20 มิ.ย. 2022 เวลา 04:30 • สุขภาพ
‘ไทม์ไลน์กฎหมายกัญชาเสรี’🌱
บทความนี้ ทางเพจ คู่หูแพทย์-เภ ได้รวบรวมสรุปเกี่ยวกับกฎหมายกัญชา ซึ่งเป็นหนึ่งใน Series กัญชา
ติดตามเรื่องที่น่ารู้ series “กัญชา” บทความ อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ 👉 https://bit.ly/3n01afV
⏩ เดิม ‘ทุกส่วน’ ของกัญชา รวมถึงยางและน้ำมันกัญชา จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
🌱 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ใหม่ ยกเว้น ‘บางส่วน’ ของกัญชา ได้แก่ เปลือก ลำต้น กิ่งก้าน ราก ใบที่ไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย รวมถึงสารสกัดที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ
ประชาชนทั่วไปจึงสามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังปลูกและขายไม่ได้
🌱 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่อง
ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ใหม่ ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 (เมื่อปีที่แล้วมีการยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ และประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดแทน) ระบุเพียง ‘สารสกัด’ จากกัญชา โดยไม่มีการระบุส่วนของกัญชา ทำให้ปลดล็อก ‘ทุกส่วน’ ของกัญชาพ้นจากยาเสพติดให้โทษ และยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชา
ประกาศฉบับนี้บังคับใช้ในอีก 120 วันถัดมา ซึ่งก็คือวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
🌱 และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ให้ ‘กัญชา’ หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม
โดยประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้วันที่ 17 มิถุนายน 2565
  • โดยอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมดังกล่าวได้ ยกเว้นการสูบที่สาธารณะ, การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร และห้ามขายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร
  • สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถใช้ประโยชน์จากสมุนไพรควบคุมดังกล่าวกับผู้ป่วยของตนได้ และผู้ป่วยสามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน
🌱 ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ
เรายังต้องติดตามเกี่ยวกับกฏหมาย ‘กัญชา’ กันต่อไป โดยเฉพาะ ร่างพรบ. กัญชา กัญชง (ฉบับที่…) พศ.… ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565
ติดตามบทความ สรุปย่อน่ารู้อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ 👉 https://bit.ly/3uXNxBE
อ้างอิง:
เอกสารการนำเสนอ การเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ โดย ภญ.ศิริพร ฉวานนท์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 17 มิย. 65
Slide แนวทางการดูและผู้ป่วยในหัวข้อ "กัญชาทางการแพทย์ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย" สภาเภสัชกรรม วันที่ 18 มิถุนายน 2565
ปลูก ปรุง ปุ๊น ควรระวังอะไรบ้าง หลังปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด โดย นพ.ชนาธิป ไซยเหล็ก https://thestandard.co/marijuana-cropping-caution/
#กัญชา #กัญชาเสรี #Marijuana #hemp #กัญชง #ปลดล็อกกัญชา #cannabis #ยาเสพติด #CBD #THC #กฎหมายกัญชา #กฎหมาย
#seeriesกัญชา #คู่หูแพทย์-เภ #แพทย์ชวนรู้ #เภชวนรู้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา