25 มิ.ย. 2022 เวลา 10:57 • ประวัติศาสตร์
“ยูโกสลาเวีย (Yugoslavia)” ไฟสงครามแห่งชาติพันธุ์
โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเซรเบนนิตซา จะตามหลอกหลอนประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติไปตลอดกาล
โคฟี อันนัม
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน "ความขัดแย้ง" ของมนุษย์เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์...
บ่อเกิดของความขัดแย้งอาจมาจาก "ความเกลียดชัง" ผสมกับผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละยุคสมัย...
และความเกลียดชังนั้น ก็มาจาก "ความแตกต่าง" โดยเฉพาะหากแตกต่างด้านชาติพันธ์หรือความเชื่อ จะยิ่งทำให้ความเกลียดชังและความขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น...
1
ในเดือนกรกฎาคม ปี 1995 ได้เกิดโศกนาฏกรรมที่เป็นจุดสูงสุดของความขัดแย้ง อันมาจากความเกลียดชังและความแตกต่างในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อว่า "เซรเบนนิซซา (Srebrenica)"
2
ความแตกต่างได้นำพาเมืองนี้ไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่อาจนับได้ว่ารุนแรงที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น เป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ความขัดแย้งในดินแดนนี้...
1
ดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ความแตกต่างที่ยาวนานกว่าพันปี...
จนกลายเป็นความเกลียดชังที่หยั่งลึกและระเบิดออกในทศวรรษ 1990...
บอลข่าน...
มหาอำนาจและการรวมชาติ...
โยซิป บรอซ ตีโต...
สโลโบดาน มิโลเชวิช…
อิสรภาพของสโลวิเนีย...
สงครามในโครเอเชียและโคโชโว
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา...
โศกนาฏกรรมในเซรเบนนิตซากับโปโตคารี...
และนี่ คือเรื่องราวของ "ยูโกสลาเวีย (Yugoslavia)"
กับยุคสมัยที่ร้อนระอุไปด้วยไฟสงครามแห่งชาติพันธุ์...
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
เริ่มแรกเรามาทำความรู้จักกับชนชาติที่เรียกว่า "สลาฟ (Slavs)" กันก่อน
โดยสลาฟ เป็นหนึ่งในกลุ่มชนชาติที่อยู่ในอินโด-ยูโรเปียน ซึ่งมีพื้นเพอยู่แถบเอเชียกลางแล้วอพยพกระจัดกระจายไปทั้งทางอินเดียและยุโรป
สลาฟที่อยู่ในพื้นที่ต่างกัน ก็เกิดทั้งภาษาและวัฒนธรรมยิบย่อยที่แตกต่างกันจนกลายเป็นชาติพันธุ์ต่างๆ ขึ้นมาในที่สุด
ซึ่งเราจะแบ่งสลาฟออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้...
1) สลาฟตะวันออก คือ ชาวรัสเซีย เบลารุส ยูเครน
2) สลาฟตะวันตก คือ ชาวสโลวัก เช็ก โปล
1
3) สลาฟใต้ คือ ชาวเซิร์บ โครแอต สโลวีน บอสเนีย บัลเกเรียน มาซิดอน มอนเตเนกริน
โดยเราจะมาโฟกัสที่สลาฟใต้ ซึ่งอยู่บริเวณคาบสมุทรบอลข่านที่เต็มไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ทำให้แต่ละเมืองถูกตัดแยกออกจากกัน ความเป็นสลาฟใต้เลยค่อนข้างจะแตกต่างกันพอสมควร
วัฒนธรรมและภาษาที่ถึงแม้รากของจะเป็นสลาฟเหมือนกัน แต่ถ้าให้มาเจอกันอีกทีก็แทบจะพูดกันไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจกันเลยทีเดียว
ซึ่งพอเทรนด์ชาตินิยมได้เข้ามา สลาฟใต้กลุ่มต่างๆ ก็พากันรวมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเซอร์เบีย...
บัลเกเรีย...
มอนเตเนโกร...
และยังคงมีดินแดนอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้มหาอำนาจในยุโรปอย่างบอสเนียและสโลวิเนีย ที่พยายามรวมชาติด้วยเหมือนกัน
รวมถึงตัวของเซอร์เบียก็อยากที่จะรวมสลาฟใต้ทั้งหมดให้เป็นชาติเดียวกันโดยมีเซอร์เบียนี่แหละเป็นผู้นำ
แต่อุดมการณ์ของเซอร์เบียก็ดันไปขัดแย้งกับมหาอำนาจในยุโรปอย่างออสเตรีย-ฮังการี
บานปลายจนเกิดการลอบสังหารในซาราเยโวที่เป็นชนวนให้มหาอำนาจยุโรปหันหน้ามาบวกกันเองเกิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นมา...
แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เซอร์เบียที่เป็นฝ่ายผู้ชนะก็ได้รับผลประโยชน์ โดยฝ่ายสัมพันธมิตรก็จัดการรวมชาติชาวสลาฟใต้ในบอลข่านและให้เซอร์เบียเป็นผู้นำ
1
คราวนี้ ทั้งเซอร์เบีย บอสเนีย มอนเตเนโกร รวมถึงดินแดนที่เคยเป็นของออสเตรีย-ฮังการีอย่างสโลวิเนียและโครเอเชีย ก็รวมกันเป็นชาติของชาวสลาฟใต้ที่ชื่อว่า "ยูโกสลาเวีย (Yugoslavia)" ในที่สุด
แต่อย่างที่ผมได้เล่าไปครับว่า ถึงแม้จะเป็นสลาฟใต้เหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันทั้งเรื่องของภาษาและความเชื่อ ซึ่งจะกลายเป็นจุดแตกหักในอนาคต...
ภาพจาก Wikimedia Commons (ชนชาติสลาฟในยุโรป)
ภาพจาก Wikimedia Commons (ยูโกสลาเวีย)
หลังรวมชาติ ยูโกสลาเวียก็ปกครองโดยกษัตริย์คืออเล็กซานดาร์ แต่ในปี 1917 ก่อน WW1 จะจบลง ได้เกิดการปฏิวัติรัสเซีย และเกิดสหภาพโซเวียตที่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์ขับเคลื่อนประเทศในปี 1922
คราวนี้ มันเลยทำให้แนวคิดคอมมิวนิสต์แบบโซเวียตเริ่มกระจายไปทั่วยุโรป ประเทศต่างๆ ก็เริ่มมีพรรคการเมืองที่โปรคอมมิวนิสต์ ต้องการปฏิวัติประเทศแบบโซเวียต ซึ่งยูโกสลาเวียก็เป็นหนึ่งในนั้น
แต่พรรคคอมมิวนิสต์ในยูโก ถูกอเล็กซานดาร์กวาดล้างแทบหมดไปจากประเทศ ทำให้พรรคต้องย้ายศูนย์กลางตัวเองไปประเทศอื่น แล้วคอยเผยแพร่อุดมการณ์เข้าไปในยูโกผ่านขบวนการใต้ดินแทน โดยในตอนนั้นมีผู้นำคือ "โยซิป บรอซ ตีโต (Josip Broz Tito)"
และระหว่างที่คอมมิวนิสต์ฟาดฟันกับรัฐบาลในยูโกอยู่นั้น ก็ดันเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมา
โดยฝ่ายอักษะอย่างเยอรมนีและอิตาลีบุกถล่มยูโกสลาเวียแล้วแบ่งดินแดนออกเป็นส่วนๆ รัฐบาลกลางของยูโกถูกโค่นล้มอย่างง่ายดาย
ฝ่ายตีโตเห็นโอกาส เลยปลุกระดมประชาชนในยูโกสลาเวียต่อต้านและขับไล่กองทัพอักษะออกไปจากประเทศ เลยเกิดเป็นกองกำลังที่เรียกว่า "ปาร์ติซาน" ขึ้นมา
ซึ่งปาร์ติซานก็รบแบบกองโจรตอดเล็กตอดน้อยอักษะไปตลอดช่วง WW2 จนกระทั่งช่วงท้ายสงครามที่เยอรมนีและอิตาลีเริ่มอ่อนแอ ปาร์ติซานก็บุกยึดเมืองต่างๆ คืนกลับมาจนอักษะถอนกำลังออกจากยูโก
แต่ระหว่างที่อักษะปกครอง ก็มีรัฐบาลหุ่นที่ตั้งขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ตีโตต้องสั่งให้ปาร์ติซานบวกกับรัฐบาลหุ่นต่อให้รู้แล้วรู้รอด
และด้วยความร้อนแรงของปาร์ติซาน ก็สามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ในปี 1945 ตรงช่วงที่ WW2 จบลงพอดี
คราวนี้ ตีโตก็รวมยูโกสลาเวียกลับมาเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง และขึ้นเป็นผู้นำพร้อมสร้างประเทศให้เป็นคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต...
ภาพจาก Yousuf Karsh (โยซิป บรอซ ตีโต)
หลัง WW2 อย่างที่เรารู้กันครับว่า โลกถูกแบ่งออกเป็น 2 อุดมการณ์ คือ ประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐฯ และคอมมิวนิสต์ที่นำโดยโซเวียต
โดยทั้ง 2 หน่อนี้ก็พยายามแข่งกันขยายอุดมการณ์ของตัวเอง ซึ่งยุโรปก็ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนตามอุดมการณ์ของมหาอำนาจ
ยุโรปตะวันตก ก็เป็นพื้นที่ของประชาธิปไตยและสหรัฐฯ
ยุโรปตะวันออก ก็เป็นพื้นที่ของคอมมิวนิสต์และโซเวียต
ทั้งสองฝั่งก็มีการบลัฟกันไปมา เช่นการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ที่ฝ่ายสหรัฐฯก็มีแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) ส่วนฝ่ายโซเวียตก็มีโคมิคอน (COMICON)
หรือทางสหรัฐฯและยุโรปตะวันตกตั้งกองกำลังป้องกันอีกฝ่ายที่ชื่อว่า "เนโต้ (NATO)"
1
ทางโซเวียตและยุโรปตะวันออกก็ไม่น้อยหน้าสร้าง "วอร์ซอ (Warsaw Pact)" ขึ้นมาประจันหน้าด้วย
ทั้ง 2 มหาอำนาจก็ต่างสร้างแนวคิดทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมให้กับประเทศใต้อุดมการณ์ อย่างโซเวียตก็พยายามทำให้ยุโรปตะวันออกเดินตามโมเดลคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต
ดูๆ แล้วเหมือนโซเวียตเป็นบิ๊กบอสของโลกคอมมิวนิสต์ที่เหล่าบรรดาบริวารต้องเชื่อฟัง
แต่ทว่า ไม่ใช่กับประเทศที่ชื่อยูโกสลาเวียและชายที่ชื่อตีโต...
เพราะถึงแม้ยูโกจะเป็นคอมมิวนิสต์และสร้างโมเดลการปกครองแบบโซเวียต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ายูโกอยากอยู่ใต้อำนาจของโซเวียต
1
ซึ่งจุดแตกหักมาถึงเมื่อโซเวียตสร้างโคมิคอน แต่ยูโกสลาเวียไม่ต้องการให้โซเวียตเข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจของตัวเองเลยไม่ยอมร่วมมือด้วย มากกว่านั้นยังไปแอบดีลกับยุโรปตะวันออกให้โดดเดี่ยวโซเวียตเพื่อมาตั้งกรุ๊ปกันเอง...
ตีโตมองว่ายูโกสลาเวียและยุโรปตะวันออกควรมีสิทธิเลือกเส้นทางของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องก้มหน้าก้มตาเดินตามโซเวียต…
คราวนี้ โซเวียตเลยเตะยูโกสลาเวียออกจากโลกคอมมิวนิสต์ของตัวเอง และพยายามบีบตีโตให้ลงจากตำแหน่ง แต่โซเวียตไม่ได้มีอำนาจควบคุมยูโกขนาดนั้น เลยทำอะไรตีโตไม่ได้...
ฝั่งยุโรปตะวันออกเห็นแบบนั้นเลยเข้าข้างโซเวียตไว้ก่อน คว่ำบาตรยูโกสลาเวีย จนเศรษฐกิจของยูโกย่ำแย่แบบสุดๆ เลยล่ะครับ
ฝ่ายตีโตเลยหันไปดีลกับสหรัฐฯ ให้มาช่วยเหลือเศรษฐกิจของยูโก ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่าควรมีพันธมิตรทางนี้เอาไว้บ้าง เลยเข้ามาอุ้มเศรษฐกิจของยูโก แต่ไม่ได้แทรกแซงอำนาจของตีโต ปล่อยให้ยูโกเป็นคอมมิวนิสต์ต่อไป...
ทำให้ช่วงสงครามเย็น ยูโกสลาเวียค่อนข้างมีอิสระ เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่ไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง และโซเวียตไม่สามารถควบคุมได้
คราวนี้ การเมืองของยูโกเลยค่อนข้างมั่นคงเพราะตีโต และเศรษฐกิจก็ยังไปต่อได้เพราะสหรัฐฯ
แต่โจทย์ใหญ่ของยูโกสลาเวียคือความแตกต่างทางชาติพันธุ์และความเชื่อที่มากจนเกินไป...
ภาพจาก Quizlet (ยุโรปในช่วงสงครามเย็น)
ยูโกสลาเวียมีขนาดพื้นที่ประมาณ 255,804 ตร.กม. เทียบง่ายๆ คือ เล็กกว่าไทยครึ่งหนึ่ง เรียกได้ว่า ขนาดของยูโกไม่ได้ใหญ่อะไรมากมาย แต่กลับมีความแตกต่างกันสุดขั้วเลยล่ะครับ
โดยประชากรหลักๆ นั้น จะมีชาวเซิร์บ 36%
ชาวโครแอต 19%
ชาวบอสเนีย 8.9%
ชาวสโลวีน 7%
ชาวอัลเบเนีย 7%
ชาวมาซิดอน 6%
ชาวมอนเตเนกริน 2%
ชาวแมกยาร์ 1%
และยังมีเติร์ก วลาช ยิว ยิปซี ฯลฯ
โดยในช่วงที่ตีโตปกครอง ก็พยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้ได้มากที่สุด ทั้งการเขียนรัฐธรรมนูญให้หมุนเวียนคนของชาติพันธุ์ต่างๆ ผลัดขึ้นมาเป็นผู้นำที่มีเสียงในพรรคคอมมิวนิสต์แต่ละปี
ซึ่งแน่นอนว่าในบางครั้งก็มีการต่อต้าน แต่ก็ยังเป็นการต่อต้านแบบเล็กๆ ไม่ได้ลุกลามใหญ่โตเพราะประชากรส่วนใหญ่ยังค่อนข้างนับถือตีโต
แต่ในปี 1980 ตีโตก็เสียชีวิตลง ซึ่งเหมือนเป็นการทิ้งบอมใส่ยูโกสลาเวีย เมื่อ "สโลโบดาน มิโลเชวิช (Slobodan Milosevic)" ขึ้นมาเป็นผู้นำแทน
ซึ่งมิโลเชวิชแตกต่างจากตีโต ตรงที่โปรชาวเซิร์บแบบสุดขั้ว ไม่สนใจชาติพันธุ์อื่นๆ เลยซักนิดเดียว และมองว่าผลประโยชน์ของเซิร์บต้องมาเป็นอันดับหนึ่งในยูโกสลาเวีย!
คราวนี้ มันเลยทำให้ชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่พอใจ โดยเฉพาะชาวอัลเบเนียที่อยู่ในโคโชโว เริ่มประท้วงต่อต้านมิโลเชวิช
ฝ่ายมิโลเชวิชก็จัดการแบบเด็ดขาด ประกาศภาวะฉุกเฉิน แล้วรวบอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ กำจัดผู้นำชาติพันธุ์อื่นที่มีเสียงในพรรค แล้วสั่งกองทัพเข้าถล่มชาวอัลเบเนียที่ประท้วง!
ภายในยูโกเหมือนจะวุ่นวายแบบสุดๆ แต่ในช่วงเวลาเดียวกันภายนอกก็วุ่นวายไม่แพ้ยูโกเลยล่ะครับ…
เมื่อโลกคอมมิวนิสต์เดินมาถึงทางตัน เศรษฐกิจของโซเวียตล้มเหลว เหล่ายุโรปตะวันออกก็เริ่มตีตัวออกห่าง พร้อมกับเกิดการประท้วงในประเทศต่างๆ เพื่อโค่นล้มผู้นำคอมมิวนิสต์
เชโกสโลวาเกียมีการปฏิวัติกำมะหยี่เพื่อแบ่งแยกประเทศ...
เยอรมนีตะวันออกมีการประท้วงจนทำลายกำแพงเบอร์ลิน...
โรมาเนียมีการปฏิวัติเลือดโค่นล้มผู้นำคอมมิวนิสต์...
โดมิโนที่ล้มลงรัวๆ ในยุโรปตะวันออก ทำให้โซเวียตก็เข้าสู่วิกฤต เหล่ารัฐบริวารก็เริ่มแยกตัว จนทำให้โซเวียตล่มสลายลงในปี 1991 แตกออกเป็น 15 ประเทศ ซึ่งเป็นจุดจบของสงครามเย็น
การแตกสลายของโลกคอมมิวนิสต์ + การปกครองของมิโลเชวิช ทำให้ชาติพันธุ์ต่างๆ ในยูโกสลาเวียอยากปลดแอกจากชาวเซิร์บสร้างชาติของตัวเองขึ้นมาบ้าง
แต่ฝ่ายมิโลเชวิชไม่ยอมให้เป็นแบบนั้นแน่นอน และนี่เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะในยูโกสลาเวีย...
สโลโบดาน มิโลเชวิช
ภาพจาก Espreso (การสลายการชุมนุมปี 1989 ในโคโชโว)
กระแสสร้างชาติที่รุนแรงไม่แพ้ชาวอัลเบเนียในโคโชโว คือชาวสโลวีนในสโลวิเนีย และชาวโครแอตในโครเอเชีย
โดยมิโลเชวิช ก็เตรียมกองทัพเข้ากวาดล้างคนที่ต่อต้านไว้พร้อมอยู่แล้ว ซึ่งข่าวที่ว่านี้ก็ไปถึงหูทั้งผู้นำสโลวีนและโครแอต
คราวนี้ ในสโลวิเนียเลยมีการตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อว่า DEMOS ขึ้นมาต่อสู้ในสภาเพื่อแยกสโลวิเนียออกจากยูโก ซึ่ง DEMOS ได้เสียงข้างมากจากชาวสโลวีน เลยขับเคลื่อนให้มีการลงประชามติในปี 1990 ผลคือ 88% ต้องการแยกตัวจากยูโก
DEMOS เลยประกาศอิสรภาพสร้างชาติสโลวิเนียขึ้นมา มิโลเชวิชที่ "ไม่ยอมเด็ดขาด!" ก็ส่งกองทัพเข้าถล่มชาวสโลวีน เกิดเป็นสงครามสิบวันขึ้นมา...
1
แต่ DEMOS มีการวางหมากไว้ก่อนหน้าแล้ว โดยดีลกับนานาชาติและ UN ให้สนับสนุนการแยกตัวของสโลวิเนีย
โดยพอมี UN เข้ามาเกี่ยวข้อง มิโลเชวิชเลยต้องจำใจถอนทัพออกและยอมให้สโลวิเนียตั้งประเทศขึ้นมาในปี 1991
1
ส่วนในโครเอเชียก็ตั้งพรรคการเมืองของชาวโครแอตเหมือนกัน และพยายามประกาศอิสรภาพ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าในโครเอเชียมีชาวเซิร์บอยู่ถึง 6 แสนคน ทำให้ชาวเซิร์บเหล่านี้รวมตัวประท้วงต่อต้านการแยกโครเอเชียออกจากยูโก...
1
แต่ฝ่ายโครแอตก็ไม่น้อยหน้า ก่อม๊อบเข้าไปบวกกับฝ่ายเซิร์บ คราวนี้มิโลเชวิชเลยส่งกองทัพเข้าไปถล่มชาวโครแอตในปี 1991 เกิดเป็นสงครามกลางเมืองอันดุเดือด
ชาวโครแอตกับชาวเซิร์บที่เป็นทั้งทหารและพลเรือนหันหน้าเข้าฟาดฟันกันอย่างบ้าคลั่ง แต่กองทัพเซิร์บค่อนข้างได้เปรียบและยึดเมืองได้หลายเมือง จนชาวโครแอตต้องอพยพกระจัดกระจายไปที่ต่างๆ กว่าแสนคน และมีคนตายจากสงครามกว่าหมื่นคน
ประเทศในยุโรปและ UN เห็นท่าไม่ดีเลยเข้ามาไกล่เกลี่ยว่า "หยุดรบกันแค่นี้แหละ!" แต่กองทัพเซิร์บที่กำลังบ้าเลือดก็ไม่ฟัง เข้าถล่มชาวโครแอตต่ออย่างไม่หยุดยั้ง
1
UN เลยเดินเกมเรียกร้องให้ชาติต่างๆ คว่ำบาตรยูโกสลาเวีย…
คราวนี้ มิโลเชวิชเลยยอมสั่งให้ทหารเซิร์บหยุดยิง UN เลยส่งทหารเข้าไปรักษาการในโครเอเชีย
UN เห็นว่าการที่จะหยุดปัญหาได้คือต้องให้อิสรภาพกับโครเอเชีย ซึ่งในปี 1992 ชาวโครแอตก็แยกตัวจากยูโกสลาเวีย และสร้างชาติโครเอเชียขึ้นมาได้สำเร็จจากการรับรองของ UN
แน่นอนครับว่า การสร้างชาติของทั้งสโลวิเนียและโครเอเชีย ย่อมเป็นเหมือนโดมิโนที่ล้มลงในยูโกสลาเวีย
1
และโดมิโนตัวที่สามคือชาวบอสเนียในดินแดนบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา
ซึ่งโดมิโนตัวนี้นี่แหละครับ ที่ทำให้เหตุการณ์ในยูโกสลาเวียซับซ้อนและรุนแรงถึงขีดสุด...
ภาพจาก Balkan Insight (สงครามสิบวันในสโลวิเนีย)
ภาพจาก tumblr (สงครามสิบวันในสโลวิเนีย)
ภาพจาก Croatia (สภาพเมืองหลังสงครามในโครเอเชีย)
ภาพจาก History Collection (การอพยพหนีสงครามของชาวโครแอต)
ภาพจาก 9GAG (หญิงชาวโครแอตบอกลาสามีที่ไปรบในสงคราม)
ภาพจาก Reddit (ซานตาครอสที่มามอบความสุขให้เด็กๆ ในโครเอเชีย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องถือปืนเตรียมพร้อมไว้ด้วย)
บอสเนีย-เฮอเซโกวินา เป็นดินแดนที่สัดส่วนประชากรค่อนข้างใกล้เคียงกัน...
มีชาวบอสเนียที่เป็นมุสลิมอยู่ 43%
ชาวเซิร์บ 33%
และชาวโครแอตอีก 17%
ทำให้ในปี 1990 ทั้ง 3 กลุ่มก็ตั้งพรรคการเมืองของตัวเองขึ้นมาห้ำหั่นกัน แต่แล้วการสร้างชาติของสโลวิเนียและโครเอเชีย ทำให้ชาวบอสเนียอยากที่จะสร้างชาติของตัวเองบ้าง...
4
แต่ชาวเซิร์บในบอสเนียที่นำโดย "ราโดวาน การาจิช (Radovan Karadzic)" ไม่ยอมแยกตัวจากยูโกสลาเวียเด็ดขาด! เลยชิงประกาศดินแดนของตัวเองที่ขึ้นตรงกับยูโกแล้วตั้งเมืองหลวงที่ปาเล
2
ฝ่ายมิโลเชวิชก็แบ็คอัพการาจิชเต็มที่ อัดฉีดทั้งอาวุธและเงินให้ชาวเซิร์บเพื่อทำสงครามกับชาวบอสเนียและโครแอต
ด้วยสปอนเซอร์ที่เข้ามาไม่ขาดสาย ทำให้การาจิชสามารถยึดดินแดนในบอสเนียได้อย่างรวดเร็ว
ทัพของเซิร์บกวาดล้างทั้งชาวบอสเนียและชาวโครแอตแบบโหดเหี้ยมเพื่อสร้างความหวาดกลัว ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างบางทั้งเมือง ทรมานเชลย และข่มขืนผู้หญิงทั้งชาวบอสเนียและโครแอต
หายนะที่เกิดขึ้นทำให้มีคนอพยพออกจากบอสเนีย-เฮอเซโกวินากว่า 2 ล้านคน ฝ่าย UN และยุโรปเห็นว่า "การทำแบบนี้ของรัฐบาลยูโกสลาเวียและชาวเซิร์บมันเลยเถิดเกินไป" เลยจัดการคว่ำบาตรทั้งเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
แล้ว UN ก็ส่งทหารเข้าไปในบอสเนียเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พร้อมกับเจรจาให้หยุดยิง มิโลเชวิชเริ่มคิดว่า "ถ้ายังดื้อด้านต่อไปตัวเองจะเสียหายหนัก" เลยยอมทำตาม UN และเลิกแบ็คอัพการาจิช
แต่การาจิชไม่ยอมฟัง ยังสั่งให้ทหารถล่มบอสเนียต่อไปจนล้อมเมืองหลวงคือซาราเยโว แล้วยิงปืนครกถล่มกลางเมืองจนคนตายไป 68 คน บาดเจ็บอีกร่วม 200 คน!
2
ความเปรี้ยวของการาจิช ทำให้ NATO ต้องเข้ามาผสมโรงด้วย พร้อมขู่ทั้งการาจิชและมิโลเชวิชว่า "หากไม่ถอนกำลังออกจากซาราเยโว NATO จะส่งกำลังรบทางอากาศเข้าถล่มกองทัพเซิร์บ!"
มิโลเชวิชเลยสั่งการาจิชแบบเด็ดขาดว่า "ให้ถอนทหารออกด่วนๆ!"
การาจิชเลยต้องจำใจถอนทัพออกจากซาราเยโว แต่ก็แค่เมืองเดียวเท่านั้น เพราะการาจิชยังคงเดินหน้าถล่มบอสเนียเมืองอื่นๆ ต่อไป...
ฝ่าย NATO เลยส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดใส่ฐานที่มั่นต่างๆ ของเซิร์บ และ UN ก็ส่งทหารเข้าไปยึดพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้าง Safe Area เป็นค่ายผู้อพยพ
ทำให้ชาวบอสเนียเริ่มได้ดินแดนคืนจากเซิร์บ กองทัพเซิร์บเลยต้องถอยไปทางตะวันออกและพยายามยึดเมืองในแถบนั้นเป็นฐานที่มั่นแทนและได้ล้อมเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งกลางหุบเขาเอาไว้
เมืองนี้ชื่อว่า "เซรเบนนิตซา (Srebrenica)" ที่ซึ่งโศกนาฏกรรมอันโหดร้ายทารุณกำลังจะเริ่มต้นขึ้น..
ภาพจาก Balkan Insight (ราโดวาน การาจิช)
ภาพจาก The Atlantic (การเผาหมู่บ้านชาวบอสเนียของกองทัพเซิร์บ)
ภาพจาก The Atlantic (สงครามในบอสเนีย)
ภาพจาก BBC News (ผู้อพยพชาวบอสเนียที่หนีภัยสงคราม)
ภาพจาก The Atlantic (การถล่มเมืองซาราเยโว)
ภาพจาก PBS (การรบในซาราเยโว)
ภาพจาก Tuzlainfo (เหตุการณ์ยิงปืนครกใส่กลางเมืองซาราเยโว)
ภาพจาก The Atlantic (ประชาชนกำลังหลบกระสุนจากสไนเปอร์ที่ยิงเข้ามากลางเมืองซาราเยโว)
ภาพจาก The Economist (ที่ตั้งเมืองเซรเบนนิตซา)
เซรเบนนิตซา ถือเป็นที่มั่นของกองกำลังบอสเนียในทางตะวันออก
อย่างที่ผมได้เล่าไปว่ากองทัพเซิร์บได้เก็บพื้นที่รอบๆ แทบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงเซรเบนนิตซาที่ยังประจันหน้าอยู่
ฝ่าย UN ก็ดักหน้ากองทัพเซิร์บเอาไว้ก่อน โดยชิงเข้ามาควบคุมเซรเบนนิตซาให้เป็น Safe Area สร้างค่ายผู้อพยพในเซรเบนนิตซา และเมืองทางเหนือที่ชื่อว่า “โปโตคารี (Potocari)”แล้วจัดกองกำลังป้องกันรอบๆ Safe Area เอาไว้
โดยในเซรเบนนิตซามีชาวบอสเนียอยู่ประมาณ 9,000 คน
ส่วนในโปโตคารีมีอยู่ประมาณ 20,000 คน
แต่กองทัพเซิร์บที่มีผู้บัญชาการคือ “รัทกอ มลาดิช (Ratko Mladic)” ก็ไม่ได้สนใจทหาร UN หรือ Safe Area ใดๆ ทั้งสิ้น ในวันที่ 6 กรกฎาคม 1995 ทัพเซิร์บก็เข้าโจมตีเซรเบนนิตซา
แต่ UN ในตอนนั้นที่ไปโฟกัสพื้นที่อื่นมากกว่าเซรเบนนิตซา เลยไม่ได้ส่งกำลังสนับสนุนหรืออาวุธเข้ามาช่วย ทหาร UN ที่ป้องกันเมืองเลยยอมแพ้ปล่อยให้กองทัพเซิร์บยึดเมืองไปอย่างไม่ยากเย็น...
คราวนี้แหละครับ ทหารเซิร์บที่เสียพื้นที่ของตัวเองและเหมือนกำลังจะแพ้สงครามเลยเอาความอัดอั้นนั้นมาลงกับชาวเมืองในเซรเบนนิตซา...
ทหารเซิร์บมีการแยกผู้ชายทั้งที่เป็นเด็ก ผู้ใหญ่ และคนแก่ออกมา จับขึ้นรถบรรทุกไปบนเนินเขา แล้วฆ่าจนเกลี้ยงทั้งยิงเป้าและเชือดคอ จากนั้นก็ฝังทุกร่างบนเนินเขาตรงนั้น…
ส่วนผู้หญิงก็จะถูกข่มขืน ทรมาน และสุดท้ายถูกจับแขวนคอและยิงทิ้ง…
ภายในไม่กี่วัน ชาวบอสเนียที่อยู่ในเซรเบนนิตซากว่า 9,000 คน พากันหนีตายและรอดไปที่โปโตคารีไม่ถึง 100 คน
1
คราวนี้แหละครับ คนที่หนีไปถึงโปโตคารีก็บอกเล่าถึงนรกบนดินในเซรเบนนิตซา ชาวบอสเนียในโปโตซารีก็พากันรีบเก็บข้าวของอพยพหนีทัพเซิร์บกันยกใหญ่
แต่ก็ยังมีอยู่หลายคนที่เชื่อว่ายิ่งออกไปจากโปโตคารีจะยิ่งอันตราย ที่นี่แหละคือ Safe Area ทหาร UN จะปกป้องพวกเราได้แน่นอน!
หรืออีกหลายๆ คนยังคงเฝ้ารอญาติพี่น้องที่อยู่ในเซรเบนนิตซา และมีความหวังว่าพวกเขาเหล่านั้นจะหนีรอดออกมาได้ เลยยังไม่ไปไหน…
และแล้ว ทัพเซิร์บที่ละเลงเลือดในเซรเบนนิตซาจนหนำใจแล้ว ก็เริ่มเบนเป้าหมายไปที่โปโตคารี
ซึ่งอย่างที่เรารู้กัน ในช่วงเวลานั้น UN ไม่ได้โฟกัสเซรเบนนิตซาและโปตาคารี ทำให้ทหาร UN ที่ประจำการอยู่ไม่มีท่าทีต่อต้านทหารเซิร์บ แถมปล่อยให้เข้ามาในโปโตคารีอย่างง่ายดาย
แล้วก็เหมือนกับเซรเบนนิตซา ผู้ชายถูกจับแยกออกมาต้อนขึ้นรถบรรทุก ซึ่งแน่นอนว่าคนเหล่านั้นไม่ได้กลับมาที่ค่ายอีกเลย…
ส่วนชะตากรรมของผู้หญิงในโปโตคารีก็ไม่ได้ต่างจากเซรเบนนิตซา ซึ่งผู้รอดชีวิตก็มีการบอกเล่าประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป…
Warning : คำบอกเล่าต่อไปนี้มีความรุนแรงและสะเทือนจิตใจ ใครรับไม่ได้สามารถข้ามไปได้เลยนะครับ…
4
“ชั้นเห็นทหารเซิร์บแยกเด็กผู้หญิงและหญิงสาวออกจากกลุ่ม แล้วข่มขืนหญิงสาวเหล่านั้น โดยบางครั้งเป็นการข่มขืนต่อหน้าครอบครัวของหญิงสาวเหล่านั้น…”
“มีครั้งหนึ่งที่เด็กทารกเกิดร้องไห้ขึ้นมา ทหารเซิร์บเลยบอกแม่คุมให้เด็กหยุดร้อง แต่ทำยังไงเด็กก็ไม่ยอมหยุด ทหารเซิร์บเลยกระชากเด็กออกมา แล้วเชือดคอทั้งเป็นต่อหน้าแม่ของเด็ก…”
“ชั้นเห็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิต มีเด็กหนุ่มอายุไม่ถึง 10 ขวบ ขัดขืนไม่ยอมขึ้นรถบรรทุกเพราะจะอยู่กับแม่ที่กำลังท้องแก่ ทหารเซิร์บเลยเชือดคอเด็กหนุ่มคนนั้น พร้อมตัดหัวโยนลงบนตักแม่ จากนั้นหยิบหัวขึ้นมาแล้วชูให้ทุกคนดูว่าหากใครขัดขืนจะมีชะตากรรมแบบนี้ หลังจากนั้นก็จัดการแม่เด็กคนนั้นโดยการผ่าท้อง…”
1
“ทุกๆ คืน เราจะเห็นเด็กสาวถูกลากออกไปโดยที่เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทุกๆ คืนจะมีแต่เสียงกรีดร้องอย่างบ้าคลั่งและทุกครั้งเสียงกรีดร้องนั้นจะถูกดับด้วยเสียงปืน ไม่มีใครที่หลับลง หญิงสาวที่ถูกลากออกไปส่วนใหญ่ไม่ได้กลับมา หรือคนที่ได้กลับมาสภาพก็เหมือนกลายเป็นบ้าและตายทั้งเป็น…”
“หลายคนเลือกจบชีวิตตัวเองโดยการแขวนคอ และชั้นเห็นชายคนหนึ่งดึงสลักระเบิดฆ่าตัวตาย ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ยอมจากไปด้วยน้ำมือตัวเองดีกว่าไปลงนรกด้วยน้ำมือทหารเซิร์บ…”
และยังมีอีกหลายๆ คำบอกเล่าอันหดหู่ เต็มไปด้วยความโหดร้ายที่ผู้ถูกกระทำได้พบเจอ ซึ่งที่น่าสลดใจยิ่งกว่านั้นคือผู้รอดชีวิตต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทหาร UN เห็นทหารเซิร์บทำกับชาวบอสเนียทุกอย่างในโปโตคารี แต่ก็ไม่ได้มีท่าทีต่อต้านหรือช่วยเหลือใดๆ เลย”
1
ทำให้หลังจากที่เรื่องราวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวบอสเนียได้ถูกบอกเล่าออกไป UN ก็ถูกโจมตีอย่างรุนแรง และกลายเป็นจุดด่างพร้อยสำคัญของ UN เลยทีเดียว
เหตุการณ์ในเซรเบนนิตซาและโปโตคารีมีผู้เสียชีวิตกว่า 8,000 คน และยังมีผู้บาดเจ็บ พิการ และได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อีกร่วมหมื่นคน
ซึ่งอาจนับได้ว่าเซรเบนนิตซาเป็นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ใหญ่และโหดร้ายที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่เหตุการณ์ Holocaust ของยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2
และในเดือนธันวาคมปี 1995 ผู้นำบอสเนียและผู้นำโครแอตสามารถจับมือร่วมกันสร้างชาติได้ อีกทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย และยุโรปก็เริ่มกดดันมิโลเชวิช ซึ่งสุดท้ายก็มีการเจรจาสันติภาพในสนธิสัญญาเดย์ตัน
โดยให้บอสเนีย-เฮอเซโกวินาเป็นอิสระจากยูโกสลาเวีย พร้อมแบ่งพื้นที่ปกครองให้ชาวบอสเนียและโครแอต 51% ให้ชาวเซิร์บ 49%
พร้อมให้กองกำลังของ NATO เข้าไปควบคุม ซึ่งพอมีการเคลียร์พื้นที่ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โลกก็เริ่มรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในเซรเบนนิตซาและโปโตคารี…
ภาพจาก Informer (รัตกอ มลาดิช)
ภาพจาก HLN (UN เข้าควบคุมเซรเบนนิตซาและสร้าง Safe Area)
ภาพจาก BOSTON.com (ผู้อพยพที่หนีจากเซรเบนนิตซาและโปโตคารีแต่สูญเสียผู้ชายในครอบครัวไป)
ภาพจาก BOSTON.com (ลูกสาวกำลังร้องไห้ดีใจที่พ่อของพวกเธอสามารถหนีรอดมาจากเซรเบนนิตซา)
ภาพจาก BOSTON.com (รัตกอ มลาดิช ผู้บัญชาการทัพเซิร์บและธอม คาเรอมันส์ ผู้บัญชาการทหาร UN ใน Safe Area เซรเบนนิตซาและโปตาคารี กำลังดื่มเครื่องดื่มขนมปังในวันที่ 12 กรกฎาคม 1995 ซึ่งเป็นช่วงที่โศกนาฏกรรมกำลังเกิดขึ้น)
ภาพจาก BOSTON.com (การขุดพบศพที่ถูกฝังจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์)
ภาพจาก Stars and Stripes (โปสเตอร์ที่ชาวบอสเนียเรียกร้องให้จับรัตกอ มลาดิชและราโดวาน การาจิช มาดำเนินคดีในฐานะอาชญากรสงคราม)
ภาพจาก Reuters (ราโดวาน การาจิช ถูกจับในปี 2008 ที่เบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย)
ภาพจาก The Guardian (รัตกอ มลาดิช ถูกจับในปี 2011 ที่เบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย)
ภาพจาก IslamiCity (สุสานในเซรเบนนิตซา)
โดมิโนในยูโกไม่ได้จบเพียงแค่นั้น อิสรภาพของบอสเนีย ทำให้ชาวอัลเบเนียในโคโชโวที่เคยประท้วงและถูกปราบไปก่อนหน้านี้ลุกขึ้นประท้วงอีกในปี 1997
แน่นอนว่ามิโลเชวิชก็สั่งกองทัพเข้าถล่มเหมือนเดิมกลายเป็นสงครามกลางเมืองไปอีกที่หนึ่งและรุนแรงพอๆ กับในบอสเนียเลยทีเดียว
ทำให้ NATO ต้องเข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง และครั้งนี้เล่นใหญ่กว่าเดิม ส่งทัพอากาศไปบอมศูนย์กลางของยูโกคือเซอร์เบียอย่างหนักหน่วง!
มิโลเชวิชเลยถอนกำลังออกจากโคโชโว แล้ว UN ก็เข้ามาควบคุมพื้นที่…
2
ซึ่งมีการประกาศให้อิสรภาพโคโชโวแบบสมบูรณ์ในปี 2008 (แต่อิสรภาพนี้เซอร์เบียยังไม่ได้ยอมรับ)
แต่สงครามในโคโชโวดันลามไปถึงดินแดนข้างเคียงอย่างมาซิโดเนีย เพราะมีผู้อพยพชาวอัลเบเนียหนีเข้าไปในมาซิโดเนียกว่า 400,000 คน
ซึ่งพอสงครามในโคโชโวจบลง ชาวอัลเบเนียในมาซิโดเนียบางส่วนก็กลับประเทศ แต่มีบางส่วนที่ยังอยู่และเริ่มมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลท้องถิ่นมาซิโดเนียจนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองในปี 2001 แบบงงๆ เลยล่ะครับ…
และ NATO เจ้าเดิมก็ต้องเข้ามาอีกครั้ง ซึ่งทั้งสองเมื่อเห็น NATO เข้ามาก็ยอมเจรจาและจับมือเป็นมิตรกันโดยดี…
ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น ดินแดนข้างเคียงเซอร์เบียอย่างมอนเตเนโกร ก็เริ่มอยากได้อิสรภาพเหมือนกันเพราะไม่เชื่อใจมิโลเชวิช
ซึ่งเซอร์เบียก็พยายามรั้งมอนเตเนโกรเอาไว้ แต่ในท้ายที่สุดเมื่อปี 2006 มอนเตเนโกรก็ประกาศอิสรภาพจากยูโกสลาเวีย…
ภาพจาก The Times of Israel (ผู้อพยพชาวอัลเบเนียหนีสงครามในโคโชโว)
ภาพจาก Euromaidan Press (ผู้อพยพชาวอัลเบเนียหนีสงครามในโคโชโว)
ภาพจาก Mappr (แผนที่ยูโกสลาเวียปี 1990 และหลังจากชาติต่างๆ ประกาศอิสรภาพในปี 2018)
ยูโกสลาเวียในตอนนี้ แตกออกใหญ่ๆ เป็น 7 ประเทศ คือ เซอร์เบีย สโลวิเนีย โครเอเชีย บอสเนีย-เฮอเซโกวินา มอนเตเนโกร มาซิโดเนีย และโคโชโว
เรียกได้ว่า การตายของโยซิป บรอซ ตีโต…
การขึ้นสู่อำนาจของสโลโบดาน มิโลเชวิช…
รวมถึงการล่มสลายของโลกคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและโซเวียต…
สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งแรงกระเพื่อมอันรุนแรงมาสู่ยูโกสลาเวีย…
แรงกระเพื่อมนั้นกลายเป็นโดมิโนที่ล้มอย่างรวดเร็ว ทำให้ “ความแตกต่าง” ที่มากจนเกินไประเบิดออกมาเป็น “ความขัดแย้ง”
และที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น “ความเกลียดชัง” ได้เกิดขึ้นที่นี่ และสร้างฉากโศกนาฏกรรมอันโหดร้ายทารุณต่อมนุษย์ด้วยกันเอง…
ไม่ว่าจะเป็นสงครามในสโลวิเนีย โครเอเชีย บอสเนีย โคโชโว และมาซิโดเนีย…
หรือความรุนแรงในซาราเยโว…
รวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเซรเบนนิตซาและโปโตคารี…
ฉากเหล่านี้ล้วนเป็นประวัติศาสตร์อันแสนเจ็บปวดที่ดินแดนเหล่านี้ยากจะลืมเลือน…
อีกทั้งเราคงไม่สามารถรู้ได้ชัดเจนว่า ความเจ็บปวดของพวกเขาจะสิ้นสุดในยุคสมัยนี้ หรือจะมีบาดแผลใหม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต…
เพราะ “ความแตกต่าง” ยังคงดำรงอยู่…
“ความเกลียดชัง” ผนวกปมในใจอาจจะยังไม่เลือนหายไป…
รวมถึง “ความขัดแย้ง” อาจจะยังไม่จบสิ้น…
สุดท้าย กงล้อประวัติศาสตร์อาจนำพาดินแดนนี้ไปสู่ความเจ็บปวดอันแสนสาหัสอีกครั้ง…
หรือไม่ก็อาจพบความสงบสุขในที่สุดหาก “ความแตกต่าง” ถูกมองข้าม เข้าใจ รวมถึงยอมรับอย่างแท้จริง…
และนี่ คือเรื่องราว “ยูโกสลาเวีย (Yugoslavia)” ไฟสงครามแห่งชาติพันธุ์
ภาพจาก Open Canada
References
Albrecht-Carrie, Rene. A Diplomatic History of Europe Since the Congress of Vienna. New York : Harpercollins College Div, 1973.
Dvornik, Francis. The Slavs in European History and Civilization. New Jersy : Rutgers University Press. 1962.
Glenny, Misha. The Fall of Yugoslavia: The Third Balkan War, Third Revised Edition. London, Penguin Books, 1996.
Glenny, Misha. The Balkans: Nationalism, War & the Great Powers, 1804-1999. London : Penguin Books, 2001.
Leyesdorff, Selma. Surviving the Bosnian Genocide: The Women of Srebrenica Speak. Indiana : Indiana University Press, 2011.
Nuhanovic, Hasan. The Last Refuge: A True Story of War, Survival and Life Under Siege in Srebrenica. London : Peter Owen Publishing, 2019.
Rohde, David. Endgame: The Betrayal and Fall of Srebrenica, Europe's Worst Massacre Since World War II. London : Penguin Books, 2012.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา