28 มิ.ย. 2022 เวลา 08:42 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ภาพยนตร์สารคดีฝรั่งเศสเรื่อง The Monopoly of Violence (2020) ว่าด้วยความรุนแรงและความชอบธรรมที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจในการประท้วงของขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง (Yellow Vest Movement)
สารคดีเปิดด้วยคำกล่าวอมตะของ มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) นักสังคมวิทยาเยอรมันชื่อดังที่ว่า รัฐเป็นองค์กรผูกขาดความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง อันเป็นประเด็นที่สารคดีตั้งชื่อล้อ และใช้เป็นคำถามขับเคลื่อน
  • ความรุนแรงที่แนบเนียน
ในประเด็นความรุนแรงอาจจะต้องเริ่มด้วยการยืมเรื่องเล่าของ สลาวอย ชิเชค (Slavoj Zizek) เสียก่อน
“มีเรื่องเล่าเก่าแก่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับแรงงานผู้ต้องสงสัยว่ามีพฤติกรรมลักขโมย ทุกเย็นที่เขาเดินออกจากโรงงานพร้อมกับเข็นรถเข็นนำหน้า เขาจะถูกตรวจค้นอย่างละเอียด ยามที่ตรวจค้นไม่เคยเจออะไรเลยเพราะข้างในรถเข็นนั้นว่างเปล่าเสมอ แต่สุดท้ายความก็แตกออกมาว่า สิ่งที่แรงงานขโมยมาแต่แรกก็คือตัวรถเข็นนั่นเอง”
นี่คือตัวอย่างของความรุนแรงที่แนบเนียนอยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นความรุนแรงที่ไม่เผยตัวชัดเหมือนการปะทะเลือดสาด เราอาจเรียกความรุนแรงชนิดนี้อย่างหลวมๆ ว่า ‘ความรุนแรงเชิงระบบ’
ตัวอย่างของความรุนแรงเชิงระบบ ปรากฏชัดผ่านปากของ เมลานี โกเอ-กาฮอม (Melanie N’goye Gaham) หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมซึ่งถูกตำรวจใช้กระบองฟาดจนกระดูกสันหลังที่คอไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิม
“การปฏิรูปนโยบายสวัสดิการจนทำให้คนจ่ายค่าที่อยู่อาศัยไม่ไหว คือความรุนแรง”
“การต้องประทังชีวิตด้วยการขุดคุ้ยขยะ คือความรุนแรง”
“การเห็นคนต้องนอนข้างถนน ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งกำลังดื่มฉลอง คือความรุนแรง”
“การที่มีคนงานเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ ผ่านเกณฑ์ที่จะได้ค่าแรงขั้นต่ำ คือความรุนแรง”
ข้างต้นเป็นตัวอย่างความรุนแรงเชิงระบบที่เป็นภูมิหลังให้ผู้คนไม่พอใจนโยบายของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) จนออกมาชุมนุมประท้วงจำนวนมหาศาล และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพเข้าปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การปราบปรามซึ่งอ้าง ‘ความสงบเรียบร้อย’ เป็นความชอบธรรม
ความสงบเรียบร้อยเป็นความชอบธรรมที่ตำรวจใช้อ้างในการลงมือใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ในสารคดีปรากฏคำพูดของผู้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชัดเจนว่า ผู้ชุมนุมกำลังก่อจลาจล ทำลายข้าวของ ทำร้ายตำรวจ
อย่างไรก็ตาม การใช้ความรุนแรงของตำรวจนี้ถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า เป็นการกระทำที่เป็นไปตามหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วนหรือไม่
คำตอบของตำรวจมีเพียงว่า วิดีโอที่ถ่ายมานั้นอาจแสดงเรื่องราวไม่ครบถ้วน อีกทั้งการกระทำของตำรวจก็เกิดจากการที่ผู้ชุมนุมละเมิดกฎหมาย ซึ่งอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ตำรวจกำลังอ้างว่าความรุนแรงที่พวกตนใช้นั้น เป็นการกระทำที่ชอบแล้วด้วยกฎหมาย
  • ความชอบธรรมในความรุนแรงตามกฎหมาย
ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) นักปรัชญาฝรั่งเศส เคยบรรยายถึงพลังแห่งกฎหมาย (Force of Law) ไว้ว่า “กฎหมายเป็นเรื่องของการใช้พลังอำนาจชนิดที่จะสร้างความชอบธรรมให้ตัวมันเอง หรือให้ความชอบธรรมในการปรับใช้ด้วยตัวมันเอง แม้ว่าความชอบธรรมนั้นอาจถูกตัดสินว่าไม่ยุติธรรมหรือไม่ชอบธรรมจากมุมมองอื่นก็ตาม
การปรับใช้ (applicability) หรือการบังคับใช้ (enforceability) ที่อาจใส่เสริมเข้าไปยังกฎหมาย ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ภายนอก หรือเป็นผลพวงที่อาจเกิดขึ้น หากแต่เป็นสารัตถะของพลังซึ่งแสดงนัยอยู่ในส่วนลึกของกรอบคิดความยุติธรรมตามกฎหมาย ในความยุติธรรมซึ่งเผยตัวในรูปของสิทธิ/กฎหมาย (droit) และในรูปของกฎหมายในฐานะสิทธิ”
กล่าวอย่างง่ายได้ว่า การปรับใช้และการบังคับใช้เป็นแก่นของตัวบทกฎหมายนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่มีกฎหมายใดที่ปราศจากการบังคับใช้ เพราะแม้จะมีกฎหมายที่ไม่ถูกบังคับใช้อยู่ แต่กฎหมายทุกมาตราต่างแฝงด้วยพลัง (force) ที่พร้อมจะถูกบังคับใช้ (enforce) ได้ตลอดเวลา
นั่นทำให้แดร์ริดามองว่า แก่นของกฎหมายมิใช่การหวงห้าม (prohibitive) แต่เป็นการยืนยัน (affirmative) ว่ากฎหมายมีพลังแฝงอยู่จริงๆ กล่าวคือ ทุกครั้งที่มีการบังคับใช้หรือปรับใช้กฎหมาย ไม่ว่าเนื้อหาหรือเป้าหมายของมันจะมุ่งให้เกิดการกระทำหรืองดเว้นการกระทำ มันก็เป็นการยืนยันว่ากฎหมายมีพลังที่สามารถอ้างอิงมาบังคับใช้ได้
คำถามสำคัญคือ แล้วพลังแห่งกฎหมายนี้มาจากไหน อำนาจใดที่มอบพลังนี้มา และอะไรทำให้พลังหรือกฎหมายเหล่านี้ชอบธรรม
คำตอบคือ ‘ความรุนแรง’ โดยแดร์ริดาอ้างคำภาษาเยอรมันว่า ‘Gewalt’ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมทั้งความรุนแรงและอำนาจที่ชอบธรรม และบรรยายว่าความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่ภายนอกปริมณฑลกฎหมาย หากเป็นสิ่งที่อยู่ในตำแหน่งแกนกลางของกฎหมาย
แดร์ริดาหยิบยืมกรอบคิดเรื่องความรุนแรงมาจาก วอลเตอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) นักปรัชญาเยอรมันเชื้อสายยิว ซึ่งอธิบายว่า หากพิจารณาความสัมพันธ์ของความรุนแรงที่แฝงในกฎหมาย จะสามารถแบ่ง 2 ประเภท ได้แก่
ความรุนแรงสถาปนา (founding violence) อันเป็นความรุนแรงซึ่งเป็นบ่อเกิด และสร้างให้เกิดกฎหมาย (die rechtsetzende Gewalt, “law making violence”)
ความรุนแรงที่ปกปักรักษา (conserving violence) ซึ่งเป็นความรุนแรงที่จะคงสถานะ ยืนยัน และทำให้แน่ใจว่าการบังคับใช้พลังของกฎหมายจะยังคงอยู่ (die rechtserhaltende Gewalt, “law preserving violence”)
อย่างไรก็ดี หากกล่าวอย่างรวบรัด แดร์ริดาเสนอว่าการหาเส้นแบ่งระหว่างความรุนแรงสองประเภทนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันการเมืองสมัยใหม่อย่าง ‘สถาบันตำรวจ’
  • ตำรวจคือสถาบันแห่งความรุนแรง
แดร์ริดายังอ้างข้อสังเกตของเบนจามินที่ชี้ว่า สถาบันตำรวจได้ผสมปนเปความรุนแรงทั้งสองเข้าด้วยกัน เพราะสถาบันตำรวจมิได้หยุดการใช้อำนาจอยู่เพียงแค่การบังคับใช้เพื่อปกปักรักษา
“ทุกวันนี้ตำรวจไม่ได้ใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายเพียงเพื่อรักษากฎหมายอีกต่อไป พวกเขายังสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมา ประกาศกฎหมายฉุกเฉิน พวกเขาจะใช้อำนาจเข้าแทรกแซงในสถานการณ์ที่กฎหมายไม่สามารถรับรองความมั่นคงได้อีกต่อไป”
เมื่อเป็นดังนั้นพวกตำรวจจึงสามารถกระทำการต่ำช้าเพียงใดก็ได้ เพราะเส้นแบ่งของอำนาจในการใช้ความรุนแรงสถาปนาและความรุนแรงปกปักรักษาถูกระงับ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เส้นแบ่งระหว่างการสร้างกฎหมายกับการรักษากฎหมายไม่มีอีกต่อไป แดร์ริดาเสนอว่า ตำรวจกลายเป็นผู้สร้างกฎหมาย มันแปลงตัวเองเป็นฝ่ายนิติบัญญัติในยุคสมัยใหม่ ตำรวจจึงกลายเป็นฝ่ายที่มีอำนาจบอกได้ว่า ตนไม่ได้ใช้ความรุนแรง ฝ่ายผู้ชุมนุมต่างหากที่รุนแรง
การแปลงกายเป็นผู้สร้างกฎหมาย ทำให้ตำรวจไม่ต้องเกรงกลัวว่าตนจะกระทำผิดหรือได้รับโทษทางกฎหมาย ดังที่ช่วงหนึ่งของสารคดีถ่ายทอดวิดีโอที่ตำรวจสั่งให้เยาวชนนั่งคุกเข่าและเอามือไขว้หลังศีรษะนานถึง 3 ชั่วโมง โดยที่วิดีโอดังกล่าวถูกถ่ายโดยตำรวจเอง อันเป็นการฟ้องชัดว่าตำรวจรู้อยู่แล้วว่าตนจะลอยนวลพ้นผิดไปได้
การลอยนวลพ้นผิดเป็นวัฒนธรรมสำคัญของสถาบันตำรวจ คำพูดของชายแก่ที่ยืนต่อว่าตำรวจสะท้อนวัฒนธรรมอันยาวนานนี้ได้ดีที่สุด เขาพูดว่าตำรวจไล่ทุบตีผู้ชุมนุมมาตั้งแต่เหตุการณ์ในปี 1968 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปี 1940 (การพูดเช่นนี้แสดงชัดเจนว่า เวลาผู้คนตำหนิตำรวจ มันเป็นการต่อว่าในฐานะที่เป็นสถาบัน มากกว่าตัวบุคคล)
และยังได้รับการยืนยันผ่านสารคดีที่ให้ข้อมูลว่า มีเยาวชนและผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจ
อาแลง ดามาสิโอ (Alain Damasio) นักเขียนฝรั่งเศส (ที่ปรากฏในสารคดีด้วย) ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจคือ ในอดีตการใช้ความรุนแรงของตำรวจอาจจะถูกเก็บงำโดยองค์กรรัฐและสื่อที่ถูกรัฐและชนชั้นนำควบคุมไว้ได้ ทำให้ตำรวจยืนอยู่ในคุกวงแหวน หรือ ‘สรรพทัศน์’ (panopticon) ที่คนบนหอคอยจะมองเห็นคนข้างนอก แต่คนข้างนอกจะไม่สามารถมองลอดผ่านกระจกทึบที่กำบังพวกเขาได้เลย ทำให้พวกเขา(สอดคล้องกับที่แดร์ริดาเสนอไว้ว่า
“ตำรวจจะปรากฏตรงหน้าและถูกนำเสนอในทุกหนแห่งที่มีพลังอำนาจของกฎหมาย หลายครั้งพวกเขาจะปรากฏตัวโดยไม่จำเป็นต้องแสดงตัวให้เห็นในสถานการณ์ที่ต้องมีการรักษากฎระเบียบทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ”) ดามาสิโอยังเล่าต่อว่า สถานการณ์นี้เปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อทุกคนมีกล้องที่สามารถบันทึกและถ่ายทอดสดการกระทำของตำรวจได้ในทันทีทันใด
คำอธิบายในลักษณะนี้ทำให้นึกถึงฉากสำคัญในภาพยนตร์เรื่อง Memories of Murder (2003) ของ บงจุนโฮ (Bong Joon-ho) ซึ่งว่าด้วยเรื่องของอาชญากรฆ่าข่มขืนซึ่งออกกระทำการในวันที่มีฝนตก เมื่อตัวเอกสืบทราบจนแน่ใจแล้วว่าอาชญากรจะลงมือในวันเวลาใด จึงได้ทำเรื่องขอกำลังเสริมเพื่อทำแผนการจับกุม
แต่ในท้ายที่สุดคำขอกำลังเสริมกลับไม่ได้รับการสนอง เพราะในวันนั้นรัฐบาลต้องดึงกำลังตำรวจทั้งหมดไปปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย
ในทำนองเดียวกัน กำลังตำรวจฝรั่งเศสในสารคดีก็ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องประชาชน ตรงกันข้าม มันเป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจความรุนแรงของรัฐ และเป็นเครื่องมือที่รัฐพร้อมจะใช้ปราบปรามการเคลื่อนไหวที่กระทบความมั่นคงของรัฐ
แดร์ริดาพูดถึงกรณีนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐในฐานะองค์กรซึ่งแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของกฎหมาย ไม่ได้กลัวการประกอบอาชญากรรม ไม่ได้กลัวการปล้นทรัพย์ลักขโมย กระทั่งไม่ได้กลัวองค์กรมาเฟียขนาดใหญ่ ตราบใดที่การกระทำและองค์กรซึ่งละเมิดกฎหมายเหล่านั้นวางอยู่บนฐานผลประโยชน์ที่เฉพาะเจาะจง
สิ่งที่รัฐกลัวกลับเป็นความรุนแรงที่สามารถสนองความเป็นธรรม ที่สามารถกลายเป็นความชอบธรรม หรือที่สามารถเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางกฎหมายและเสนอตัวว่าตนมีสิทธิชอบธรรมตามกฎหมายต่างหาก
การใช้ความรุนแรงของรัฐ เพื่อรัฐ และโดยรัฐ เป็นการยืนยันว่ารากฐานของรัฐวางอยู่บนความรุนแรง หรือหากกล่าวในภาษาของชิเชค รัฐทั้งหลายล้วนวางอยู่บน ‘อาชญากรรมในระดับรากฐาน’ (founding crime)
ข้างต้นอาจพอเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมรัฐถึงสถาปนาตัวเองเป็นผู้ผูกขาดความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง (ผ่านการอ้างความเป็นประชาธิปไตย) ทั้งนี้ หากอ้างตามกรอบคิดของบรรดามาร์กซิสต์ รัฐก็ (ยัง) เป็นเครื่องมือเหล่าชนชั้นนำ
ทั้งหมดนี้คงพอเป็นเหตุผลตอบได้ว่า ทำไมตลอดการถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ (พฤศจิกายน 2018 – กุมภาพันธ์ 2020) ถึงไม่มีใครหรือองค์กรใดต้องรับผิดชอบกับจำนวนมือที่ถูกตัดไป 5 มือ ดวงตาที่สูญเสียไป 27 ดวง และชีวิตอีก 2 ชีวิต ที่จากไปไม่โดยไม่อาจหวนกลับคืน
อ้างอิง
  • 1.
    Slavoj Zizek. 2008. Violence: Six Sideways Reflections. UK:Profile Books.
  • 2.
    Jacques Derrida. 1992. Force of Law: The “Mystical Foundation of Authority” in Deconstruction and the Possibility of Justice. translated by Mary Quaintance, ed. by Drucilla Cornell, Michael Rosenfeld, and David Gray Carlson. New York: Routledge.
ext: อภิสิทธิ์ เรือนมูล
โฆษณา