6 ก.ค. 2022 เวลา 02:50 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Everything Everywhere All at Once เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวปัญหาภายในครอบครัวชาวจีนในอเมริกา ผสม Sci-Fi, action, แฟนตาซีแบบแปลกประหลาดและปรัชญาชีวิตได้อย่างกลมกล่อม ซึ่งไม่น่าจะหาเรื่องไหนมาเทียบได้อีกในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน มิเชล โหย่ว แสดงเป็นเอเวอลีน หวัง ได้สมบทบาท ดูแล้วเชื่อสนิทใจว่าหล่อนคือผู้หญิงวัยกลางคนที่ต้องรับมือกับสารพันปัญหารุมเร้าจนแทบกลายเป็นมนุษย์ป้าในสายตาของสามีและลูกสาวไปแล้ว
หนังเรื่องนี้ผมชอบทั้งตัวละคร การดำเนินเรื่องและประเด็นสำคัญที่ผู้สร้างต้องการสื่อ คือชอบทั้งหมดของภาพยนตร์เลย ตัวละครหลักทั้งครอบครัวตระกูลหวังและเจ้าหน้าที่สรรพากรมีบุคลิกและอุปนิสัยของตนที่เด่นชัด เหมาะสม เข้ากับวัยและสถานภาพ การดำเนินเรื่องที่ผูกโยงพหุจักรวาลเข้าด้วยกันโดยที่เรื่องราวหลักยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงตอนสำคัญแล้วค่อยคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งฉากการต่อสู้ระหว่างนั้นดูแล้วไม่ผิดหวังแน่นอน
ฉะนั้นผมคงต้องยกให้เรื่องนี้ดีที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ที่ผมชอบ
สำหรับภาพยนตร์หลายเรื่องที่ผมเคยดู ผมชอบสองเรื่อง คือ Constantine (2005) กับไตรภาค The Matrix และ The Animatrix ซึ่งทั้งสองเรื่องผมไม่ได้ชอบทั้งหมดของภาพยนตร์เหมือนกับเรื่องนี้ เรื่องแรกผมชอบตัวละครจอห์น คอนสแตนติน ที่ประสบการณ์ชีวิตหล่อหลอมให้เขาแข็งกร้าว ช่างแดกดันประชดประชัน และที่สำคัญคือเขาทำดีหวังผลเพราะอยากหนีจากปมปัญหาของตนในอดีต ทั้งที่ตัวตนของเขาเป็นคนจิตใจดี ต้องยกความดีให้คีอานู รีล์ฟ ที่ทำให้จอห์นทั้งเท่ กวนประสาทและน่าเห็นอกเห็นใจ
ขณะที่เรื่องราวซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ แบบคริสต์จ๋า ๆ จนนั้นไม่ได้ดึงดูดใจผมมากนัก หลายคนให้นิยามมันว่าเป็นหนังคัลท์ (cult; หนังที่สร้างอย่างเชิดชูหรืออุทิศให้กับบางเรื่อง บางประเด็นอย่างถึงที่สุด) เชื่อว่าบางคนดูรอบแรกแล้วงง ไม่เข้าใจเรื่องราว ผมดูรอบแรกก็ไม่เข้าใจทั้งหมด ต้องดูอีกรอบ แต่ว่าผมชอบนะ ทั้งมุมมองเรื่องนรกกับสวรรค์ พวกครึ่งภพและ “สิ่งที่ฆ่าบุตรแห่งพระเจ้าจะให้กำเนิดบุตรแห่งซาตาน” มันแฟนตาซีมาก
ส่วน The Matrix Trilogy นั้นผมชอบความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของสงครามระหว่างจักรกลกับมนุษย์กลุ่มเล็ก ๆ และโปรแกรมร้าย ๆ ของเหล่าจักรกล มีปรัชญาสอดแทรกอยู่มากมาย แง่มุมต่าง ๆ ของเรื่องก็ชวนให้นำมาขบคิด อภิปรายถกเถียงกันได้อย่างไม่รู้เบื่อ แต่ผมกลับไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจนีโอหรือตัวละครอื่นมากนัก ผมชื่นชอบสมิธเสียมากกว่าด้วยซ้ำ โปรแกรมอะไรหนอช่างดำมืดถึงก้นบึ้งจิตใจได้ขนาดนั้น
หลังจากอารัมภบทมามากแล้ว ก็ได้เวลาเข้าสู่เนื้อหา
⚠️ คำเตือน ⚠️ บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ Everything Everywhere All at Once หากพร้อมแล้วเชิญทุกท่านอ่านได้
ประเด็นสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้คือปัญหาภายในครอบครัวซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว เอเวอลีน แม่บ้านที่ขุ่นข้องหมองใจเกือบตลอดเวลา หล่อนรู้สึกว่าเวม่อนสามีช่างไม่เอาไหน น่าจะช่วยหล่อนดูแลบ้านและกิจการร้านซักผ้าได้มากกว่านี้ ส่วนจอยลูกสาวก็อ้วนขึ้นและมีแฟนเป็นผู้หญิง อย่างหลังถ้าอากงหรือปู่รู้เข้าต้องบ้านแตกแน่
ไหนจะมีกองใบเสร็จจำนวนมหาศาลที่ต้องจัดหมวดหมู่รายรับรายจ่ายของร้านหรือส่วนตัวเพื่อไม่ให้โดนสรรพากรเรียกเอาผิดเรื่องภาษี แล้ววันนี้อากงก็กำลังจะเดินทางมาและที่ร้านต้องจัดงานฉลองวันตรุษจีนอีก
ทว่าเมื่อเอเวอลีน เวม่อนและอากงไปที่สรรพากร แล้วหล่อนติดต่อกับแอลฟ่าเวม่อนได้ (เวม่อนจากจักรวาลแอลฟ่า) ความฉิบหายวายป่วนก็เริ่มต้น
เอเวอลีนรวมถึงผู้ชมจะได้รับรู้ว่า จักรวาลที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่นั้นไม่ได้มีเพียงหนึ่ง ยังมีอีกหลายจักรวาลที่ตัวเราเองมีชีวิตและมีทักษะแตกต่างออกไป ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดสินใจบางอย่างในอดีตที่ต่างออกไปจากการรับรู้ในปัจจุบัน เช่นกรณีของเอเวอลีนคนนี้ที่มีตัวเองในจักรวาลอื่น ๆ มากมาย ทั้งแม่ครัว ดาราระดับซูเปอร์สตาร์ที่ช่ำชองวิทยายุทธ นักร้องโอเปร่า แม้กระทั่งเป็นตุ๊กตาหรือก้อนหิน
เอเวอลีนนักร้องไชนิสโอเปร่า
การที่แต่ละคนมีตัวตนในปัจจุบันที่แตกต่างออกไปนั้น อ้างอิงตามสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเวลาและอวกาศ เรียกว่า ประวัติศาสตร์ทางเลือก (alternative history hypothesis) ซึ่งเส้นทางของประวัติศาสตร์จะแยกออกในตำแหน่งที่เกิดเหตุการสำคัญขึ้น เป็นสมมติฐานที่มีมานานแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Back to the Future ของสตีเวน สปีลเบิร์ก ก็สร้างขึ้นบนพื้นฐานของแนวคิดนี้
ความสนุกของเรื่องนี้คือคน ๆ หนึ่งสามารถเชื่อมต่อกับตนเองในจักรวาลอื่นเพื่อดึงความสามารถที่ต้องการมาใช้ได้ ผ่านการสวมอุปกรณ์คล้ายหูฟังและทำตามเงื่อนไขที่ศูนย์ควบคุมคำนวณและบอก ซึ่งตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นเงื่อนไขแปลกแล้วแปลกอีกโผล่ออกมามากมาย
แอลฟ่าเวม่อนบอกเอเวอลีนว่า หล่อนต้องเชื่อมต่อกับเอเวอลีนคนอื่น ๆ เพื่อดึงความสามารถมาต่อสู้ปกป้องจักรวาลนี้ไว้จากจอมมารตนหนึ่งที่เข้าสิงใครก็ได้ ดูเหมือนมันต้องการทำลายจักรวาลอื่น ๆ และตัวเอเวอลีนเองในทุก ๆ จักรวาล และไม่มีใครรู้ว่ามันต้องการอะไรแต่หากไม่หยุดมัน จักรวาลอื่นที่เหลืออยู่ต้องพังพินาศแน่นอน
หลังจากเอเวอลีนได้เห็นตนเองในจักรวาลหนึ่งที่หล่อนในวัยสาวตัดขาดจากเวม่อน หล่อนฝึกวิทยายุทธและสำเร็จไม้ตายพลังปราณนิ้วก้อยพิฆาต (ชื่อนี้ผมตั้งให้เอง) จนได้เป็นดาราบู๊ที่โด่งดังระดับซูเปอร์สตาร์แถวหน้าของวงการ หล่อนติดใจและอยากใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นแทนจนเวม่อนแอลฟ่าต้องเรียกสติหล่อนกลับมา
เอเวอลีนเริ่มเสียดายที่ตัวเองเลือกเวม่อนเป็นคู่ชีวิต ในมุมนี้หลายคนน่าจะเข้าถึงความรู้สึกของเอเวอลีน ประมาณว่าทำไมวันนั้นไม่เลือกทำแบบนี้นะ ชีวิตจะได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เรื่องนี้มีมุมมองน่าสนใจอยู่สองประเด็น คือชีวิตในทุกทางเลือกของเราจะมีสองด้านเสมอ และอาจมีหลายสิ่งสูญสลายไปเพื่อให้ปัจจุบันเป็นครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกใช้ชีวิตไปด้วยกันได้
หนังฉายภาพของประเด็นแรกชัดเจน เอเวอลีนในจักรวาลคู่ขนานที่ไม่เอาเวม่อน ไม่เลือกมีครอบครัวนั้นสำเร็จวิทยายุทธ ได้เป็นนักร้องโอเปร่า ได้เป็นแม่ครัวในภัตตาคาร แต่หลังจากเอเวอลีนโดดข้ามจักรวาลบ่อย ๆ และจอมมารโจบุ โทบากิเบิกเนตรให้หล่อนมองเห็นในทุก ๆ พหุจักรวาล ทุก ๆ ความเป็นไปได้แล้ว ก็ดูเหมือนหล่อนจะได้รับรู้ว่า
นอกจากด้านที่ชีวิตประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแล้ว มันก็ยังมีความทุกข์และความอึดอัดอยู่ดี เช่นหลังการแยกทางจากเวม่อนเธอก็อยู่เป็นโสดมาตลอด หรือแม้กระทั่งในจักรวาลแอลฟ่าที่เอเวอลีนซึ่งเป็นอัจฉริยะ คิดค้นระบบกระโดดข้ามจักรวาลและได้อยู่ร่วมกับเวม่อน สร้างครอบครัว อยู่ร่วมกัน ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงานและความรัก แต่ท้ายที่สุดความคาดหวังในตัวลูกสาวและการเคี่ยวเข็ญลูกสาวนั่นเองกลับสร้างปัญหาระดับพหุจักรวาล
เพราะจอมมารโจบุ โทมากิ ก็คือลูกสาวของเอเวอลีนในจักรวาลแอลฟ่าที่หล่อนฝึกฝนให้ก้าวข้ามจักรวาลมากเกินไปนั่นเอง
โจบุ โทบากิผู้มีสไตล์ที่สุดในเรื่อง
หากมองกลับกัน เมื่อชายหญิงตกลงปลงใจแต่งงานและสร้างครอบครัวด้วยกันนั้น เท่ากับว่าทั้งสองคนละทิ้งหลายอย่างไป เช่นหนทางที่ตนเองจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วในหน้าที่การงาน เพื่อให้เวลากับคู่ชีวิตและลูก เลี้ยงดูลูก ประคับประคองครอบครัวและสายสัมพันธ์
ซึ่งหากเทียบกันแล้วถ้าเอาเวลา พละกำลัง สติปัญญา ฯลฯ ลงไปทุ่มกับหน้าที่การงาน ก็คงเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความมั่งคั่งได้อย่างไม่ยากเย็น โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นฝ่ายอุ้มท้องและเลี้ยงดูให้นมลูกนั้นต้องถือว่าเสียสละอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ดี ชีวิตจริงไม่มีอะไรการันตีความสำเร็จ ไม่ว่าจะทุ่มเททั้งด้านหน้าที่การงาน การเงินและความรัก อีกทั้งใจคนเรามักมีนิสัยช่างเปรียบเทียบ พอเห็นคนอื่นมีสิ่งที่ดีกว่า มากกว่า หรูหราสวยงามกว่าก็มักมองข้ามคุณค่าของสิ่งที่ตนมีอย่างง่ายดาย บ่อยครั้งเราจึงรู้สึกว่า “ปลาที่หลุดจากเบ็ดนั้นตัวใหญ่มาก”
และนี่คือสิ่งที่หนังอยากบอกคุณเมื่อรู้สึกแบบนั้น รู้สึกว่า รู้อะไรไม่สู้รู้อย่างนี้
Every rejection, every disappointment, had led you here to this moment. Don’t let anything distract you from it.
Movie official trailer
ผมแปลแบบนี้
ทุกการปฏิเสธและความผิดหวังล้วนชักนำคุณมาถึงตรงนี้ ที่ปัจจุบันขณะ (ฉะนั้น) อย่าให้อะไรเบี่ยงหรือแกว่งคุณ (ออกจากปัจจุบันขณะ)
ซึ่ง “อะไร” ที่ว่านั้นย่อมรวมถึงความรู้สึกเสียดายและการเปรียบเทียบ
จงดูแลปัจจุบันให้ดี แล้วอนาคตจะดูแลตัวมันเอง
ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์ที่บั่นทอนสุขภาพจิตด้วย หนังนำเสนอประเด็นนี้ชัดเจนมาก อากงอยากได้ลูกชายแต่ได้ลูกสาวคือเอเวอลีน พอหล่อนโตเป็นวัยรุ่นรักกับเวม่อนอากงก็โกรธจนตัดพ่อตัดลูกและไม่รั้งหากหล่อนจะออกจากบ้านไปอยู่กับเวม่อน หลังจากนั้นหล่อนมีกิจการซักผ้า มีครอบครัวและมีจอยที่เป็นลูกสาว หล่อนก็เลี้ยงดูด้วยความกลัวว่าสักวันจอยจะเป็นอย่างเธอ คือหัวดื้อและไม่เอาไหน
เอเวอลีนคาดหวังในตัวจอยมาก ซึ่งหล่อนก็รู้และทุกข์ใจที่ในสายตาของแม่ ตนเป็นคนไม่เอาไหน เป็นอย่างที่แม่คาดหวังไม่ได้สักที ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเอเวอลีนที่ทำให้อากงผิดหวัง และการที่ความรักกับเวม่อนจืดจางลงจนเขาคิดจะหย่ากับเธอนั้น อาจมีสาเหตุมาจากที่เธอรู้สึกผิดหวังกับลูก กับชีวิตครอบครัวและเหนื่อยกับกิจการร้านซักผ้า รวม ๆ กันจนตัวเองเปลี่ยนไปเป็นคนจุกจิกจู้จี้ ไม่พอใจไปเสียเกือบทุกเรื่อง และเตรียมจะวิวัฒนาการเป็นมนุษย์ป้า
ฉะนั้นหากจะมีปัญหาใดสำคัญที่สุด นั่นคือปัญหาภายในครอบครัว เหมือนที่อากงมีปัญหากับเอเวอลีน พอเอเวอลีนแต่งงานมีลูกสาว หล่อนก็มีปัญหากับลูกสาวอีก และหากลูกสาวคนนี้มีครอบครัวก็คงจะสืบทอดปัญหาต่อไปเช่นเดียวกัน
และปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่ใช่เรื่องอื่นไกล ทว่าคือคนสองคนที่มีปัญหากันไม่เปิดใจพูดคุยกัน
เหมือนที่ช่วงท้ายของไคลแมกซ์ในเรื่อง พอเอเวอลีนได้บอกอากงว่าเธอเองก็ผิดหวังในตัวเขา คนเป็นพ่อไม่ควรตัดพ่อตัดลูกง่าย ๆ และปล่อยให้ตนออกจากบ้าน ออกจากครอบครัวไปอยู่กับเวม่อนตามลำพัง และสาธยายความรู้สึกในใจทั้งหมดออกมาทั้งในมุมของลูกสาวที่ทำให้พ่อผิดหวัง รวมทั้งในมุมของแม่ที่คาดหวังกับลูกสาวว่าอย่างน้อยจะไม่เจริญรอยตามเธอ
“ถึงแม้พ่อจะโกรธและผิดหวังในตัวฉันก็ช่างปะไร เพราะฉันภูมิใจที่ได้มีครอบครัว ได้อยู่กับเวม่อนที่อดทน รักและจริงใจกับฉัน ได้ลูกสาวที่แม้จะไม่เอาไหนและหัวดื้อ แต่หล่อนก็เหมือนกับฉัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีคนที่จิตใจดีและรักเธอมาอยู่เคียงข้าง นั่นคือเบ็คกี้แฟนสาว และฉันจะไม่ปล่อยให้หล่อนจากไปไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น”
ซึ่งดูเหมือนอากงก็เข้าใจความรู้สึกของลูกสาวและเสียใจในการกระทำของตน สุดท้ายจึงช่วยเอเวอลีนอีกแรงหนึ่ง
หินเอเวอลีน
เรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือทำไมเอเวอลีนในจักรวาลนี้จึงพิเศษกว่าคนอื่น ๆ ที่แอลฟ่าเวม่อนพบเจอมา และท้ายที่สุดทำไมเธอจึงเอาชนะโจบุ โทบากิในร่างของจอยได้
ในหนังบอกว่าเธอมีจุดเชื่อมต่อมากมาย เส้นทางชีวิตของเธอมีความเป็นไปได้ที่หลากหลาย ผมตีความว่าเธอในจักรวาลนี้มีศักยภาพแฝงอยู่และในเมื่อเลือกจะมีครอบครัว เป็นแม่บ้านดูแลลูกและร้านซักรีด เธอก็ไม่ได้ดึงพลังเหล่านั้นออกมาใช้เลย แตกต่างจากเธอในจักรวาลอื่น ๆ ที่อาจจะดึงมันออกมาใช้มากบ้างน้อยบ้างก็ตาม เป็นไปได้ว่านั่นทำให้จุดเชื่อมต่อลดลง
หากเป็นเหตุผลนี้จริง ก็สนับสนุนเรื่องที่ว่าเมื่อใครคนหนึ่งเลือกมีครอบครัวแล้ว เขาหรือเธอย่อมทุ่มเทแรงกายแรงใจและทุก ๆ อย่างให้กับคนรักที่อยู่ข้างกายและลูก มากกว่าทุ่มเทให้กับงาน กับความถนัดหรือสิ่งที่ตนหลงใหล
การมีศักยภาพแฝงซึ่งไม่ได้ใช้งานเลยเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ช่วยให้เอเวอลีนสู้กับโจบุได้อย่างสูสีในตอนต้น ทว่าสิ่งที่เป็นเข็มทิศชี้ทางที่ถูกให้เธอนั้นคือความเป็นแม่ แม่ที่รักลูกและบอกกับตัวเองว่าจะต้องเข้าใจว่าจอยหรือโจบุกำลังคิดอะไรอยู่ ถึงแม้ตัวเองจะต้องตกอยู่ในสภาวะเดียวกันก็ตาม แต่ขอเข้าใจให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เธอเลือกและยึดมั่นมาโดยตลอด มันไม่ใช่สิ่งที่ยิ่งใหญ่หรือเลิศเลอหากจะเทียบกับความฝันหรืออุดมการทั้งหลาย ออกจะเรียบง่ายด้วยซ้ำ
เธอแค่ต้องการสร้างครอบครัวและประคับประคองมันไปให้ตลอดรอดฝั่ง ให้สมาชิกทุกคนมีความสุข
และสิ่งที่ช่วยให้เอเวอลีนชนะโจบุได้ก็คือความหวังและความรักจากเวม่อน
ในตอนที่กองกำลังของอากง โจบุและเอเวอลีนร่ำ ๆ จะปะทะกันนั้น เวม่อนพยายามพูดเตือนสติทุกคน แล้วเอเวอลีนที่สิ้นหวังก็ใช้พลังคล้าย ๆ กับที่โจบุใช้เพื่อให้อีกฝ่ายเห็นความเป็นไปในพหุจักรวาล แต่ดูเหมือนว่าความรู้สึกขณะสัมผัสมือจะดึงให้ทั้งสองมองย้อนกลับไปในอดีตตามมุมมองและความทรงจำของเวม่อน
เธอจึงเห็นว่าเวม่อนมีความสุขแค่ไหนที่ได้อยู่กับตน อีกทั้งยังรักและหวังว่าตนจะมีความสุขด้วย
มองจากมุมนี้เหมือนว่าเอเวอลีนไม่ได้ต่อสู้ด้วยตัวคนเดียว แต่มีสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งจากเวม่อนช่วยค้ำจุนอยู่ ไม่แน่ว่าเวม่อนหรือคนรักของเอเวอลีนในจักรวาลอื่น ๆ อาจไม่ได้เปี่ยมด้วยความรักและความหวังเหมือนเวม่อนคนนี้ก็เป็นได้
ความรัก ความหวังและความสุข คือเคล็ดลับทั้งหมดที่เอเวอลีนใช้เพื่อฝ่ากลุ่มลูกสมุนมากมายจนเข้าถึงตัวโจบุที่ยืนอยู่ต่อหน้าเบเกิล จนกระทั่งท้ายที่สุดเธอก็ใช้อาวุธสุดยอดเพื่อเอาชนะ
“ฉันเป็นแม่แกนะ !”
Mom is always mom.
อากงมองบน เอ๊ยไม่ใช่ !
เรื่องสุดท้ายที่อยากชวนคิดคือนัยยะของสัญลักษณ์ที่ปรากฎ หลังจากดูหนังจบผมเชื่อว่าผู้กำกับแฝงนัยยะต่าง ๆ ไว้เป็นอย่างดี สิ่งที่สะดุดตาผมคือตากลิ้งกับเบเกิล และปราณนิ้วก้อยพิฆาต
หนังเลือกใช้ตากลิ้ง หรือตาตุ๊กตา เป็นสัญลักษณ์แทนความเข้าใจเรื่องราวในโลกหลังจากเอเวอลีนกับเวม่อนพูดคุยกัน ออกมาตรงกันข้ามกับเบเกิล (begle) สีดำที่โจบุสร้างขึ้น
ดวงตามักใช้เป็นสัญลักษณ์ของความรู้แจ้งอยู่แล้ว ทว่าตากลิ้งนี้นอกจากเป็นสื่อแทนความรักของเวม่อนที่มีให้เธอแล้ว สีขาวกับดำน่าจะแทนความหมายอื่นด้วย
ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของแสงสว่างกับความมืด ความรักกับความเกลียดชัง ความสุขและความทุกข์ หรือก็คือความเข้าใจว่าโลกนี้จะประกอบด้วยทั้งสองสิ่งนี้เสมอ คล้ายสัญลักษณ์หยินหยาง
โจบุที่มองผ่านสายตาของตนเองในทุกจักรวาลคู่ขนานนั้นเห็นแต่ความทุกข์ ส่วนหนึ่งอาจเพราะเธอยังผ่านชีวิตมาน้อย ผมมองว่าสาเหตุหลักคือเธอรู้สึกว่าตนเองอยู่เพียงลำพัง ไม่มีใครเข้าใจเธอ
เอเวอลีนเองก็เกือบจะเป็นแบบเดียวกับโจบุหากไม่ได้เวม่อนช่วยเตือนสติว่าชีวิตที่ผ่านมามันไม่ได้แย่ขนาดนั้น
ชีวิตมันก็เป็นประมาณนี้ มีสุขมีทุกข์คละ ๆ กันไป
โจบุตัดสินชีวิตไปแล้วว่ามันเป็นเรื่องไร้ค่า แม้จะมีชั่วขณะดี ๆ แต่สุดท้ายมันก็จะหมดไป ทว่าเวม่อนและเอเวอลีนที่มองโลกอีกแบบหนึ่ง คือไม่ได้ตัดสินชีวิตลงไปอย่างตายตัว อีกทั้งยังเห็นคุณค่าและความหวังของการมีชีวิต
“มันไม่มีกฎตายตัว เราจะทำอะไรก็ได้”
เตรียมใช้ปราณนิ้วก้อยพิฆาต
ส่วนปราณนิ้วก้อยพิฆาต นิ้วก้อยเป็นนิ้วเดียวที่เล็กที่สุดของมือและคงช่วยได้แค่ประคองเมื่อมือและนิ้วอื่นทำงาน แต่ละนิ้วล้วนมีความหมายและเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนความเข้าใจกันโดยทั่วไป ซึ่งสำหรับนิ้วก้อยนั้นเหมาะสมที่สุดเพราะ
เป็นตัวแทนของคำสัญญา และเป็นนิ้วที่ทำให้คนเราดีกัน
ซึ่งท้ายที่สุดสองแม่ลูกก็พูดคุยปรับความเข้าใจกัน
แถมท้ายอีกนิดหนึ่งเรื่องตัวละคร ผมรู้สึกว่าเวม่อนเขาคล้าย ๆ โนบิตะ คือดูซื่อบื้อแต่เป็นคนจิตใจดี
แล้วอากงเนี่ยโดยเฉพาะแอลฟ่าอากง ผมไม่แน่ใจว่าผู้กำกับอยากให้ดูคล้าย ศ. ชาร์ล เซเวีย หรือ Prof. X รึเปล่า หรืออยากให้คนดูนึกถึงนักฟิสิกส์อัจฉริยะด้านจักรวาลวิทยาที่จากโลกนี้ไปแล้วอย่างสตีเฟน ฮอว์กิ้ง
สำหรับอย่างหลังผมว่ามันก็เข้ากับหนังที่เกี่ยวกับพหุจักรวาลอยู่เหมือนกัน
แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหนผมก็ชอบอยู่ดี คือก็เซอไพรส์ตั้งแต่ซิ่งรถเข็นโผล่เข้ามาช่วยตอนแรกแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนยืดตัวขึ้นมาแล้วใช้แขนกลหนีบเอว ขวางไม่ให้เอเวอลีนเข้าถึงตัวโจบุนี่แบบ โว้ว ! ปู่เอางี้จริงดิ๊ !
ผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไร พิมพ์บอกกันบ้างนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา