2 มิ.ย. 2022 เวลา 03:19 • ปรัชญา
๑. สุดปลายแผ่นดิน (สุดปลาย​แผ่น​ดิ​นโลก)​
(จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ จากสุวรรณภูมิถึงเยรูซาเล็ม)
ก่อนเดินทาง
เรียบเรียงจากบางส่วนของภาคผนวก
ทัศนะจากบาทหลวงวิชัย โภคทวี
“สุดปลายแผ่นดิน” เป็นการเดินทางของพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งจบลงโดยกลายเป็นการเดินทางที่สำคัญทางจิตวิญญาณของท่าน เมื่อการเดินทางเกิดประสบเหตุ​ นำพาให้ท่านได้เป็นพยานถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า
การเดินทางนี้เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วตกช่วงร้อยปีที่ห้า พระภิกษุนามสุเมธะ ผู้มีนิสัยชอบจาริกไปในที่ไกลๆ ได้เชื้อเชิญตัวเองให้จาริกเดินทางสู่ชมพูทวีป​เพื่อนมัสการสังเวชนียสถาน โดยสำเภาใหญ่จากพ่อค้าผู้อารีท่านหนึ่ง
ท่านได้เดินทางไปพร้อมกับเณรน้อยผู้เป็นหลาน แต่การเดินทางครั้งนี้ แทนที่จะพาภิกษุ​กับหลานไปนมัสการสังเวชนียสถาน ดังที่หมายใจไว้ กลับนำพาชีวิตทั้งคู่ไปเผชิญกับสถานการณ์​ชีวิต​ ที่ล้วนถูกสถานการณ์​เฉพาะ​หน้าพาไป ได้พบกับความแตกต่างทางความเชื่อในธรรมะของหลายชาติพันธุ์มนุษย์ เผชิญกับความเดียดฉันท์ที่เกิดจากอคติ พบกับความหลายหลากทางความคิดและวัฒนธรรมที่กว้างไกลและลุ่มลึก
เมื่อเริ่มเดินทางพระภิกษุผู้ได้สังเกตว่า บนเรือนอกจากจะมีนายเรือผู้อารีแล้ว ยังมีลูกเรืออีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวฮินดูที่ดูจะไม่ชอบพระภิกษุเอามากๆ แต่ท่านก็มองในแง่ดี และคิดว่าความเป็นมิตรที่ท่านมอบให้จะทำให้ทุกอย่างค่อยๆ ดีขึ้น เป็นเหตุให้ท่านต้องเป็นเหยื่อของอคติ ที่เป็นเงาดำทะมึนในใจของมวลมนุษย์
ในทุกศาสนาความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญ ความเชื่อทำให้เกิดความศรัทธา และมีความมุ่งมั่นแสวงหาสัจธรรมด้วยปัญญาตามความเชื่อของตน ถ้าปราศจากซึ่งความเชื่อแล้ว ก็จะไม่มีพลังเพื่อการแสวงหา ในทางศาสนาคริสต์นั้น ความเชื่อถูกถือว่าเป็นพระพรของพระเจ้า ที่ประทานให้มนุษย์ เพื่อนำมนุษย์กลับไปหาพระเจ้า
อย่างไรก็ตามความเชื่อก็มีอันตราย ถ้าเป็นความเชื่อที่คับแคบคือแทนที่จะนำไปสู่ปัญญา เพื่อเข้าใจถึงแก่นแท้ของศาสนา แต่กลับนำไปสู่ความยึดติดในศาสนาของตน ยึดติดในความเป็นชาติที่ถือศาสนาเดียวกัน ก่อให้เกิดเป็นอคติว่า ศาสนาของตนเท่านั้นที่ถูกต้อง คนที่ถือศาสนาอื่นที่แตกต่างไปจากของตนนั้นน่ารังเกียจ เป็นความชั่วร้าย และต้องช่วยกันกำจัดทิ้ง
ความเชื่อเช่นนี้ เป็นสาเหตุสำคัญแห่งการทำลายล้างมนุษย์ด้วยความรุนแรง การเข่นฆ่าที่โหดร้ายทารุณที่สุดเท่าที่โลกได้ประสบมาเกิดจากอคตินี้
“สุดปลายแผ่นดิน” ทำให้นึกถึง “ปณิธาน ๓ ประการ” ของท่านพุทธทาส โดยเฉพาะข้อที่หนึ่งและสอง คือ “พยายามเข้าถึงหัวใจศาสนาของตน” และ “การทำความเข้าใจระหว่างศาสนา”
ท่านผู้เขียนนอกจากเข้าใจแก่นแท้ของศาสนาของท่านแล้ว ท่านยังได้อ่านพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ ทั้งพระธรรมเก่า และพระธรรมใหม่ จบบริบูรณ์หลายเที่ยว จากการอ้างถึงพระคัมภีร์ในเรื่องนี้ เห็นได้ว่าท่านอ่านด้วยความเคารพ และด้วยความเข้าใจถึงแก่นของพระคริสตธรรม
ผู้เขียนยังได้แสดงออกถึงความรักและเคารพในองค์พระเยซูเจ้า อัครสาวกทั้งหลายของพระองค์ รวมไปถึงหลักธรรมของคริสต์ศาสนาด้วย
เมื่อพระภิกษุในเรื่อง “สุดปลายแผ่นดิน” ได้รู้จัก และเข้าใจถึงคำสอนของศาสนาคริสต์ ทำให้ท่านเข้าใจแก่นธรรมของศาสนาของท่านเองในแง่มุมที่กว้างขึ้น ทั้งยังได้ก่อให้เกิดความกล้าหาญทางจริยธรรมในตัวท่าน ความกล้าหาญนี้ทำให้ท่านเริ่มดำเนินชีวิตใหม่ เพื่อธรรมะที่ท่านศรัทธา ด้วยการอุทิศชีวิตของท่านอย่างสิ้นเชิงในการประกาศธรรม
...
เพจเขมานันทะ​ใน​ใจ​เรา​ฯ ขอเชิญ​ชวนท่านผู้ติดตามเพจฯ ร่วมเดินทางไกลไปสุดปลา​ยแผ่นดิน​(โลก)​ งานเขียนเล่มเดียวของท่านเขมานันทะ​ในรูปแบบนิยายอิง​ประวัติ​ศาสตร์​
หมายเหตุ​: เนื่องจากเป็นงานเขียนในรูปแบบนิยาย ซึ่งมีการวางเรื่องให้คลี่คลาย​ในภายหลัง ข้อความ​ที่โพสต์​ซึ่งเน้นไปที่การดำเนิน​เรื่อง อาจทำให้ขาดถ้อยคำสำคัญ​ไปได้
...
"สุดปลายแผ่นดิน" (จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ จากสุวรรณภูมิถึงเยรูซาเล็ม)​ เป็นผลงานวรรณกรรม ของท่านเขมานันทะเล่มเดียวที่เสนอในรูปแบบนิยาย ตีพิมพ์ครั้งแรก​เมื่อปี พ.ศ ๒๕๑๘ โดยครั้งนั้น ใช้ชื่อปกว่า "สุดปลายแผ่นดินโลก" และใช้นามปากกาว่า "มุนีนันทะ"
จินตนิยาย​เล่มนี้ เป็นเพียงข้อเสนอความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างศาสนา ท่านเขมานันทะ​เขียนในคำปรารภว่า ถ้ามีข้อผิดพลาด ซึ่งอาจนำความเสียหาย แก่ศาสนาใดแล้ว ผู้เขียนขอประทานอภัย เพราะไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายของการเขียน
๑. สุดปลายแผ่นดิน
(จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ จากสุวรรณภูมิถึงเยรูซาเล็ม) มี ๑๗ บท
บทที่ ๑. การเดินทาง​
ข้าพเจ้าออกเดินทางจากสุวรรณภูมิ โดยสำเภาใหญ่ของพ่อค้าชาวชมพูทวีปผู้ใจอารีเวลานั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันปรินิพพานไปแล้วตกช่วงร้อยปีที่ห้า จุดหมายคือชมพูทวีปเพื่อนมัสการสังเวชนียสถาน
ข้าพเจ้าคาดไม่ถึงว่าการเดินทางคราวนี้ ทำให้ข้าพเจ้าต้องมาถึงแผ่นดินอีกส่วนหนึ่งแทนชมพูทวีปที่ประสงค์
ตอนที่เราอยู่​ในสำเภาใหญ่และได้เกิดพายุ​ใหญ่​
พวกลูกเรือได้ประชุมกันและโกรธแค้น​ข้าพเจ้า​และสามเณร​ว่าเป็นตัวกาลกิณี​ ทำให้เรือประสบชะตากรรม​ร้ายครั้งนี้
เป็นอันว่า ทั้งข้าพเจ้าและสามเณรน้อยต้องถูกทอดทิ้งให้พบกับความตายในท้องมหาสมุทรใหญ่ ในเรือลำเล็กนิดเดียว
ข้าพเจ้าและสามเณรรอดชีวิต
นายเรือลำใหม่เล่าให้ข้าพเจ้าฟังภายหลังว่า เขาได้เห็นร่างของข้าพเจ้าฟุบอยู่บนร่างของสามเณรเหมือน​ซากศพก่ายกัน จึงสั่งให้ลูกเรือลงไปช่วยเหลืออุ้มร่างของเราทั้งสองลงในตะกร้าใบใหญ่และชักรอกขึ้นบนเรือใหญ่
บทที่ ๒ อิสไมเลีย นายวานิช
ปัญหาแรกบนเรือลำใหม่ที่ข้าพเจ้าประสบก็คือภาษา แต่นายเรือผู้มีนามว่าอิสไมเลียนั้น
สามารถพูดภาษามคธได้เป็นอย่างดี เขาแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ช่วยชีวิตนักบวชไว้ทันท่วงที ครั้นเขามาทราบว่าข้าพเจ้าและสามเณรเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนาแล้ว ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นแววตาประหลาดร่าเริงใจของเขาอย่างผิดปกติ
ขณะนั้นนายเรือผู้อารีของเราเดินเข้ามา แม้ว่าเขาจะมีหนวดเคราเป็นสีขาวเพราะวัย แต่แววตาและท่าทางกระฉับกระเฉงและฉลาดลึกซึ้งในบางครั้งข้าพเจ้าเคยสังเกตเห็นความลึกลับและครุ่นคิดอย่างประหลาดของเขา
“โอ, ท่านที่รัก สาธุ, สามเณรผู้ฉลาดได้ประจงวาดเรือของข้าพเจ้าหรือไรนี่ท่านสาธุคุณ?”
ท่านนายเรือผู้บูชาไฟ, ตามที่ท่านได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ชาวปาระซีทุกคนต้องบูชาไฟเพราะไฟนั้นเป็นไฟศักดิ์สิทธิ์ ส่วนในภาพที่สามเณรวาดนั้นเป็นไฟแห่งชีวิต
“ท่านสาธุคุณ, ก็แต่ว่าปาระซีทุกคนนั้นถือว่าไฟเป็นสัญลักษณ์ของการเผาผลาญให้ทุกสิ่งเป็นกลางๆ ข้อนี้คือทั้งความดีและความชั่ว บุญและบาป สกปรกหรือสะอาด ไฟศักดิ์สิทธิ์แห่งปาระซีนี่แหละจะเผาให้เป็นสภาพธรรมดาที่เป็นกลางๆ
ส่วนท่านนั้นกล่าวว่าเป็นไฟแห่งความทุกข์ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาสำหรับชีวิต แล้วใครที่ไหนเล่าจะผ่านพ้นความทุกข์ไปได้ และขออภัยเถิดที่ข้าพเจ้าใคร่จะแย้งว่า ความรู้ในความทุกข์และในเหตุของความทุกข์นั้นจะกลับกลายมาเป็นทางของชีวิตได้อย่างไรกันเล่า ปราศจากการนอบน้อมและอาหุระมาสดาทรงโปรดเสียแล้ว ชีวิตย่อมไม่อาจหลุดพ้นจากแผ่นดินโลกได้เลย
“อิสไมเลียสหายผู้มีพระคุณ ข้าพเจ้าขอถามหน่อยเถิดว่า ท่านหรือพระศาสดาของท่านเคยพบเคยเห็นอาหุระมาสดาบ้างหรือ?”
ข้าพเจ้าเห็นอิสไมเลียเบิกตาขึ้นพร้อมทั้งมีรอยยิ้มล้อเลียนข้าพเจ้าอยู่ในที
“ท่านสาธุคุณที่รัก อะไรได้ ท่านอย่าถามข้าพเจ้าด้วยคำถามที่ขบขันอย่างนี้เลย อาหุระมาสดานั้นย่อมมีรหัสแสดงอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ในคำพูดของท่านในขณะนี้ หรือไม่ว่าในถ้อยคำที่ท่านสวดมนต์สรรเสริญคุณของพระศาสดาของท่านเอง ท่านที่เคารพ...” เขาลดเสียงลงจนเกือบเป็นกระซิบ “ท่านอย่าได้กล่าวความไม่เชื่อนี้ในท่ามกลางปาระซีทั้งหลายทีเดียว มิฉะนั้นแล้วท่านจะได้รับผลอย่างคาดไม่ถึง”
ข้าพเจ้าใคร่จะเสนอความคิดใหม่ให้ท่านพิจารณา ในฐานะที่ข้าพเจ้าเองเป็นพ่อค้าย่อมจะมีโอกาสวิสาสะกับผู้คนในหลายๆ ลัทธิ ท่านที่รัก ท่านอย่าได้ด่วนประณามลัทธิใดเป็นอันขาดว่างมงายไร้เหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิคำสอนของปาระซีด้วยแล้ว จะมีสิ่งที่ท่านเรียกว่าปัญญานั้นแหละอย่างลึกซึ้ง ขอให้ท่านมีใจเป็นอิสระสักหน่อย
อิสไมเลียพยายามคะยั้นคะยอให้ข้าพเจ้าเรียนพูดภาษาปาระซี เขามีเหตุผลว่าบางทีจะมีประโยชน์กับข้าพเจ้าเองในวันหนึ่ง
อิสไมเลียได้พยายามให้ความรู้แก่ข้าพเจ้าอย่างกว้างขวางในเรื่องลัทธิปาระซีพร้อมทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติของเขา
อิสไมเลียได้พยายามที่จะอบรมสั่งสอน ถูกแล้วข้าพเจ้าเลือกใช้คำว่าทั้งอบทั้งรมแก่พระภิกษุสุเมธะเพื่อที่จะให้เปลี่ยนมานับถืออาหุระมาสดาเสียจริง
นับตั้งแต่วันที่ข้าพเจ้าออกเดินทางจากสุวรรณทวีปมานั้นสิ้นเวลา ๒ เดือนเศษแล้ว ฉะนั้นผมบนศีรษะที่ไม่ได้รับการโกนเลยนั้นจึงได้งอกออกมายาวมาก มีดโกนสำหรับโกนผมนั้นเป็นอันว่าสูญหายไป พร้อมทั้งบาตร
ข้าพเจ้ายืนเกาะราวลูกกรงขอบเรืออยู่ด้วยความผาสุก มิทันได้สังเกตเห็นความเคลื่อนไหวบางอย่างบนเรือ ต่อเมื่อได้ยินเสียงโหวกเหวกดังอยู่และเหล่าลูกเรือวิ่งสาละวนอยู่ไปมาจึงได้รู้
ข้าพเจ้าถามเขาว่าทำไมเรือจึงเบนทิศทางไปมากเช่นนี้ เขาตอบว่านี้เป็นคำสั่งของนายเรือคืออิสไมเลีย เพื่อที่จะให้มุ่งไปสู่เมืองท่าทางตอนใต้ของแผ่นดินปาระซี
ตกดึกของคืนเดือนมืดในวันนั้นเอง อิสไมเลียได้มาหาข้าพเจ้า ณ ที่ซอกห้องประทุนท้ายเรือ คราวนี้เป็นหนแรกที่เขามาหาล่วงกาลที่เคยเป็นวัตรปฏิบัติมา
“พระคุณที่รัก ข้าพเจ้านี้หาได้เป็นปาระซีผู้อุทิศชีวิตให้แก่การบูชาและการเข้าเงียบในหอไม่ แต่ได้โปรดเถิดข้าพเจ้าคืออุบาสกในพระพุทธศาสนา”
“นี่อย่างไรกันเล่าอิสไมเลีย เป็นไปได้อย่างไรกัน?”
“พระคุณท่านที่รัก เรื่องนี้เป็นเรื่องยืดยาวมาก ข้าพเจ้าเกรงว่าชีวิตของตัวเองจะไม่ปลอดภัยเป็นแน่แท้ หากว่าความลับนี้ถูกเปิดเผยออกแก่บรรดาลูกเรือ ฉะนั้นจึงได้มาหาพระคุณท่านที่รักในเวลาล่วงกาลเช่นนี้ เพราะบัดนี้เรือจวนจะถึงฝั่งนาบาเทียแล้ว และการเสี่ยงชีวิตเพื่อความอยู่รอดของพุทธสาวกใต้ดินได้มาถึงเวลาของมันแล้ว”
หมายเหตุ​: เนื่องจากเป็นงานเขียนในรูปแบบนิยาย ซึ่งมีการวางเรื่องให้คลี่คลาย​ในภายหลัง ข้อความ​ที่โพสต์​ซึ่งเน้นไปที่การดำเนิน​เรื่อง อาจทำให้ขาดถ้อยคำสำคัญ​ไปได้
พระคุณท่านที่เคารพ ได้โปรดให้สาวกผู้ซื่อสัตย์ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้สัมผัสกับความอิ่มใจที่ได้เห็นพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งอย่าว่าแต่พวกเราเลย แม้แต่บิดามารดาของเราก็ยังหาได้เคยเห็นไม่ และครั้งนี้ข้าพเจ้าได้ประสบความสำเร็จแล้วในการนำพระภิกษุกลับไปยังนาบาเทีย”
และบัดนี้ข้าพเจ้าจึงได้ทราบถึงสาเหตุที่อิสไมเลียต้องการให้ข้าพเจ้าและสามเณรไว้ผมยาว อีกทั้งที่เขาเคี่ยวเข็ญให้ข้าพเจ้าพูดภาษาปาระซี รวมทั้งความสงสัยหลายๆ ประการของข้าพเจ้าก็ได้แจ่มแจ้งในคืนวันนี้ พร้อมทั้งความตื่นเต้นในเรื่องใหม่คือพุทธจักรใต้ดินแห่งนาบาเทีย
“พระคุณท่านที่รัก ข้าพเจ้าเป็นนายวาณิชที่ท่านอาละมูดผู้เฒ่ามอบหมายให้เป็นผู้เพียรพยายามเสาะหาพระภิกษุของพระศาสดามาอยู่ในหมู่บ้านสาวกใต้ดินแห่งชนบทนาบาเทีย
อิสไมเลียได้ลงมาส่งเราทั้งสอง และขณะนี้ เขากำลังโค้งกายด้วยท่าของสหายที่จะลาจาก
อิสไมเลียกลับไปลงเรือเล็กที่เขาไม่ยอมให้คนพายเรือนั้นขึ้นฝั่งเลย เขาคงจะกลับไปถึงสำเภาใหญ่โดยที่ไม่มีใครสงสัยอะไร
"คุณพ่อคงจะทราบแล้วว่า ข้าพเจ้า​มาจากนายวานิชอิสไมเลีย"
ข้าพเจ้ามิได้ปล่อยให้ความประหลาดใจของท่านเปลี่ยนเป็นความระแวง จึงได้รีบลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็วและแก้สายรัดกุสติของปาระซีออกพร้อมทั้งเสื้อคลุมและผ้าโพกศีรษะ สามเณรการุณได้ทำตามอย่างรวดเร็วมิพักต้องให้สั่งเช่นกัน ข้าพเจ้ากล่าวกับผู้เฒ่าว่า
“อุบาสก! รูปเองคือพระภิกษุ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระศาสดาของเรา ท่านอย่าสงสัยเลย รูปมิได้ปลงผมและหนวดเพราะทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยซึ่งท่านก็ทราบดีอยู่แล้ว และนั่นคือสามเณรของเรา”
ท่านผู้เฒ่าได้อุทานออกมาอย่างตื่นเต้น
ความชราของท่านได้ทำให้น้ำตานั้นเหือดแห้งไปนานแล้วจากการรอคอยความหวังของพุทธจักรนาบาเทีย
(อ่านต่อเนื่อง​โพสต์​ถัดไป บทที่ ๓ โบสถ์​ใต้ดิน)​
หมายเหตุ​: เนื่องจากเป็นงานเขียนในรูปแบบนิยาย ซึ่งมีการวางเรื่องให้คลี่คลาย​ในภายหลัง ข้อความ​ที่โพสต์​ซึ่งเน้นไปที่การดำเนิน​เรื่อง อาจทำให้ขาดถ้อยคำสำคัญ​ไปได้
...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา