Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่านง่าย
•
ติดตาม
20 มิ.ย. 2022 เวลา 00:00 • การศึกษา
วินัย
มีแต่ผู้มี ‘วินัย’ เท่านั้นที่จะเป็นอิสระ
ถ้าคุณไร้วินัย คุณจะตกเป็นทาสของอารมณ์และความลุ่มหลง
กล่าวโดย "เอลิอุด คิปโชเก้" นักวิ่งมาราธอนที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์
2
เป็นคำคมที่ผมยึดถือติดตัวมาตลอด และทุกวันนี้ก็ยังยึดถือคำคมนี้ในการดำรงชีวิตไปข้างหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย ฉะนั้น...บทความนี้ผมอยากมาแนะนำวิธีการสร้างวินัยแบบบ้าน ๆ สามารถจับต้องได้ ง่าย ไม่ไกลตัว
แรงบันดาลใจจะทำให้เราเริ่มต้น แต่ความมีวินัยจะทำให้เราไปสู่ความสำเร็จ
การตั้ง New Year Resolution (ปณิธานปีใหม่)
ก่อนจะถึงสิ้นปี คนส่วนใหญ่ก็มักตั้งปณิธานว่าจะทำอะไรสักอย่างถึงสองอย่าง เช่น ออกกำลังกาย ลดนำ้หนัก เรียนภาษา หรืออยากมี Sixpack
เมื่อเลือกได้ ก็จะโพสต์ประกาศให้โลกรู้ว่า “สิ้นปีนี้ผมจะต้องเริ่มออกกำลังกายให้ได้” เป็นต้น และจะเริ่มทำตามแรงบันดาลใจในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี
แต่...ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะล้มเหลวในสัปดาห์ที่สอง
การตั้งปณิธานเป็นสิ่งที่ดี แต่จะสำคัญอะไร ถ้าสิ่งที่เราวาดฝันไว้กลับไปต่อไม่ได้ สิ่งเดียวที่จะช่วยคุณได้ นั้นคือ... “วินัย”
คนเรามักคิดว่า “วินัย” นั้นไม่ยากก็แค่ลงมือทำ แต่มักคิดในตอนที่ยังไม่ได้ลงมือทำจริง แต่พอลงสนามจริงแล้ว ไฟในตัวก็จะเริ่มมอดลงเรื่อย ๆ จนดับสูญ และปณิธานที่ตั้งไว้ก็ไม่ได้ไปต่อ
จริงครับที่บอกว่า “วินัย” ไม่ได้ยาก มันง่าย เพียงแค่เราต้องรู้หลักในการพยุงประคับประคอง “วินัย” ไว้ เพื่อจะไปต่อให้ได้
วันนี้อยากให้ผู้อ่านมาดูกันครับว่า ผมใช้หลักอะไรในการพยุง “วินัย” เพื่อไปต่อจนบรรลุเป้าหมาย หลักต่อไปนี้เป็นหลักที่มาจากประสบการณ์จริง ที่ผมใช้แล้วได้ผลจริง และผสมผสานกับความรู้จากหนังสือ
🏃 ข้อที่ 1 วาดภาพเป้าหมายให้ชัดเจน
ตอนเริ่มตั้งเป้าหมาย สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำเลยคือ วาดภาพเป้าหมายไว้ในใจ ถ้าหากสิ่งนั้นไม่สำคัญพอ เราจะตั้งเป้าหมายไว้แค่ในใจเท่านั้น จะไม่วาดหรือเขียนมันออกมาให้ชัดเจน ฉะนั้น อย่าวาดไว้แค่ในใจ เราควรจะเขียนใส่กระดาษหรือมีรูปภาพที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
เช่น ถ้าอยากมี Sixpack ก็หารูปดาราหรือเน็ตไอดอลคนที่เราชอบ นำมาแปะไว้ข้างฝาผนังที่มองเห็นได้บ่อย ๆ หรือนำมาเป็น Home Screen ของมือถือ ส่วนใหญ่คนนิยมทำกัน คือ Vision Board เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพเป้าหมายเป็นระยะ ๆ ตลอดการเดินทางไปสู่เป้าหมาย
🏃 ข้อที่ 2 มนุษย์ทุกคนไม่มีคำว่า “พร้อม”
อย่างที่บอกไว้ต้นประโยคครับ คนส่วนใหญ่มักจะตั้ง New Year Resolution ในวันก่อนปีใหม่ เมื่อถึงวันที่ 1 มกราคม ค่อยลงมือทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ ถ้าหากว่าเช่นนั้นถือว่าเยี่ยม แต่ในทางกลับกันก็ยังจะมีคนอีกกลุ่มที่พอถึงเวลาก็หมดไฟเสียก่อน เพราะตอนที่ตั้งปณิธานจะมีไฟลุกโชน เลยตั้งเป้าไว้ก่อน รอพร้อมเมื่อไหร่ค่อยลงมือทำ
อย่างหลังมักจะล้มเหลวกันเยอะ ฉะนั้น ไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ 1 มกราคม หรือรอพร้อมก่อนค่อยลงมือทำ ผมอยากแนะนำว่า...อยากทำเมื่อไหร่ก็ทำเลยครับ เพราะไฟในตัวกำลังลุก และมนุษย์ไม่มีคำว่า “พร้อม” มีแต่คำว่า “เกือบพร้อม” เท่านั้น แล้วลงมือทำเลยครับ
🏃 ข้อที่ 3 จัดสภาพแวดล้อมใหม่
สภาพแวดล้อมมีผลอย่างมากกับความรู้สึกนึกคิดที่จะเปลี่ยนแปลง เช่น แสง ความมืดภายในห้อง จุดตั้งโต๊ะ ตู้ เตียง เก้าอี้ โคมไฟตั้งพื้น เป็นต้น
ฉะนั้น เราควรจะจัดเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อต้อนรับเราในเวอร์ชั่นใหม่ ถ้าหากเราอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิม เราก็ยังจะมีความรู้สึกเดิม ๆ แบบไม่รู้ตัว เช่น อยากนอนไถมือถือ อยากนอนเล่นเกมส์ อยากนอนดูซีรี่ส์ เพราะสภาพแวดล้อมเดิมจะทำให้เรารู้สึกคุ้นชินกับนิสัยเดิม ๆ และพฤติกรรมเดิม ๆ แล้วทุกอย่างก็จะกลับสู้วงจรเดิม ๆ
🏃 ข้อที่ 4 ทำให้ทุกอย่างมันง่ายขึ้น
เมื่อถึงเวลาที่ต้องลงมือทำตามวินัย สิ่งหนึ่งที่จะต้านทานนิสัยใหม่ของเรานั้นก็คือ ความลำบาก ช่วงแรก ๆ เราจะไม่ชินกับพฤติกรรมใหม่ที่เข้ามามีบทบาทกับชีวิต ความลำบากจึงเป็นศัตรูตัวฉกาจที่ทำให้วินัยเราพังยับไม่เป็นท่า
ฉะนั้น ก่อนถึงเวลาที่เราต้องทำตามวินัยใหม่ เราจะมีต้องการเตรียมความพร้อม เมื่อถึงเวลาจะได้สะดวกในการลงมือทำตามวินัยเลย ตัวอย่างเช่น ก่อนออกไปวิ่งตอนเช้า ให้เราเตรียมรองเท้า ถุงเท้า ชุดวิ่ง ถ้าอยากสะดวกหน่อย ก่อนนอนคืนก่อนหน้าให้สวมชุดวิ่งนอนไปเลยครับ เพื่อความสะดวกในการออกไปวิ่งตอนเช้า
🏃 ข้อที่ 5 ติดตาม Progress
เมื่อทำตามวินัยไปได้สักระยะหนึ่ง เราต้องมีการติดตามความคืบหน้าของกิจกรรมที่ทำด้วย เพื่อเป็นกำลังใจให้ตัวเองทำต่อไป ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากวิ่งระยะไกล เราวิ่งได้ไกลขึ้น 1 เซนติเมตรก็ถือว่าเป็นความคืบหน้า หรือถ้าเราอยากออมเงินให้ได้มากขึ้นในแต่ละเดือน เดือนนี้เราออมได้ 1,000 บาท เดือนหน้าเราออมเพิ่มได้ 1,001 บาทก็ถือว่าเป็นความคืบหน้าเช่นกัน
ข้อนี้จะให้กำลังใจและบอกกับคุณเสมอว่า “คุณเก่งนะ เก่งกว่าเดิมเสียอีก ที่ทำให้ทุกวันนี้สำเร็จได้ดีกว่าเดิม” และความสำเร็จเล็ก ๆ นี้จะคอยเป็นกำลังใจให้คุณเสมอตลอดการเดินทาง
🏃 ข้อที่ 6 "ทำ" ในเวลาที่ไม่อยากทำ
นี่ถือว่าเป็นข้อที่วัดใจใครหลาย ๆ คนเลยนะครับ เทคนิคการพิชิตข้อนี้ง่ายนิดเดียวครับ คือทำให้มันเป็นระบบ Autopilot
ระบบนี้ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยก็คือ “ความเคยชิน” หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงต้องเป็นระบบความเคยชิน เพราะระบบนี้จะใช้พลังงานน้อย พอเมื่อถึงเวลา ร่างกายเราจะไปเองโดยอัตโนมัติ ลดแรงต้านทานได้เยอะเลย วิธีสร้างระบบนี้คือ… ข้อต่อไปครับ ^^
🏃 ข้อที่ 7 ข้ามคลื่นทะเลที่ซัดเข้าฝั่ง
สองสัปดาห์โดยประมาณหลังจากที่เราเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่าง ไฟในตัวเราจะเริ่มมอดลงอย่างเห็นได้ชัด สภาพนี้เรียกว่า “Burnout” ถ้าเราเริ่มลงมือทำในวันที่ 1 มกราคม จำง่าย ๆ เลยคือหมดไฟไม่เกินวันเด็กแห่งชาติ
มีหนังสือหลายเล่มเขียนไว้ว่า นิสัยเปลี่ยนได้ด้วยการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง 21 วัน ติดต่อกัน หลังจากนั้นเราจะเริ่มเข้าสู่ระบบ Autopilot ระบบที่ทำโดยอัตโนมัติ ประดุจ “การพายเรือข้ามคลื่นทะเลที่ซัดเข้าฝั่ง ถ้าผ่านคลื่นนี้ไปได้ น้ำทะเลจะเริ่มนิ่ง” และเราก็จะพายเรือต่อไปได้โดยไม่ต้องออกแรงมากเท่ากับพายเรือสู้คลื่นทะเล
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด
แต่ละหัวข้อที่ได้กล่าวมามีความสำคัญตลอดการเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ถึงแม้ว่าเราจะทำได้ทุกข้อแล้วจากข้อหนึ่งถึงข้อเจ็ด แต่เราก็ยังต้องหวนกลับขึ้นไปดูข้อที่หนึ่งใหม่อีกเหมือนตอนเริ่มต้น เพื่อเป็นกำลังใจให้เราก้าวเดินต่อในแต่ละเส้นทางของกิจกรรม
ฉะนั้น คุณไม่ควรทิ้งข้อไหนเลย แม้ว่าจะก้าวข้ามผ่านข้อนั้นไปได้แล้ว เพราะสิ่งที่เราตั้งไว้คงไม่ได้มีเพียงแค่เป้าหมายเดียว เพราะในโลกนี้มีกิจกรรมอีกมากมายที่น่าสนใจ และกิจกรรมเหล่านั้นแหละที่จะทำให้ชีวิตเรามีความหมาย
สุดท้ายแล้วจริง ๆ
คืนนี้อยากให้ถามตัวคุณเองนะครับว่า ถ้าวันนี้เราอยู่ในระหว่างเดินทางไปสู่เป้าหมาย คนที่คุณควรรักที่สุดใช่ตัวคุณเองหรือเปล่า หรือเป็นคนอื่น
ตอบตัวเองนะครับ ไม่ต้องตอบผม ^^
คำคมส่งท้าย
“ความสนุกและมนต์เสน่ห์ของ ‘วินัย’ คือ กิจกรรมระหว่างการเดินทาง แต่ไม่ใช่การบรรลุเป้าหมาย”
และ
“ชีวิตนี้จะมีความหมายอะไร ถ้าไร้ซึ่งเป้าหมาย”
พัฒนาตัวเอง
อ่านง่าย
วินัย
3 บันทึก
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พัฒนาตัวเองขั้นพื้นฐาน
3
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย