Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
D-Faxtory
•
ติดตาม
20 มิ.ย. 2022 เวลา 22:47 • ความคิดเห็น
โสเภณีถูกกฎหมาย (10) : โสเภณีกับสถาบันครอบครัว
ขายตัวถูกกฎหมายใครๆ ก็เป็นโสเภณีได้ง่ายจัง (10)
ข้อโต้แย้งประเด็น “การค้ากามถูกกฎหมายไม่มีผลต่อสถาบันครอบครัว”
[คำอธิบายภาพ] แม้ว่าตอนนี้การซื้อขายบริการทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมายแต่ก็ยังมีสถานที่ขายบริการทางเพศแอบแฝงซ่อนอยู่ในสังคมมากมายทั้งที่เป็นสถานประกอบการที่จัดตั้งอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย
เหตุผลของผู้สนับสนุน - สังคมไทยจะลดอคติลงและมองการซื้อบริการทางเพศเป็นเรื่องปกติเหมือนการไปนวดคลายเครียดไม่ใช่การนอกใจ
จนในที่สุดผู้ชายไม่ต้องแอบเป็น “พ่อบ้านใจกล้า” อีก ผู้ชายจะสามารถคุยกับภรรยา แฟนสาว ลูก เพื่อนร่วมงานหรือคนทั่วไปเรื่องการซื้อบริการทางเพศได้อย่างเปิดเผยหรือเช็กอินที่จุดขายบริการทางเพศในแอพอย่าง “ไทยชนะ” ได้โดยไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ชายกล้าซื้อบริการโดยไม่รู้ต้องสึกผิดอีกต่อไป
หากสังเกตดีๆ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมักจะพยายามสร้างภาพว่า “ชายหญิงเท่าเทียมกัน” แต่พอพูดถึงการสนับสนุนให้มีโสเภณีหรือการขายตัวถูกกฎหมาย การสนับสนุนมักเน้นมาที่การส่งเสริมให้เพศหญิงเป็น “ผู้ขายบริการ” ให้เพศชายเป็น “ผู้ซื้อบริการ” และแทบจะไม่เห็นการสนับสนุนส่งเสริมให้เพศชายเป็น “ผู้ขายบริการ” ไม่ว่าจะเป็นการขายให้กับเพศหญิง, กะเทยหรือเกย์ชาย
ผู้ชายมักจะอ้างว่าเพศชายมีความต้องการทางเพศ, ต้องการที่ปลดปล่อยและการซื้อบริการจากโสเภณีหญิงเป็นทางออก ทั้งๆ ที่ถ้านับตามตรรกะเดียวกันเพศหญิง, กะเทยและเกย์ชายเองต่างก็มีความต้องการทางเพศ แต่ทำไมผู้ชายที่รักเพศตรงข้าม (Straight Men) กลับไม่ส่งเสริมให้เพศชายเป็นฝ่าย “ผู้ขายบริการ” มากเท่ากับที่ส่งเสริมเพศหญิง
บางคนอาจจะเกิดคำถามและนึกค้านในใจว่า “ผู้ชายที่เป็น “ผู้ขายบริการ” ก็มีเช่น “โฮสชาย” ที่ให้ผู้หญิงเข้าไปเลือกใช้บริการ หรือ “เพื่อนหนุ่ม” ให้กะเทยหรือเกย์ชายไปเลือกใช้บริการ”
ซึ่งถ้านับตามสัดส่วนแล้วจำนวนผู้ชายที่ขายบริการมีน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้หญิง และผู้ชายส่วนใหญ่ที่อยู่ในวงการนี้ทำด้วยความสมัครใจต่างกับผู้หญิงและเด็กที่ส่วนใหญ่เข้ามาจากกระบวนค้ามนุษย์ หรือไม่ก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอดประเภท “ถ้าไม่ทำก็อดตาย” (Survival Sex) ซึ่งมีน้อยคนมากที่มีทางเลือกอื่นก็ยังสมัครใจทำ
สรุปคือผู้ชายที่รักเพศตรงข้าม (Straight Men) ยังคงยึดสถานะ “ผู้ซื้อบริการ” อย่างเหนียวแน่น และยังพยายามทำทุกวิธีให้ผู้หญิงอยู่ในสถานะเป็น “ผู้ขายบริการ” “วัตถุทางเพศ” หรือ “สินค้า” ให้มากที่สุดเพื่อที่พวกเขาจะได้ซื้อ, ดูถูกและเหยียดเพศหญิงว่า “กะหรี่” ได้เต็มปากเต็มคำ
นอกจากเพศหญิงที่ถูกกดลงให้อยู่สถานะ “สินค้า” ผู้ชายที่ขายบริการให้ผู้ชาย (เกย์, กะเทย, ผู้หญิงข้ามเพศ) ด้วยกันก็มักจะดูถูกเหยียดหยามจากผู้ชายที่รักเพศตรงข้าม (Straight Men) ว่าเป็น “กะหรี่ชาย” ด้วย ในขณะที่ผู้ชายที่ขายบริการให้ผู้หญิงจะไม่โดนดูถูกในระดับ “กะหรี่ชาย” นั่นเพราะผู้ที่ดูถูกยังมองว่าผู้ชายกลุ่มหลังยังเป็น “ฝ่ายรุก” ขณะที่มีเพศสัมพันธ์
ซึ่งคือผลจากค่านิยมและแนวคิดจากชายเป็นใหญ่ (ปิตาธิปไตย (patriarchy)) ที่ยกย่องเพศชายโดยเฉพาะผู้ที่ใช้อวัยวะเพศชายในการข่มเหงคนอื่นได้ว่าเป็นผู้มีพลังอำนาจ
[คำอธิบายภาพ] ตำรวจในจีนปิดคลับโฮสต์ในเซี่ยงไฮ้เนื่องจากมีภาพเศรษฐินีคนหนึ่งซื้อรถหรูให้หนุ่มโฮสต์
แนวคิดและค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่นี่เองที่ทำให้ผู้ชายขายบริการจะถูกลดบทบาทจาก “ผู้ซื้อ” กลายเป็น “ผู้ขาย” หรือ “สินค้า” แต่ตราบใดที่พวกเขายังเป็น “ฝ่ายรุก” และผู้ที่ซื้อเป็นเพศหญิง
พวกเขายังคงได้รับความนับถือในฐานะเพศชายเช่นเดิม แถมผู้ชายที่รักเพศตรงข้าม (Straight Men) บางคนอาจยกย่องผู้ชายเหล่านี้ว่า “เพลย์บอย” “เจ้าชู้” เพราะสามารถมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงมากหน้าหลายตาและผู้หญิงเหล่านั้นต้องเป็นฝ่ายซื้อนำข้าวของเงินทองมาให้
แตกต่างจากผู้หญิงที่แม้ว่าบางคนจะเปลี่ยนมาอยู่บทบาทของ “ผู้ซื้อบริการ” แล้ว เพราะผู้หญิงที่ซื้อบริการยังเป็น “ฝ่ายรับ” ตอนมีเพศสัมพันธ์
ผู้หญิงที่เป็นผู้ซื้อยังคงถูกคนส่วนใหญ่มองว่า “โง่” “โดนหลอกเงิน” “ไม่มีใครเอา” “ร่าน” “เป็นผู้หญิงเลว” “มักมาก” “ใฝ่ในกาม” เพราะนอกจากเสียตัวยังต้องเอาเงินไปให้ผู้ชายอีกซึ่งค่านิยมนี้แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วอาจเบาบางลงไปบ้างแต่ก็ยังไม่หมดไปและคงไม่มีทางหมดไปตราบที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางเพศ
และถ้าการค้าประเวณีถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับขึ้นมา เมื่อการซื้อประเวณีไม่ว่ารูปแบบใดถูกมองว่าเป็นแค่การไปใช้บริการอย่างหนึ่งไม่ใช่การนอกใจ การสมรสและความสัมพันธ์ฉันสามี-ภรรยา, การมีผัวเดียวเมียเดียวจะหมดความหมายทันที เพราะนิยามของคำว่า “นอกใจ” จะไม่เหมือนเดิมอีก
แน่นอนว่ามันจะมีผลทางกฎหมายในเรื่องการฟ้องหย่า, แบ่งสินสมรส และการเรียกค่าเลี้ยงดูด้วยเพราะหากสามีได้ทนายที่เก่งพอ ภรรยาจะไม่สามารถฟ้องหย่าเพราะสามีมีชู้, มีเมียน้อยหรือเลี้ยงดูหญิงอื่นได้อีกต่อไป
เมื่อพูดถึงเรื่องกฎหมาย ต้องขออ้างอิงกฎหมายสมรสซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิยามการสมรสระหว่างชายหญิง (แม้ว่าจะมีบางประเทศผ่านกฎหมายสมรสระหว่างเพศเดียวกันแล้ว)
[คำอธิบายภาพ] ปัจจุบันกฎหมายไทยยังเปิดโอกาสให้ ภรรยาสามารถฟ้องหย่าสามีถ้าสามีมีชู้ได้
ทำไมพูดถึงเรื่องการสมรสแล้วต้องพูดถึงเรื่องการหย่าร้างและค่าเลี้ยงดู?
เพราะค่านิยมและวิถีชีวิตของชาวตะวันตกแตกต่างจากชาวเอเชีย ผู้หญิงในชาติตะวันตกส่วนใหญ่เมื่อแต่งงานแล้วยังคงทำงานต่อและมีรายได้ของตัวเอง ทำให้เมื่อถึงคราวที่ต้องเลิกรากับสามีหรือสามีเสียชีวิต ผู้หญิงยังมีความสามารถที่จะดูแลตัวเองกับลูกต่อได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น แตกต่างจากผู้หญิงเอเชียที่ยังต้องพึ่งกฎหมายคุ้มครองหลังการหย่าเป็นหลัก
ผู้หญิงในเอเชียจำนวนมากกลับถูกคาดหวังหรือบีบบังคับให้ทันทีที่แต่งงานจะต้องลาออกจากงานเพื่อมาทำหน้าที่ภรรยา เป็นแม่ของลูกและเป็นแม่บ้านเต็มเวลา ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ไม่มีรายได้เป็นของตัวเองและต้องพึ่งพิงรายได้จากสามีเป็นหลัก
แม้ว่าผู้หญิงบางส่วนจะเป็นแค่ออกจากงานช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อคลอดลูกหรือเลี้ยงเด็กอ่อน หรือหยุดทำงานจนกว่าจะเลี้ยงลูกจนโตพอจะส่งเข้าโรงเรียนอนุบาลหรือฝากพี่เลี้ยงได้แล้วกลับไปทำงานต่อ
แต่ผู้หญิงเหล่านั้นมักจะขาดทักษะการทำงานในระบบองค์กรหรือสร้างเครือข่ายทางธุรกิจได้ไม่ดีเท่ากับผู้ชายที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง และยิ่งผู้หญิงเหล่านั้นหยุดทำงานในระบบนานเท่าไรโอกาสที่จะได้กลับมาทำงานประจำก็จะยิ่งน้อยลง ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่ต้องลาออกไปเป็นแม่บ้าน เมื่อต้องกลับไปทำงานนอกบ้านอีกครั้งก็มักผันตัวเองไปเป็นพนักงานพาร์ตไทม์หรือเป็นลูกจ้างชั่วคราวมากกว่าจะได้ตำแหน่งงานในระบบงานประจำ
เพราะเหตุนี้ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงมักไม่มีรายได้พอจะดูแลตัวเองและลูกหลังหย่า ในหลายประเทศจึงมีกฎหมายช่วยเหลือผู้หญิงหลังการหย่าโดยจะแบ่งรายได้ของสามีมาเป็นเงินช่วยเหลือประเภทต่างๆ เช่น ญี่ปุ่นจะมีการชดเชยการฟ้องหย่าแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
1. ค่าทำขวัญในการหย่า (慰謝料 อิชะเรียว)
2. ค่าเลี้ยงดูบุตร (養育費 โยอิคุหิ)
3. การแบ่งทรัพย์สิน (財産分与 ไซอิซานบันยู)
4. ค่าใช้จ่ายระหว่างแยกกันอยู่ในกรณียังหย่าไม่สำเร็จ (婚姻費用 คงอินหิโย)
ของประเทศอื่นๆ ในเอเชียก็จะคล้ายๆ กัน อย่างของไทยจะมี
1. ค่าเลี้ยงชีพ (ต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเข้าไปในคดี มาฟ้องเรียกร้องภายหลังไม่ได้) เมื่อฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพได้ทำการสมรสใหม่จึงถือเป็นยุติ ฝ่ายที่ต้องจ่ายไม่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพอีกต่อไป
2. ค่าเลี้ยงดูบุตร
3. ค่าทดแทน (บางในกรณีเท่านั้น)
4. การแบ่งสินสมรส
เฉพาะค่าเลี้ยงดูบุตรของญี่ปุ่นเมื่อตีเป็นเงินไทยจะเฉลี่ยประมาณ 1 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป ของเกาหลีเมื่อตีเป็นเงินไทยจะประมาณ 1.5 หมื่นบาทขึ้นไป แต่ของไทยจะประมาณ 5 พันบาทต่อเดือนขึ้นไป (ข้อมูลก่อนปี 2564)
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ถ้ามีการฟ้องหย่าเกิดขึ้นในไทย ผู้หญิงที่ไม่ได้มีงานประจำแต่ได้สิทธิ์เลี้ยงดูลูกจะได้ค่าเลี้ยงดูบุตรต่อเดือนน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายจริง ฉะนั้นเงินที่จะช่วยผู้หญิงเหล่านั้นส่วนใหญ่จึงเป็นเงินในส่วนอื่นๆ
ย้อนกลับมาที่หัวข้อหลัก “หากการซื้อขายบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย” สมมติว่าผู้หญิงคนหนึ่งจับได้ว่าสามีตนเองมีเมียน้อยแล้วฟ้องหย่า แต่สามีกลับยืนกรานว่านั่นไม่ใช่เมียน้อยแต่เป็นแค่โสเภณีที่ซื้อบริการไว้แบบ “ผูกปิ่นโต” และที่ให้บ้านให้รถถือเป็น “ทิป” เพราะบริการถูกใจ
คำถามคือ ในเมื่อสามีอ้างว่านั่นเป็นแค่การซื้อบริการแบบขาประจำจะถือว่าสามีนอกใจหรือไม่? และภรรยาจะมีสิทธิ์ฟ้องข้อหาคบชู้ได้หรือไม่? ในมุมกลับกันหากภรรยานำเงินไปซื้อบริการทางเพศจากชายอื่น ซื้อรถซื้อบ้านปรนเปรอชายอื่นหรือปอกลอกทรัพย์สินสามีไปให้ชายอื่น สามีจะสามารถนำเรื่องนี้เป็นเหตุผลในการฟ้องหย่าถ้าภรรยาอ้างว่านั่นเป็นแค่ “การซื้อบริการหรือการให้ทิป” ไม่ใช่การเลี้ยงดูหรือคบชู้ได้หรือไม่?
[คำอธิบายภาพ] การซื้อขายบริการทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศญี่ปุ่น แต่คำตัดสินของศาลญี่ปุ่นได้สร้างกระแสคัดค้านและเกิดปัญหาบรรทัดฐานทางสังคมอย่างรุนแรง เมื่อศาลมองว่าการที่ชายคนหนึ่งเลี้ยงดูหญิงคนหนึ่ง 7 ปีเป็นแค่การซื้อบริการ https://mgronline.com/japan/detail/9580000060885
จากที่ผู้เขียนได้ผู้คุยกับผู้มีความรู้ทางกฎหมายได้คำตอบมาว่า “ถ้าการค้าบริการทางเพศถูกกฎหมายและผู้ซื้อปฏิเสธข้อหาคบชู้โดยอ้างเหตุผลว่านั่นเป็นเพียงการซื้อบริการ ไม่ว่าจะสามีหรือภรรยาก็จะไม่สามารถฟ้องหย่าด้วยเหตุคบชู้ได้อีกเพราะศาลจะมองว่านั่นเป็นการซื้อบริการรูปแบบหนึ่งเท่านั้น”
ในญี่ปุ่นเคยมีคดีความเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่คำตัดสินของศาลสั่นคลอนความมั่นคงของสถาบันครอบครัวของญี่ปุ่นและสร้างความกังขาให้กับคนในสังคมอย่างมากมาแล้ว
คดีที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อภรรยาจับได้ว่าสามีมีความสัมพันธ์กับโสเภณีคนหนึ่งถึง 7 ปี จึงฟ้องหย่าสามีและฟ้องโสเภณีคนนั้นว่าทำผิดกฎหมายครอบครัวทำให้ชีวิตสมรสของเธอเสียหายและให้ทั้งคู่จ่ายค่าชดเชย แต่ศาลกลับตัดสินว่า “พฤติกรรมดังกล่าวไม่เข้าข่ายทำให้ชีวิตสมรสเสียหาย เนื่องจากเป็นการซื้อขายบริการทางเพศไม่ใช่การนอกใจ และแม้ว่าภรรยาจะรังเกียจพฤติกรรมสามีแต่ก็ไม่เข้าข่ายจะเรียกร้องค่าชดเชยจากทั้งคู่ได้”
จะเห็นได้ว่าเรื่อง “การฟ้องหย่าไม่สำเร็จเพราะนั่นเป็นแค่การซื้อบริการ” ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริง ซึ่งถ้าสังคมไทยเป็นไปถึงขั้นที่มีคดีความและศาลมีมาตรฐานในการตัดสินเช่นนี้ กฎหมายการสมรสหรือการฟ้องหย่าก็จะหมดความหมาย
การสมรส, การแต่งงาน คือการที่บุคคล 2 บุคคลตัดสินใจจะสร้างอนาคตร่วมกัน หากเกิดความขัดแย้งหรือเหตุผลไม่ลงรอยกันก็ต้องหย่าร้างแยกกันไป ในระหว่างที่ยังสมรสกันอยู่คู่สมรสควรจะมีความซื่อสัตย์, ความผูกพัน, การให้เกียรติและรับผิดชอบชีวิตซึ่งกันและกัน รวมถึงต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตรที่เกิดขึ้นจากทั้งคู่ มิเช่นนั้นก็ไม่ควรสมรสกันตั้งแต่แรก
การอ้างความต้องการทางเพศโดยไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ เอาความต้องการของตนเป็นที่ตั้งจนลืมความถูกผิดหรือดีชั่ว จนทำร้ายความรู้สึกหรือไม่ให้เกียรติคู่ครองและบุตรของตนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ผู้ที่สามารถนอกใจคู่ครองโดยอ้างความต้องการทางเพศเป็นความชอบธรรมคือผู้ที่ไม่เคยมีความรู้สึกผูกพันต่ออีกฝ่าย ไม่เคยให้เกียรติ ไม่เคยคิดจะรับผิดชอบความรู้สึกของคู่สมรสของตน
มีแต่ความเห็นแก่ตัวและยึดเอาความต้องการของตัวเองเป็นหลัก
ผู้ชายหลายคนอาจเถียง “เมียยอมให้ไปมีข้างนอกได้ถ้าไม่เอาเข้าบ้าน”
ผู้เขียนอยากบอกว่า หากผู้หญิงคนนั้นรักคุณจริงๆ ถ้าเลือกได้เธอจะไม่อยากให้สามีของตัวเองไปมีคนอื่น การที่ผู้หญิงยอมให้คุณเที่ยวหรือมีคนอื่นทั้งที่รักคุณ นั่นคือเพราะเธอไม่อยากเสียคุณไป หากคุณใช้การที่เธอ “ยอม” เป็นข้ออ้างในการนอกใจ นั่นคือคุณเองไม่ได้รักและให้เกียรติ หรือไม่แม้กระทั่งมีความเห็นอกเห็นใจให้กับภรรยาของตน
ในทางกลับกันถ้าภรรยาคุณเป็นฝ่ายที่นอกใจไปซื้อบริการหรือเลี้ยงดูชายอื่นบ้าง โดยอ้างว่าคุณให้ความสุขทางเพศกับเธอไม่ได้เลยต้องไปหาเอาข้างนอก คุณผู้ชายทั้งหลายยัง “ยอม” รับได้หรือไม่?
หลังจากที่ผู้เขียนได้เขียนหัวข้อนี้มาหลายตอนแล้ว เชื่อว่าผู้ที่อ่านถึงตอนนี้น่าจะพอรู้แล้วว่าการค้ากามถูกกฎหมายให้โทษต่อสังคมทั้งในด้านปัญหาสังคม ความปลอดภัยและส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงอย่างยิ่ง มีเพียงผู้ชายที่ซื้อบริการ นายทุน แมงดาและผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่ได้ประโยชน์
แม้จะรู้ว่าการแก้ให้การค้ากามถูกกฎหมายเป็นการสนับสนุนการค้ามนุษย์และนำมาซึ่งปัญหาสังคมมากมาย แต่ทำไมคนบางส่วนกลับยังเห็นดีเห็นชอบและสนับสนุน
หากให้ผู้เขียนตอบผู้เขียนคงอธิบายได้ว่าคนเหล่านั้นพยายามหาเหตุผลและแสดงพฤติกรรมเข้าข้างความคิดตนเอง (Cognitive Dissonance)
ตามปกติคนเราถ้าได้ประโยชน์จากสิ่งไหน ชอบอะไร มักลำเอียงว่าสิ่งนั้นดี
ทุกการกระทำที่มีเซ็กซ์เป็นส่วนประกอบไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์, การช่วยตัวเอง, การได้รับการเล้าโลมทั้งทางกายและวาจา ฯลฯ ล้วนกระตุ้นให้เกิดสารเคมีประเภทสารความสุขเข้าสู่สมองที่รุนแรงไม่แตกต่างจากการได้รับสารเสพติด
ผู้คนมากมายจึงเสพติดเซ็กซ์ได้อย่างง่ายดายทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว และหากถูกวางเงื่อนไขโดยมีเซ็กซ์เป็นสิ่งเร้าในระยะเวลาที่นานพอก็จะส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงทุกอย่างที่เกี่ยวกับเซ็กซ์ว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่เว้นแม้แต่เรื่องหนังโป๊หรือการขายบริการทางเพศ
เทียบเคียงได้กับอบายมุขอย่างอื่น เช่น บุหรี่, ยาเสพติด, การพนัน คนส่วนใหญ่รู้ว่าไม่ดีแต่ทำไมยังมีคนจำนวนมากเต็มใจที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวและยังมีหน้าใหม่เข้าไปทดลองและเสพติดอยู่เรื่อยๆ ?
เหตุผลที่ผลักดันพวกเขาให้ทำแบบนั้นก็คล้ายกันคือ เมื่อพวกเขาเสพติดอบายมุขเหล่านั้นแล้ว พวกเขาจะมองไม่เห็นด้านไม่ดีของมันอีกต่อไป ต่อให้มีคนเตือนว่า “เสพยาทำให้สุขภาพเสีย” เขาก็จะไม่สนใจเพราะความรู้สึกตอนที่เมายาทำให้เขารู้สึกดีเกินกว่าจะคิดถึงผลกระทบด้านสุขภาพ
หรือต่อให้มีคนเตือนว่า “เล่นการพนันทำให้เป็นหนี้” เขาก็จะไม่สนใจเพราะความตื่นเต้นตอนได้ลุ้น หรือความยินดีตอนได้เงินรางวัลสร้างความสุขให้เขาในตอนนั้นมากกว่าการคิดถึงอนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
การขายบริการทางเพศก็เช่นกัน ถ้ามีคนบอกว่า “การซื้อขายบริการทางเพศคือการค้ามนุษย์ เหยียดผู้หญิง เห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศและทำให้ทัศนคติสังคมบิดเบี้ยว” พวกเขาก็จะไม่ใส่ใจเพราะพวกเขาไม่ได้รับผลกระทบหรือเห็นว่ามันไกลตัว
เขาเห็นแต่ความสุขและผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากซื้อหรือขายบริการทางเพศตรงหน้ามากกว่า และพวกเขาก็พร้อมจะปกป้องสิ่งที่สร้างความสุขให้พวกเขาโดยไม่คำนึงว่ามันจะสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมโดยรวมหรือส่งผลกระทบกับผู้หญิงส่วนใหญ่มากแค่ไหน
ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายบริการทางการเพศถูกกฎหมาย แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังแก้ไขไม่ได้และทำได้แค่พยายามแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอกอยู่เป็นระยะ ผู้เขียนได้แต่ภาวนาให้ผู้บริหารประเทศของเราดูประเทศเหล่านั้นเป็นกรณีศึกษาเพื่อไม่ให้ออกกฎหมายหรือดำเนินนโยบายผิดพลาดซ้ำรอยประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้นอีก
ปัจจุบันแม้จะการขายบริการทางเพศจะไม่ถูกกฎหมายแต่ผู้ซื้อขายก็มีช่องทางซื้อขายอย่างอิสระและแทบจะไม่ถูกจับมาดำเนินคดีกันอีกแล้ว เว้นแต่คนที่เป็นนายทุน แมงดา แม่เล้าที่เป็นธุระจัดหาเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาขายบริการที่ยังพอเห็นข่าวว่ามีการล่อซื้อจับกุมอยู่
ฉะนั้นผู้ที่สนับสนุนการค้ากามอย่าพยายามกลับผิดเป็นถูกด้วยความมักง่าย รักสบายและเห็นแก่ตัวจนผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงด้วยเลย ลองนึกภาพว่าหากลูกสาวหลานสาวตัวเองต้องเติบโตในสังคมที่ผู้หญิงถูกซื้อขายได้เหมือนผักปลาและมีโอกาสที่จะถูกผู้ชายในสังคมฉุดคร่าได้ทุกเมื่อเหมือนเป็นแค่วัตถุชิ้นหนึ่ง ถึงตอนนั้นมานึกเสียใจก็คงสายไปแล้ว
รูปและอ้างอิง
https://www.creatrip.com/th/blog/11923
http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:QXJ-0Vh9Gw0J:easylaw.go.kr/CSM/CsmOvSave.laf%3FcsmSeq%3D693%26ccfNo%3D3%26cciNo%3D3%26cnpClsNo%3D3+&cd=2&hl=th&ct=clnk&gl=th&client=opera
http://www.thailaws.com/aboutthailaw/knowledge_03.htm
https://srisunglaw.com/ค่าเลี้ยงดูบุตร/
https://trnjc.coj.go.th/th/file/get/file/20190220d41d8cd98f00b204e9800998ecf8427e163045.pdf
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aprilfool&month=08-2015&date=14&group=1&gblog=21
https://thaiseeyou.com/archives/5170
https://pixabay.com/images/id-1837148/
https://pixabay.com/images/id-4372151/
https://pixabay.com/images/id-5817033/
เฟมินิสต์
feminist
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
LGBT and Feminism
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย