28 มิ.ย. 2022 เวลา 15:24 • สุขภาพ
การเดินทางของเท้า (The foot's Journey)
พ่อแม่หลายคนเริ่มจูงลูกไปหาหมอ เพียงเพราะเห็นลูกวิ่งแล้วล้มลุกคลุกคลานบ่อยครั้ง.....ลูกเป็นอะไร????
บ่อยครั้งพ่อแม่จะได้รับคำตอบว่า ลูกคุณเท้าแบน
แล้วทำไมถึง "แบน"?
มาลองดูกันว่า เราเปิดโอกาสเหล่านั้น โอกาสที่ทำให้เด็กเท้าแบนลง มาก/น้อยขนาดไหน
ในวัยทารกแรกเกิด กระดูกทั้งหมดยังคงอยู่ระหว่างการสร้าง ในฝ่าเท้าก็เช่นกัน
ปกติเราจะทราบกันว่ากระดูกในฝ่าเท้าคนเรามีจำนวนทั้งสิ้น 26 ชิ้น แต่ในเด็กทารก มีเพียงแค่ 22 ชิ้นเท่านั้น แล้วก็เรียงตัวกันอยู่ห่าง ๆ มีช่องว่างค่อนข้างกว้างระหว่างกัน ค่อย ๆ เจริญเติบโต พัฒนารูปร่างและความแข็งแรงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น
เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น เริ่มตั้งไข่ เริ่มเดิน ในช่วงอายุราว ๆ 8-18 เดือน แน่นอนว่า....เมื่อเด็กเริ่มเดินก้าวแรก เท้าของเด็กแบน หรือเราอาจสังเกตเห็นว่า ปลายเท้าหมุนเข้า เพราะความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเอ็นยึดกระดูกยังอยู่ระหว่างการพัฒนา
เมื่อเด็กอายุประมาณ 3 ปี จากภาพด้านบน เราจะเห็นว่าปริมาณของกระดูกมีเพิ่มขึ้นจาก 22 ชิ้นไปเป็น 45 ชิ้น ที่ยังไม่เชื่อมต่อกัน และยังไม่เป็นรูปลักษณ์สุดท้าย พร้อมกันนี้ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเอ็นยึดกระดูกก็ค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ เพื่อรองรับโครงสร้างของเท้าที่แท้จริง เหมาะสมกับการรับน้ำหนักตัวในกิจกรรมต่าง ๆ
แล้วเมื่อไหร่ล่ะ....ที่โครงสร้างของเท้าจะเป็นโครงสร้างที่อยู่ตัว มีกระดูก 26 ชิ้น ฟอร์มตัวเป็นรูปเท้าที่ควรจะเป็น?
การศึกษาวิจัยหลาย ๆ งาน ระบุระยะเวลาที่เท้าเริ่มมีการพัฒนาโค้งของฝ่าเท้า (Arches of foot) ที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ 2 ปี – 6 ปี หรือ อาจถึงอายุ 10 ปี (Fixsen1998; Hefti and Brunner 1999; Stavlas et al. 2005; Volpon 1994)
Mauch (2007) พบว่า โค้งของฝ่าเท้านั้น เริ่มพัฒนาตั้งแต่เด็กยังเล็ก ๆ แต่ในช่วงอายุ 5-6 ปีนั้น โค้งของฝ่าเท้าพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ในอัตราเร่งที่ลดลงจนกระทั่งอายุประมาณ 12-13 ปี ช่วงอายุนี้กระดูกเท้าพัฒนาโครงสร้างได้เต็มที่ มีกระดูก จำนวน 26 ชิ้น เชื่อมต่อกันได้เหมือนเท้าของผู้ใหญ่ แต่การเจริญเติบโตของกระดูกยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งอายุประมาณ 20 ปี
แล้วทำอย่างไรล่ะ ที่จะช่วยให้เท้าของเด็ก เจริญเติบโตได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาโค้งของฝ่าเท้า ได้แก่ พันธุกรรม น้ำหนักตัว กิจกรรมทางกาย และ "รองเท้า"
หลายประเทศหันมาใส่ใจกับรองเท้าที่เด็กใส่ รวมถึงกระตุ้นพัฒนาการของเท้าผ่านกิจกรรมเท้าเปล่า (Barefoot activities)
รองเท้าสำหรับเด็ก ๆ ที่แนะนำ
  • ส่งเสริมความยืดหยุ่นของเท้าโดยให้มีการเคลื่อนไหวบ่อย ๆ
  • ให้ยืน เดินเท้าเปล่า เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและเอ็นที่อยู่ใต้ฝ่าเท้า
  • ตรวจสอบขนาดของเท้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  • เปลี่ยนรองเท้าให้พอดีกับเท้า ทั้งด้านยาวและด้านกว้าง ไม่ใส่รองเท้าคับเกินไป
  • ไม่ควรเลือกใช้รองเท้าแข็ง พื้นรองเท้าควรมีความยืดหยุ่นมากเพียงพอ
  • บริเวณส้นรองเท้าควรโอบรับกับส้นเท้าเพื่อป้องกันการลื่นไถล
แล้วเท้าแบน (Flat foot) ล่ะ
เท้าเเบน หากไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม มักมาจากปัจจัยภายนอก และส่วนใหญ่มักมาจากรองเท้า ทำให้โค้งของฝ่าเท้า โดยเฉพาะด้านใน พัฒนาตัวเองไม่ได้อย่างเต็มที่ ถ้าเด็กยังไม่มีอาการปวดฝ่าเท้า ลองพาเด็กออกกำลังกาย วิ่งเล่นด้วยเท้าเปล่า เพื่อฝึกให้กล้ามเนื้อและเอ็นใต้ฝ่าเท้าแข็งแรงมากขึ้น
โฆษณา