20 มิ.ย. 2022 เวลา 13:58 • อาหาร
"อาหารมื้อแรก & มื้อสุดท้ายในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"
หลายคนที่ศึกษาพุทธประวัติอาจคุ้นเคยกับ "สูกรมัททวะ" อาหารมื้อสุดท้ายในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะการมีถ้อยคำสำคัญเชื่อมโยงกับ "The Last Supper" พระกระยาหารมื้อสุดท้ายในพระเยซู (Jesus) ศาสดาแห่งคริสตชน ขณะที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่า "ข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง" อาหารมื้อแรกแห่งพระศาสดาในพุทธศาสนาก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
"ข้าวตู" ขอบคุณภาพ: https://sou-dai.com/
อาหารมื้อสุดท้ายในพุทธองค์
พระกระยาหารมื้อสุดท้ายในพระพุทธองค์ดังกล่าว คือ "สูกรมัททวะ" ของนายจุนทะกัมมารบุตร เรื่องนี้ เสฐียรพงษ์ วรรณปก (2560) วิเคราะห์เนื้อความที่มีผู้ตีความกันไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่า "สูกรมัททวะ" ก็คือ เนื้อสุกรอ่อน บ้างว่าเป็น ข้าวหุงด้วยนมโค และบ้างก็ว่า เป็นพืชผักสมุนไพร ที่หมายถึง "เห็ด" ชนิดหนึ่งเท่านั้น
พระพุทธองค์ได้เสวย "สูกรมัททวะ" ในขณะประชวรหนัก แม้จะทรงรู้พระองค์ด้วยพระอภิญญาญาณว่า ทันทีที่เสวยภัตตาหารที่รับประเคนมานั้น พระองค์จะต้องดับขันธ์ปรินิพพานอย่างแน่นอนก็ตาม ด้วยตระหนักดีว่าไม่อาจหลีกหนีกรรมเมื่ออดีตกาลได้
กรรมในพระพุทธองค์เป็นกรรมที่ได้ทรงประกอบไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นหมอยา เนื่องด้วยขณะทำการรักษาบุตรเศรษฐี โดยการปรุงยาอีกขนานหนึ่งให้บุตรเศรษฐีสำรอกพิษออกมานั้น บุตรเศรษฐีได้รับความทรมานสาหัส แม้จะเป็นการกระทำอันเกิดจากกุศลจิตก็ตาม แต่ก็ทำให้พุทธองค์ต้องชดใช้ เมื่อกรรมเก่านั้นได้ติดตามมาส่งผลต่อพระองค์ในแบบเดียวกัน หลังเสวยกระยาหารของนายจุนทะกัมมารบุตร
“หลังจากพระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารของนายจุนทกัมมารบุตร ได้เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรง ลงพระบังคนหนักเป็นโลหิต ทรงมีทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส” (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2562) "สูกรมัททวะ" จึงกลายเป็นพระกระยาหารมื้อสุดท้ายในพุทธองค์
อาหารมื้อแรกในพุทธองค์
1
พระกระยาหารมื้อแรกในพุทธองค์ ไม่นับ "ข้าวมธุปายาส" ของนางสุชาดา ด้วยข้าวหุงนมโคที่นางสุชาดานำมาถวายนั้นเป็นพระกระยาหารมื้อแรกหลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาทรมานพระวรกายโดยประการต่าง ๆ โดยเฉพาะการอดพระกระยาหาร ยังมิทันรู้แจ้งตรัสรู้
หลังพระอินทร์มิอาจนิ่งดู จึงแปลงกายมาบรรเลงพิณสามสายให้ฟังการเทียบเสียง สายหย่อนนักก็ไม่มีเสียง ตึงเกินไปก็ขาดผึง ต้องตึงพอดีจึงจะมีเสียงไพเราะ พระพุทธองค์จึงได้ค้นพบทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) และเวลานั้น พระพุทธองค์ก็ได้รับการถวายข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา แล้วทรงอธิษฐานจิต ลอยถาดนั้นลงในแม่น้ำเนรัญชรา ก่อนจะได้ทรงค้นพบสัจธรรมในเวลาต่อมา
ส่วนพระกระยาหารมื้อแรกภายหลังตรัสรู้บรรลุโสดาบรรณแล้ว พ่อค้าวาณิชมอญสองพี่น้องชื่อ ตะเป๊า ตะปอ (ฝ่ายไทยออกเสียงตามบาลีว่า ตปุสสะ ภัลลิกะ) ซึ่งเดินทางไปค้าขายยังดินแดนชมพูทวีป ได้ผ่านไปพบและเกิดศรัทธาปสาทะ จึงเข้าเฝ้าถวาย "ข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง" จึงนับกันว่า พ่อค้าวาณิชมอญสองพี่น้องนี้เป็นอุบาสกคู่แรกของโลก
จากนั้นพุทธองค์ก็ได้ลูปพระเกศ พระเกศาธาตุติดพระหัตถ์มาในคราวเดียว 8 องค์ จึงพระราชทานให้แก่สองพี่น้องเป็นสิ่งแทนองค์ และพ่อค้าทั้งสองก็ได้อัญเชิญพระเกศาธาตุทั้ง 8 องค์นั้นกลับมาถวายพระเจ้าเอิกกะลาปะยังเมืองสุวรรณภูมิ หรืออาณาจักรโบราณก่อนหงสาวดีของมอญ
พระพุทธรูปปางประทานพระเกศาธาตุ (ในประเทศไทยมีเพียง 3 องค์ ได้แก่ วัดบวรนิเวศ กรุงเทพมหานคร วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และวัดสนามเหนือ จังหวัดนนทบุรี)
ต่อมา พระเจ้าเอิกกะลาปะ ได้สร้างพระเจดีย์ตะเกิง ประดิษฐานพระเกศาธาตุทั้ง 8 องค์นั้นไว้ และตำนานพระเกศาธาตุดังกล่าวก็ได้กลายมาเป็นตำนานพระธาตุแห่งเมืองตะเกิง หรือพระเจดีย์ทองแห่งเมืองย่างกุ้ง หรือ "พระมหาเจดีย์ชเวดากอง" ใจกลางเมืองย่างกุ้ง อดีตราชธานีมอญแห่งประเทศเมียนมาในปัจจุบัน
ทัวร์จำลองนิสิตสาขาท่องเที่ยว คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ ลานพระเจดีย์ชเวดากอง 6 มีนาคม 2563
ว่าด้วย "ข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง"
"ข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง" ที่ปรากฏอยู่ในพุทธประวัตินั้น คือ "ข้าวตู" และ “ข้าวตู” ก็คือ “ข้าวตาก” หรือ "ข้าวสุก" หรือ "ข้าวสวย" เหลือกิน หรือ "ข้าวเย็นค้างมื้อ" คนโบราณไม่เคยทิ้ง แต่มักจะนำมาล้างน้ำเอายางออก ตากจนแห้ง โม่หรือบดละเอียดเก็บไว้กินเมื่อยามขาดแคลน
ข้าวสัตตูมีทั้ง “ข้าวตูผง” และ “ข้าวตูก้อน” ชนิดผงสามารถนำมากินหรือคลุกมะพร้าวขูดและโรยน้ำตาลกินเป็นขนมหวานหรือของว่างได้ทันที หากนำมากวนกับน้ำตาลใส่มะพร้าวขูดให้เข้ากัน พอเย็นปั้นเป็นก้อนชุบข้าวตูผงให้ทั่วเรียกว่า ข้าวตูก้อน
มองว่าสมัยโบราณจะหาข้าวกินยากก็ไม่เชิง แต่น่าจะเป็นความไม่ประมาท การนำข้าวเหลือกินมาแปรรูปเป็นอาหารรีไซเคิล เก็บไว้กินได้นาน สำรองเผื่อไว้หากฝนแล้ง นาล่ม หรือวิกฤติข้าวยากหมากแพง แม้กระทั่งเดินทางไกลก็สามารถพกพาติดตัวไปกินระหว่างทางได้สะดวก เป็นแบบอย่างการกินใช้อย่างรู้ค่าและชาญฉลาดของคนโบราณที่น่านำมาเป็นแบบอย่าง
บรรณานุกรม
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2562). พระ
ไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณ
ราชวิทยาลัยเล่ม. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม
2562. จาก: http://pratripitaka.com/
10-055/
เสฐียรพงษ์ วรรณปก. (กันยายน 1-7, 2560).
บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (4) สูกรมั
ททวะนั้นดังฤๅ. มติชนสุดสัปดาห์.
37(1933).
องค์ บรรจุน. (2563). จากนัตสู่เทพทันใจผู้
เปลี่ยนเงินบาทไทยเป็นจ๊าดพม่า. ใน ศิลป
วัฒนธรรม. 41(2): 45-52.
องค์ บรรจุน. (2565). รายงานการวิจัยฉบับ
สมบูรณ์ เรื่อง การสร้างเรื่องเล่าเพื่อการท่อง
เที่ยวเชิงอาหารชุมชนมอญทองผาภูมิ. คณะ
วัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิง
นิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
โฆษณา