10 มิ.ย. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Minamata (2020) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แลกมาด้วยชีวิตของชาวเมืองมินามาตะ
1
โรคมินามาตะ เป็นโรคเกิดจากการได้รับสารปรอทปนเปื้อนในปริมาณมาก สารปรอทนี้ได้เข้าไปทำลายระบบประสาทส่วนกลางจนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ แขนขาบิดงอ ชักกระตุก พูดไม่เป็นภาษา ไม่มีวิธีรักษา ทำได้แค่รอความตายเท่านั้น
นี่คือโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เมื่อ 60 กว่าปีก่อน ณ อ่าวมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเลต้องเผชิญกับผลกระทบจากความมักง่ายของโรงงานในบริเวณนั้นที่ปล่อยสารเคมีจำนวนมากทิ้งลงไปในทะเล จนทำให้ชาวบ้านรับสารปรอทเข้าไปและแสดงอาการของโรคที่แปลกประหลาดนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเวลานั้นกลับพยายามใช้อำนาจ เพื่อปกปิดเรื่องที่เกิดขึ้น
แต่โชคดีที่คุณ ดับเบิลยู ยูจีน สมิธ ช่างภาพชื่อดังคนหนึ่งได้เดินทางเข้าไปบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ ภาพถ่ายชุดนี้จึงเป็นภาพถ่ายประวัติศาสตร์ให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้น และตระหนักถึงผลร้ายของการให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ในบทความนี้ Bnomics จึงอยากจะเล่าเรื่องราวที่น่าเศร้าในเมืองมินามาตะ ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องแลกมาด้วยชีวิตของใครหลายๆ คน
📌 มินามาตะ…ชุมชนสงบริมทะเล
ในปี 1900 อ่าวมินามาตะเป็นชุมชนประมงที่เงียบสงบ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว อ่าวมินามาตะเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และมีอาหารทะเลหลากหลายชนิด ประชาชนในแถบชายฝั่งอยู่กันในลักษณะของชุมชน มีการทำประมง ตกปลา เรียกได้ว่าใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติเป็นอย่างมาก ถึงแม้ประชาชนในแถบนี้จะยากจน แต่อย่างน้อยก็ยังมีทะเลหล่อเลี้ยงชีวิต
1
แต่แล้วความเงียบสงบนั้นก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมีการเข้ามาก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมโดยบริษัทชิสโซะ (Chisso Corporation) บริษัทเคมีขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นบริษัทผลิตพลังงานไฟฟ้า ในปี 1907 - 1908 ทางบริษัทได้เริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีบริเวณอ่าวมินามาตะ และเรื่องราวอันเลวร้ายก็ได้เริ่มขึ้นจากตรงนี้
ในช่วงเวลานั้น หลายๆ ประเทศแข่งขันกันเข้าสู่ยุคแห่งความทันสมัย (Modernization) ญี่ปุ่นเองก็แข่งกับทั้งยุโรป และสหรัฐฯ โดยได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทชิสโซะ ในตอนแรกบริษัทชิสโซะก็ทำเพียงแค่ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
เพื่อไปชดเชยกับการขาดแคลนน้ำมันและพลังงานอื่นๆ จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930 ญี่ปุ่นได้เริ่มแผ่อิทธิพลไปทั่วเอเชีย บริษัทชิสโซะจึงได้ขยายกำลังการผลิตปุ๋ยเคมีเป็นอย่างมาก
เพื่อช่วยให้ญี่ปุ่นมีผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัด คือ
แผ่นดินที่มีขนาดจำกัด ประชาชนญี่ปุ่นก็ถูกคาดว่าจะต้องยอมเสียสละและอดทนต่อความยากลำบากที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นรุ่งเรืองในอนาคต
ในปี 1932 บริษัทชิสโซะเริ่มผลิต acetaldehyde สารเคมีที่ใช่ในการผลิตยา พลาสติก และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมากมาย เพื่อบรรลุความต้องการของญี่ปุ่น และบริษัทได้ใช้สารปรอทอินทรีย์ เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี ทำให้เกิดพิษจากสารปรอทเมทิล (methylmercury) เป็นของเสียออกมา แต่แทนที่จะกำจัดอย่างถูกวิธี บริษัทกลับนำสารปรอทนี้ไปทิ้งลงในอ่าวมินามาตะ
1
เครดิตภาพ : American International Pictures, Vertigo Films และ Samuel Goldwyn Films via Netflix
📌 ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น บนซากปรักหักพังของเมืองมินามาตะ
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นักการเมืองและประชาชนทุกคนปรารถนาที่จะสร้างเมืองและความทันสมัยหลังสงคราม ส่วนบริษัทชิสโซะก็เริ่มลุกขึ้นมาใหม่หลังสงครามและหวังที่จะสร้างอนาคตของอุตสาหกรรมเคมีเช่นกัน
ในช่วงทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 ญี่ปุ่นอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตสูงมาก ในเวลานั้นมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมความเจริญมายังเมืองมินามาตะ บริษัทชิสโซะเองก็รุ่งเรืองมาก มีการสร้างโรงงานจนกลายเป็นนิคม มีตำแหน่งงานในโรงงานมากมายให้ชาวเมืองมินามาตะทำ จนเปลี่ยนจากชุมชนเกษตรกรรมและประมงดั้งเดิม ให้กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่
แต่สัญญาณของหายนะเริ่มขึ้น เมื่อคนในชุมชนสังเกตได้ว่าหมาแมวที่เลี้ยงไว้เริ่มมีอาการแปลก ๆ คือ วิ่งพล่านไปมา กัดกินเนื้อตัวเอง น้ำลายฟูมปาก และเหวี่ยงตัวเองลงไปตายในทะเล นกกาบินชนเข้ากับโขดหินแล้วตกลงมาตาย
หลังจากนั้นไม่นาน คนในชุมชนก็เริ่มแสดงอาการของโรคทั้งอาการสั่นและชักกระตุกที่ควบคุมไม่ได้ สูญเสียการพูดและการได้ยิน มีอาการชาตามมือและเท้า
ลามไปถึงส่วนอื่นๆ แขนขาบิดงออย่างรุนแรง เด็กที่เกิดมาในยุคนั้นมักจะพิการ เนื่องจากได้รับสารปรอทปนเปื้อนตั้งแต่ในครรภ์ ไม่มีทางรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงแค่รอความตายเท่านั้น สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากสารปรอทจำนวนมากที่ถูกทิ้งไปในทะเล เมื่อคนในชุมชนจับสัตว์ในทะเลมากิน สารนี้ก็จะเข้าสู่ร่างกาย
แต่เรื่องราวเหล่านี้กลับถูกปิดเงียบเพราะชาวเมืองจำนวนมากก็ทำงานให้กับโรงงานของชิสโซะ ชาวประมงก็ไม่กล้าพูดเพราะกลัวว่าจะไม่สามารถจับปลาได้ ส่วนคนที่พิการจากโรคนี้ก็ไม่กล้าปรากฏตัวให้ใครเห็น แม้ว่า ดร. Hajime Hosokawa จะเข้ามาทำการศึกษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นแล้วพบว่าเกิดจากสารปรอทที่โรงงานปล่อยออกมา แต่กลับถูกกดดันจากทางบริษัทและทางบริษัทก็ไม่ยอมรับว่าเป็นต้นเหตุของโรคนี้
เครดิตภาพ : American International Pictures, Vertigo Films และ Samuel Goldwyn Films via Netflix
📌 การต่อสู้เพื่อชีวิตใหม่…เมืองที่ประชาชนใส่ใจสิ่งแวดล้อม
เมื่อชาวเมืองเริ่มตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเริ่มมีคนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และต้องการการชดเชย ที่ถึงแม้จะเทียบไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นก็ตาม
แต่การต่อสู้นั้นก็ไม่ได้ง่าย เพราะหากบริษัทชิสโซะล้มไป นั่นหมายถึงอาชีพ และรายได้ภาษีที่หายไป แล้วก็อาจทำให้ชาวเมืองมินามาตะต้องกลับไปใช้ชีวิตยากลำบากแบบในอดีตอีก ดังนั้นเมื่อเลือกผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องแลกมาในตอนนั้น คือ มลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การทำลายวิถีชีวิต และสุขภาพของผู้คนในมินามาตะ
การต่อสู้ฟ้องร้องค่าเสียหายจากบริษัทชิสโซะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องแม้จะต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก จนกระทั่งในที่สุดศาลก็ตัดสินให้บริษัทชิสโซะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยทางบริษัทต้องทำการกำจัดตะกอนที่ปนเปื้อนกว่า 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตรในระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินมูลค่ากว่า 48,000 ล้านเยน และต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน
1
โศกนาฏกรรมครั้งนั้น ทำให้ญี่ปุ่น และหลาย ๆ ประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หลังจากเหตุการณ์นั้นญี่ปุ่นได้ปรับปรุงให้เรื่องสภาพแวดล้อมที่สะอาดเป็นเงื่อนไขสำคัญของความก้าวหน้า และความก้าวหน้าใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น ต้องเป็นสิ่งที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมมากกว่าทำลายสิ่งแวดล้อม
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนญี่ปุ่นในช่วงหลังทศวรรษ 1970 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และยินดีที่จะจ่ายภาษีสูงขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งแวดล้อมที่สะอาดขึ้น ญี่ปุ่นจึงได้กลายเป็นประเทศผู้นำในการพยายามที่จะลดแก๊สเรือนกระจก มีการออกกฎหมายควบคุมการปล่อยมลพิษ และควบคุมขั้นตอนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
เหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดนี้ยังคงถูกเล่าขานกันเรื่อยมา เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนตระหนักว่าเราไม่ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรม การเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจนหลงลืมสิ่งแวดล้อม เพื่อที่เหตุการณ์นี้จะไม่ต้องไปเกิดขึ้นกับประเทศไหนอีก…
ภาพถ่ายก็สามารถเรียกอารมณ์ได้มากพอ
ที่จะเป็นตัวเร่งให้หลายคนตกตะกอนความคิดขึ้นมาได้
William Eugene Smith
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : American International Pictures, Vertigo Films และ Samuel Goldwyn Films via Netflix

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา