17 มิ.ย. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
ปล่อยให้ตัวเองท้องผูก ระวังจะเป็นโรคไต
ภาวะท้องผูกเป็นภาวะที่พบได้บ่อย พบว่าประชากรทั่วไป ราว30% ประสบปัญหาภาวะท้องผูกอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต
ภาวะท้องผูกเรื้อรังทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตแย่ลง นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยา พบว่าภาวะท้องผูกเรื้อรัง อาจสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเหลือ เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร (gut microbiota) ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย และทำให้หลอดเลือดต่าง ๆ รวมทั้งหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้
นอกจากนี้แล้วยังมีการศึกษาวิจัยตามมาอีกหลายงานบ่งชี้ว่าภาวะท้องผูกอาจสัมพันธ์กับโรคไตเรื้อรัง
เมื่อปี ค.ศ. 2017 มีการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร JASN เกี่ยวกับภาวะท้องผูกและอุบัติการณ์ของโรคไตเรื้อรัง งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยทางระบาดวิทยาในประเทศสหรัฐอเมริกา
มีผู้ป่วยในงานวิจัยนี้จำนวนมากถึง 3.5 ล้านคน อายุเฉลี่ยราว 60 ปี (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของอายุเท่ากับ 14.1 ปี) เป็นโรคความดัน 59% เป็นโรคเบาหวาน 24% ติดตามการเกิดโรคไตเรื้อรัง การเกิดโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย และการลดลงของการทำงานไต และดูว่าภาวะท้องผูกเรื้อรังนั้นเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องหรือไม่
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกเรื้อรังสัมพันธ์กับอุบัติการณ์การเกิดโรคไตเรื้อรัง สูงขึ้น 13% โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย สูงขึ้น 9% และพบว่ามีการลดลงของการทำงานไต เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่มีโรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ภาวะท้องผูกเรื้อรังที่รุนแรงมากขึ้นยังสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคไตที่เพิ่มขึ้นด้วย
แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ระหว่างภาวะท้องผูกเรื้อรังและการเกิดโรคไตเรื้อรังดังกล่าว งานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของรูปแบบงานวิจัย ยังไม่อาจบ่งชี้ต้นเหตุว่าทำไมท้องผูกจึงทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
จากผลงานวิจัยข้างต้น แม้ยังไม่สามารถฟันธงได้ชัดอย่างเป็นเหตุเป็นผลของภาวะท้องผูกกับโรคไตเรื้อรัง แต่ผลดังกล่าวสะท้อนถึงแนวโน้มว่าภาวะท้องผูกเองนั้น อาจส่งผลต่อการทำงานไตที่ไม่ดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ดังนั้นแล้ว ใครที่ยังไม่เป็นโรคไต และมีอาการท้องผูก ควรหาทางแก้ไข ซึ่งเบื้องต้นทำได้โดย ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักหรือผลไม้ หรืออาจรับประทานน้ำลูกพรุนเข้มข้น ขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ออกกำลังกาย
ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลังปรับพฤติกรรม อาจพิจารณาใช้ยาถ่ายยาระบายในช่วงสั้น ๆ ได้ ถ้าต้องใช้ระยะยาว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
อย่าปล่อยให้ตัวเองมีภาวะท้องผูกเรื้อรัง จนโรคไตมาเคาะประตูถามหาครับ
เอกสารอ้างอิง
-Keiichi Sumida, Miklos Z. Molnar, Praveen K. Potukuchi, Fridtjof Thomas, Jun Ling Lu, Kunihiro Matsushita, Kunihiro Yamagata, Kamyar Kalantar-Zadeh and Csaba P. Kovesdy, JASN April 2017, 28 (4) 1248-1258; DOI: https://doi.org/10.1681/ASN.2016060656
โฆษณา