30 พ.ค. 2022 เวลา 11:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
BBLAM Weekly Investment Insights 30 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2022
นักลงทุนต้องทำเวลานี้คือ อดทนและพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส มองให้ขาดว่ากลุ่มไหนจะเป็นผู้นำขาขึ้นในครั้งต่อไป ซึ่ง BBLAM มองกลุ่ม ABCEV เป็นกลุ่มที่น่าจับตา
BBLAM Weekly Investment Insights ฉบับนี้ เราจะชวนทุกคนมามองหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์กันว่า อีกนานแค่ไหนกว่าตลาดกระทิงจะกลับมา และใครจะเป็นผู้นำของกระทิงยุคหน้า โดย คุณพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา CEO ของ BBLAM บอกไว้ว่า วงจรตลาดหุ้นมีขาขึ้นและขาลง เจอกับตลาดกระทิงได้ ก็เจอกับตลาดหมีได้ ส่วนตลาดหมีจะอยู่นานแค่ไหน เวลานี้ขึ้นอยู่กับ Policy Policy Policy
  • Policy แรก คือ นโยบายธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
  • Policy ต่อมา คือ นโยบายของจีน
  • Policy สุดท้าย คือ นโยบายด้านการต่างประเทศของยุโรปเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน
อย่างไรก็ดี ในภาวะตลาดหมี ไม่ได้มีข้อเสียไปหมด เพราะโอกาสก็มีเช่นกัน ถ้าเราสามารถเลือกของถูกที่ยังมีอนาคตได้ และถ้าดูผลตอบแทนระยะยาว ตลาดหุ้นก็ยังเป็นแนวโน้มขาขึ้นต่อเนื่อง เพียงแค่ระหว่างทางอาจมีความเจ็บปวดบ้าง แต่ถ้าอดทนก็จะผ่านไปได้ “กองทุนไม่ใช่ไข่ไก่ที่ตกลงมาแล้วแตก แต่เป็นเหมือนลูกเทนนิสที่ตกลงมาก็เด้งขึ้นไปได้”
ขณะที่ คุณมทินา วัชรวราทร CFA® Head of Investment Strategy จาก BBLAM กล่าวเสริมว่า ในเวลานี้ ดัชนีหรือกลุ่มหุ้นที่เคยเป็นผู้นำตลาดขาขึ้น กำลังกลายเป็นผู้นำตลาดขาลงเช่นกัน นั่นก็คือ หุ้นจีนที่เคยเป็นผู้ชนะในปี 2020 และกลุ่มเทคโนโลยี ที่เป็นสุดยอดผู้ชนะ 2 ปีรวด
ในช่วงปี 2020- 2021 ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่า หุ้นจีนเคยให้ผลตอบแทนนักลงทุนไปถึง 70% ในปี 2020 ส่วนหุ้นเทคโนโลยีก็ให้ผลตอบแทนไป 140% ในปี 2021 ซึ่งตามธรรมชาติแล้วก็ไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนจะขายทำกำไรออกมาเพื่อนำกำไรกลับเข้ากระเป๋าไปก่อน
เมื่อผู้นำขาขึ้นกลายเป็นผู้นำขาลง ตลาดที่เคยเป็นภาวะกระทิง จึงเปลี่ยนเป็นตลาดหมี แต่คุณมทินา ระบุว่า โดยปกติแล้วตลาดหมีจะมีอายุเพียง 11 เดือน ซึ่งสั้นกว่ามาก ถ้าเทียบกับภาวะตลาดกระทิง ที่มักจะอยู่ยาวนานถึง 30 เดือน และถ้า
ใครเคยผ่านช่วงปี 2008 ที่มีวิกฤติการเงินมาแล้ว ก็คงจะเห็นภาพดีว่า ถ้าเราอดทน เมื่อผ่านพ้นวิกฤติ ฟ้าหลังฝนย่อมงดงามกว่าเสมอ โดยจากข้อมูลพบว่า ในช่วงตลาดหมี ผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนีอยู่ที่ -26% แต่ในภาวะตลาดกระทิง ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 110%
ทั้งนี้ ในวันที่ตลาดหมีมา นักลงทุนกลุ่มหนึ่งมักจะเดินออกจากตลาดไป แต่ก็จะเริ่มมีนักลงทุนอีกกลุ่มหันกลับมาถามหาหุ้นที่ปรับลดลงมามาก และยังเป็นอนาคตของโลกได้ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง ลงทุนได้เกิน 5 ปี จังหวะเวลานี้ น่าจะเป็นช่วงการลงทุนที่ดีที่สุดที่เคยเห็นมา หากหาผู้นำตลาดกระทิงรายต่อไปเจอ
เมื่อลองดูว่าหุ้นในธีมไหนที่มีโอกาสจะขึ้นเป็นผู้นำภาวะกระทิงในระยะต่อไปได้ ก็พบว่าเวลาที่เกิดภาวะกระทิงรอบใหม่ อุตสาหกรรมผู้นำจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่ผู้นำรายเดิม ซึ่ง BBLAM มองว่า กลุ่มที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีโอกาสเป็นผู้นำขาขึ้นรอบต่อไป น่าจะอยู่ในธีม ‘ABCEV’ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจสอดคล้องกับเทรนด์โลกอนาคต คือ
  • A – AI (ปัญญาประดิษฐ์), Automation (ระบบอัตโนมัติ)
  • B – Big data (การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่)
  • C – Cybersecurity (ความปลอดภัยทางไซเบอร์)
  • E – EV (รถยนต์ไฟฟ้า) และ ESG (ธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล)
  • V – Virtual (เทคโนโลยีความจริงเสมือน)
นอกจากนี้ก็ยังมีอีก 2 กลุ่มที่น่าสนใจเพราะราคาปรับลดลงมามากจนน่าสนใจ คือ Biotech หรือเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ราคาลดลงมากว่า 50% และหุ้นจีนที่ ดัชนีบางตลาดปรับลงมาประมาณ 30% แล้ว
คุณมทินา มองว่า หากนักลงทุนต้องการลงทุนไปกับธีมที่มีโอกาสเป็นผู้นำตลาดกระทิงรอบต่อไป BBLAM แนะนำว่า การจับจังหวะตลาดหาช่วงเวลาที่หุ้นราคาปรับลงไปถึงจุดต่ำสุดน่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีใครรู้ว่า ช่วงเวลาที่หุ้นลงต่ำที่สุดจะอยู่ช่วงไหน
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะกับช่วงเวลาแบบนี้ น่าจะเป็นการทำ DCA หรือทยอยลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยเงินเท่าๆ กันทุกเดือน ในธีมที่น่าสนใจ และหากยังเป็นคนทำงานที่ต้องเสียภาษีเงินได้ การลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ช่วงเวลานี้ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
สำหรับกองทุนที่ BBLAM แนะนำ ให้มีในพอร์ตไว้ในเวลานี้ ได้แก่
  • B-GLOB-INFRA เป็นกองทุนที่เพิ่มเข้าไปในพอร์ตเพื่อใช้ในการปกป้องเงินเฟ้อได้
  • B-INNOTECH, B-INNOTECHRMF และ B-INNOTECHSSF ซึ่งมีหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ คุณภาพดี ที่ผู้จัดการกองทุนใส่ใจเรื่องการประเมินมูลค่าหุ้นมาก เน้นหุ้นคุณค่าผสมหุ้นเติบโต
  • B-SIP, B-SIPRMF และ B-SIPSSF ซึ่งลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด กับเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังพลังงานสะอาด
  • B-CHINE-EQ, B-CHINAARMF และ B-CHINESSF เนื่องจากหุ้นจีนลงมาตั้งแต่ปี 2021 เข้าสู่ตลาดหมีไปก่อนใครแล้ว ดังนั้นก็น่าจะออกจากตลาดหมีได้ก่อนตลาดอื่น
ซึ่งในเวลานี้ ถึงแม้จีนจะใช้นโยบาย zero Covid Policy กระทบเศรษฐกิจ ส่วนกำไรของบริษัทจดทะเบียน อาจถูกปรับประมาณการลงต่อ เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวมาก และ ยังมีความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ แต่รัฐบาลจีนก็ได้มีการลดดอกเบี้ยกู้ยืมบ้าน LPR ระยะ 5 ปีแล้ว เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริรมทรัพย์ รวมถึงมีนโยบายผ่อนคลายสนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้นแล้ว
เมื่อนโยบายการเงินของญี่ปุ่นแตกต่างไปจากสหรัฐฯ เงินเยนจึงอ่อนค่าลง ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกมาตรการลดผลกระทบเงินเฟ้อเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งสร้างอารมณ์เชิงบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้
คุณฐนิตา ตุมราศวิน Economist จาก BBLAM อัปเดตข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่นเอาไว้ว่า ค่าเงินเยนอ่อนค่าอย่างมากในช่วงเดือนเมษายน 2022 เนื่องจากความแตกต่างด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ที่ทำให้ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศแตกต่างกันมากขึ้น กดดันให้เงินเยนอ่อนค่าลง เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้ค่อนข้างเปราะบาง
ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ และมีคนออมเงินมากกว่าใช้จ่าย การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มาจากฐานที่ต่ำ จึงไม่ได้เป็นการฟื้นตัวที่หวือหวาเท่ากับในสหรัฐฯ หรือจีน ซึ่งก็ทำให้ BoJ ยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
โดยการประชุม BoJ ปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา แม้ BoJ จะมีการปรับประมาณการ GDP ลดลง และปรับอัตราเงินเฟ้อขึ้น แต่ว่าเงินเฟ้อที่ปรับประมาณการใหม่ ก็ยังอยู่ที่ 1.9% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ของ BoJ รวมไปถึง BoJ เอง ก็ยังยืนยันที่จะเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อควบคุมอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปี ไม่ให้อยู่ในระดับเกิน 0.25%
ฉะนั้นก็เห็นว่า BoJ ยังมีท่าทีที่ยัง dovish อย่างต่อเนื่อง คือ ยังมีความตั้งใจให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้หลังการประชุม เงินเยนจึงอ่อนค่าทะลุ 130 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐไปในช่วงปลายเดือนเมษายน
เมื่อ BoJ มองว่า เงินเฟ้อยังเป็นเรื่องของ cost push คือ มาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น มากกว่ามาจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรง และยังยืนยันใช้นโยบายแบบผ่อนคลาย ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่า และเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น สิ่งที่รัฐบาลจะสามารถมาลดผลกระทบนี้ได้ คือ ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน เช่น การอุดหนุนราคาน้ำมัน การให้เงินช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย
BBLAM มองว่า แม้การลดผลกระทบนี้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แต่ก็เป็นการสนับสนุนอารมณ์ของนักลงทุนในเชิงบวกให้กับตลาดญี่ปุ่น
ในความเป็นจริงแล้วธุรกิจ FINTECH นับว่ามีการเติบโตและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น โมบายแบงก์กิ้ง หรือการทำธุรกรรมซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่หลาย ๆ บริษัทในประเทศที่เติบโตปีนี้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน ทำให้เกิดมาตราคว่ำบาตรด้านการเงินด้วย และได้ลามไปถึงความไม่สงบในบางประเทศ ซึ่งกลบความโดดเด่นของธุรกิจด้านนี้ลงมา
BlackRock ผู้จัดการกองทุน BGF FinTech Fund ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ B-FINTECH มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนของบริษัททั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการเงิน บริการไอทีและประกันภัยที่มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา ปรับปรุง รวมถึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบบริการทางการเงินแบบดั้งเดิมให้ดีขึ้น
ที่ผ่านมา BGF FinTech Fund ได้รับแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มธนาคาร กลุ่มบริการด้านไอที และกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินเพื่อผู้บริโภค ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการด้านการเงินได้ประโยชน์จากการเดินทางที่เพิ่มขึ้นและการใช้จ่ายผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทผู้ให้บริการเข้ารหัส อย่างบริษัท Silvergate Capital ที่มีผลการดำเนินงานที่ดี
สำหรับ หุ้นที่กดดันผลการดำเนินงานของกองทุน BGF Fintech Fund ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ TCS Group บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินของรัสเซีย ที่ปรับตัวลงมากและถูกระงับการซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดลอนดอน จากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน
อย่างไรก็ตาม BlackRock ชี้ว่า TCS Group เป็นหุ้นรัสเซียเพียงตัวเดียวที่กองทุนหลักลงทุนอยู่ ซึ่ง ผู้จัดการกองทุน ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะดำเนินการที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากหุ้น Kaspi บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน ผู้พัฒนาระบบการชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในคาซัคสถาน ที่ปรับตัวลงจากการประท้วงที่กลายเป็นความรุนแรงภายในประเทศ
ในส่วนของหุ้นที่ช่วยหนุนผลการดำเนินงานกองทุนหลัก คือ หุ้น American Express หรือ Amex ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และหุ้น Wex บริษัทผู้ให้บริการด้านการประมวลผลการชำระเงินและการจัดการข้อมูลให้กับอุตสาหกรรมยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์และรถยนต์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกิดคาดในไตรมาสที่ผ่านมา
ตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ น่าจะนำประเด็นการดำเนินนโยบายที่ตึงตัวของ Fed ประเมินไปในราคาพอสมควรแล้ว การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี น่าจะจำกัดมากขึ้น ส่วนผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยช่วงครึ่งปีหลัง อาจมีโอกาสปรับตัวขึ้น จากแรงกดดันที่รัฐบาลจำเป็นต้องออกพันธบัตรรองรับการขาดดทุนมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ ลดต้นทุนพลังงานให้ประชาชน
ผู้จัดการกองทุน B-ENHANCED อัปเดตข้อมูลตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ปรับตัวขึ้น ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการขึ้นรอบนี้แรงที่สุด มากกว่าช่วงปี 2013 ที่เกิด Taper tantrum หรือการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติการเงินโลก
รวมทั้งช่วงปี 2016 ที่เป็นช่วงของการขึ้นดอกเบี้ยรอบก่อน สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดน่าจะนำประเด็นเรื่องการดำเนินนโยบายที่ตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) Priced in หรือประเมินเข้าไปในราคาพอสมควรแล้ว
ปัจจุบันตลาดมองว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ ช่วงปลายปี 2022 จะอยู่ที่ระดับ 2.75-3% ซึ่งคิดเป็นการขึ้นดอกเบี้ย มากกว่า 1 ครั้ง (1.5 ครั้ง) ในทุกๆ ครั้งของการประชุมที่เหลือของปี ขณะที่นับตั้งแต่ปี 2000 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี มักเคลื่อนไหวต่ำกว่าค่ากลาง หรือ Neutral rate ซึ่งก็คือ Fed longer run rate
โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี อยู่ที่ 2.7–2.9% ปรับตัวขึ้นเหนือ Fed longer run rate ซึ่งอยู่ที่ 2.4% เรียบร้อยแล้ว สะท้อนว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี น่าจะเริ่มจำกัด แม้ตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ตลาดมองว่าจะเริ่ม ปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันของราคาตราสารหนี้ต่อจากนี้
ในส่วนของตราสารหนี้ไทย พบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับการขายออก หรือ Sell-off พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากทิศทางการดาเนินนโยบายด้านการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวของ Fed โดยแนวโน้มการดำเนินนโยบายของไทยยังคงเน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วางไว้ ทำให้ ธปท. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำจนถึงสิ้นปี 2022
สำหรับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022 ตราสารหนี้ไทย อาจจะเจอแรงกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการที่รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยเฉพาะเรื่องราคาพลังงาน ทำให้รัฐบาลมีการขาดดุลมากขึ้น โดยคาดว่าปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่ออกมา หรือ Bond supply ในปีงบประมาณ 2023 (เริ่มในเดือนตุลาคม 2022) จะเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 เพื่อชดเชยการขาดดุลการคลัง
ขณะที่โครงสร้างของไทยและสหรัฐฯ มีความแตกต่างกันในเชิงการดำเนินนโยบาย ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยรวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อาจจะมี Lag time หรือการปรับขึ้นที่ล่าช้ากว่าบ้างเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ภาพรวมยังเชื่อว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น
แนะนำกองทุน B-ENHANCED เป็นกองทุนที่กระจายลงทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นลงทุนตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Invesment Grade) ไม่เกิน 79% ของ NAV และอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade รวมถึงตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ ไม่เกิน 20% ของ NAV
กลยุทธ์การบริหารกองทุนนี้คือ มุ่งหวังผลตอบแทนในระยะสั้นถึงปานกลางสูงกว่าดัชนีชี้วัด หรือ Active Management ซึ่งทีมจัดการลงทุนประมาณการว่า ผลตอบแทนเมื่อมองไปข้างหน้า 1 ปี หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม น่าจะอยู่ราว 1.2–2.6% ต่อปี ขณะที่ตราสารหนี้ที่กองทุนถือครองมีอายุเฉลี่ย (Portfolio Duration) 1. 70 ปี จากข้อมูล ณ วันที่ 29 เมษายน 2022
ทั้งนี้ข้อมูล ณ วันที่ 29 เมษายน 2022 ลงทุนในหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 5 กองทุน คือ
  • กองทุน AXA WF Emerging Markets Short Duration Bonds สัดส่วนการลงทุน 3.27% กองทุนนี้สามารถแสวงหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้ตั้งแต่พันธบัตรรัฐบาลที่อยู่ในระดับความเสี่ยงและแต่ให้ผลตอบแทนต่ำ ไปจนถึงหุ้นกู้เอกชนที่มีระดับความเสียงสูงกว่าแต่ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
  • กองทุน AXA WF Asian Short Duration Bonds Fund สัดส่วน 2.79% เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นลงทุนในประเทศกลุ่มเอเชีย มีกลยุทธ์ที่ช่วยลดความผันผวน โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงิน (Quantitative Easing) ที่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • กองทุน Fidelity Asian Bond Fund Y-Acc-USD สัดส่วนการลงทุน 2.53% ลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว ซึ่งจะได้รับประโยชน์โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงิน
  • กองทุน Allianz Strategic Bond – RT – USD สัดส่วนการลงทุน 1.97% เป็นกองทุนที่เน้นเพิ่มการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาวผ่านการลงทุนโดยตรงในตราสารหนี้ทั่วโลกโลกที่ออกโดยเอกชน รัฐบาล องค์กรเหนือรัฐ และองค์กรท้องถิ่น หรือลงทุนโดยทางอ้อมผ่านการใช้ตราสารอนุพันธ์ ฐานะการลงทุนในตราสารหนี้ไฮยิลด์และตราสารหนี้จีนอยู่ที่ไม่เกิน 50% และ 30% ของมูลค่าทรัพย์สินกองทุน ตามลำดับ
  • กองทุน Nomura Global Dynamic Bond Fund Class I USD
สัดส่วนการลงทุน 0.95% ลงทุนในตราสารหนี้และหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนแบบคงที่หรือผันแปร มีกลยุทธ์การลงทุนที่มีความยืดหยุ่น (unconstrained approach) ใช้มุมมองมหภาค (top-down macro view) ร่วมกับการคัดเลือกผู้ออกหลักทรัพย์โดยใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (bottom-up selections)
และไม่มีข้อจำกัดการลงทุนตามภูมิภาค อุตสาหกรรม และมูลค่าหลักทรัพย์ ลงทุนทั้งตราสารหนี้และตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับตราสารหนี้ เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของตลาดในระยะสั้น
พอร์ต ESG เทใจให้ “ธุรกิจกลุ่มพลังงานหมุนเวียน”
เมื่อโลกของเราให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อีกทั้งต้นทุนพลังงานเดิม ๆ แพงขึ้น ในทางกลับกัน “เทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน” มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนจูงใจ ทำให้พลังงานประเภทนี้ได้รับการตอบรับดีขึ้น
ปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ต้นทุนการผลิตพลังงานทดแทนกลายเป็นพลังงานราคาถูกที่สุดในหลายแหล่งการผลิตทั่วโลก ความต้องการพลังงานหมุนเวียนก็เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงานก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดความไม่ต่อเนื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียนได้ จึงเป็นแรงสนับสนุนให้กองทุนด้านสิ่งแวดล้อมมีความน่าสนใจมากขึ้น
ทั้งนี้ กองทุนเปิดบัวลวงยั่งยืน หรือ B-SIP ก็เป็นหนึ่งในกองทุนที่เน้นลงทุนในธุรกิจที่สร้างผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านกองทุนที่บริหารจัดการโดย Pictet Asset Management 2 กองทุนขึ้นไป ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 29 เมษายน 2022 มีการลงทุนผ่าน 2 กองทุน คือ Pictet – Global Environmental Opportunities ในสัดส่วน 69.84% ของ NAV และ Pictet – Clean Energy 24.38%
สำหรับ Pictet – Global Environmental Opportunities ได้มีการเพิ่มน้ำหนักลงทุนในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy ทั้งหุ้นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากประเทศต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันการขาดแคลนพลังงาน นอกจากนี้ยังลงทุนเพิ่มในกลุ่มธุรกิจการจัดการของเสียและรีไซเคิล โดยเพิ่มการลงทุนในบริษัท Stora Enso ผู้ผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และผลิตภัณฑ์จากพืช
ขณะที่ลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ Energy Efficiency โดยลดน้ำหนักหุ้น NXP และ LAM เนื่องจากความสามารถในการเติบโตที่ลดลงท่ามกลางราคาพลังงานที่สูงขึ้นและปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังมีการขายทำกำไรหุ้นในกลุ่มการประหยัดทรัพยากร หรือ Dematerialized Economy หลังจากราคาหุ้นเพิ่มขึ้น
ส่วน Pictet – Clean Energy ได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากมูลค่าหุ้นที่น่าสนใจและคาดการณ์ว่าจะมีความสามารถในการเติบโตระยะยาว และลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Building
โดยขายหุ้นบางตัวในกลุ่มนี้เพื่อทำกำไร รวมถึงลดน้ำหนักกลุ่มนี้เนื่องจากมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยและมีแนวโน้มที่จะขาดศักยภาพการเติบโตของกำไรเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในพอร์ตโฟลิโอ
แนะนำกองทุน B-SIP และถ้าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แนะนำกองทุน B-SIPSSF กับ B-SIPRMF
BBLAM PODCASTSKNOW62 4 ข้อผิดพลาดสำคัญทางการเงินของวัยกลางคน​​​​​​​ - แหมตั้งแต่เริ่มต้นทำงานจนมาถึงตอนนี้ เรียกได้ว่า “ผ่านร้อน ผ่านหนาว มาได้ครึ่งทางแล้ว” ความเก่งกาจ เชี่ยวชาญของเรา ก็มาจากประสบการณ์ที่มีทั้งสำเร็จ และผิดพลาด วันนี้มาชวนเอาปากกามาวงว่าที่ผ่านมามีอะไรที่เราพลาดไปบ้าง
Insight14 รถ EV ยอดขายพุ่ง - หุ้นรถ EV แพงแล้ว แต่...โอกาสอยู่ที่ "ส่วนประกอบของรถ"​​​​​​​ - รถ EV ตอนนี้ยอดขายพุ่งฉุดกันไม่อยู่แล้ว ออร์เดอร์สั่งซื้อคิวยาว แต่วันนี้ไม่ได้มาชวนดูหุ้นรถ EV นะคะ เพราะราคาวิ่งไปแล้ว แต่จะมาคุยเรื่องส่วนประกอบที่ทำให้เกิดรถ EV มากกว่าค่ะ ดูให้ดีก็มีโอกาสลงทุน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา