21 ก.ย. 2021 เวลา 02:30 • ความคิดเห็น
เชื่อว่าทุกคนคงเคยสงสัยและสะกิดใจกับคำกลอนวรรคทองของสุนทรภู่ที่ว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” ทำไมฟังดูเห็นแก่ตัวชอบกล ท่านผู้เป็นปราชญ์และกวีชั้นครูไม่น่าจะแทรกคติสอนใจในลักษณะนี้ลงไปในงานชิ้นเอกที่เป็นเพชรน้ำหนึ่งของตน ก่อนอื่นผมขอยกคำกลอนทั้งหมดนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพของเรื่องราวในตอนนั้นชัดเจนขึ้น
เเล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันเเสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน
บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้เเต่กายตน
เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
เเม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
ทั้งหมดนี้อยู่ในพระอภัยมณี ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก ซึ่งสุดสาครถูกชีเปลือยแย่งไม้เท้าแล้วผลักตกหน้าผาแต่รอดจากความตายและอาจารย์โยคีก็สำแดงฤทธิ์ออกมาช่วย หากมองตามบริบทร่วมกับนิสัยใจคอของโยคีที่บำเพ็ญพรต เป็นอาจารย์ตั้งแต่พ่อ (พระอภัยมณี) จนถึงลูก สั่งสอนศิษย์ให้อยู่ในศีลธรรมอันดีมาตลอด มันคงเป็นจุดด่างพร้อยหากสุนทรภู่จะให้โยคีเสี้ยมสอนสุดสาครในลักษณะเอาตัวรอดแบบคนเห็นแก่ตัว
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตหนึ่งของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ที่ท่านตอบปัญหาที่แฟนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐถามเกี่ยวกับวรรคทองเจ้าปัญหานี้ว่าสุนทรภู่หมายความว่าอย่างไร หรือต้องการให้คนอ่านตีความว่าอย่างไรกันแน่ ท่านสันนิษฐานไว้อย่างน่าสนใจเป็นสองประการ คือหนึ่ง สุนทรภู่เขียนเพราะประชดประชันสังคมในสมัยนั้นที่เต็มไปด้วยคนจำพวก “เอาตัวรอด” หรือ สุนทรภู่เขียนไปตามสมัยนิยมที่ถือสุภาษิตนั้นเป็นคำสอนเป็นของดี ซึ่งเมื่อดูจากชีวประวัติสุนทรภู่ที่ “เอาตัวไม่รอด” เป็นส่วนใหญ่ท่านคึกฤทธิ์ก็เชื่อว่าสุนทรภู่น่าจะเขียนไปตามเหตุผลประการแรก
ข้อสังเกตประการที่สองของท่านคึกฤทธิ์นั้นก็เป็นเรื่องที่น่าคิดไม่แพ้กับข้อแรก เนื่องจากเรามีสำนวนที่เกี่ยวข้องกับเภทภัยที่มาถึงตัวและการเอาตัวรอดอยู่สองอย่าง คือรู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง และความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด แม้จะไม่มีหลักฐานอื่นสนับสนุนแต่ผมก็ขอตั้งสมมติฐานว่า “รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” อาจเป็นการละเล่นกับภาษาและประดิษฐ์ถ้อยคำให้คมคายโดยมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งสองสำนวนนั้น
หากเราเชื่อตามเนื้อเรื่องกับตัวละครโยคีว่าคำกลอนเหล่านั้นเป็นคำสอน มันจะเป็นไปได้หรือว่าโยคีสอนสุดสาครให้รู้รักษาตัวรอดแบบไม่เห็นแก่ตัว ถ้าเป็นแบบนั้นคำ “รู้รักษาตัวรอด” นี้มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่
จากชีวประวัติของสุนทรภู่เราทราบกันดีว่าท่านเป็นพุทธศาสนิกชนและเคยบวชเรียน หากมองจากมุมนี้ก็เป็นไปได้ว่าวรรคทองนี้จะเกี่ยวข้องกับคำสอนสำคัญของศาสนาพุทธเรื่อง “ความไม่ประมาท” ที่มีพุทธศาสนสุภาษิตว่าความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย และ/หรือ “การไม่กระทำชั่ว” ที่เป็นหนึ่งในโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งหากพูดกันอย่างสามัญตามหลักเหตุและผลก็คือไม่ทำสิ่งที่จะสร้างปัญหาให้ตนเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง หรือต้องรู้จักระมัดระวังตนไม่ให้ภัยมาถึงตัว ซึ่งการระวังตัวนี้ไม่ใช่การหนีปัญหาหรือปัดสวะให้พ้นตัวเป็นแน่
เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว คำสอนก็สอดคล้องกลมกลืนกับบทกลอนทั้งหมดก่อนหน้า นั่นคือสอนว่าใจคนหยั่งยากจึงอย่าด่วนเชื่อใจใคร ให้มีตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ต้องรู้จักไตร่ตรองหนักเบาก่อนเจรจา ไม่ว่าตนจะเป็นที่รักหรือที่ชังของใครก็ควรคิดให้รอบคอบก่อนแสดงออกว่าจะเป็นมิตร (รัก) หรือเป็นศัตรู (ชัง) กับใคร
พอจบจากประเด็นรู้รักษาตัวรอดก็มีประเด็นใหม่ขึ้นมาเสียอย่างนั้น ผู้อ่านอาจนึกสงสัยว่าประโยคสุดท้ายเรื่องการเป็นที่รักหรือที่ชังนั้นผมถอดคำประพันธ์จากวรรค “เเม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ” ได้ถูกต้องแล้วหรือ ผมยังยืนยันตามหลักการเดิมนั่นคือบริบทและอุปนิสัยของโยคีที่คงไม่เสี้ยมสอนสุดสาครให้เลือกที่รักมักที่ชัง รักแต่คนที่รักเรา ใครเกลียดเราเราก็เกลียดตอบ จะเห็นได้ว่าการถอดคำประพันธ์จากวรรคเดียวของบทกลอนแบบนี้ให้ความหมายเป็นคนละเรื่องเลย ผมจึงถอดคำประพันธ์รวมกันจากสองวรรค “เเม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา”
ถึงกระนั้นผมก็ขอ “แทงกั๊ก” ไว้หน่อยหนึ่งว่าสุนทรภู่อาจเขียนโดยประชดประชันสังคมหรือชีวิตของตนซึ่งทั้งเป็นที่โปรดปรานของในหลวงรัชกาลที่สองและเป็นที่ชังน้ำหน้าของใครหลายคน ยิ่งไปกว่านั้นจะเป็นการบังเอิญหรือไม่ก็ตาม ใจความของมันยังเทียบเคียงได้กับสุภาษิตอีกบทหนึ่งว่า “คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ” อีกทั้งคำว่าชัง ในพจนานุกรมก็ให้ความหมายเอาไว้ว่า “ไม่รัก” ด้วย หากเรามองในมุมนี้ ก็เป็นไปได้ว่าโยคีเตือนสุดสาครในทางอ้อมว่าใครจะรักหรือชังเราก็ตาม ให้เรามองและรักคนที่รักเรา (ซึ่งมีน้อย) จะดีกว่า ใครไม่รักเราก็แค่ปล่อยเขาผ่านออกไป ไม่ต้องรักหรือหวังดีกับเขาให้มันเกินความจำเป็น
หรือไม่เช่นนั้นก็คือสุนทรภู่เขียนเพื่อเตือนตัวเอง
ซึ่งใจความที่ผมฝอยเสียฟุ้งมามากมายนี้ก็พอจะสอดคล้องกับเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือกวีวัจน์วรรณา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่อธิบายวรรคทองนี้ไว้ในหน้า 104 ไว้อย่างกระชับและครบถ้วนกระบวนความว่า “หากใครทำดีกับเรา เราก็พึงทำดีตอบ หากใครชังเรา เราก็ไม่พึงให้ความรักตอบแทนเขา”
นอกจากนี้ในหนังสือยังถอดความ “รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” เอาไว้ได้สละสลวยด้วยเช่นกัน นั่นคือ วิชาความรู้อาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดใน(การ)ดำรงชีวิต แต่ยังไม่เท่ากับปัญญาที่รู้รักษาตนให้รอดพ้นจากภยันตรายหรือสิ่งชั่วร้ายทั้งปวงได้
ทั้งหมดนี้คือคุณค่าของวรรณคดีที่ผมมองว่าเราควรหาโอกาสอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์บ้าง เพราะนอกจากถ้อยคำจะสวยงามแล้ว เนื้อหาสาระและคติสอนใจหลายอย่างนั้นไม่เคยเก่าเลย เป็นคุณค่าที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย
อ้างอิง
พระอภัยมณี ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์ บทความบนเว็บไซต์สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
กวีวัจน์วรรณนา : วรรคทองในวรรณคดีไทยพร้อมประวัติและคำอธิบาย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา