4 ก.ค. 2022 เวลา 18:26 • ความคิดเห็น
ความกลัวประการแรกของมนุษย์คือ อันตรายต่างๆนานา จึงรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นชุมชนเป็นสังคมชนเผ่าและพัฒนามาเป็นสังคมใหญ่เป็นเมืองเป็นอาณาจักร ความกลัวประการที่สองคือ ความมืดมิดแห่งรัตติกาล แต่เมื่อมนุษย์ได้ค้นพบไฟอันเป็นแสงสว่าง ความมืดแห่งรัตติกาลจึงมิได้น่ากลัวอีกต่อไป ความกลัวประการที่สามคือ ความตาย เมื่อมีมนุษย์คนแรกหมดอายุขัยและมนุษย์คนต่อๆมาก็ล้มหายตายจากกันไปทีละคนสองคน ในความตายนั้นมันคือการพลัดพราดจากกันชั่วนิรันดร์ แท้ที่จริงแล้วมนุษย์มิได้รู้จักและกลัวความตาย แต่มนุษย์กลัวการพลัดพราก
ซึ่งความตายหรือการพลัดพรากนั้น ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ความกลัวก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสัญชาติญาณของมนุษย์เสมอ แต่หากเข้าใจโลก เราจะรู้ว่าความตายหรือการพลัดพรากนี้นมิได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ บุญและกรรมที่เคยกระทำร่วมกันมาจักนำทางให้เราได้พบพานกันอีกครา การจากไปของมนุษย์จึงเป็นเพียงการย้ายที่อยู่ของจิต เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว จิตที่ยังมิหลุดพ้นจึงสร้างรูปหรืออทิสมานกายขึ้นมาในโลกใหม่และดำเนินชีวิตในโลกใหม่นั้นตามบุญและกรรมของตนจนกว่าจะหมดอายุขัยและเวียนว่ายในวัฏสงสารไปเรื่อยๆ
กาลต่อมาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นยังทรงเป็นพระกุมารสิทธัตถะได้มีโอกาศเห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทรงเห็นผู้คนทั้งหลายเป็นทุกข์ จึงทรงออกผนวชเพื่อค้นหาความดับแห่งทุกข์นั้นจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่เกิดไม่ดับ มนุษย์เรานั้นหากเจริญตามหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ก็มีโอกาสบรรลุมรรคผลนิพพานไม่เกิดไม่ดับ หากแม้นยังมิได้มรรคผลแต่เป็นคนดี เมื่อตายไปก็ไปอยู่ในสุคติภูมิ แต่หากเป็นคนชั่วเมื่อตายไปก็ย่อมไปสู่อบายภูมิ ดังนั้นความกลัวที่แท้จริงของมนุษย์ก็คือ กลัวความยากลำบาก
และเรื่องกลัวความยากลำบากนี้ มันก็มีอยู่ในสัญชาติญาณของมนุษย์เรามาตั้งแต่บรรพกาล เมื่อมนุษย์เริ่มสะสมอาหารและมีการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ จนพัฒนามาเป็นสังคมแห่งเกษตรกรรมและปศุสัตว์ แทนการออกหาอาหารและการล่าสัตว์ในยุคแรกเริ่ม จนมาถึงยุคปัจจุบัน มนุษย์เราก็ยังกลัวความยากลำบากอยู่เช่นเดิม การสะสมทรัพย์สินเงินทอง ตรากตรำทำงานหนัก สร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อให้ได้อยู่สุขสบาย ซึ่งหากขยันทำมาหากินแล้วก็มีโอกาสได้เป็นมหาเศรษฐี ไม่ต้องกลัวความยากลำบากอีกต่อไป แต่สำหรับคนที่ไม่ขยันทำมาหากิน ลำบากแน่
มนุษย์เราเมื่อกลัวความยากลำบากแล้ว ขยันทำมาหากิน ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่พึงกระทำ แต่หากกลัวความยากลำบากแล้ว ไปปล้นฆ่าฉกชิงวิ่งราวหรือคดโกงเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นหรือของแผ่นดินมาเป็นของตน ด้วยคิดว่าจะร่ำรวยหรืออยู่อย่างสุขสบายด้วยทางลัด ก็ย่อมจะได้รับความยากลำบากทั้งโลกนี้และโลกหน้า ย่อมตกสู่อบายภูมิทั้งกายและใจ ยิ่งกลัวความทุกข์ยากลำบากมากเท่าใด ก็ต้องทำความดีและปฏิบัติดีจนกว่าจะเป็นอิสระจากบ่วงที่พันธนาการจิตได้สำเร็จ
โฆษณา