8 มิ.ย. 2022 เวลา 07:07 • ไลฟ์สไตล์
“ใจที่หลุดพ้น ผลจากการปฏิบัติ”
“… สภาวะรู้สักแต่ว่ารู้ ก็คือการรู้ ที่ไม่เกิดการยึดมั่นถือมั่น ไม่ติดข้องต่อสิ่งใด ๆ ไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งใด จริง ๆ แล้วเป็นสภาวะของใจที่หลุดพ้น
มันเป็นผลของการปฏิบัติ เป็นผลจากการเพาะบ่ม อบรมตนเองด้วยสติปัฏฐาน รู้จักที่จะสละ ละ วาง สิ่งต่าง ๆ ลงนั่นเอง
เมื่อฝึกไปถึงจุดหนึ่ง จนเข้าถึงใจที่มันไม่เกาะเกี่ยว ไม่ติดข้อง
รู้ ละ สละ วาง ก็จะเข้าถึงสภาวะที่เรียกว่า รู้สักแต่ว่ารู้
เพราะฉะนั้นมันจะเข้าใจก็ต่อเมื่อเข้าถึง เมื่อแจ้งแก่ใจนั่นเอง
จะเข้าถึงเข้าใจได้ มันก็เป็นผลจากการที่เราสร้างเหตุที่ถูกต้อง ก็คือ การเดินตามอริยมรรคมีองค์ 8 ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อบรบรมตนเองด้วยสติปัฏฐาน 4 อยู่เนือง ๆ นั่นเอง
เพราะฉะนั้นก็ค่อย ๆ เรียนรู้ฝึกหัดไป รู้สิ่งใดแล้วมันไปหลงยึดมั่นกับสิ่งนั้น มันก็เป็นสมมติของโลกทั้งหมด
วัฏสงสารเป็นเรื่องของความหลง หลงยึดมั่นถือมั่น
เกิดความมี ความเป็น เป็นเรา เป็นของเรา
เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมา
หลงแบกของหนักของร้อน หลงยึดมั่นถือมั่น
ก็เรียกว่า เป็นเรื่องของความหลง
หลงไปกับสมมติมายา
รู้สิ่งใดแล้วมันไม่ติดข้อง มันไม่เกาะเกี่ยว ไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เรียกว่า รู้สักแต่ว่ารู้ หรือรู้ ละ สละ วาง นั่นเอง
รู้สิ่งใดแล้วไม่ติดข้อง ก็เป็นวิมุตติ คือการหลุดพ้น
วิมุตติเนี่ย จิตหลุดพ้นก็เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง
เพราะฉะนั้นความไม่ติดข้อง ความไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งใด เป็นพื้นฐานของความเป็นกลาง
จะเข้าถึงความเป็นกลางได้ก็เพราะว่า ไม่ติดข้อง ไม่เกี่ยวเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดีก็ตาม ก็แค่ รู้สักแต่ว่ารู้
2
ไม่ใช่ว่าเรารู้ทุกอย่าง รู้ไปหมดเลย แต่มันละอะไรไม่ได้เลย อย่างนี้มันเป็นเรื่องของความหลงอยู่ เป็นเรื่องของสัญญาความจำ เป็นเรื่องของปัญญาทางโลกอยู่
ปัญญาในพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการละ วาง ไม่ติดข้องกับสิ่งใด
ดั่งที่พระองค์ได้ตรัสไว้ เพียงแค่รู้ธรรมบทเดียว แล้วมันสงบระงับได้ มันวางทุกอย่างลงได้ อันนั้นแหละเป็นการรู้ที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา
ต่อให้เรารู้บทธรรมมากมายสักเพียงใดก็ตาม แต่มันไม่สงบระงับ มันไม่เป็นไปเพื่อการสละ ละ วาง สิ่งนั้นก็ยังไม่ใช่ธรรม
เพราะฉะนั้นการรู้ในพระพุทธศาสนา มันไม่ใช่ว่าเราต้องไปรู้มากอะไรหรอกนะ มันเป็นเรื่องของโลกไป แต่มันเป็นเรื่องของการละ วาง จนวางลงได้สนิทนั่นแหละนะ
ท่านเรียกว่า ดับไม่มีส่วนเหลือ นั่นเองนะ
ดั่งที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า เมื่อใดเธอเห็น ก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยิน ก็สักแต่ว่าได้ยิน ทราบ ก็สักแต่ว่าทราบ รู้ก็สักแต่ว่ารู้ เมื่อนั้นตัวเธอก็ไม่มี เมื่อตัวเธอไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกไหน ๆ นั่นแหละที่สุดแห่งทุกข์
ถ้าเราฟังแล้วเราใช้แค่ความคิด ใช้ตรรกะ เราฟังดูเหมือนง่ายนะ แค่รู้สักแต่ว่ารู้นี่พ้นทุกข์แล้วเหรอ
ถ้ามันง่ายจริง ๆ หมู่สัตว์ก็คงพ้นกันหมดแล้วล่ะ
ก็เพราะว่าเรารู้แบบสัญญาความจำ รู้แบบติดข้อง แบบสำคัญมั่นหมาย แบบตรรกะการตรึกนึก ซึ่งมันเป็นเรื่องของความหลงในวัฏฏะทั้งหมดเลย
รู้สักแต่ว่ารู้ จริง ๆ มันเป็นสภาวะที่มันวางทุกอย่างลง
การจะเข้าถึงภาวะนั้นได้ มันต้องลดการสัมผัสโลกแล้ว ทิ้งโลกไปแล้วนะ
เราจะพบว่าตราบใดที่เรายังสัมผัสโลกอยู่ มันยังมีสิ่งที่กระทบที่ใจ เปื้อนที่ใจ เกิดการติดข้อง เกิดความสำคัญมั่นหมาย เกิดความหลงยึดมั่นถือมั่นอยู่
ฉะนั้นกระบวนการมันถึงค่อย ๆ ลาด ลุ่ม ลึกลง ตั้งแต่การลดการสัมผัสเรื่องราวในโลก จนเข้าถึงการประพฤติพรหมจรรย์ งดเว้นจากการที่เรียกว่า ไปติดข้องกับกามคุณอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
จนเข้าถึงการสลัดออก ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนมันทิ้งโลกไปแล้ว ไม่สัมผัสโลก ไม่สัมผัสเรื่องราวต่าง ๆ ใจมันไม่เกาะเกี่ยว มันไม่ยึดมั่น
เพราะเราจะพบว่าตราบใดที่เรายังสัมผัสอยู่ มันจะเกิดการติดข้องอยู่นั่นเอง
เวลาปฏิบัติเราจะรู้เลย มันจะมีสิ่งที่ผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมา โลกมันจะคอยดึง คอยดึงอยู่ แม้กระทั่งเข้าถึงโลกุตตระ โลกก็ยังดึงได้ เพราะว่าเรายังมีธาตุขันธ์นั่นเอง
เพราะว่าร่างกาย มันสมอง มันคือเครื่องมือของวัฏสงสาร ยิ่งเราฝึกที่จะละสิ่งใด มันจะมีแรงตรงข้ามสิ่งนั้นขึ้นมาเสมอเลย ตามกำลังที่เราเข้าถึงเลย
สังเกตบางท่าน เอ๊ะ ทำไมข้างในมันว่าง เข้าถึงได้ แต่ข้างนอกนี่มีเรื่องผุด มันมีแรงดึงของวัฏฏะอยู่ มันเป็นแรงตรงข้าม
จะละกาย มันก็จะมีความยึดมั่นในกายขึ้นมา
มันจะละสิ่งใด มันจะมีแรงตรงข้ามเข้ามา
แล้ววัฏฏะนับวันก็จะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากกำลังของวัฏฏะนั่นเอง มันเป็นสิ่งที่ยากมาก ที่จะค่อย ๆ คลายจากสิ่งเหล่านี้ออก โดยเฉพาะถ้าเรายังสัมผัสติดข้องอยู่ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะพ้นออกมาได้
มันต้องค่อย ๆ วางลง เพราะกำลังของวัฏฏะมันสูงมากนั่นเอง
สังเกตเวลาเข้าถึงสภาวธรรม แม้กระทั่งระดับโลกุตตระ ถ้ามันมีเรื่องผุด มันจะเกิดอย่างนี้เลย
ถ้าเรื่องที่ผุดหรือโลกมีกำลังมากกว่าปุ๊บ มันจะหลุดออกเลย มันจะดึงออกมา
แต่ถ้ากำลังในการยั้งตัวมีมากกว่า มันก็จะเป็นแค่ผุด แล้วมันก็จะจางคลายไป จางคลายไป
เพราะฉะนั้นก็ค่อย ๆ เรียนรู้ฝึกหัดไปนะ เรื่องรู้สักแต่ว่ารู้ คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นแก่นของการปฏิบัติ และเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ก็คือ ความไม่ยึดติด นั่นเอง … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา