29 พ.ค. 2022 เวลา 11:13 • ประวัติศาสตร์
[[ 筷子 ตะเกียบ เรื่องราวของพระเอกบนโต๊ะอาหารจีน | เรื่องของตะเกียบ ตอนที่ 1 ]]
ตะเกียบอยู่คู่กับอาหารจีนและวัฒนธรรมจีนมานานจนกลายเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมการกินและภาพจำไปทั่วโลก แต่เคยสงสัยไหมว่าคนจีนมาใช้ตะเกียบได้อย่างไร ทำไมถึงไม่เหมือนกับที่อื่นๆ ทั่วโลกที่ใช้ช้อนกับส้อมทั้งๆ ที่เริ่มต้นแต่โบราณก็ใช้ช้อนมีดและส้อมเหมือนกัน มาหาคำตอบพร้อมเรื่องราวทางภาษาและวัฒนธรรมไปด้วยกันในบทความนี้ เนื้อหาจะยาวพอสมควรจึงขอแบ่งออกเป็น 2 ตอนให้ย่อยกันได้ง่ายขึ้นนะ
ใครอ่านจบแล้วถูกใจอย่าลืมแชร์ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันต่อด้วยล่ะ
[ ตะเกียบ เกิดมาจากไหนยังไม่รู้แน่ แต่ตำนานเพียบ ]
เมื่อ 8,000 กว่าปีก่อนคนจีนโบราณเริ่มสร้างและใช้ช้อน
4,000 กว่าปีก่อนเริ่มใช้ส้อม
ตะเกียบน่ะ มาทีหลังแค่ราวๆ 3,000 กว่าปีเท่านั้น แต่กลับแซงหน้าพี่ๆ มาจนกลายเป็นพระเอกบนโต๊ะอาหารได้ขนาดนี้
ตะเกียบที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกค้นพบ ต้องย้อนไปถึงก่อนสมัย 商朝 (Shāng cháo | ราชวงศ์ซาง) เป็นตะเกียบกระดูกสัตว์ที่มีอายุกว่า 4,000 ปี พบที่แหล่งอารยธรรมเซียงหลูสือ ( 香炉石 | Xiānglúshí ) อำเภอฉางหยาง ( 长阳 | Chángyáng ) มณฑลหูเป่ย ( 湖北 | Húběi ) แต่ที่มาจริงๆว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรยังคงไม่แน่ชัด ถึงอย่างนั้นก็มีตำนานเล่าขานมากมายเลย เรื่องที่เป็นที่นิยมกันมีอยู่ 3 เรื่อง
1. 大禹 (Dàyǔ) ตำนานของผู้ที่เร่งสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม เร่งรีบมากจนผ่านหน้าบ้านตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ก็ไม่มีเวลาแม้แต่จะแวะเข้าบ้าน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องกินอาหาร จึงก่อไฟต้มเนื้อ ด้วยความรีบไม่อยากรอให้เนื้อเย็นแล้วค่อยกิน เลยนำกิ่งไม้ไผ่มาคีบ เมื่อชำนาญขึ้นชาวบ้านเห็นว่าสะดวกดีเลยแพร่หลายออกไป
2. 妲己 (Dájǐ) นางสนมของ 纣王 (Zhòu Wáng |โจ้วอ๋อง) แห่ง 商朝 (Shāng cháo | ราชวงศ์ซาง) ผู้ได้รับการเติมแต่งตำนานว่าเป็นจิ้งจอกเก้าหางในภายหลัง 纣王 เป็นคนใจร้อนและมักติเรื่องอาหารร้อนไปบ้าง รสชาติไม่ถูกปากบ้าง แต่ก็ไม่อยากรอ วันหนึ่ง 妲己 ได้ดูแลอาหารของ 纣王 แต่พบว่าน้ำแกงร้อนเกินไป จึงดึงปิ่นเงินของตนออกมาเพื่อคีบอาหารมาเป่าให้เย็นแล้วป้อน ทำให้ผ่านไปได้ด้วยดีและธรรมเนียมการใช้ตะเกียบเลยแพร่หลายต่อมา
3. 姜子牙 (Jiāngzǐyá) ผู้เลื่องชื่อจากตำนานการตั้ง 周朝 (Zhōu cháo | ราชวงศ์โจว) เขาถูกภรรยาวางยาพิษในอาหาร แต่ยังโชคดีมีเทพนกมาเตือนไม่ให้กินพร้อมมอบกิ่งไผ่วิเศษมาให้ เขาจึงใช้คีบอาหาร ทันทีก็เกิดควันออกมาจากอาหารเป็นสัญญาณเตือน จึงได้หลีกเลี่ยง และได้เป็นตะเกียบในปัจจุบัน
ยังมีตำนานอีกมากมาย แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่สามารถบอกที่มาที่ชัดเจนได้ แม้ว่าจะไม่รู้ว่าตะเกียบมีที่มาอย่างไรแต่เราพอจะเห็นข้อสันนิษฐานว่าได้รับความนิยมมาได้อย่างไรมาดูกันต่อเลย
[ ตะเกียบกับมีด สลับบทบาทจากในครัวสู่โต๊ะอาหาร ]
แรกเริ่มเดิมทีตะเกียบไม่ได้ใช้รับประทานอาหารกันอย่างทุกวันนี้แต่ใช้ในการปรุงอาหารต่างหาก จากที่ได้เล่าไปแล้วว่า ปัจจุบันตะเกียบที่เก่าแก่ที่สุด ถูกค้นพ้บเมื่อ ค.ศ. 1994 เป็นตะเกียบกระดูกสัตว์ที่มีอายุกว่า 4,000 ปี
หากจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไม การรับประทานอาหารในสมัยโบราณ ยังคงใช้มือเป็นต้องเข้าใจลักษณะอาหารในสมัยนั้นก่อน
ช่วงยุคหินใหม่ ( 新石器时代 | Xīn shíqì shídài ) ช่วง 10,000 - 2,000 ปีก่อน ค.ศ. ชาวจีนได้เริ่มรู้จักการประกอบอาหารด้วยการนึ่ง (蒸 | Zhēng) และต้ม (煮 | Zhǔ)
อาหารหลักของหลายอารยธรรมทางเหนือในช่วงเวลานั้นเลยคือข้าวฟ่าง (黍子 | shǔ zǐ) ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย ไม่ต้องใช้สารอาหารในดินมาก หรือใช้ปุ๋ยมากมายอะไร แต่เมล็ดเล็ก เปลือกหยาบ สีเปลือกออกได้ยากมาก วิธีการปรุงที่ง่ายที่สุดเลยเป็นการบดและต้มให้เป็นโจ๊กเหลวๆ
อุปกรณ์ที่ใช้จึงเป็นช้อนที่ทำอย่างง่ายๆ จากกระดูกสัตว์ หรือ เปลือกหอย ในส่วนของเนื้อสัตว์ก็ยังปรุงกันโดยใช้ไฟเผา (烧 | Shāo) เป็นชิ้นใหญ่ๆ ยังต้องใช้ส้อม มีดหรือมือเพื่อฉีกออกเวลารับประทาน
จนกระทั่งวัฒนธรรมการปรุงอาหารของจีนได้เปลี่ยนไปโดยมีเหตุจากการขยายอารยธรรมและ “การผัด” (炒 | Chǎo) อาหารต่างๆ ก็หลากหลายมากขึ้น มีทั้งข้าวเจ้าจากทางภาคใต้ และทางเหนือเองก็มีข้าวสาลีเอามาแปรรูปเป็นเส้นหมี่บ้าง แผ่นแป้งทำเกี๊ยวบ้าง
การผัดจำเป็นจ้องหั่นผักและเนื้อเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดพอดีคำเพื่อให้ความร้อนทั่วถึงยิ่งขึ้น สันนิษฐานกว่าการเริ่มใช้ตะเกียบน่าจะมาจากจุดนี้ ซึ่งก็ยังคาดว่าใช้ในการปรุงอาหารเป็นหลัก
แล้วอะไรทำให้จากมีดที่ใช้ในการรับประทานอาหาร กับตะเกียบที่ใช้ในการปรุงอาหารมาสลับตำแหน่งกันล่ะ?
สาเหตุจริงๆ ก็น่าจะมี 3 ข้อ
1. ความอันตรายของมีด มีดบนโต๊ะอาหารเนี่ยมีความคมเหมือนกับมีดที่ใช้หั่นและล่าสัตว์ อยู่บนโต๊ะเองก็คงไม่ปลอดภัย
2. ชิ้นผักชิ้นเนื้อที่ต้มหรือผัดมาก็ตักด้วยซ้อนที่ทำเปลือกหอย หรือกระดูกสัตว์เล็กๆ ลำบากเหมือนกัน
3. ความสะดวกจากการใช้ตะเกียบในการคีบอาหารชิ้นๆ ที่ประกอบอาหารด้วยการต้ม การนึ่ง และการผัด
จึงน่าจะเริ่มจากจุดนี้ที่สลับกันมาใช้ระหว่างโต๊ะกับครัว อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐานเท่านั้น
[ เปลี่ยนชื่อมา 3 รอบกว่าจะเรียกว่า 筷子 ]
[ เริ่มต้นด้วย 梜 ]
จาก《三礼》(Sānlǐ | คัมภีร์ซานหลี่) และ《礼记》(Lǐjì | บันทึกพิธีกรรม) ในสมัย 周朝 (Zhōu cháo | ราชวงศ์โจว) 公元前 1046 - 256 年 บันทึกถึงการกินอาหารในสมัยนั้นว่าช้อนและตะเกียบใช้แยกกันอย่างชัดเจน ตะเกียบใช้คีบชิ้นผักชิ้นเนื้อในซุป ข้าวสวยหรือข้าวต้มให้ใช้ช้อนตักเท่านั้น ราวๆ ช่วงนี้ตะเกียบจะถูกเรียกว่า 梜 (jiā)
[ เปลี่ยนชื่อเป็น 箸 ]
ในสมัย 汉朝 (Hàn cháo | ราชวงศ์ฮั่น) 公元前 202 年 - 公元 220 年 ได้เปลี่ยนมาเรียกตะเกียบว่า 箸 (Zhù) และได้รับความนิยมกันไปอย่างแพร่หลายตั้งแต่ยุคนี้ ปรับเปลี่ยนวัสดุเป็นไม้ไผ่ (竹 | zhù) ยังพบหลักฐานและการกล่าวถึงทั้งใน《急救篇》(Jíjiù piān | ตำราช่วยเหลือเร่งด่วน) ว่า “箸,一名梜,所以夹食也” จู้ มีอีกชื่อว่าเจีย ใช้คีบอาหาร
และ《宴饮图》(Yànyǐn tú | ภาพงานเลี้ยง) ที่ 甘肃省敦煌市 (Gānsū shěng Dūnhuáng shì | เมืองตุนหวาง มณฑลกานซู่) ที่แสดงถึงการวางตะเกียบและช้อนในงานเลี้ยง
[ 筷子架 เพิ่มมารยาทบนโต๊ะอาหาร ]
มารยาทบนโต๊ะอาหารจีนยังคงพัฒนาต่อไป ในสมัย 宋朝 (Sòng cháo | ราชวงศ์ซ่ง) 960 - 1279 年 นี้ 朱熹 (Zhūxī | จูซี ขุนนางและนักปราชญ์ในสมัยนั้น) ได้เสนอแนวคิดให้ใช้มือขวาข้างเดียวกินข้าว หากต้องใช้ช้อนก็ต้องวางตะเกียบก่อน และวางตะเกียบไว้บน 筷子架 (kuàizi jià | ที่วางตะเกียบ) เพื่อไม่ให้สกปรก และได้รับความนิยมใช้งานในเวลาต่อมา
[ เปลี่ยนชื่อเรียกอีกครั้งเป็น 筷 ]
ในสมัย 明朝 (Míng cháo | ราชวงศ์หมิง) 1368 - 1644 年 ยุคแห่งการเดินเรือ และ ปัญหาเรื่องคำพ้องเสียง จึงทำให้การเรียกเปลี่ยนไปอีกครั้ง 箸 (zhù) นั้น ไปพ้องเสียงกับคำว่า 住 (zhù) ที่แปลว่าหยุด
ซึ่งทำให้สับสนได้ง่ายหากต้องใช้สื่อสารบนเรือ และ ความเชื่อว่าการหยุดนิ่งเป็นสิ่งไม่ดี เลยเปลี่ยนเป็นคำว่า 快 (kuài) ที่แปลว่าเร็ว ซึ่งเป็นความหมายตรงกันข้าม และเติม 竹字头 (Zhù zì tóu | หมวดนำอักษร 竹) เป็น 筷 (kuài) เข้าไปจนใช้กันมาตามปัจจุบัน
[ 趣知识 | Fun Facts ]
แม้ปัจจุบันในภาษาจีนกลางเราจะเรียกตะเกียบว่า 筷子 แต่ในหลายๆ พื้นที่ในจีนเองก็ยังคงเรียก 箸 (zhù) อยู่ และญี่ปุ่นก็รับอักษร 箸 นี้ไปใช้เป็นคันจิเพื่อเรียกตะเกียบด้วยเช่นกัน
---------------------------------------
กว่าตะเกียบจะมาได้รับความนิยมขนาดนี้เรียกได้ว่ามีที่มาอย่างยาวนาน แต่แน่นแฟ้นกับวัฒนธรรมจีน แต่รู้ไหมว่ายังมีอีกสารพัดความเชื่อที่ผูกมากับตะเกียบ อีกทั้งตะเกียบยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนถึงขนาดขงจื้อ (孔子 | Kóngzǐ) บันทึกธรรมเนียบปฎิบัติให้ทุกคนทำตามกันเลยทีเดียว จะเป็นอย่างไร ติดตามต่อได้ในตอนหน้า อ้อ มีแถมวีธีจับตะเกียบอย่างถูกต้องด้วย ห้ามพลาดเลย
---------------------------------------
อยากสนับสนุนเพจ ลองดูสินค้าที่น่าสนใจได้ตามลิงค์นี้ https://tutustory.kol.eco/ หรือ ทำได้ง่ายๆ ช่วยแชร์โพสนี้เลย
---------------------------------------
ติดตามเรื่องราวภาษาจีนย่อยง่ายๆ ด้วยภาพ หรือมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาษาจีนมาคุยกันได้ที่
Line | @tutustory หรือที่ลิงค์ https://lin.ee/aZcB2Jo
TikTok | @tutu.story หรือที่ลิงค์ https://vt.tiktok.com/ZGJAtGVQe/
Instagram | @tutu.story หรือที่ลิงค์ https://instagram.com/tutu.story
[เครดิตภาพ]
牙/131150/0/ca1349540923dd54e62a7e89d709b3de9d8248f2?fr=lemma&ct=single#aid=0&pic=ca1349540923dd54e62a7e89d709b3de9d8248f2
โฆษณา