8 ส.ค. 2022 เวลา 06:15 • ไลฟ์สไตล์
ต้นไม้ในความทรงจำ...ขี้เหล็ก
วันนี้ได้มาส่งลูกเข้าหอพักของโรงเรียน บริเวณโรงเรียนมีบรรยากาศดีมาก ด้านหลังเป็นภูเขาและในพื้นที่ของโรงเรียนก็มีต้นไม้มากมาย ดูร่มรื่นสบายจริงๆ หลังจากส่งลูกแล้วผมมักใช้เวลาอ้อยอิ่งดูต้นไม้ในโรงเรียนไปเรื่อยๆ มีต้นไม้หลายชนิดที่ได้มีการปลูกไว้เพื่อการอนุรักษ์
ขณะที่เดินดูต้นไม้ไปเรื่อยๆ ก็เห็นคนงานของโรงเรียน 2-3 คน กำลังยืนกันอยู่ใต้ต้นไม้ คนนึงใช้ไม้กำลังสอยอะไรบางอย่างลงมา อีกคนก็กำลังปีนขึ้นไปบนต้นไม้ เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆก็พบว่าพวกเขากำลังเก็บดอกขี้เหล็กกันนั่นเอง ในโรงเรียนมีต้นขี้เหล็กอยู่หลายต้น คนงานบอกว่าช่วงนี้พวกเขาได้เก็บกินกันทุกปี ผมนึกถึงตอนเด็กที่เคยไปสอยขี้เหล็กกับแม่ 🕒🕒🕒🕒🕒
ต้นขี้เหล็ก
🕒🕒🕒🕒🕒 ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เป็นช่วงที่ขี้เหล็กกำลังออกดอก ดอกขี้เหล็กกำลังตูมจะมีสีเขียว แต่ถ้าบานจะมีสีเหลืองเป็นช่อ ขี้เหล็กจะออกดอกตามปลายยอด แม่เคยชวนผมไปสอยดอกขี้เหล็กมาทำกับข้าว แม่จะแบกไม้สอยที่ทำจากไม้ไผ่ ที่ปลายของไม้สอยจะผ่าให้เป็นง่ามสำหรับสอดเข้าไปในกิ่งของดอกขี้เหล็ก แล้วค่อยๆบิดไม้สอยเพื่อให้กิ่งหัก เมื่อสอยได้แล้วก็จะให้ผมเก็บใส่ถุง
ต้นขี้เหล็กมักขึ้นตามคันนาบ้างตามข้างทางบ้าง ไม่มีใครหวง ทุกคนสามารถมาเก็บไปทำอาหารได้ แม่สอยอยู่สักพักเมื่อได้ตามที่ต้องการแล้วก็กลับบ้าน เมื่อกลับมาถึงบ้านผมก็ช่วยแม่เลือกดอกขี้เหล็กที่จะใช้ทำแกง แม่บอกว่าให้เลือกเอาเฉพาะดอกที่ยังตูมๆอยู่ ดอกที่บานแล้วใช้ไม่ได้
เมื่อเลือกเฉพาะดอกตูมเสร็จแล้ว แม่ก็จะเอาดอกขี้เหล็กไปต้มน้ำผสมกับเกลือนิดหน่อย เพื่อให้ลดความขมของดอกขี้เหล็กลง แล้วจึงเอาดอกขี้เหล็กมาใส่ในแกงอีกที มื้อนี้แม่ทำแกงกะทิปลาย่างใส่ขี้เหล็ก อร่อยมากเลยครับ....🌸🌸🌸🌸🌸🌸
ดอกขี้เหล็ก (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
นอกจากส่วนที่เป็นดอกและยอดอ่อนจะนำมาทำอาหารได้แล้ว เนื้อไม้ของขี้เหล็กก็เป็นไม้ที่แข็งแรง ลายไม้สวยจะมีสีออกน้ำตาลเข้ม สามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์และก่อสร้างบ้านเรือนได้
ไม้ขี้เหล็ก (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
ข้อมูลเพิ่มเติม...(คัดลอกบางส่วนจาก www.medthai.com)
ขี้เหล็ก เป็นพืชผักสมุนไพรที่หาได้ง่ายตามตลาด นอกจากจะนำมาใช้ทำเป็นอาหารไว้รับประทานแล้ว ในตำราการแพทย์แผนไทยยังได้มีการใช้ประโยชน์ของต้นขี้เหล็กในหลาย ๆ ด้าน เช่น ใช้แก้อาการท้องผูก บำรุงโลหิต บำรุงน้ำดี ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยกำจัดรังแค ทำความสะอาดผมทำให้ผมชุ่มชื่นเงางาม เป็นต้น และนอกจากนี้ขี้เหล็กยังมีสาร "บาราคอล" ที่มีฤทธิ์ในการกล่อมประสาท และมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับอ่อน ๆ ทำให้นอนหลับสบาย
แต่ก็ใช่ว่ามันจะได้ผลอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะในกระบวนการปรุงอาหารให้ปลอดภัยก็ต้องต้มน้ำทิ้งเสียก่อน เพื่อลดความขมและความเฝื่อน ทำให้ความเป็นพิษและฤทธิ์ดังกล่าวลดน้อยลงไปด้วย โดยส่วนที่นำมาใช้และมีสรรพคุณทางยา ได้แก่ ดอก ใบ ใบแก่ ฝัก เปลือกฝัก เปลือกต้น ลำต้น กิ่ง แก่น ทั้งต้น และราก 🌿🌿🌿🌿🌿
โทษของขี้เหล็ก การรับประทานขี้เหล็กโดยที่นำใบขี้เหล็กไปตากแห้งแล้วบรรจุเป็นเม็ด อาจทำให้เกิดการเสื่อมและการตายของเซลล์ตับ หรืออาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้เกิดโรคตับได้ การรับประทานขี้เหล็กอย่างปลอดภัย ต้องเลือกใบเพสลาดหรือตั้งแต่ยอดอ่อนถึงใบขนาดกลาง และนำไปต้มให้เดือด เทน้ำทิ้งสัก 2-3 น้ำ แล้วค่อยนำมาปรุงอาหารหรือนำไปทำเป็นยา
ซึ่งวิธีการแบบพื้นบ้านนี้จะช่วยฆ่าฤทธิ์และทำลายสารที่เป็นอันตรายต่อตับได้ และยังช่วยลดความขมลงอีกด้วย 🌿🌿🌿🌿🌿
ลักษณะของต้นขี้เหล็ก เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกมีสีเทาถึงน้ำตาลดำแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแคบ ส่วนลักษณะของผลขี้เหล็ก มีลักษณะเป็นฝักแบนมีความหนา มีสีน้ำตาล มีเมล็ดหลายเมล็ด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา