โซเวียตไม่เห็นด้วยและบอกโปแลนด์ว่า "แบบนี้มันเป็นการทำลายคอมมิวนิสต์!"
4
ซึ่งผู้นำโปแลนด์ก็ยอมทำตามโซเวียต แต่ว่าก็เริ่มวางนโยบายที่ออกห่างจากโซเวียตเอาไว้แต่พยายามรักษาความสัมพันธ์กับโซเวียตไว้ก่อน เพราะถ้าไปขัดใจมากเกินไปอาจโดนบุกได้...
หรือในฮังการีที่มีผู้นำคือ "มัทยาช ราโคชี" ได้สร้างระบบคอมมิวนิสต์ตามโซเวียตแบบเป๊ะๆ แถมยังยกตัวเองให้เป็นเหมือนสตาลิน ที่ประชาชนต้องนับถือบูชา แต่ราโคชีบริหารล้มเหลวมาก "อิมเร นอย" เลยขึ้นมาเป็นผู้นำแทน
อิมเร นอยที่มองเห็นว่าหากทำตามโซเวียตก็จะจบแบบราโคชี เลยพยายามให้เสรีภาพประชาชนมากขึ้น แต่โซเวียตที่เห็นท่าไม่ดีเลยซัพพอร์ตราโคชีเข้ายึดอำนาจประเทศ ซึ่งมันก็ทำให้ฮังการีวนเข้าสู่ลูปเดิม
2
แต่คราวนี้ประชาชนไม่ยอม เกิดม๊อบนับหมื่นประท้วงราโคชีและโซเวียต เรียกร้องให้อิมเร นอยกลับสู่อำนาจ พร้อมไล่กองทัพแดงให้ออกไปจากฮังการี...
1
สถานการณ์เริ่มดุเดือด อิมเร นอยกลับมาตามคำเรียกร้องและยึดอำนาจจากราโคชีพร้อมเดินหน้าปฏิรูปประเทศใหม่ หันหลังให้คอมมิวนิสต์และเจรจาให้โซเวียตถอนกองกำลังออกจากฮังการี
1
โซเวียตเห็นแบบนั้นเลยตัดสินใจสั่งกองทัพล้อมบูดาเปสต์ เมืองหลวงฮังการีแล้วถล่มคนที่ต่อต้านแบบเด็ดขาด ซึ่งมีคนตายจากเหตุการณ์นี้กว่า 2,000 คน โซเวียตเข้ายึดฮังการีแบบสมบูรณ์ และจับอิมเร นอยกับพรรคพวกประหารชีวิต
1
หลังโซเวียตเข้ามาปกครองและตั้งรัฐบาลหุ่น ชาวฮังการีพากันอพยพออกจากประเทศตัวเองกว่า 2 แสนคนเลยล่ะครับ และเหตุการณ์นองเลือดนี้ยิ่งทำให้ยุโรปตะวันออกไม่ไว้ใจโซเวียตมากขึ้นไปอีก...
1
และรายต่อไปที่เริ่มต่อต้านคือเชโกสโลวาเกีย ซึ่งนำโดย "อเล็กซานเดร์ ดูบเชก" ที่เริ่มให้เสรีภาพทางการเมือง และใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอ่อนๆ พร้อมฟื้นฟูศาสนาขึ้นมาใหม่
ฝ่ายโซเวียตเลยคิดว่า "ปล่อยไว้ไม่ได้!" สั่งให้เยอรมันตะวันออก โปแลนด์ และฮังการียกทัพเข้ารุมยำเชโกสโลวาเกีย แต่ดูบเชกไม่ยอมต่อสู้ สั่งให้ทหารวางอาวุธและห้ามไม่ให้ประชาชนต่อต้าน พร้อมพยายามขอความช่วยเหลือจากทั้ง UN สหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก แต่ก็ไม่มีใครเข้ามายุ่ง...
ดูบเชกเลยถูกปลดและส่งไปใช้แรงงานที่ค่ายกักกัน โซเวียตก็เข้ายึดเชโกสโลวาเกียแล้วสร้างรัฐบาลหุ่นแบบฮังการีปกครอง...
1
ประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ ก็มีการต่อต้านโซเวียตอยู่บ้างประปรายและพยายามออกจากแนวทางของโซเวียต ทั้งโรมาเนีย บัลเกเรีย และแอลเบเนีย
ทำให้แทนที่โซเวียตจะขยายอุดมการณ์ของตัวเองไปที่อื่นๆ ของโลกแข่งกับสหรัฐฯ แบบเต็มที่ แต่กลับต้องมาโฟกัสกับยุโรปตะวันออกที่คิดว่าเป็นม่านเหล็กของตัวเองมากกว่าปกติ
ซึ่งจุดนี้มันเลยเป็นการบั่นทอนเศรษฐกิจของทั้งโซเวียตและยุโรปตะวันออก ทำให้รอยร้าวของโลกคอมมิวนิสต์ในยุโรปกลับปริจนแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ในที่สุด...
ภาพจาก Hugary Today (โซเวียตบุกฮังการีในปี 1956)
สภาพบูดาเปสต์หลังการบุกของกองทัพแดง
ภาพจาก Kafkadesk (โซเวียตยกทัพเข้าปราก เมืองหลวงของเชโกสโลวาเกียในปี 1968)
พอเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1980 กาลเวลาก็เริ่มพิสูจน์ว่าคอมมิวนิสต์ล้มเหลวในการสร้างความเจริญทางวัตถุและไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าได้มากพอ ยุโรปตะวันออกกลายเป็นดินแดนที่ยากจนและเศรษฐกิจล้มเหลว แตกต่างจากยุโรปตะวันตกที่เศรษฐกิจก้าวหน้าไปไกล...
1
รัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มมีหนี้และการผลิตสินค้าก็ไร้คุณภาพ ไม่สามารถแข่งกับสินค้าของยุโรปตะวันตกได้เลย อีกทั้งเทคโนโลยีก็ตามหลังโลกอีกฝั่งหลายขุม
2
ยักษ์ใหญ่ของโลกคอมมิวนิสต์อย่างจีน ก็หันหน้าเข้าสู่ทุนนิยมมากขึ้นในช่วงของเติ้ง เสี่ยวผิง...
แม้กระทั่งโซเวียตก็เริ่มปรับตัวเมื่อ "มิคาอิล กอร์บาชอฟ" ขึ้นมาเป็นผู้นำ และใช้นโยบายที่เรียกว่ากลาสนอสต์และเปเรสทรอยก้า
โดยกลาสนอสต์ คือการเปิดเสรีการเมืองให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้
1
และเปเรสทรอยก้า คือเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ หันหน้าไปทางทุนนิยมมากขึ้น
แต่ทว่า เปเรสทรอยก้า ไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจของโซเวียตให้ดีขึ้นได้ ตรงกันข้ามกับกลาสนอสต์ที่สำเร็จ
2
เมื่อเศรษฐกิจแย่แต่การเมืองกลับเปิดเสรีมากขึ้น ประชาชนก็พากันออกมาด่ารัฐบาลโซเวียตว่าบริหารล้มเหลว...
สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในโซเวียต ทำให้ยุโรปตะวันออกก็เริ่มเคลื่อนไหวเหมือนกัน ประชาชนต่างพากันก่อม๊อบประท้วงเพื่อโค่นล้มผู้นำตัวเองที่บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว...
เริ่มจากโปแลนด์ที่มีการนัดหยุดงานและเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จนมีเขียนรัฐธรรมนูญและเลือกรัฐบาลใหม่ ใช้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมมากขึ้น...
2
คราวนี้ก็เหมือนเป็น Domino Effect ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกก็เริ่มประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน ทั้งเยอรมนีตะวันออก ฮังการี บัลเกเรีย เชโกสโลวาเกีย โรมาเนีย
โดยเหตุการณ์ใหญ่ๆ คือการปฏิวัติกำมะหยี่ในเชกโกสโลวาเกียที่ทำให้เกิดการแบ่งประเทศเป็นเช็กเกียและสโลวาเกีย...
หรือการปฏิวัตินองเลือดในโรมาเนียที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง...
และที่สำคัญคือในเยอรมนีตะวันออก ประชาชนออกมาประท้วงเข้าทุบทำลายกำแพงเบอร์ลิน จนมีการอพยพข้ามพรมแดนครั้งใหญ่อีกครั้ง และทำให้เยอรมนีทั้งตะวันตกและตะวันออกกลับมารวมเป็นประเทศเดียวกันในที่สุด...
การพังทลายของดินแดนม่านเหล็ก ทำให้รัฐบริวารของโซเวียตก็ลุกฮือขึ้นประท้วงเช่นเดียวกัน พากันแยกตัวออกมาสร้างประเทศตัวเอง
ม่านเหล็กที่พังทลายลงและเหล่าบริวารที่แยกตัวออกไป ทำให้รัฐบาลไม่สามารถยึดโยงรัฐขนาดใหญ่นี้เอาไว้ได้อีกแล้ว สหภาพโซเวียตเลยล่มสลายลงในปี 1991 แตกออกเป็น 15 ประเทศ และถือเป็นจุดอวสานของสงครามเย็น...
ภาพจาก Radio Poland (การประท้วงในโปแลนด์)
ภาพจาก MoneyWeek (การปฏิวัติกำมะหยี่ในเชโกสโลวาเกีย)
ภาพจาก Romanian Journal (การปฏิวัตินองเลือดในโรมาเนียโค่นล้มผู้นำคอมมิวนิสต์เชาเชสกูซึ่งนำไปสู่สงครามกลางเมือง)
ภาพจาก Thought Co (การทุบทำลายกำแพงเบอร์ลิน)
ภาพจาก The Times (การทุบทำลายกำแพงเบอร์ลิน)
ภาพจาก History (โซเวียตล่มสลายแตกออกเป็น 15 ประเทศ)
เรียกได้ว่า ตลอดระยะเวลาในสงครามเย็น ดินแดนที่โซเวียตเห็นว่าเป็นม่านเหล็กของตัวเองนั้น ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับโซเวียตอย่างแท้จริง
และการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก เป็นตัวทลวงให้โซเวียตล่มสลายด้วยเช่นเดียวกัน
เหล่ายุโรปตะวันออกต่างก็พากันเดินตามแนวทางใหม่ของตัวเอง หรือแม้กระทั่งรัสเซียที่เป็นศูนย์กลางของโซเวียต ก็หันหลังให้คอมมิวนิสต์แล้วพุ่งตรงเข้าหาประชาธิปไตยและทุนนิยมอย่างเต็มที่...
โลกคอมมิวนิสต์ในยุโรปก็ได้ล่มสลายลงแบบสมบูรณ์....
จริงๆ แล้ว ประโยคสุดท้ายก็อาจพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะยังเหลืออีก 2 ประเทศที่ผมยังไม่ได้พูดถึง คือแอลเบเนีย และอีกประเทศหนึ่งที่ถือเป็นดินแดนสำคัญซึ่งจะต่อยอดไปสู่ความขัดแย้งและสงครามครั้งใหญ่....
หากทุกท่านยังจำได้ จะมีดินแดนหนึ่งที่ตีตัวออกห่างจากโซเวียตตั้งแต่แรก ทำให้ไม่ถูกแทรกแซงการเมืองเหมือนประเทศอื่นๆ...
มันเลยทำให้ดินแดนนี้มีรากของคอมมิวนิสต์และเผด็จการที่ฝังลึกกว่าที่อื่น...
1
การล่มสลายของโลกคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและโซเวียต ก็ส่งผลกระทบถึงดินแดนที่ว่านี้เช่นเดียวกัน...
แต่มันได้กลายเป็นผลกระทบที่รุนแรงถึงขีดสุดมากกว่าที่อื่นๆ เพราะเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปีร่วมด้วย...
2
และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวในตอนต่อไป...
"ยูโกสลาเวีย (Yugoslavia)" ไฟสงครามแห่งชาติพันธุ์
3
References
Albrecht-Carrie, Rene. A Diplomatic History of Europe Since the Congress of Vienna. New York : Harpercollins College Div, 1973.
Captivating History. History of Eastern Europe: A Captivating Guide to a Shortened History of Russia, Ukraine, Hungary, Poland, the Czech Republic, Bulgaria, Slovakia, Moldova, Belarus, and Romania. Captivating History, 2021.
Dvornik, Francis. The Slavs in European History and Civilization. New Jersy : Rutgers University Press. 1962.
Glenny, Misha. The Balkans: Nationalism, War & the Great Powers, 1804-1999. London : Penguin Books, 2001.
Kenez, Peter. A History of the Soviet Union from the Beginning to the End. Cambridge : Cambridge University Press, 2006.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา