14 มิ.ย. 2022 เวลา 09:02 • อาหาร
วิธีเลือกซื้อสาเกสูตรเร่งรัด
  • 1.
    มองหาคำว่า Ginjo (吟醸 ) บนฉลาก
  • 2.
    เลือกช่วงราคาที่เหมาะสม
  • 3.
    ดื่มแบบเย็น ที่อุณหภูมิประมาณ 8-12 องศาเซลเซียส
สามารถเลือกลองได้ทุกประเภทที่มีคำว่า Ginjo ประกอบอยู่ ไม่ว่า Dai Ginjo (大吟醸) , Junmai Ginjo (純米吟醸) , Junmai Dai Ginjo (純米大吟醸)
สำหรับนักดื่มหน้าใหม่ ที่ต้องทำความเข้าใจแบบด่วนๆในสถานการณ์ยืนตรงหน้าเชลฟ์ตอน 13.55 น. จวนหมดเวลาขายสุรา แล้วมีเทพอินาริ[1] มาดลใจ ให้นึกอยากลองดื่มทันที
หัวใจของการดื่มครั้งแรกคือความเอ็นจอย ได้พานพบตัวที่มีรสชาติเข้าใจง่าย หรือตัว ‘เพลย์เซฟ’ (สำหรับคนส่วนใหญ่)
ถ้าเปรียบกับการเล่นเกมส์ เกมส์ที่มีระดับความท้าทายเหมาะสม ไม่ยากเกินจนหัวร้อน หรือง่ายไปน่าเบื่อ ก่อให้เกิดความสนุก เล่นต่อได้นาน และอยากกลับมาเล่นอีก
แม้การลองผิดลองถูกคืออรรถรสหลักในการท่องโลกสาเก แต่บ่อยครั้งโชคก็ไม่เข้าข้าง นักดื่มไทยหลายท่านหยุดชงักที่แก้วแรก เกิดอาการ “เข้าไม่ถึง” จนถึงขั้นจำฝังใจ เลือกไม่ดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้อีกเลย
แล้วตัวไหนล่ะเพลย์เซฟ?
อย่าเพิ่งผงะกับตัวคันจิบนฉลาก! ปัจจุบัน สาเกส่วนใหญ่ มีภาษาอังกฤษประกอบ เราสามารอ่านฉลากเบื้องต้น และทำความเข้าใจได้ เราใช้เทคนิคการเลือกสาเกสำหรับนักดื่มไทย ที่ประยุกต์จาก “กฎสามข้อ” ของ จอห์น กอนต์เนอร์[2]
1. มองหาคำว่า Ginjo (吟醸 ) บนฉลาก
ความท้าทายของจริง คือลักษณะของน้ำสาเกที่ดูออกใสๆเหมือนกันหมด[3] จนแยกประเภทด้วยตายาก แตกต่างจากการเลือกไวน์ ที่ถึงแม้เป็นนักดื่มหน้าใหม่ ก็ยังพอมีไอเดียคร่าวๆ ว่าไวน์แดงให้รสแตกต่างกับไวน์ขาวอย่างไร
ถึงแม้ไม่มีสี เราสามารถตัดช้อยส์ และเลือกแล้วเลือกตัวเพลย์เซฟ โดยการหาคำว่า กินโจ (Ginjo, 吟醸) บนฉลาก
กินโจคือประเภทของสาเก ที่นักดื่มทั่วไปเข้าถึงง่ายที่สุด เพราะให้กลิ่นแนว Fruity ตรงกับความทรงจำด้านรสชาติของผู้คนส่วนใหญ่ ต่างกับสาเกบางชนิดที่ปรากฎรสชาติที่เข้าใจได้ยากกว่า[4]
กินโจมีกรดที่ไม่สูงนัก และมักมีรสชาติติดหวาน ชวนให้นึกถึงรสชาติของผลไม้อ่อนๆ โดยมากจะเป็นผลไม้ตะกูลออร์ชาร์ด (แพร์,แอปปิ้ล) หรือผลไม้สุกฉ่ำ เช่นกล้วย สตอเบอรี่
ในแง่ของคุณภาพ กินโจอยู่ในกลุ่มของพรีเมี่ยมสาเก 6 ชนิดหลัก Tokutei Meishoshu[5] ซึ่งเป็นการรับประกันในขั้นต้น ว่าสาเกที่เลือกจะมีกลิ่นที่หอม และสมูธ (ความรู้สึกฉุนบาดน้อย) เมื่อเทียบกับสาเกเกรดต่ำกว่า
จุนไมกินโจ: Junmai Ginjo : 純米大吟醸
2.เลือกช่วงราคาที่เหมาะสม
สาเกปริมาตร 720 ml ในท้องตลาดประเทศไทย มีตั้งแต่ราคาถูกไม่กี่ร้อยบาท จนไปถึงพรีเมี่ยมขวดละ 2,000++ สำหรับกินโจคุณภาพดี ที่มีราคาเป็นมิตรกับการลองครั้งแรก มีช่วงราคาประมาน 700- 1,200 บาท (ราคาที่ญีปุ่นคือ ประมาณ 1,000 เยน ก่อนบวกค่าดำเนินการนำเข้าและภาษี)
สาเกที่มีราคาสูง โดยมากคือตัวที่มีเปอร์เซนขัดสีข้าวสูง (ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นเนื่องจากต้องขัดข้าวทิ้งออก) หรือในบางครั้งราคาก็ถูกบวกจากสตอรี่ที่ให้คุณค่าด้านอื่นๆ ซึ่งนักดื่มอาจจะสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ยากในการดื่มครั้งแรกๆ
ราคากับความพึงใจสัมพันธ์กันเสมอ ราคาที่สูงเกินไปอาจจะสร้างความคาดหวังที่เกินจริง จนทำให้ความพึงใจที่มีต่อสาเกน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เราแทบหาสาเกที่แย่[6] ในท้องตลาดไม่ได้ เพียงแต่เราต้องหาตัวที่คุณภาพเหมาะสมต่อราคา ไม่รู้สึกแพงไป และตอบโจทย์ความพึงใจส่วนบุคคบล
 
3.ดื่มกินโจแบบแช่เย็น ที่อุณหภูมิประมาณ 8-12 องศาเซลเซียส แบบไวน์ขาว
 
นอกเหนือจากเหตุผลด้านสภาพอากาศร้อนของประเทศไทย กินโจทั่วๆไปยังถูกผลิตมาสำหรับดื่มเย็นมากกว่าดื่มแบบอุ่น โดยเฉพาะตัวที่มีกลิ่นหอมละเอียดอ่อน ที่กลิ่นมักจะหายไปเมื่อถูกอุ่นร้อน[7]
การดื่มแบบเย็นยังถูกดื่มได้ในสถานการณ์ที่หลากหลายกว่าแบบอุ่น จะดื่มเดี่ยวๆก็ให้อรรถรสคล้ายการดื่มไวน์ หรือถ้านำมา Pairing กับอาหารก็ทำได้ง่ายและยืดหยุ่น เพราะสาเกไม่มีแอซิดิตี้ หรือแทนนินที่สูงแบบไวน์แดง ที่ไม่เหมาะกับการดื่มคู่กับอาหารบางจำพวก
คำที่บ่งบอกถึงประเภทสาเกมักเขียนแบบบนลงล่าง ปรากฎอยู่บนฝั่งซ้ายหรือขวา ข้างชื่อแบรนด์
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
1. ถ้าเคยดื่มสาเกร้อนตามร้านอาหารญี่ปุ่นแล้วชอบ (ที่มักไม่บอกชื่อฉลากในเมนู และถูกแบ่งเทมาจากขวดใหญ่) จุนไม (Junmai, 純米) คืออีกตัวเลือกที่เซฟ โดยทั่วไปจุนไมจะมีแอซิดิตี้สูงกว่ากินโจ และมีรสชาติที่สือถึงรสของข้าวมากกว่า ซึ่งตรงกับภาพจำของรสชาติสาเกของคนส่วนใหญ่[8]
2. ถ้ามีการระบุค่า SMV[9] บนฉลาก ช่วงของค่าที่สื่อถึงความหวานกลางๆจนถึงหวานน้อย คือ 4 - 8(เป็นเพียงค่าประมาณการ บ่อยครั้งไม่ตรงกับรสชาติที่แต่ละบุคคลรับรู้ได้จริงๆ)
3. สำหรับคอไวน์ที่ชอบคาแรคเตอร์ Dry and Crip หรือนักดื่มที่ไม่ต้องการสาเกที่มีรสหวาน หรือมีความ Rich มากเกินไป ให้เลือกตัวที่มีคำว่า Karakuchi (辛口) ซึ่งมีความใกล้เคียงกับความว่า Dry
เชิงอรรถ
[1] Inari Okami (稲荷大神) หรือ O-Inari (大稲荷) เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ข้าว และสาเก มีหมาจิ้งจอก Kisune เป็นทูตผู้ส่งสารแก่มนุษย์
[2] John Gauntner เซียนสาเกชาวอเมริกันที่ได้รับการยอมรับในเวทีสาเกโลก เขียนหนังสือเกี่ยวกับสาเกที่ถูกอ้างอิงมากมายในโลกของภาษาอังกฤษ
[3] มี Nigori Sake ที่มีความขุ่นชัดเจน ถ้าถูกว่างทิ้งไว้จะเกิดการตกตะกอนแยกชั้น ทิ้งส่วนขาวขุ่นไว้ที่ก้นขวด และเหลือนำ้ใสๆไว้ในส่วนบน ตะกอนคือเศษของข้าวที่ไม่ได้กรองออกหลังกระบวนการหมักสิ้นสุด (Sake Lee) หรืออาจเกิดจากการถูกเติมตะกอนกลับเข้าไปก็ได้
[4] รสที่เข้าถึงยากของสาเก คือกลุ่มรสชาติ Umami ซึ่งรับรู้ได้ง่าย แต่อธิบายได้ยากยิ่ง คล้ายรสนัวในภาษาอีสาน ซึ่งจะปรากฎชัดต่อประสาทสัมผัสมากขึ้น หากถูกผสมรวมกับรสเค็มของเกลือและรสของเนื้อสัตว์
[5] Tokutei Meishoshu (特定名称酒) หรือกลุ่มของสาเก ที่ถูกกำหนดคุณภาพการผลิต มีเกณฑ์สำคัญคือ ต้องใช้ข้าวพันธุ์พิเศษสำหรับทำสาเกโดยเฉพาะ และต้องมีการขัดสีข้าวตามระดับเปอร์เซ็นที่กฎหมายกำหนด
[6] คำว่า ‘แย่’ เป็นสิ่งสัมพัทธ์ แตกต่างไปตามการรับรู้ของแต่ละคน ‘แย่’ในที่นี้ หมายถึงสาเกที่มีข้อผิดพลาดจากการผลิต ซึ่งหาได้ยากในท้องตลาด เพราะสาเกถูกควบคุมโดยกฎหมายการผลิตของญีปุ่นที่เคร่งครัด
[7] Ginjo ไม่ถูกจำกัดว่าต้องดื่มเย็นเสมอไป มีตัวเฉพาะบางตัว ถูกออกแบบมาให้ดื่มอุ่นได้ การได้ลองดื่มในช่วงอุณหภูมิที่หลากหลายเป็นประสบการณ์ที่ดี และยังเพิ่มพูนองค์ความรู้สาเกของแต่ละคน
[8]สาเกที่พบได้มากที่สุด คือสาเก Futsushu (Table Sake) มักมีแอซิดิตี้ค่อนข้างสูง มีแอลกอฮอล์และรสชาติแบบฟูลบอดี้ หลายตัวให้อโรม่ากลิ่นกล้วยหอม
[9] The S.M.V. (Sake Meter Value) ค่าความหนาแน่นของมวลน้ำสาเกเมื่อเทียบกับน้ำเปล่า แสดงค่าเป็น +/- ค่าบวกสัมพันธ์กับความ Dry ส่วนสาเกที่มีค่าไปทางลบ มักสัมพันธ์กับความหวาน
ค่าที่เราพบได้ในสาเกได้มากที่สุดคือระดับ +4 ซึ่งสามารถตีความคร่าวๆได้ว่า เป็นสาเกที่มี ’ระดับความหวานปกติ’

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา