11 มิ.ย. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
“วิกฤติเงินเฟ้อ” มีส่วนต่อการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน
1
เมื่อกล่าวถึงเหตุผลการล่มสลายของกรุงโรมและอาณาจักรโรมันที่เกรียงไกร หลายคนจะพุ่งเป้าไปที่ปัจจัยภายนอกอย่างการรุกรานจากชนเผ่า Germanic เช่น Goths และ Vandals
1
แต่แท้จริงแล้ว ความพ่ายแพ้ในสงครามช่วงท้ายเป็นเพียงผลลัพธ์จากความขัดแย้งและวุ่นวาย “ภายในอาณาจักรโรมันเองต่างหาก”
1
โดยต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่แย่ลงจนต้องออกมาประท้วงกัน และทำให้เศรษฐกิจของโรมันอ่อนแอลง คือตัวร้ายที่โลกในปัจจุบันก็ยังเผชิญอยู่เป็นระยะ สิ่งนั้นคือ “สภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง”
2
📌 การเงินและวิกฤติจากโรคระบาด
โรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1-2 ถือเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างไม่มีข้อโต้เถียง
พวกเขาเก่งทั้งด้านการรบและการค้า มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่เปิดเสรีทางการค้าและการเก็บภาษีที่ต่ำ
และเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้ โรมันก็จำเป็นต้องสร้างสกุลเงินของตนเองขึ้นมา ชื่อว่า “Denarius” ที่มีมูลค่าในตัวเองเพราะสร้างมาจาก “แร่เงิน (silver)”
1
ในตอนแรกทุกคนก็เชื่อมั่นใน เหรียญเงินของโรมันจับจ่ายใช้สอยกันไป และยิ่งอาณาจักรโรมันเกรียงไกรแพร่ขยายออกไปได้เท่าไร เศรษฐกิจของโรมันก็ยิ่งเติบใหญ่มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น จะสร้างเหรียญเงินของตนเองออกมาเท่าใด ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ
จนมาถึงช่วงประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 2 ก็ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้ทรพิษครั้งใหญ่ขึ้น ซึ่งถือเป็นการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งแรกที่รู้จักและถูกบันทึกไว้ ถูกเรียกว่า “The Antonine Plague”
การระบาดครั้งนี้ คร่าชีวิตของประชากรชาวโรมันไปจำนวนมาก จึงทำให้หลังจากจบสิ้นการระบาดแล้ว ค่าจ้างแรงงานชาวโรมันก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
ซึ่งก็ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากช่วงก่อนการระบาด ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของระดับราคาที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน
สถานการณ์ยังมาถูกซ้ำเติมจาก “ความไม่เข้าใจต่อการเงินและเศรษฐกิจ” ของคนยุคนั้น โดยแทนที่พวกเขาจะแก้ปัญหากันผ่านการลดปริมาณของเหรียญเงินที่อยู่ในระบบ เพื่อที่จะทำให้คนใช้จ่ายกันน้อยลง และทำให้ระดับสินค้าปรับลงมา
2
พวกชนชั้นขุนนางและพ่อค้าที่เป็นคนคุมการผลิตเหรียญเงินกลับตัดสินใจทำในสิ่งที่ตรงข้าม “พวกเขาผลิตเหรียญเงินออกมาใช้เพิ่มอีก โดยลดปริมาณแร่เงินที่ใช้ผลิตเหรียญ”
1
โดยพวกเขาก็คิดเพียงแต่ว่า ในเมื่อราคาสินค้าและค่าจ้างมันแพงมาก ก็แค่ลดต้นทุนในการผลิตเหรียญเงินที่ใช้ แค่นี้พวกเขาก็จะสามารถมีเงินมากพอมาซื้อของและจ้างงานได้เท่าเดิมแล้ว
1
ผลลัพธ์ที่ออกมาตรงกันข้าม ยิ่งเหรียญเงินออกสู่ระบบมากขึ้น เงินเฟ้อก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีก และที่ยิ่งแย่ คือ เหรียญเงินที่ใช้ดันผสมโลหะที่มูลค่าต่ำกว่าแร่เงินมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มูลค่าในเหรียญเงินด้วยตัวมันเองก็ลดลงไปอีก คนก็เริ่มจะไม่เชื่อมั่นในเหรียญเงินโรมัน
1
โดยมีการประมาณกันว่า ช่วงปีค.ศ. 200 – 300 เงินเฟ้อในโรมันสูงถึงระดับ 15,000% !!!
3
อันที่จริงในช่วง ค.ศ. 250 ทางรัฐบาลก็ทราบถึงปัญหาเงินเฟ้อแล้ว และก็พยายามจัดการแก้ไข แต่อีกครั้ง ด้วยความเข้าใจที่ไม่ดีพอ สิ่งที่พวกเขาทำ คือ ความพยายามควบคุมราคาสินค้าในตลาด แทนที่จะไปลดปริมาณเหรียญเงินในระบบ
2
ซึ่งทำให้ประชาชนหนีไปหาสินค้าในตลาดมืดแทน ซึ่งก็เป็นการซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อจากแย่ไปจนถึงขั้นวิกฤติ
3
และเมื่อพวกเขาถูกบุกรุกจากชนเผ่าภายนอก เงินเฟ้อที่สูงลิ่วก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พ่ายแพ้ในสงคราม เนื่องจาก รัฐบาลไม่มีเงินไปจ้างทหารรับจ้างมาช่วยรบ และก็ใช้เพื่อสนับสนุนสงครามแล้ว
📌 วิกฤติเงินเฟ้อก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้น
หลายคนอาจจะคิดว่า ที่วิกฤติเงินเฟ้อมันรุนแรงขนาดนั้น เพราะว่า ไม่เคยเกิดวิกฤติเงินเฟ้อก่อนหน้านั้นหรือเปล่า?
คำตอบ คือ ไม่ใช่ครับ
ในอาณาจักรอียิปต์โบราณ ในช่วงเวลา ประมาณ 210 ปีก่อนคริสตกาล กษัตริย์ Ptolemy IV ก็ได้ทำการลดมูลค่าเงินสกุลของอาณาจักรตัวเองเช่นกัน ผ่านการเปลี่ยนแร่ที่ใช้ผลิตเหรียญจาก “เงิน” ที่หายากกว่าเป็น “ทองแดง”
4
โดยมีเหตุผลหลักเพื่อนำเงินไปใช้ในสงคราม แต่ก็มีการกลับมาใช้แร่เงินในการผลิตเหรียญอีกครั้ง ในสมัยกษัตริย์ Ptolemy VI ซึ่งก็ทำให้ปัญหาราคาข้าวของแพงที่กำลังเกิดขึ้นทุเลาลงไปได้
บทเรียนครั้งนั้นไม่ถูกเรียนรู้โดยอาณาจักรโรมัน อันที่จริง จนถึงช่วงไม่นานมานี้ เราก็เห็นวิกฤติเงินเฟ้อ ที่ปัญหามาจาก “การใช้จ่ายที่เกินจำเป็นของรัฐ” ผ่าน “การพิมพ์เงินเข้าไปในระบบจนล้น” ซ้ำแล้วซ้ำอีก
1
ในปัจจุบันเอง ก็มีหลายประเทศที่ใช้จ่ายจนเกินตัว จนเกิดเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ซึ่งหลายประเทศก็อยู่ในสถานการณ์ที่เป็นห่วง เมื่อโลกเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นแบบนี้แล้ว จะแก้ปัญหาหนี้ได้ไหม ซึ่งมันก็อาจจะตามมาด้วยการอ่อนของเงินสกุลท้องถิ่น จนเกิดเป็นเงินเฟ้อได้ด้วย
3
ประวัติศาสตร์ให้บทเรียนกับเราเสมอ แต่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง ที่ความผิดพลาดหลายอย่างก็ถูกกระทำซ้ำไปซ้ำมาอย่างกับไม่เคยถูกเหลียวแลมาก่อน
วิกฤติเงินเฟ้อและหนี้ในปีนี้จะถูกเขียนลงไปในหน้าประวัติศาสตร์อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งครับ
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา