12 มิ.ย. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
ธุรกิจ Meal Kit Service ในแคนาดา เริ่มแผ่วความนิยมหลังวิกฤตโควิด
 
ในช่วงสองปีที่ผ่านมาท่ามกลาง วิกฤตโควิด ธุรกิจ Meal Kit Service หรือ ธุรกิจจำหน่ายอาหารในรูปแบบการรับสมัครสมาชิก โดยผู้ให้บริการจะจัดเซตวัตถุดิบอาหารพร้อมปรุง ที่รวบรวมขั้นตอนการเตรียมปรุง และวัตถุดิบทุกอย่างของแต่ละเมนูไว้อย่างครบถ้วน ช่วยลดขั้นตอนในการจัดเตรียมวัตถุดิบ
เช่น การซื้อวัตถุดิบหลากชนิดจากหลายๆ ที่การหั่นผัก เนื้อสัตว์ ( Pre Cut Vegetable/Meat) ซึ่งเหล่าผู้บริโภคมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ซึ่ง Meal Kit ได้ตอบโจทย์แก้ Pain Point ของปัญหาดังกล่าว ช่วยประหยัดเวลา และอำนวยความสะดวกเพราะสามารถนำส่งถึงมือผู้บริโภคที่บ้านจากผู้ให้บริการขนส่งพัสดุต่างๆ
รวมถึงสามารถเลือกเมนูให้เหมาะสมตามความต้องการของผู้บริโภคได้ทั้งประเภทอาหาร ระดับราคา วิธีการรับสินค้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่บ้าน มีกิจกรรมทำที่บ้านพักอาศัยตั้งแต่การทำงาน เรียนหนังสือ ออกกำลังกาย ลดความถี่ในการออกไปจับจ่ายซื้อสินค้านอกบ้าน
รวมถึงห้างซูปเปอร์มาร์เก็ต มองหาทางเลือกของการสั่งอาหาร Take Out/Delivery โดยหนึ่งในไลฟ์สไตล์ที่มาแรงใน ขณะนั้นได้แก่ธุรกิจ Meal Kit Service ที่ทำให้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกและประหยัดเวลามากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจนี้ได้ขยายตัวอย่างสูง โดยมูลค่าตลาดสูงถึง 1 พันล้านเหรียญแคนาดา (2.8 หมื่นล้านบาท)
ในปี 2564 โดยผู้นำในแคนาดาได้แก่ บริษัท Good Food (makegoodfood.ca) ที่มีจำนวนสมาชิกกว่า 200,000 คนในแคนาดา และบริษัท Hello Fresh Canada (hellofresh.ca) ซึ่งมีธุรกิจใน 12 ประเทศมีจำนวนสมาชิกทั่วโลกกว่า 7.2 ล้านคน
นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เป็นต้นมา ทั่วโลกได้เริ่มเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันสูง ที่ส่งผลให้ค่าครองชีพของคนส่วน ใหญ่เพิ่มขึ้นและได้เริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจ Meal Kit Service
โดย ผลสำรวจล่าสุดจาก Agri-Food Analytics Lab จากมหาวิทยาลัย Dalhousie พบว่าจำนวนสมาชิกของธุรกิจ ดังกล่าวเริ่มลดลง โดยลูกค้ากว่าร้อยละ 22.5 ได้ยกเลิกการเป็นสมาชิกเนื่องจากเหตุผลเรื่อง “ราคา” เป็นหลัก
อาหารในลักษณะ Meal Kit ส่วนใหญ่จะมีราคาประมาณ 8-13 เหรียญ/ชุด (224-364 บาท/ชุด) โดยยังไม่รวมค่าขนส่งที่เริ่มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนราคา น้ำมัน และภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ ค่าการเดินทาง ค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ค่าเช่า ฯลฯ
ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการจับจ่าย โดยมองว่า
Meal Kit Service มีราคาสูงไปและอาจไม่คุ้มค่า
จากการสำรวจยังพบว่าในช่วงโควิด เหตุผลที่ผู้บริโภคหันไปนิยมกับ Meal Kit Service มากขึ้น
เนื่องจากร้อยละ 57.7 ให้ความสำคัญเรื่องความสะดวก (Convenience)
ร้อยละ 30.4 มองว่า ช่วยประหยัดเวลา (Save Time)
และร้อยละ 15.4 มองว่า Meal Kit ช่วยให้ไม่ต้องปวดหัวกับการต้องคิดเตรียมแผนอาหารมื้อต่อไป (Avoid Meal Planning)
และหากแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามอายุจะพบว่า
กลุ่ม GenZ (อายุต่ำกว่า 25 ปี) จะเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของธุรกิจ Meal Kit ที่สัดส่วนตลาดสูงถึงร้อยละ 14.5
ตามด้วยกลุ่ม Millennials (อายุ 26-41 ปี) ร้อยละ 12.1
กลุ่ม Gen X (อายุ 42-57 ปี) ร้อยละ 7.9
และกลุ่ม Baby Boomer (อายุ 58+ ปี) ร้อยละ 3.2
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจพบว่าลูกค้าที่ยังคงนิยมใช้บริการ ของ Meal Kit Service ในปัจจุบัน ได้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีพฤติกรรมจับจ่ายซื้อสินค้า Grocery ผ่านช่องทางออนไลน์ตั้งแต่ช่วงโควิด
ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้คุ้นเคยกับรูปแบบการจับจ่ายออนไลน์อยู่แล้ว รวมถึงการ สั่งอาหารผ่าน Meal Kit Service โดยมีอัตราการรักษาลูกค้า (Customer Retention Rate) สูงถึงร้อยละ 80 คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญในเรื่องของความสะดวก และการประหยัดเวลามากกว่าราคา
สรุปได้ว่าถึงธุรกิจ Meal Kit Service อาจแผ่วลงหลังวิกฤตโควิด แต่ก็ได้กลายเป็นธุรกิจทางเลือกใหม่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
พฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงปีที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปิดเมืองและนโยบาย Social Distancing ได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจหลายประเภทตั้งแต่การช็อปปิ้งออนไลน์ อุปกรณ์ออกกำลังกาย (ภายในบ้าน)
รวมถึงธุรกิจ Meal Kit Service ซึ่งผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองหาทางเลือกในการปรุงอาหาร มองหาความสะดวกและง่ายต่อการเตรียมอาหาร ไม่ต้องไปซื้อหาวัตถุดิบจากหลายๆ แหล่งและสามารถเลือกได้ตามเมนูที่สนใจ ตามระดับราคา รวมถึงระดับแคลอรี่ของแต่ละมื้ออีกด้วย
โดยภายหลัง แม้แต่ร้านอาหาร หรือห้างซูปเปอร์มาร์เก็ตก็ได้เริ่มออกผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับ Meal Kit ที่เป็นการเตรียมวัตถุดิบทุกอย่างเพื่อพร้อมปรุงใน ลักษณะ Ready to Cook ที่ได้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่ได้รับความนิยมในแคนาดา
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่เพิ่มแบบก้าวกระโดดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้เริ่มส่งผลกระทบกับธุรกิจ Meal Kit Service ที่คนส่วนใหญ่มองว่ามีราคาสูงและอาจไม่คุ้มค่าอีกต่อไป และคนส่วนใหญ่ได้เริ่มกลับมาใช้ชีวิตประจำวันเหมือนก่อนช่วงโควิด
แต่เทรนด์ของสินค้า Ready to Cook ที่ผู้บริโภคมองหาความสะดวก ในการเตรียมอาหารยังคงปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาพัฒนาสินค้าในรูปแบบสินค้า Ready to Cook มากขึ้น อาทิ ซอสผัดไทย เครื่องปรุงต้มยำที่รวมสมุนไพร ใบ มะกรูด ข่า ตะไคร้แห้งเข้าด้วยกัน ที่ทำให้การปรุงอาหารไทยเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เข้ากับชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่
โฆษณา