1 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
Nice to meet you Mr. CKD: มาทำความรู้จัก”โรคไตเรื้อรัง”กัน
สถานการณ์โรคไตเรื้อรังในประเทศ ณ ปัจจุบัน พบว่า มีความชุกของผู้ป่วยอยู่ที่ 17.5% หรือกล่าวง่าย ๆ โดยประมาณ คือ คนไทยทุก ๆ 6 คน จะมีคนเป็นโรคไตเรื้อรังอยู่ 1 คน เราเดินไปตามท้องถนน เจอคน 6 คน จะพบว่ามีคนเป็นโรคไตเรื้อรังอยู่ 1 คนนั่นเอง นับว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขบ้านเราที่สำคัญเลยทีเดียว
โรคไตเรื้อรังและโรคไตวายเฉียบพลัน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
สำหรับ โรคไตเรื้อรังนั้น (CKD: Chronic Kidney Disease) หมายถึง การที่”ไตสูญเสียการทำงานอย่างถาวร” แบบค่อยเป็นค่อยไป และ/หรือ มี ปัสสาวะผิดปกติ/ ภาพรังสีไตผิดปกติ
ส่วนโรคไตวายเฉียบพลัน (AKI: Acute Kidney Injury) หมายถึง การที่ไตสูญเสียการทำงาน อย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาอันสั้น โดยทั่วไปไตสามารถ กลับมาทำงานเป็นปกติได้ อย่างไรก็ตามถ้าไตไม่ฟื้นกลับมาเป็นปกติ ก็จะดำเนินโรคกลายเป็นโรคไตเรื้อรังในที่สุด
โรคไตเรื้อรัง vs. โรคไตวายเฉียบพลัน
ไตมีหน้าที่อะไรต่อร่างกายมนุษย์
ปกติไตมีหน้าที่หลัก ๆ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การกำจัดของเสีย 2) การควบคุมสมดุลน้ำ เกลือแร่ ควบคุมความดันโลหิต และ 3) สร้างฮอร์โมน เกี่ยวกับการสร้างเม็ดเลือด การสร้างวิตามินดี และฮอร์โมนเกี่ยวกับแรงดันเลือด ดังนั้นเวลาเป็นโรคไตเรื้อรัง ย่อมส่งผลต่อการทำงานหลักทั้ง 3 ด้าน ไม่มากก็น้อย แตกต่างกันตามสาเหตุและความรุนแรงของโรค
หน้าที่ของไต
โรคไตเรื้อรังวินิจฉัยอย่างไร
การวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังนั้น เป็นไปดังความหมายของโรค กล่าวคือ การที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างถาวร แบบค่อยเป็นค่อยไป ตามคำนิยามนี้ จะดูค่าการทำงานไต หรือเรียกว่า อัตราการกรองของไต หรือภาษาอังกฤษ คือ GFR (Glomerular Filtration Rate) ซึ่งจะมีค่าน้อยกว่า 60 ซีซีต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวร่างกาย 1.73 ตารางเมตร และเป็นต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือน
ภาพแสดงระยะความรุนแรงของโรคไตเรื้อรัง โดยแบ่งเป็น 5 ระยะตามอัตราการกรองของไตหรือค่าการทำงาน eGFR
สำหรับอีกนิยามหนึ่งของโรคไต คือ การมีปัสสาวะผิดปกติ หรือภาพรังสีไตผิดปกติ ซึ่งเป็นต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือน โดยที่อัตราการกรองไตอาจมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ก็ถือว่าเป็นโรคไตได้
จากนิยามเบื้องต้นของโรคไตเรื้อรังดังกล่าว คน ๆ หนึ่งจะเป็นโรคไตเรื้อรัง อาจตรวจเลือดดูค่าการทำงานไตแล้วพบว่า อัตราการกรองไตน้อยกว่า 60 ซีซีต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวร่างกาย 1.73 ตารางเมตร หรือ ตรวจปัสสาวะพบว่ามีเม็ดเลือดแดงออกมาหรือมีภาวะไข่ขาวรั่วออกมา หรือตรวจภาพรังสีหรืออัลตราซาวด์ไต พบว่ามีความผิดปกติ ซึ่งเหล่านี้ เป็นมานานเกิน 3 เดือนนั่นเอง
ดังนั้นเวลาจะตรวจหาโรคไตเรื้อรัง อย่างน้อย ๆ ควรได้รับการเจาะเลือด ในที่นี้คือ ตรวจหาค่าครีอะตินีน (serum creatinine) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงระดับของเสียในร่างกาย และนำไปคำนวณหาค่าการทำงานไต แปลผลออกมาเป็นอัตราการกรองไต นอกจากนี้ควรตรวจปัสสาวะ (urinalysis) เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ส่วนการตรวจทางภาพรังสีหรืออัลตราซาวด์ไต อาจพิจารณาทำเป็นราย ๆ ไปในรายที่สงสัย
ภาพแสดงผลการตรวจเลือดหาค่าครีอะตินีน และการแสดงผลค่าการทำงานไต
ภาพแสดงผลการตรวจเลือดพบว่าค่าครีอะตินีนสูงผิดปกติ และคำนวณค่าการทำงานไตจากครีอะตินีน พบว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 5
แล้วใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองหาโรคไตเรื้อรัง
แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ คนที่มีสัญญาณเตือนของโรคไตเรื้อรัง และ กลุ่มที่สอง คือ คนที่มีความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรัง
สัญญาณเตือนของโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ บวมบริเวณขาสองข้างหรือใบหน้า มมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มีความดันโลหิตสูง มีภาวะโลหิตจาง อ่อนเพลีย ซีด ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะกลางคืน มากกว่า 1 ครั้งขึ้นไป ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะขัดไม่พุ่ง ปัสสาวะออกน้อยหรือออกมากเกิน อาการคัน ตะคริว อาการปวดสีข้าง อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นโรคไตระยะเริ่มแรกนั้น มักไม่แสดงอาการอะไรเลย ดังนั้นอย่าประมาท
ความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรังมีอะไรบ้าง
คนที่มีความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ คนที่โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เคยมีประวัติเป็นโรคไตเฉียบพลันมาก่อน มีอายุมากกว่า 60 ปี สูบบุหรี่ อ้วน ใช้ยาแก้ปวดมานานโดยเฉพาะยาเอ็นเสดหรือยาชุดแก้ปวด มีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ มีภาวะต่อมลูกหมากโต โรคไตอักเสบ การติดเชื้อปัสสาวะบ่อยครั้ง ครอบครัวมีโรคพันธุกรรมเกี่ยวกับโรคไต การใช้สมุนไพรบางประเภท และการรับประทานอาหารเค็มติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
จะเห็นได้ว่าโรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขในระดับประเทศ ถ้าเรามีอาการต้องสงสัยของโรคไตเรื้อรัง หรือมีความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรังตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ขอได้อย่าได้ประมาท ให้ไปตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เพื่อคัดกรองโรคไตเรื้อรัง ถ้าตรวจพบเร็ว จะได้รีบค้นหาสาเหตุและรักษา รวมทั้งดูแลเพื่อชะลอมิให้ไตเสื่อมลง จนต้องฟอกไตในที่สุด
แล้วคนทั่วไปที่ไม่มีสัญญาณเตือนหรือความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรังต้องทำอย่างไร
แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำในการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในกลุ่มคนที่ไม่มีอาการหรือความเสี่ยงที่ชัดเจน ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคไตในระดับนานาชาติ พยายามผลักดันให้มีการคัดกรองโรคไตเรื้อรังให้แพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากการตรวจพบโรคไตเรื้อรังในระยะแรกเริ่มนั้น สามารถให้การรักษาและชะลอไตเสื่อมได้ดีมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา
ดังนั้นแล้ว แม้ว่าเราจะปกติดี ไม่มีอาการ และไม่มีความเสี่ยงของโรคไตเรื้อรัง อย่างน้อยควรได้รับการตรวจค่าการทำงานไตและตรวจปัสสาวะเป็นระยะ ๆ ถ้าพบว่าเป็นโรคไตเรื้อรังจะได้รับการตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต และควรหันมาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพไต ด้วยการเลือกรับประทานอาหารฟ ลดหวาน มัน เค็ม และหันมาออกกำลังกายมากขึ้นกันดูครับ
เอกสารอ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา