8 มิ.ย. 2022 เวลา 05:00 • ไลฟ์สไตล์
5 ความเหมือน และความแตกต่าง ระหว่างจิตแพทย์ และ นักจิตวิทยา
ในยุคปัจจุบัน ที่โลกหันมาให้ความสนใจกับสุขภาพจิตกันมากขึ้น ทำให้ประเด็นทางด้านนี้มีการพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงบุคลากรที่ให้บริการทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งบุคลากรที่ให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพจิตก็มีหลากหลายสาขาวิชาชีพ ได้แก่ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ โดยที่บทความนี้จะเน้นเรื่องของความแตกต่างระหว่างจิตแพทย์ (Psychiatrist) และนักจิตวิทยา (Psychologist)
เมื่อพูดถึง "จิตแพทย์" และ "นักจิตวิทยา" เชื่อว่าหลายๆคนยังมีความสับสน เรียกสลับกันไปมา หรืออาจจะยังไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วความเหมือน และความแตกต่างระหว่างสองวิชาชีพนี้คืออะไร บทความนี้จะมาไขความกระจ่างให้ได้ทราบกัน
ความเหมือน
1. สามารถให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่ผู้ป่วยมีได้ โดยผ่านการทำจิตบำบัดหรือพฤติกรรมบำบัดรูปแบบต่างๆ
2. ทำงานเป็นทีมเดียวกัน แบบสหสาขาวิชาชีพ สามารถส่งต่อเคสซึ่งกันและกันหรือดูแลเคสร่วมกันได้
3. สามารถทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงเปิดคลินิกส่วนตัวได้เหมือนกัน
4. ให้บริการทางด้านสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยจิตเวชเป็นหลัก
5. มีทักษะโดยเฉพาะในด้านการรับฟังปัญหาของผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี
ความแตกต่าง
1. ด้านการวินิจฉัยโรค ; จิตแพทย์ มีหน้าที่ในการให้การวินิจฉัยโรค ในขณะที่นักจิตวิทยา ไม่สามารถให้การวินิจฉัยเป็นรายโรคได้
2. ด้านการสั่งจ่ายยา ; จิตแพทย์ สามารถสั่งจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยได้ ในขณะที่นักจิตวิทยา ไม่สามารถสั่งจ่ายยาได้
(นอกจากนี้ จิตแพทย์เองก็ยังคงมีทักษะพื้นฐานของหมอ สามารถตรวจรักษาความเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ เช่น เป็นไข้ หวัด ท้องเสีย สั่งจ่ายยาความดัน เบาหวาน เบื้องต้นได้)
3. ด้านการเรียน ; จิตแพทย์ ต้องเรียนจบแพทยศาสตร์บัณฑิตก่อน ถึงจะทำการเรียนต่อเฉพาะทาง ในสาขาจิตเวชศาสตร์ได้
(รวมระยะเวลาการเรียนแพทย์ทั่วไป 6 ปี และเรียนต่อเฉพาะทางสาขาจิตเวชทั่วไปอีก 3 ปี รวมทั้งหมด 9 ปี แต่หากเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ก็จะรวมเวลาเรียนทั้งสิ้น 10 ปี)
ในขณะที่ นักจิตวิทยานั้น จะเรียนจบจากคณะจิตวิทยาโดยตรง หรือบางมหาวิทยาลัย ก็จะเป็นสาขาที่อยู่ในคณะอื่นอีกที เช่น คณะสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาตร์ เอกจิตวิทยา เป็นต้น (รวมระยะเวลา ตั้งแต่ 4ปีเป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการเรียนต่อในระดับปริญญาขั้นสูงต่อไปหรือไม่)
โดยที่จิตแพทย์นั้นจะต้องผ่านการเรียนจบหมอทั่วไปมาก่อน แต่นักจิตวิทยานั้น จะไม่ต้องผ่านการเป็นหมอมาก่อนครับ
4. ลักษณะงานเฉพาะด้าน ;ในการประเมินหรือวินิจฉัยผู้ป่วยหลายๆครั้ง ต้องอาศัยการทดสอบด้วยแบบประเมินเฉพาะด้าน เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำหรือชัดเจนขึ้น
โดยแบบประเมินเฉพาะด้าน เช่น แบบประเมินบุคลิกภาพ(Personality test) แบบประเมินภาวะแสร้งป่วย (Malingering test) การทดสอบเชาว์ปัญญา (IQ test) ซึ่งผู้ที่สามารถทำการทดสอบแบบนี้ ต้องเป็นนักจิตวิทยาที่เรียนจบมาทางสายงานนี้โดยตรง และจิตแพทย์เอง ก็ไม่สามารถทำการทดสอบลักษณะนี้กับผู้ป่วยได้
5. วิธีแยก สังเกตง่ายๆคือจิตแพทย์ มักจะถูกเรียกแทนว่าหมอ และนักจิตวิทยา มักจะถูกเรียกแทนว่า นักจิต
เป็นยังไงบ้างครับ สำหรับ 5 ความเหมือนและแตกต่าง หวังว่าเพื่อนๆจะสามารถเข้าใจบทบาทการทำงาน และแยกความแตกต่าง ระหว่าง 2 วิชาชีพนี้ได้ดีมากขึ้น
เครดิตภาพ www.canva.com
โฆษณา