22 พ.ค. 2022 เวลา 05:20 • การศึกษา
[ตอนที่ 66] Review คอร์สเรียนออนไลน์ “ภาษาฮินดีพื้นฐาน 1” ของศูนย์บริการวิชาการ และสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
**หมายเหตุ**
บทความนี้เป็น Customer Review (CR) ที่เจ้าของบล็อกไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว หรือได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากทางศูนย์บริการวิชาการ และสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แต่เป็น Review ในฐานะที่เจ้าของบล็อกสมัครลงทะเบียนเรียนเอง
เนื่องจากช่วงต้นปีนี้ ผมได้ไปสมัครลงคอร์สเรียนออนไลน์ภาษาฮินดีพื้นฐาน 1 (สำหรับผู้ไม่มีพื้นฐานมาก่อน) จากมหาวิทยาลัยในไทย เลยเขียน Review หลังจบคอร์สสักหน่อยครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านได้เลยครับ
ทางสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก และศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดคอร์สเรียนภาษาฮินดีพื้นฐาน (แบบเรียนออนไลน์) ในโครงการอบรมภาษาต่างประเทศสำหรับบุคคลทั่วไป เมื่อเดือนมกราคม - เมษายน ค.ศ.2022 ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าของบล็อกก็มีโอกาสสมัครลงเรียน
สำหรับเนื้อหาตอนนี้จึงจะกล่าวถึง “คอร์สภาษาฮินดีพื้นฐาน 1” ที่ทางสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้เปิดคอร์สในตอนนั้นเพียงระดับเดียวครับ
ประกาศรับสมัครโครงการอบรมภาษาต่างประเทศสำหรับบุคคลทั่วไป รอบต้นปี 2565 (ออนไลน์) ในรายวิชาภาษาฮินดี ในเพจของสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ
1) จำนวนคนเรียนในคอร์ส :
จำนวนคนเรียนประมาณ 17 คน โดยคนที่ลงเรียนภาษาฮินดีมีหลายแบบ ได้แก่...
- พระสงฆ์ที่ไปเป็นพระธรรมทูตที่อินเดีย
- คนที่จะไปทำงานที่ปากีสถาน (อยากเรียนภาษาอูรดู แต่ไม่มีคอร์สภาษานี้ในไทย เลยลงคอร์สภาษาฮินดีแทน)
- คนที่ชอบ และคนแปลภาพยนตร์อินเดีย
- คนที่สนใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอินเดีย
- คนที่เคยท่องเที่ยวในอินเดีย
- คนที่มีคู่รักคนอินเดีย
- นักศึกษาคนไทยที่เรียนต่อในอินเดีย
2) อาจารย์ผู้สอนและภาษาที่ใช้ในการสอน :
อาจารย์ผู้สอนในคอร์สนี้เป็นอาจารย์คนไทย และใช้ภาษาไทยในการสอน
3) โปรแกรมที่ใช้เรียนออนไลน์ :
ใช้โปรแกรม Zoom และอาจารย์ผู้สอนจะอัดวีดีโอระหว่างการเรียนการสอนให้ดูย้อนหลังใน Google Classroom (วีดีโอจะถูกลบหลังคอร์สจบ)
4) เอกสารหรือหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียน :
คอร์สนี้มีหนังสือแบบเรียนที่ใช้โดยเฉพาะ โดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จะส่งเอกสารประกอบการเรียนให้ผู้เรียนทางไปรษณีย์ ส่วนเอกสารประกอบการเรียนเพิ่มเติมจะส่งให้ผู้เรียนทาง Google Classroom และกลุ่มไลน์ ขณะที่เนื้อหาส่วนหนึ่ง (โดยเฉพาะเรื่องไวยากรณ์) จะเน้นให้ผู้เรียนจดในคาบเรียนเอง
เอกสารประกอบการเรียนที่ใช้ในคอร์สเรียนออนไลน์ "ภาษาฮินดีพื้นฐาน 1" ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
5) ขอบเขตของเนื้อหาของคอร์ส :
เนื้อหาในคอร์สภาษาฮินดีพื้นฐาน 1 ของสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จะมีเนื้อหาเรื่องการฝึกอ่าน-เขียนอักษรเทวนาครี (อักษรที่ใช้เป็นระบบการเขียนของภาษาฮินดี) ในสัดส่วนพอสมควร โดยเนื้อหาในข้อ 6.1-6.4 ใช้เวลา 5 คาบ (15 ชั่วโมง) เท่ากับครึ่งหนึ่งของระยะเวลาเรียนทั้งหมดในคอร์ส
เนื้อหาของคอร์สจึงยังไม่ครอบคลุมระดับ A1 ตามมาตรฐานระดับทักษะภาษาต่างประเทศแบบ CEFR ของทางยุโรป หากต้องการให้ครอบคลุมระดับ A1 มากขึ้น ควรลงคอร์สภาษาฮินดีพื้นฐาน 2 ที่ทางสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จะเปิดต่อไปในอนาคต
6) เนื้อหาที่เรียนในคอร์สภาษาฮินดีพื้นฐาน 1 :
**ไม่ได้เรียงตามลำดับเนื้อหาแต่ละคาบก่อนหลัง แต่ “หนุ่มมาเก๊า” จัดกลุ่มตามลักษณะของเนื้อหา
6.1 แนะนำและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับคอร์ส
6.2 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษาฮินดี
ช่วงเนื้อหาเรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษาฮินดี
6.3 อักษรเทวนาครี : การเขียนตัวอักษร
- สระลอย : สระที่เขียนลอย ๆ แล้วอ่านออกเสียงได้เลยโดยไม่ต้องประสมพยัญชนะก่อน
- สระจม : สระที่เมื่อเขียนเกาะ/ประสมกับพยัญชนะ จะลดหรือเปลี่ยนรูปไปจมฝังกับพยัญชนะ
- พยัญชนะ : เรียนพยัญชนะวรรคต่าง ๆ และเศษวรรค
- พยัญชนะแบบที่มีจุดข้างล่าง
โน้ตเรื่องสระลอยและสระจมในอักษรเทวนาครี ระหว่างที่ "หนุ่มมาเก๊า" เรียน
โน้ตเรื่องพยัญชนะวรรคต่าง ๆ ในอักษรเทวนาครี ระหว่างที่ "หนุ่มมาเก๊า" เรียน
6.4 อักษรเทวนาครี : การประสมคำและการออกเสียง
- ฝึกอ่านคำภาษาฮินดี (กรณีพยัญชนะรูปเต็มตัวเป็นพยัญชนะต้นหรือตัวสะกด ประสมกับสระ)
- ฝึกอ่านคำจากป้ายประกาศ
- พยัญชนะรูปครึ่งตัว แบบใส่เครื่องหมายหลันต์ / วิราม, แบบตัดครึ่งพยัญชนะทิ้ง และกรณีตัว ร รูปครึ่งตัว
- พยัญชนะรูปครึ่งตัว 4 แบบที่เจอบ่อย ในกรณีพยัญชนะเดี่ยวซ้อนกันแล้วเปลี่ยนรูปเหลือรูปครึ่งตัว
- เครื่องหมายพิเศษ : อนุนาสิก (พินทุ - จันทรพินทุ), อนุสวาระ, วิสรรค, สระออ
โน้ตจากช่วงฝึกอ่านคำภาษาฮินดี ระหว่างที่ "หนุ่มมาเก๊า" เรียน
6.5 ไวยากรณ์ : คำประเภทต่าง ๆ ในภาษาฮินดี
- คำสรรพนามบุรุษต่าง ๆ ในภาษาฮินดี ที่แบ่งตามพจน์และระดับความสุภาพ
- คำนามในภาษาฮินดี (รวมถึงเพศทางไวยากรณ์ในคำนาม และเอกพจน์-พหูพจน์)
- คำคุณศัพท์ในภาษาฮินดี
6.6 ไวยากรณ์ : การสร้างประโยคแบบต่าง ๆ ในภาษาฮินดี
- คำกริยา होना (honā ; Verb to be ของภาษาฮินดี) ในรูปกาลปัจจุบัน
- โครงสร้างประโยคบอกเล่าพื้นฐานในภาษาฮินดี
- การแทรกคำ नहीं (nahī̃) เพื่อทำให้เป็นประโยคปฏิเสธ
- ประโยคคำถามพื้นฐาน กับคำแสดงคำถาม What, Who, How much/many, How, Where ในภาษาฮินดี
- การผันคำกริยาให้เป็นไปตามรูปคำสั่ง/ขอร้อง (imperative mood)
7) สิ่งที่เจ้าของบล็อกชอบในคอร์สภาษาฮินดีคอร์สนี้ :
- มีเอกสาร “ประมวลรายวิชา” (Course syllabus) เพื่อให้ผู้เรียนรับทราบในช่วงต้นของคอร์สว่าจะเรียนเรื่องอะไรบ้าง จบแต่ละคาบหรือจบคอร์สแล้วควรผ่านเนื้อหาภาษาฮินดีตรงไหนบ้าง
- อาจารย์ผู้สอนมีเวลาให้ผู้เรียนฝึกเขียน-อ่านอักษรเทวนาครีค่อนข้างมาก และแยกเนื้อหาส่วนนี้ไว้ช่วงครึ่งแรกของคอร์ส
- อาจารย์ผู้สอนแทรกเนื้อหาเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ดนตรี การท่องเที่ยวในอินเดียระหว่างที่สอนภาษาอยู่ตลอด
- ช่วงเวลาที่เรียนต่อสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 วัน วันละ 3 ชั่วโมงถือว่าค่อนข้างเหมาะสม
อาจารย์ผู้สอนจะเปิดวีดีโอเกี่ยวกับภาษาฮินดี รวมถึงวัฒนธรรม ประเพณี ดนตรี การท่องเที่ยวในอินเดียในช่วงระหว่างการเรียน
8) การสอบเพื่อวัดผลการเรียนในคอร์สและใบประกาศนียบัตร :
มีการสอบวัดผล (ข้อสอบแบบ Take home) และทางศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จะส่งหนังสือสำคัญแบบอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้เรียนทางอีเมล์ (หากผู้เรียนมีคะแนนสอบไม่ต่ำกว่า 60%) เพื่อเป็นหลักฐานว่าเรียนผ่านคอร์สนี้พร้อมแจ้งคะแนน และไม่มีประกาศนียบัตร
9) จำนวนชั่วโมงและค่าเรียน :
30 ชั่วโมง 3,000 บาท (รวมค่าเอกสารประกอบการเรียน และค่าส่งเอกสารเล่มนี้ทางไปรษณีย์) นอกจากนี้ ทางศูนย์บริการวิชาการจะเปิดคอร์สภาษาฮินดีพื้นฐาน 1 สลับกับคอร์สภาษาฮินดีพื้นฐาน 2 (เช่น รอบต้นปี จะมีเฉพาะภาษาฮินดี 1 รอบกลางปี จะมีเฉพาะภาษาฮินดี 2)
หวังว่า Review คอร์สเรียนออนไลน์ “ภาษาฮินดีพื้นฐาน 1” ของศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะสามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจมองหาคอร์สเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ครับ
สำหรับเพจ Facebook ของศูนย์บริการวิชาการ และสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะมีประกาศและรายละเอียดคอร์สภาษาอื่น ๆ สามารถดูได้ที่ https://www.facebook.com/ASCCHULA และ https://www.facebook.com/southasianlanguageschula
โฆษณา