9 ก.ค. 2022 เวลา 03:23 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“บริหารจัดการพอร์ตหุ้นง่ายๆ สไตล์โยโย่ : สันติ สิงหวังชา” (พร้อมแจกไฟล์ Excel)
การลงทุนในตลาดหุ้นให้ประสบความสำเร็จดั่งใจหวังนั้น นอกเหนือไปจากการเลือกลงทุนในบริษัทที่ดี ราคาหุ้นยังไม่แพงจนเกินไปตามแนวทางการลงทุนในหุ้นแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของใครหลายๆคนแล้ว การบริหารจัดการพอร์ตหุ้น (Portfolio Management) อาทิเช่น การกำหนดจำนวนหุ้น หรือการจัดสรรสัดส่วนการถือครองหุ้นในแต่ละตัว ก็มีความสำคัญอย่างมาก สำคัญไม่แพ้กระบวนการคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุนและนำหุ้นนั้นๆเข้ามาอยู่ในพอร์ตเลย
วันนี้เราจะนำพาคุณไปรู้จักกับแนวคิดด้านการบริหารพอร์ตหุ้นส่วนตัวของคุณโยโย่ (สันติ สิงหวังชา) นักลงทุนวีไอคนหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในตลาดหุ้นไทย และเป็นต้นแบบของนักลงทุนหุ้นไทยหลายๆคน ได้เจริญรอยตามแนวทางที่ถูกพิสูจน์ผ่านกาลเวลา อย่างมั่นคงด้วยความศรัทธา
ด้วยเหตุนี้ "Introverted investor" จึงได้จัดทำไฟล์ Excel พร้อมคำอธิบายประกอบบทความของคุณโยโย่ที่ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2008 โดยจัดทำตามคำอธิบายผ่านตัวอักษรของคุณโยโย่มาทุกกระเบียดนิ้ว ทุกประโยค โดยมิได้แต่งเสริมเพิ่มเติมใดๆเลย เพื่อคงไว้ซึ่งแนวคิดและความตั้งใจของคุณโยโย่โดยสมบูรณ์ ที่จะเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ของตนเองไปสู่นักลงทุนหุ้นมือใหม่
1
หวังว่าบทความและไฟล์ Excel แบบง่ายๆ นี้จะเป็นประโยชน์ และมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกสบาย เป็นแนวทางในการจัดพอร์ตแก่นักลงทุนในหุ้นทั้งมือใหม่และมือเก่า หากมีข้อสงสัย คำแนะนำหรือติชมเพิ่มเติม สามารถทักทายกันได้ตลอดเวลาเลยนะครับ
“เมื่อสั่งสมประสบการณ์การลงทุนมาสักระยะหนึ่ง เคยถือหุ้นคราวละหลายๆตัวเป็นเบี้ยหัวแตก หรือถือหุ้นเพียงตัวเดียวทั้งพอร์ตก็เคยทำมาแล้ว ชีวิตในตลาดหุ้นนั้นสอนให้ผมเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการบริหารจัดการพอร์ตมากขึ้น” สันติกล่าว
แนวทางหรือสไตล์การบริหารพอร์ตส่วนตัวของผมอาจแตกต่างไปจากหลักวิชาการทางการเงิน หรือขัดแย้งทางความคิดกับผู้ที่ร่ำเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจมา ก็ไม่ต้องแปลกใจไปนะครับ เหตุเพราะผมไม่ค่อยได้เคร่งครัดในหลักวิชาการสักเท่าไหร่ ยึดถือไว้เพียงบางส่วนแค่พอเอาตัวรอดเท่านั้น ที่เหลือก็อาศัยประสบการณ์หล่อหลอมขึ้นมาเองเสียดื้อๆ
ก่อนที่เราจะเข้าเรื่องการบริหารจัดการพอร์ต และวิธีการใช้งานไฟล์ Excel เราลองมาวิเคราะห์ประโยชน์และความจำเป็นของการบริหารพอร์ตในลักษณะนี้ ที่ผมคิดว่าเป็นข้อดีกันก่อนนะครับ
1. บริหารจัดการโดยอ้างอิงหลักวิชาการทางการเงินและการลงทุนนิดๆหน่อยๆ โดยหลักการดังกล่าวนี้จะเข้ามาช่วยเราด้านการตัดสินใจซื้อและขายหุ้น เป็นการใช้หลักตรรกะเหตุผลทางคณิตศาสตร์เพื่อช่วยการตัดสินใจ และเพื่อลดอคติส่วนตัวในการลงทุน หากเราไม่นำค่าตัวเลขอันน่าเชื่อถือมาประกอบการตัดสินใจเลย แล้วหันเหไปใช้อารมณ์หรือสัญชาตญาณส่วนตัวเพียงอย่างเดียว
บางครั้งคุณอาจจะคิดถูกก็ได้ แต่รับประกันได้เลยว่าหลายๆครั้งคุณจะเป็นฝ่ายผิด ไม่มีอะไรมายืนยันอนาคตได้เลยว่าคุณผิดหรือถูกเพราะอะไร คุณควรมีหลักการให้ยึดเหนี่ยวไว้บ้าง เพื่อที่จะได้ไม่หลงทิศหลงทางฟุ้งซ่านไปไกล
2. หลีกเลี่ยงการถือหุ้นจำนวนน้อยตัวจนเกินไป ซึ่งมันเสี่ยงมากๆ ไม่ว่าคุณจะคิดว่าตนเองเก่งสักเพียงใด ผมเชื่อว่าโอกาสที่คนเก่งจะก้าวพลาดนั้นมีเสมอ เหล่าเซียนหุ้นระดับโลกหากพวกเขาจำเป็นต้องเลือกหุ้นมาจัดพอร์ตสัก 10 บริษัท ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดความผิดพลาดสัก 1-2 บริษัท ตลอดประวัติศาสตร์ด้านการลงทุนทั้งในอดีต ปัจจุบัน และเชื่อว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต คงไม่มีนักลงทุนคนไหนจะเชี่ยวชาญขนาดที่ว่าไม่เคยเลือกหุ้นผิดพลาดเลยแม้เพียงครั้งเดียว
1
เช่นนั้นแล้วคุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่า การถือครองหุ้นเพียงบริษัทเดียวทั้งพอร์ต แล้วหุ้นตัวนั้นจะไม่มีทางกลายเป็น “เรื่องที่ผิดพลาด” ส่วนตัวผมคิดว่านักลงทุนควรถือหุ้นขั้นต่ำอย่างน้อยที่สุดคือ 3 บริษัท นี่คือมุ่งเน้นมากๆ และความเสี่ยงสูงมากแล้ว ถ้าจะให้ดีผมคิดว่าเราควรถือหุ้นอยู่ในพอร์ตสัก 4 – 6 บริษัทจะกำลังดี กำลังเหมาะสม (ปัจจุบัน ณ เวลาที่กำลังเขียนบทความนี้ ผมถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 4 บริษัท)
3. การถือครองหุ้นเพียงบริษัทเดียวทั้งพอร์ตนั้นทำให้หลักการลงทุนของคุณไม่มีความยืดหยุ่น คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร บางครั้งคุณอาจจำเป็นต้องรอคอยนานเป็นปี หรือหลายปี เพื่อที่จะให้ราคาหุ้นลูกรักเพียงตัวเดียวของคุณนั้นวิ่งสูงขึ้นไปจนสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงออกมาและขายทำกำไร แล้วถ้าหากเกิดเหตุการณ์เช่นว่า มูลค่าที่แท้จริงมันไม่สะท้อนออกมาสักที ตลาดหุ้นไม่ยอมรับรู้สักทีล่ะ คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดแบบเดียวกับคุณล่ะ ผลตอบแทนโดยรวมในตลาดหุ้นของคุณคงอืดอาดเชื่องช้าไปถนัดตา
แต่หากคุณมีหุ้นอยู่ในพอร์ตหลายๆ บริษัทหน่อย คงจะมีบางบริษัทที่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปสะท้อนมูลค่าอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าก็คงยังมีอีกบางบริษัทที่ราคาหุ้นไม่ขยับไปไหนอย่างที่ใจคิด คุณสามารถขายหุ้นที่ราคาวิ่งขึ้นไปสูงๆ (ผลตอบแทนที่คาดหวังลดลง) และนำเงินไปเข้าซื้อหุ้นที่พื้นฐานยังดีไม่เปลี่ยนแปลง แต่ราคาไม่ไปไหนหรือราคาลดลง (ผลตอบแทนที่คาดหวังเพิ่มขึ้น) ทำให้การบริหารพอร์ตของคุณมีความยืดหยุ่น สามารถเพิ่มผลตอบแทนได้ในทุกสภาวะตลาด
4. สามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดกระทิงและตลาดหมี (ทั้งตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง) อธิบายอย่างง่ายๆ ก็เพียงแค่ขายหุ้นที่ราคาวิ่งขึ้นไปสูงๆ เพื่อไปซื้อหุ้นที่ราคายังไม่ขึ้นหรือราคาลดลง ตามสัดส่วนที่คุณได้กำหนดไว้ตั้งแต่ตอนต้น
แน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ คุณจำเป็นต้องใจเย็น เป็นคนประเภทที่มีความอดทนสูง เพราะคุณจะไม่ได้มองเห็นกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำในทันทีทันตา หากแต่เป็นผลตอบแทนที่คาดหวังในอนาคตซึ่งคุณได้ประเมินไว้เรียบร้อยแล้วในส่วนการบริหารจัดการพอร์ตตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะเริ่มซื้อหุ้นเสียอีก (ขายหุ้นที่มี Upside น้อยลง เพื่อไปซื้อหุ้นที่ยังเหลือ Upside มาก)
เมื่ออนาคตเดินทางมาถึง และผลลัพธ์ปรากฎออกมาเป็นไปอย่างที่คุณคาดการณ์ไว้ การปรับพอร์ตเช่นนี้อาจผลักดันให้ผลตอบแทนการลงทุนของเรานั้นออกมาดีกว่าการอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ได้ทำอะไรเลย ความเชื่อที่ผิดอย่างหนึ่งของนักลงทุนวีไอก็คือการยึดมั่นในหลักการที่ว่า “หากพื้นฐานบริษัทไม่เปลี่ยนแปลง เราจะไม่ขายหุ้น” ผมคิดว่าประโยคนี้พูดถูกเพียงครึ่งเดียว อันที่จริงผมคิดว่ามันไม่ผิดอะไรที่เราจะขายหุ้น เมื่อเราค้นพบหุ้นที่ดูมีอนาคตมากกว่า และมีโอกาสทำกำไรได้สูงกว่า ก็เท่านั้นเอง
Cr. ลงทุนแมน
"วิธีบริหารจัดการพอร์ต และวิธีใช้งานไฟล์ Excel อย่างง่ายๆ ( Download Excel file เพื่อดูประกอบไปด้วยนะครับ)"
1. เมื่อจบสิ้นกระบวนการวิเคราะห์คัดเลือกหุ้น และมั่นใจว่าได้พบหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพดี ราคายังไม่แพง ซึ่งคุณต้องการที่จะนำเงินใส่เข้าไปลงทุนมากลุ่มหนึ่งแล้ว ให้นำข้อมูล “ชื่อหุ้น” “จำนวนหุ้น” ที่คุณถือครองอยู่ (หรือที่คิดว่าจะซื้อ) และ “ราคาตลาด” ของหุ้น ณ เวลาปัจจุบัน (ย้ำว่าราคาตลาดนะครับ ไม่ใช่ราคาต้นทุนของคุณ) มาใส่เข้าไปตามตารางจนครบถ้วนทุกบริษัท จากนั้น “มูลค่าหุ้น” ตามราคาตลาด ณ ปัจจุบันที่คุณถือครองอยู่ และ “สัดส่วน (%)” ของหุ้นแต่ละบริษัท ต่อมูลค่าพอร์ตรวมก็จะปรากฎขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
2. คุณจำเป็นต้องประเมินมูลค่าหุ้น เพื่อค้นหาราคาเป้าหมายของหุ้นแต่ละบริษัทออกมาให้ได้ด้วยตนเอง เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงนำตัวเลขดังกล่าวมาใส่ในช่อง “ราคาเป้าหมาย” จากนั้นลองขยับมาดูที่ช่อง “Upside Gain” หรือเปอร์เซ็นต์ส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาเป้าหมาย ก็จะปรากฏขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ในส่วนนี้คือเปอร์เซ็นต์ของกำไรที่คุณคาดหวังว่าจะได้รับ โดยนับจากราคาตลาดปัจจุบัน หากราคาหุ้นสามารถวิ่งขึ้นไปจนถึงราคาเป้าหมายที่คุณคาดการณ์ไว้ได้จริงๆ
วิธีประเมินมูลค่าหุ้นอย่างง่ายๆ ฉบับนักลงทุนมือใหม่ ลองดูที่ Link นี้ได้ครับ
3. ส่วนในช่อง “ระดับความมั่นใจ” ที่อยู่ถัดมา เราจะมาให้คะแนนระดับความมั่นใจของตนเองในเรื่องที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์บริษัทและการประเมินมูลค่าหุ้น โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนอยู่ที่ 1 – 10 คะแนน อย่าลืมว่าการใส่คะแนนในช่องระดับความมั่นใจนั้นควรจะต้องสอดคล้องกับราคาเป้าหมายที่เราได้ประเมินไปก่อนหน้านั้น ความมั่นใจมาจากข้อมูลที่เรามีในการนำมาวิเคราะห์บริษัท ความยากง่ายในการวิเคราะห์ ความผันผวนของผลการดำเนินงานของบริษัท (ไม่เกี่ยวข้องใดๆกับความผันผวนของราคาหุ้น)
เช่น ผมทำการหาข้อมูล วิเคราะห์ สรุป และคาดการณ์ได้ว่า หุ้น AA ราคาตลาด ณ ปัจจุบันอยู่ที่หุ้นละ 10 บาท และมีราคาเป้าหมายในอนาคตซึ่งประเมินมูลค่าออกมาได้อยู่ที่หุ้นละ 15 บาท หากสมมุติฐานที่ผมคิดไว้นั้นเกิดขึ้นจริง หากวิเคราะห์โดยภาพรวมแล้วผมมั่นใจกับการประเมินและคาดการณ์ของตนเองมาก ก็จะใส่คะแนนในช่องนี้เยอะหน่อย มั่นใจมากที่สุดคือ 10 คะแนน (ช่วงคะแนนอยู่ที่ 1 – 10 คะแนน) จากนั้นในช่อง “ผลตอบแทนที่คาดหวัง” ซึ่งอยู่ถัดไปก็จะปรากฎขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
"แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากตาราง Excel นี้อย่างไร?"
หลังจากที่เราได้ใส่ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ตามที่อธิบายไว้ด้านบน จนครบถ้วนทุกบริษัทที่ตั้งใจจะซื้อเพื่อลงทุนและนำมาจัดพอร์ตรวมแล้ว (ไฟล์ Excel ทำตารางมาให้สามารถใส่ข้อมูลได้สูงสุด 10 บริษัท หากคุณตั้งใจจะถือหุ้นเพียง 5 บริษัท ก็ใส่ข้อมูลเพียงเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใส่จนครบ) ตัวเลขในช่องตารางอื่นๆ ที่เหลือก็จะปรากฎมาครบทุกช่อง
ซึ่งช่องตารางที่มี “ไฮไลท์สีเทา” คุณไม่จำเป็นต้องไปแก้ใขใดๆ เพราะเป็นช่องที่ได้ทำการผูกสูตรคำนวณเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ค่าตัวเลขจะปรากฏขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ขอเพียงคุณได้ใส่ข้อมูลในช่องอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นจนครบถ้วนถูกต้องแล้ว
1. มาดูกันที่ช่องสุดท้าย มุมขวาสุด “ผลตอบแทนที่คาดหวัง” หุ้นบริษัทใดที่มีค่าตัวเลขในช่องนี้สูงๆ คุณก็ควรจะถือหุ้นตัวนี้ในสัดส่วนที่สูงมากกว่าหุ้นตัวอื่นๆ ในพอร์ต เช่นนี้แล้วในช่อง “สัดส่วน” กับช่อง “ผลตอบแทนที่คาดหวัง” ควรจะต้องสอดคล้องกัน หากหุ้นตัวใดมีค่า “ผลตอบแทนที่คาดหวังต่ำ” สัดส่วนการถือครองหุ้นตัวนั้นๆ ที่อยู่ในพอร์ตรวมก็ควรจะน้อยตามลงไปด้วย
2. เมื่อเราทำการซื้อขายหุ้นเพื่อปรับพอร์ตรวมให้ได้ตามสัดส่วนและตามเกณฑ์ที่กำหนดในข้อที่หนึ่ง จนครบถ้วนทุกบริษัททั้งพอร์ตรวมแล้ว ก็เหลือเพียงทำใจให้สบาย อดทนเฝ้ารอคอย ปล่อยให้หุ้นค่อยๆ ทำงานอย่างหนักหาเงินมาให้เราต่อไป
3. อย่างไรก็ตามเมื่อวันเวลาผ่านไป ระหว่างที่เราถือครองหุ้นอยู่อย่างสบายใจ อาจมีข่าวสารหรือข้อมูลของบริษัทต่างๆ ผ่านเข้ามา ซึ่งอาจทำให้ “ราคาเป้าหมาย” และ “ระดับความมั่นใจ” ของเรานั้นเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ เราจำเป็นต้องประเมินมูลค่าเพื่อกำหนดราคาเป้าหมายใหม่ และให้ตัวเลขระดับความมั่นใจใหม่อีกครั้งอยู่เสมอ
เหตุเพราะว่าในระหว่างที่เราเฝ้าติดตามพอร์ต หากเกิดกรณีที่ค่าตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลงไปมากอย่างมีนัยสำคัญ เราสามารถที่จะปรับสัดส่วนพอร์ตรวม ซื้อขายหุ้นในพอร์ตใหม่อีกครั้งได้ โดยวิธีการขายหุ้นที่ราคาเป้าหมายและระดับความมั่นใจน้อยลง ไปซื้อหุ้นที่มีราคาเป้าหมายและระดับความมั่นใจสูงขึ้นแทน หรือเพียงแค่ปรับสัดส่วนให้สอดคล้องกับตัวเลขในตาราง ไม่จำเป็นต้องขายหุ้นออกไปทั้งหมด เพียงปรับสัดส่วนให้สอดคล้องกับผลตอบแทนที่คาดหวังเท่านั้น
4. การปรับพอร์ตในข้อที่สาม ไม่ควรทำบ่อยจนเกินไป ควรทำเฉพาะเมื่อเกิดกรณีที่ตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลงไปมากอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ เท่านั้น มิเช่นนั้นแล้ว คนที่ร่ำรวยในอนาคตจะไม่ใช่คุณ แต่เป็นโบรคเกอร์แทน ค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายหุ้นจะกัดกินผลกำไรของเราไปเสียหมด
โดยปกติผมจะมานั่งทบทวนพอร์ตการลงทุนเพียงเดือนละครั้ง และวิเคราะห์ประเมินว่าจะทำการปรับพอร์ตหรือไม่ อย่างไร ก็เพียงไตรมาสละครั้ง เมื่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีการประกาศงบการเงินรายไตรมาสออกมา เพราะช่วงเวลานี้จะมีข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ของบริษัทออกมาเยอะพอสมควร ซึ่งสามารถทำให้ “ราคาเป้าหมาย” และ “ระดับความมั่นใจ” เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
หวังเพียงแค่บทความชิ้นนี้จะก่อเกิดประโยชน์แก่นักลงทุนหุ้นมือใหม่อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ตามเจตนารมณ์แห่งต้นแบบนักลงทุนวีไอไทยคนหนึ่ง ขออุทิศแด่ คุณโยโย่ : สันติ สิงหวังชา ผู้ล่วงลับ
ขอเพียงมีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ 😊
โฆษณา