Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TTW Public Company Limited
•
ติดตาม
27 มิ.ย. 2022 เวลา 07:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำความรู้จักกับ “NVDR”
Image Credit: Pixabay
นักลงทุนที่เปิดเข้าไปดูข้อมูลผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คงจะเคยได้เห็นคำว่า “NVDR” หรือ "บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด" (Thai NVDR Company Limited) ที่มักจะมีหุ้นอยู่จำนวนไม่น้อย หรือถือหุ้นอยู่ในอันดับต้นๆ ของหลายๆ บริษัทชั้นนำ
## แล้ว NVDR เขาเป็นใคร? ##
“NVDR” ย่อมาจาก “Non-Voting Depository Receipt” เป็นการประกอบธุรกิจของ "บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด" (Thai NVDR Company Limited) โดยการออก “ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย”
ซึ่งเป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้น และเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอัตโนมัติ (Automatic List) เพื่อขายให้แก่ผู้ลงทุน
“ไทยเอ็นวีดีอาร์” จัดตั้งขึ้นเมื่อ 4 ต.ค. 2543 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถือหุ้น 99.99% ของทุนจดทะเบียน
โดยลักษณะการดำเนินงานของ “ไทยเอ็นวีดีอาร์” นั้น หลังจากออก “ตราสารเอ็นวีดีอาร์” (NVDR) และขายให้กับผู้ลงทุนแล้ว ก็จะนำเงินที่ได้ไปลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงไทยที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกทีหนึ่ง
Image Credit: Pixabay
โดยข้อดีของการลงทุนผ่าน NVDR ก็คือจะได้รับ "สิทธิประโยชน์ทางการเงิน" (Financial Benefit) เฉกเช่นเดียวกันกับการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ ทุกประการ
ไม่ว่าจะเป็นเงินปันผล สิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน หรือใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ (Warrant)
แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ “ไม่มี” สิทธิในการออกเสียง (Non-Voting Rights) ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น (AGM) นั่นเอง
Image Credit: Pixabay
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของ NVDR ก็เพื่อกระตุ้นการลงทุน และเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ (ต่างด้าว) ที่สนใจลงทุนในบริษัทจดทะเบียนแต่ไม่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์นั้นได้
เนื่องจากการควบคุมสัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์ของคนต่างด้าวที่ระบุไว้ตามกฎหมายไทย ซึ่งสามารถถือหุ้นได้ในสัดส่วนไม่เกิน 49% (บางบริษัทอาจกำหนดไว้ให้ไม่ถึง 49% ก็ได้)
และแม้โดยวัตถุประสงค์หลักแล้ว แม้ NVDR จะออกมาเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่การลงทุนของผู้ลงทุนชาวต่างชาติเป็นหลัก
แต่ผู้ลงทุนไทยทั้งนิติบุคคล และรายย่อยเองก็สามารถลงทุนในเอ็นวีดีอาร์ได้ด้วยเช่นกัน
โดยนักลงทุนสามารถซื้อขาย NVDR ได้เช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วไปที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นเอง (แต่ก็ Non-Voting Rights เช่นกันสำหรับผู้ลงทุนชาวไทย)
Image Credit: Pixabay
โดยสัญลักษณ์ของหุ้นที่ซื้อขายผ่าน NVDR จะปรากฎในพอร์ตของเราในลักษณะที่มีตัวอักษร –R ต่อท้าย
และมีตัวอักษรด้านหน้าเป็นชื่อของหุ้นตัวนั้นๆ ตามปกติ เช่น ลงทุนในหุ้น TTW ผ่าน NVDR ชื่อที่ปรากฎในพอร์ตของเราก็จะเป็น TTW-R เป็นต้น
## เรามาดูข้อมูลของ NVDR (ณ วันที่ 23 มิ.ย. 2565) ##
NVDR ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนจำนวน (รวมทั้งหุ้นสามัญ/หุ้นบุริมสิทธิ*)
SET = 496
mai = 159
ใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (Warrant)
SET = 72
mai = 32
ที่มา: https://classic.set.or.th/nvdr/th/nvdr.html
ลองมาดูตัวอย่างการลงทุนของผู้ลงทุนผ่าน “บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด” ในหุ้นของบริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ณ วันที่ 31 มี.ค. 2565
โดยมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 139,779,038 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.5% ซึ่งถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 4 ของ TTW เลยทีเดียว
ที่มา: https://www.ttwplc.com/th/investor-relations/shareholder-information/shareholder-structure
## *หุ้นบุริมสิทธิ* ที่กล่าวถึงด้านบนคืออะไรกัน?? ##
คือ ตราสารที่ผู้ถือมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการเช่นเดียวกับหุ้นสามัญแม้จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงประชามติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
แต่เมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับเงินปันผลในอัตราเต็มที่ ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าผู้ถือหุ้นสามัญก็ได้
ขณะเดียวกันหากกิจการนั้นต้องเลิกกิจการและมีการชำระบัญชีโดยการขายทรัพย์สิน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับเงินคืนทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
Source:
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- โครงสร้างผู้ถือหุ้น TTW
https://www.ttwplc.com/th/investor-relations/shareholder-information/shareholder-structure
-
https://classic.set.or.th/nvdr/th/nvdr.html
nvdr
หุ้น
ttw
1 บันทึก
9
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เดี๋ยวรู้เรื่อง...การลงทุน!
ทำความรู้จักกับ...
1
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย