11 มิ.ย. 2022 เวลา 03:59 • หนังสือ
✴️ บทที่ 2️⃣ สางขยะกับโยคะ : ปัญญาจักรวาลกับวิธีเข้าถึงปัญญาญาณนั้น ✴️ (ตอนที่ 54)
🌸 คุณสมบัติของผู้หยั่งรู้ตน 🌸
⚜️ โศลกที่ 5️⃣7️⃣ ⚜️
หน้า 320 – 321
โศลกที่ 5️⃣7️⃣
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
บุคคลผู้ไม่ยึดมั่นผูกพันกับสิ่งใด ๆ ไม่ตื่นเต้นยินดีกับสิ่งดี ไม่เดือดร้อนวุ่นวายกับสิ่งชั่ว บุคคลเช่นนี้คือผู้มีปัญญาญาณตั้งมั่น
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
1
ผู้ที่สามารถล่องลอยไปในน่านน้ำแห่งชีวิตได้เหมือนหงส์ อย่างที่กายใจไม่เปียกไปด้วยน้ำแห่งความยึดมั่น ไม่ตื่นเต้นยามโต้คลื่นกลางแดดจ้า ไม่กลัวเมื่อจมลงไปในกระแสที่มืดมิดชั่วร้าย บุคคลเช่นนี้คือผู้มีญาณปัญญาหนักแน่นไม่คลอนแคลน
สองโศลกก่อนหน้านี้ได้เน้นถึง “ความเหนือกว่า” ของปราชญ์ผู้มีญาณปัญญาตั้งมั่น เขาคือผู้ที่ไม่ปรารถนาสิ่งใด พอใจกับอาตมันที่แท้ พ้นแล้วจากอารมณ์ทั้งหลาย เพราะเขาเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติแห่งวิญญาณ ซึ่งให้ความสุขสดใหม่ตลอดกาล
🛑 โศลกนี้ขยายความเพิ่มเติมว่า ผลของการยึดโยงกับวิญญาณเช่นนี้ มุนีผู้หยั่งรู้ตนอยู่ “ทุกที่” —ในทุกกาลและทุกเงื่อนไข— ได้อย่างไม่ยินดี ยินร้าย กับแสงเงาของสิ่งสร้างที่ทำให้ปุถุชนมีปฏิกิริยาไม่ว่าสุขหรือทุกข์ การไม่ยินดียินร้ายของผู้มีญาณปัญญานั้นไม่ใช่การไม่สนใจไยดี แต่เป็นการควบคุมจิตไว้ในความสงบ
ส่วนมนุษย์ที่เป็นหุ่นเชิดของธรรมชาตินั้น จิตมีทั้ง อารมณ์ อหังการ มนินทรีย์ และปัญญา (จิตตะ อหังการ มนัส และ พุทธิ) จึงเป็นที่รวมของกิริยาและปฏิกิริยาของมายาอย่างน่าตื่นเต้น
ส่วนมนุษย์ผู้มีญาณปัญญาตั้งมั่นนั้น แม้มีชีวิตและเคลื่อนไหวอยู่ในกาย จิต และสภาพแวดล้อมภายนอกเหมือน มนุษย์คนอื่น ๆ แต่เขาได้บรรลุถึงสิ่งที่ปตัญชลีพรรณนาใน โยคะสูตร (1:2) ไว้ว่า “จิตตะ วฤตินิโรธ” จิตที่หยุดปรุงแต่ง★ เขาไม่ได้รับรู้ผ่านการบิดเบือนของธรรมชาติ หากแต่สงบรู้จากญาณปัญญาบริสุทธิ์แห่งวิญญาณ
★อ่านเพิ่มเติมในอรรถาธิบายบทที่ 1:4-6 หน้า 75
อ่านทบทวนเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ครับ
–แอดมิน–
บทที่ 1 : โศลกที่ 4–6 (ตอนที่ 5)
เช่นเดียวกับที่คนทั่วไปไม่สนใจไยดีกับความสุขและความทุกข์ของคนแปลกหน้า มนุษย์ผู้ประเสริฐเรียนรู้ที่จะไม่สนใจความสุขและความทุกข์ของกายตน ซึ่งเป็นคนแปลกหน้าที่คุ้นเคย
บุคคลควรขจัดเหตุแห่งความทุกข์ไปจากกายและ จิตของตน พร้อม ๆ กับตระหนักว่าความทุกข์นี้ไม่ใช่ความทุกข์ของตน เพราะมันไม่เกี่ยวกับวิญญาณ วิญญาณคงความสันติสุขอยู่เสมอ ในขณะที่กายและจิตซึ่งยึดโยงอยู่กับอินทรีย์ต้องประสบกับทวิภาวะ ดี-เลว สุข-ทุกข์ อย่างไม่สิ้นสุด
✨ บุคคลที่สามารถรับรู้ว่าพรประเสริฐแห่งวิญญาณกับความน่าตื่นเต้นของกายและจิตเป็นสิ่งที่แยกจากกัน และยังสามารถควบคุมอินทรีย์ที่ทำให้เกิดความตื่นเต้นนี้ได้ เรียกว่า เป็นผู้มีพุทธิปัญญาหนักแน่น และมีญาณปัญญาตั้งมั่น ✨
(มีต่อ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา