6 ก.ค. 2022 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
7 สิ่งที่คาดว่าปัญญาประดิษฐ์สามารถทำได้ในด้านการแพทย์
ปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence, A.I.) เปรียบเสมือนสมองของสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น หุ่นยนต์ เป็นต้น โดยที่ผ่านมามักมีการนำเสนอในภาพยนตร์และนิยายทางวิทยาศาสตร์ เช่น HAL 9000, Skynet, และ JARVIS เป็นต้น
สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น การช่วยบริหารจัดการงานของมนุษย์, สันทนาการ, ไปจนถึงการเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์
ทุกวันนี้ จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ A.I. ได้ออกมาจากภาพยนตร์และหนังสือ โดยถูกนำมาใช้งานมากมาย รวมถึงทางด้านการแพทย์ และแน่นอนว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ แต่กลับกำลังช่วยเหลือมนุษย์ให้วิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ รวมถึงการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การทำนายการแพร่ระบาดของโรค ไปจนถึงการคิดค้นระบบขนส่งยา
ประสิทธิภาพของ A.I. ได้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามามากมาย และช่วยให้เกิดงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การนำ A.I. มาใช้ในด้านการแพทย์ ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก และเทคโนโลยีดังกล่าว ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งไม่เหมือนกับ A.I. ที่ปรากฏในภาพยนตร์หรือนิยายทางวิทยาศาสตร์ ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก
ซึ่งบทความนี้ จะมากล่าวถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยี A.I. ที่กำลังเกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สิบปีต่อจากนี้
โปรแกรมที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถวิเคราะห์ผลข้อมูลจำนวนมากได้เร็วกว่ามนุษย์ รวมถึงช่วยหาแนวโน้มจากการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวด้วย
7 สิ่งต่อไปนี้ที่คาดว่า A.I. จะสามารถทำได้ บางอย่างกำลังอยู่ในขั้นทดลอง ขณะที่บางอย่างถูกนำมาใช้แล้วในขอบเขตเล็กๆ แต่เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในอนาคต
1. การจัดการผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล
ในแต่ละปี ผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกากว่า 3.6 ล้านคนต้องพลาดนัดไปหาหมอ เนื่องจากระบบการส่งคนไข้ที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ได้ไปพบหมอตามนัดกลับต้องใช้เวลารอระยะหนึ่ง จากแบบสำรวจพบว่า 97% จากผู้ป่วยมากกว่า 5,000 คน รู้สึกผิดหวังกับการที่ต้องเสียเวลารอเข้าพบหมอ โดยเมื่อทำการศึกษาลึกลงไป พบว่า ปัญหาด้านการขนส่งคนไข้สามารถแก้ไขให้ดีกว่าเดิมได้
การนำ A.I. มาประยุกต์ใช้ในระบบสาธารณสุข จะช่วยจัดการเรียงลำดับคิวของผู้ป่วย ทำให้สามารถบริหารเวลาที่ผู้ป่วยใช้ในการเข้ารับการบริการที่สถานพยาบาลได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยแนะนำผู้ป่วยให้ไปเข้ารับการบริการในสถานพยาบาลที่มีคิวน้อยกว่า
นอกจากนี้ยังสามารถนำ A.I. มาใช้ในแพลตฟอร์มเรียกรถ เช่น Grab, Lineman เป็นต้น เพื่อแนะนำสถานพยาบาลที่ใช้เวลาเข้ารับบริการน้อยแก่ผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับประสบการณ์ในการใช้บริการที่สถานพยาบาลที่ดีขึ้น
2. เร่งเวลาในการคิดค้นยาชนิดใหม่
มีการคาดการณ์ว่า ในการพัฒนายาตัวใหม่อาจต้องใช้เงินลงทุนกว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และระยะเวลากว่า 12 ปี จากแนวคิดจนถึงการวางขายยาดังกล่าวในตลาด
โดยเงินและเวลาจะถูกนำไปใช้ในการหาทีมวิจัยที่เหมาะสม, การหาผลข้างเคียงของยา, และการลองผิดลองถูก แต่ทว่า A.I. สามารถช่วยลดเงินและเวลาที่ใช้ในการวิจัยยาลงได้
จากการวิจัยเพื่อพิสูจน์แนวคิดของบริษัท Insilico Medicine ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านยา แสดงถึงประสิทธิภาพของ A.I. ในการช่วยวิจัยยาชนิดใหม่ โดยใช้เวลาเพียง 46 วันเท่านั้น โดย A.I. ได้เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่มนุษย์อาจต้องใช้เวลาวิเคราะห์หลายปี
ในปี 2015 ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค Ebola บริษัท Atomwise ได้ใช้ A.I. ในการค้นหายา 2 ชนิดที่ช่วยลดอัตราการติดเชื้อได้ โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 วัน
ในปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพกว่า 230 บริษัท ได้ใช้ A.I. ในการวิจัยหายาชนิดใหม่
3. ช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์
บุคลากรทางการแพทย์มักพบกับอาการที่ไม่สนใจสัญญาณเรียกให้ไปหาผู้ป่วย เนื่องจากโดยเฉลี่ย สัญญาณเรียกจะดังประมาณ 187 ครั้ง ต่อผู้ป่วย 1 เตียง ต่อวัน และกว่า 72% ถึง 99% เป็นสัญญาณจากกรณีที่ไม่สำคัญมาก
จากการที่บุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานที่หนักอยู่แล้ว จึงมีแนวโน้มที่จะไม่สนใจสัญญาณเรียกที่อาจเป็นกรณีที่สำคัญมากๆ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า เป็นสัญญาณเตือนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 200 ครั้งต่อปี
นักวิจัยจึงได้ใช้ A.I. เพื่อช่วยลดสัญญาณเตือนที่ไม่สำคัญ เช่น สัญญาณจากผู้ดูแลของผู้ป่วย เป็นต้น ลงกว่า 99% เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มาสนใจกับสัญญาณที่สำคัญที่มีสัดส่วนประมาณ 1% แทน
เทคโนโลยีดังกล่าว ได้ช่วยทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ดีขึ้น และทำให้พวกเขาได้หันมาสนใจกับกรณีที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายมากขึ้น
4. การช่วยหาความเสี่ยงของการเกิดโรค
A.I. มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล, รูปแบบ, และหาแนวโน้มได้ดีมาก ซึ่งมนุษย์ไม่อาจสู้ได้ จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์ได้ดี เช่น นักวิจัยจากบริษัท Google ได้ใช้ A.I. มาวิเคราะห์ภาพจอตาจำนวนมาก เพื่อให้ช่วยตรวจหาอาการป่วยในระยะยาว
หลังจากที่ให้ข้อมูลภาพจอตากับ A.I. มากพอ A.I. จะเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองว่าจะต้องตรวจสอบภาพจอตาอย่างไร เพื่อหาสัญญาณของความเสี่ยงในการเกิดโรคทางหลอดเลือด
ในอีกงานวิจัยหนึ่ง ทีมนักวิจัยจาก University of California in San Francisco ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ฝึกฝน A.I. ให้เรียนรู้รูปแบบของการเผาผลาญอาหาร เพื่อตรวจโรคอัลไซเมอร์ จากภาพสแกนของสมอง จากการทดสอบในภายหลังพบว่า A.I. สามารถตรวจจับความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ ก่อนที่จะวินิจฉัยเจอในอีก 6 ปีต่อมา
นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาอีกมากมาย ที่บ่งบอกว่า A.I. สามารถนำมาใช้ตรวจหาความเสี่ยงของโรคต่างๆได้ ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพของ A.I. ได้เป็นอย่างดี
5. การเข้าสู่ยุคใหม่ของการแพทย์
ผู้คนมากมายต่างคิดว่า A.I. จะมาแย่งงานรักษาผู้ป่วยจากบุคลากรทางการแพทย์ในอนาคต แต่ทว่าในความเป็นจริง A.I. จะเพียงแค่เข้ามาช่วยงานบางอย่างเท่านั้น เช่น งานทางด้านเอกสาร และรายงานต่างๆ ซึ่งดูดเวลาบุคลากรทางการแพทย์ไปมาก
เมื่อ A.I. สามารถนำมาใช้ทำงานเหล่านี้แทนบุคลากรทางการแพทย์ จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทุ่มเทเวลาในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น
อีกทั้งเทคโนโลยี A.I. ยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นักรังสีวิทยา ได้ใช้ A.I. ในการช่วยตรวจจับมะเร็ง จากภาพถ่ายทางการแพทย์
ในอนาคต A.I. อาจสามารถช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการวิจัยวิธีรักษาผู้ป่วยแบบใหม่ และถือเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ของการแพทย์อย่างแท้จริง
6. การทำนายการเกิดโรคระบาดใหม่ๆ
ก่อนที่องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานควบคุมโรคติดต่อของประเทศสหรัฐอเมริกาจะประกาศถึงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทางบริษัท Bluedot ได้ใช้ A.I. มาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น รายงานข่าว, สายการบิน, และการเกิดโรคระบาดในสัตว์ ทำให้สามารถวิเคราะห์แนวโน้มของการเกิดโรคระบาดใหม่ได้
จากนั้นนักระบาดวิทยาก็ได้นำผลลัพธ์จาก A.I. มาวิเคราะห์อีกรอบ และทำการเตือนลูกค้าของทางบริษัท
เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดขึ้น แต่ละองค์กรต่างก็ใช้วิธีการรับมือเหมือนๆกัน หลังจากเกิดการแพร่ระบาดขึ้น ได้มีนักวิจัยใช้ A.I. ในการวิเคราะห์ข้อมูลของสายการบินและการเคลื่อนที่ของสมาร์ทโฟน เพื่อศึกษาการรูปแบบการแพร่ระบาดของโรคจากเมือง Wuhan ไปยังเมืองอื่นๆ
ในขณะที่นักวิจัยอีกทีมหนึ่ง ได้ทำการสร้างโมเดลการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จากผู้ติดเชื้อที่พบ, การเคลื่อนที่ของบุคคล, และมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพในการจำกัดการเดินทาง เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
เนื่องจากข้อมูลจากการวิเคราะห์ของ A.I. ได้เริ่มถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในการหาวิธีป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้มีผู้ที่หันมาสนใจลงทุนในด้าน A.I. มากขึ้น เพื่อหาวิธีที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใหม่ๆ และเตรียมมาตรการรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวให้ดีขึ้น
7. การทำงานที่ใช้ข้อมูลเป็นหลัก
เมื่อโปรแกรม AlphaGo จากบริษัท Google สามารถชนะนักแข่งหมากรุกระดับโลก ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า A.I. มีความสามารถมากกว่ามนุษย์ ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวถูกเรียกว่า Artificial Narrow Intelligence(ANI)
A.I. จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านการแพทย์และการวิจัยที่เพิ่มขึ้นในทุกๆวัน ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถทำได้ และจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจถึงความซับซ้อนของโรคต่างๆเช่น มะเร็ง ได้ดีขึ้น
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา