22 พ.ค. 2022 เวลา 09:40 • นิยาย เรื่องสั้น
ยอร์ก วันที่ 4 (ตอนที่ 2) โบสถ์เซนต์แมรี่ ซากฝันของวันวาร
โบสถ์เซนต์แมรี่ (St. Marry) เหมาะกับคนที่ชอบดูความงามจากซากปรักหักพัง มันทอดร่างที่เหลือน้อยนิดอย่างนิ่งสงบท่ามกลางแมกไม้ที่รายล้อมในสวนที่เมืองยอร์ค
“เซนต์แมรี่เหมาะกับคุณนะ พ่อหนุ่ม”
คุณป้าชาวอังกฤษที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งบอกกับเรา เมื่อทราบว่าเราจะไปยอร์ค
“ฉันรู้ดีว่าคุณต้องชอบมัน ที่นั่นเหมาะกับคนที่ชอบความเศร้า มันดูเศร้านะ แต่ยิ่งเศร้าก็ยิ่งสวย”
ฟังเธอพูดแล้ว ผมเลยถามต่อว่า แล้วุณป้ารู้ได้ไงว่าผมชอบความเศร้า
“ฉันรู้สิ ฉันดูจากดวงตาของเธอ KARIN เธอดูครุ่นคิดสงสัยต่อโลกเสมอ ดวงตาเธอดูเศร้า เธอดูเป็นคนช่างฝันเหลือเกิน แต่ความฝันของเธอดดูมัวหมอง”
เห็นไหมครับ คุณป้าเธอช่างสังเกต ดูเป็นห่วงเป็นใยเราเหลือเกิน ผมเลยตอบแทนเธอโดยการยิ้มเศร้า ๆ ให้เป็นกำนัลน้ำใจเธอ
เรื่องของคุณป้ายังมีอีกเยอะ แต่ตอนนี้เรามาคุยกันเรื่องโบสถ์นี้กันต่อดีกว่า
โบสถ์เซนต์แมรี่อยู่ใกล้เคียงกับมหาวิหารแห่งยอร์ก ที่เหลือซากเพียงแค่ผนังโบสถ์บางส่วนเท่านั้น แต่ความปรักหักพังนี้ก็ช่วยให้ดูน่าลุ่มหลงมากขึ้น ซากผนังยาวทอดกายมีวงโค้งแหลมเรียงตัวเป็นแนว ลายประดับสอดรับกับซุ้มหน้าต่างที่เจาะกลวงให้เห็นรูปทรงเหมือนเป็นลับแล สร้างความว่างจากวงโค้งที่กลวงโปร่ง เมื่อรวมกับรูปรอยผุกร่อนตามขอบของผนังและหน้าต่างแล้ว อาจดูเหมือนลูกไม้ที่ถักริมขอบผ้าเช็ดหน้าก็ได้เช่นกัน
เห็นภาพเช่นนี้แล้ว หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งนี้คือโบสถ์ที่ยิ่งใหญ่ มีบุคคลสำคัญที่มีอำนาจใหญ่โตและมีอิทธิพลสูงต่อยุโรปในอดีตมาเกี่ยวข้อง เริ่มจากพระเจ้าวิลเลี่ยมผู้พิชิต ที่ได้มาเยือนยอร์กในปี 1088 ได้มอบที่ดินและสร้างโบสถ์ใหม่จากที่มีอยู่เดิม เพื่ออุทิศให้แก่พระแม่มาเรีย (Virgin Mary) ในยุคนั้นเซนต์แมรี่มีความยิ่งใหญ่มาก กล่าวกันว่าเป็นโบสก์ที่รำรวยที่สุดทางภาคเหนือของอังกฤษเลยทีเดียว
แต่แล้วโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ความล่มสลายเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (คนนั้นนั่นเองเราได้เล่าถึงเขาแล้วในตอนกระโน้น) เนื่องจากพระองค์ได้เป็นผู้ต่อต้านศาสนจักรโรมันคอธอลิก จึงที่ออกกฎหมายพระราชกฤษฎีกาการยุบอาราม (Resolution of the Monasteries) ทำให้สถานที่ทางศาสนาหลายแห่งถูกปิด และเซนต์แมรี่ก็เช่นกัน ความร่ำรวยหายไป ถูกทำลายและทิ้งร้าง
ปัจจุบันนี้เราจึงเห็นเพียงซากกำแพงบางส่วนที่มีกรอบหน้าต่างโค้งแหลมเรียงกันเป็นแผง ด้วยสภาพกร่อนพังร้างรา
นอกเหนือจากซากปรักหักพังที่นี่ ยังมีประติมากรรมนักบุญทั้ง 4 ปรากฏอยู่ ซึ่งในขณะนี้ได้ถูกขนย้ายไปที่พิธภัณฑ์แห่งยอร์คไปแล้ว เป็นที่น่ายินดีที่เราจะได้ไปที่นั่นด้วยกันวันพรุ่งนี้
คิดไปพลางว่า ถ้าหากได้มีโอกาสได้มาเยือนเซนต์แมรี่ตอนค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวงคงจะสวยงามจับใจ เราอาจได้เห็นเงารูปโค้งแหลมทอดยาวไปตามทิศทางของแสง ได้มองดวงจันทร์เคลื่อนคล้อยลอยเลื่อนผ่านหน้าต่างบานแล้วบานเล่า แสงจันทร์คงจะอาบไล้ซากผนังสีขาวให้มีพื้นผิวร่องรอยอดีต และตรงนี้อาจมีเสียงหมาหอนให้คุณยะเยือกใจ
อุ๊บ นี่เราโรแมนติกหรือเพ้อฝันเกินไปรึเปล่า อารมณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอตอนที่ผมยืนดูซากอารยธรรมที่ล่มสลาย
นี่แหล่ะเป็นความสวยที่เศร้าจริงๆ ผมคงถูกจริตกับเซนต์แมรี่ตามที่คุณป้าเคยบอกไว้เป็นแน่แท้
แต่คงจะไม่ใช่ผมคนเดียวที่รู้สึกลุ่มหลง ที่นี่เคยมีนักเขียนและศิลปินมาชื่นชมและประทับรอยเซนต์แมรี่ไว้ในผลงาน
ดังเช่น จิตรกรคนสำคัญของอังกฤษ Joseph Mallord William Turner (JMW TURNER) (จำได้ไหม คนนี้ไงที่เราได้เจองานเขาที่ National Gallery ในตอนก่อนนั้น) ได้เก็บความประทับใจต่อโบสถ์น้อยนี้ด้วยภาพสเก็ตดินสอดำบนพื้นขาว แสดงรอยร่างของวงโค้งโปร่งเบา ดั่งวิญญาณของมหาวิหารที่ล่องลอยลงมาสู่เบื้องหน้าของจิตรกร
ภาพลายเส้นของ turner (ต้องเพ่งหน่อยนะจึงจะเห็น เพราะเป็นลายเส้นดินสอจางๆ)
อีกท่านคือ Edwin Ridsdale Tale ศิลปินและสถาปนิก เคยเขียนเอาไว้ว่า
“ไม่มีที่ใดในอังกฤษที่จะมีเสน่ห์เทียบเท่ายอร์ค และในยอร์คนั้นมีสิ่งที่ทรงเสน่ห์ยิ่งกว่า นั่นก็คือ ซากปรักหักพังที่ยังตั้งตะหง่านอยู่ ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ทรงอำนาจ เป็นศาสนสถานที่สูงส่ง ที่ซึ่งเราจำต้องย่อกายลงคำนับในสมญานามของความสง่าอลังการ”
คงจะไม่เพียงเท่านี้หรอก คาดเดาได้ว่าน่าจะมีศิลปินและนักเขียนอีกหลาย ๆ คน ที่จะได้มาสร้างผลงานจากเซนต์แมรี่ขึ้นอีก และคงเป็นความประทับใจที่เก็บเอาไว้เล่าขานต่อผู้อื่นให้รับรู้กันต่อไป
ผมได้ทำแล้ว หวังว่าคุณคงเป็นอีกหนึ่ง ที่จะได้ทำเช่นนั้น
โฆษณา