21 มิ.ย. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ผู้บริโภคส่งสัญญาณรัดเข็มขัด กังวลเศรษฐกิจในอนาคต
เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ได้ส่งกระทบไปยังความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นบริโภคนี้ เป็นมาตรวัดทางเศรษฐกิจที่แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีความยินดีที่ใช้ใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจแค่ไหน
และ การบริโภคภายในครัวเรือน ก็เป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ดังนั้น เมื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง อาจเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อระบบเศรษฐกิจ
📌 โลกเผชิญกับเงินเฟ้อสูง
ในประเทศสหรัฐอเมริกา เงินเฟ้อได้พุ่งไปอยู่ 8.6% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 1981 อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต้องเผชิญกับวิกฤติเงินเฟ้อ
จากข้อมูลของ Pew Research Center พบว่า ใน 37 จาก 44 ประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ระดับเงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2022 สูงขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าจากไตรมาสแรกของปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่เราต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ใหม่ ๆ และในบางประเทศพบว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2022 สูงขึ้นอย่างน้อย 4 เท่าจากไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่แล้ว
📌 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดลงในหลายประเทศ
ในประเทศสหรัฐอเมริกาผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงต้นเดือนมิถุนายนของมหาวิทยาลัยมิชิแกน แสดงให้เห็นว่า ดัชนีผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาลดลงอีกครั้ง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมลดลงเหลือ 50.2 ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ลดลงจาก 58.4 ในเดือนพฤษภาคม ลดลง 8.2 จุดหรือ 14.0% ดัชนีอยู่ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์
ในส่วนของ ออสเตรเลีย ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงในเดือนมิถุนายนเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และการที่ธนาคารกลางปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ทำให้ครัวเรือนต่างๆ กังวลถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นร่วงลง 4.5% มาอยู่ที่ 86.4
ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ GfK ในสหราชอาณาจักรแตะระดับต่ำสุดใหม่ที่ -40 ในเดือนพฤษภาคม 2022 จากความกังวลเรื่องวิกฤติค่าครองชีพ ซึ่งลดลงทำจุดต่ำสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่เคยทำไว้ในระดับ -39 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2008
สำหรับประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเป็น 50.42 จุดในเดือนมิถุนายน จาก 52.23 จุดในเดือนพฤษภาคมปี 2022
ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนที่ 40.2 ในเดือนพฤษภาคม 2022 จาก 40.7 ในเดือนก่อนหน้า
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอันเป็นผลมาจากหลายเหตุการณ์ โดยมีอัตราเงินเฟ้อเป็นผู้นำกลุ่ม การขึ้นราคาที่สูงอย่างต่อเนื่องมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคและบริษัท และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
📌 ยอดค้าปลีกในสหรัฐและจีนยังคงลดลง
กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริการายงานว่า ยอดขายปลีกในเดือนพฤษภาคมลดลงเนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายในขณะที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นการลดลงจนติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เป็นผลมาจากการซื้อรถยนต์ที่ลดลงและสินค้าราคาสูงอื่น ๆ
ที่ตัวเลขนี้บ่งชี้ว่าความต้องการสินค้าของชาวอเมริกันกำลังอ่อนตัวลง ซึ่งอาจสะท้อนถึงผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่เร็วที่สุดในรอบ 40 ปี , แรงกดดันด้านราคาเริ่มก่อตัวขึ้นในระบบเศรษฐกิจ, อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หรือ ความต้องการใช้จ่ายในบริการต่าง ๆ เช่น การเดินทางและความบันเทิงต่าง ๆ ที่ลดลง
ในขณะที่ยอดค้าปลีกในจีนก็ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สามในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากการล็อกดาวน์และนโยบาย Zero-Covid ที่ฉุดการบริโภคภายในประเทศ
ในประเทศจีน ยอดค้าปลีกเป็นมาตรวัดการบริโภคที่สำคัญลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม การลดลงในเดือนพฤษภาคมยังปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณว่า จีน กำลังดิ้นรนเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากนโยบาย Zero-Covid
จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคต่างก็กังวลกับเศรษฐกิจและสถานะทางการเงินของตัวเอง จนเริ่มส่งสัญญาณรัดเข็มขัดที่แน่นขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อไปยังภาครัฐและเอกชน…
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : Xinhua News Agency via Getty Image

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา