9 ก.ค. 2022 เวลา 07:30 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Thor: Love and Thunder (2022) – ดั่งดวงหฤทัยสายใยอัสนี
ย้อนกลับไปในช่วงแรกของ MCU ซึ่งเรายังไม่เห็นจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่นี้เป็นรูปเป็นร่าง นอกเหนือจากได้ทำความรู้จักกับเหล่าฮีโร่ทีมอเวนเจอร์สชุดแรก หนึ่งในซูเปอร์ฮีโร่ที่เราไม่รู้จักเลย ก็คงหนีไม่พ้นเทพเจ้าสายฟ้าธอร์ เพราะในช่วงนั้นที่ลูกทีมเต็มไปด้วยมหาเศรษฐี, ทหารที่มีพลังเหนือมนุษย์, มนุษย์ที่กลายร่างเวลาโกรธ
กลับมีเทพเจ้าที่มีนิสัยตรงไปตรงมาเข้ามาร่วมทีม ข้ามกาลเวลาหลังผ่านมหาสงคราม เทพเจ้ารายนี้ผ่านมรสุมการสูญเสียมาหลายรูปแบบ แต่เขาก็ยังคงมีบทบาทในจักรวาลแห่งนี้ โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับ “หวานใจ” ของเขา ในผลงานล่าสุดอย่าง Thor: Love and Thunder
Thor: Love and Thunder เล่าเรื่องของ ธอร์ ในการผจญภัยครั้งใหม่ที่เขาไม่เคยเผชิญมาก่อน นั่นคือ การเสาะแสวงหาซึ่งสันติภายในจิตใจ แต่การวางมือของเขาถูกขัดจังหวะโดยนักฆ่าแห่งกาแล็คซี่อย่าง กอรร์ นักเชือดเทพเจ้า ผู้หมายซึ่งการสิ้นวาระของเหล่าทวยเทพ
เพื่อต่อกรกับภยันตรายนี้ ธอร์ จึงได้รวบรวมความช่วยเหลือจากคิง วัลคีรี่, คอร์ก และ อดีตแฟนอย่าง เจน ฟอสเตอร์ ที่สามารถถือค้อนมโยลเนียร์ของเขาได้ ทั้งหมดร่วมกันฝ่าฟันผ่านการผจญภัยระดับจักรวาลเพื่อเปิดเผยซึ่งปริศนาจากความคลั่งแค้นของนักเชือดเทพเจ้าและหมายจะหยุดเขาไว้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
พูดกันตามตรง ถึงแม้จะชื่นชมฝีมือการกำกับของ ไทก้า ไวติติ มาก แต่ส่วนตัวก็ไม่ได้ชื่นชอบตัวภาค Ragnarok มากเสียเท่าไหร่ ตัวหนังเปิดมาด้วยการเล่าเรื่องราวจากฝั่งของ กอรร์ ที่ทำให้เราได้เห็นเบื้องหลังที่กลายเป็นแรงผลักดันและเป้าหมายสู่การล้างบางทวยเทพ
ก่อนจะตัดกลับมาที่ฝั่งของธอร์ และสานต่อเรื่องราวหลังจากที่เราได้เห็นเขากลายร่างเป็นถังเบียร์ใน Avengers: Endgame ตัวหนังดำเนินด้วยกลิ่นอายบรรยากาศแบบเดียวกับในภาค Ragnarok ที่มีเส้นเรื่องพอให้จับ แต่ขยับจังหวะในหนังด้วยการอัดมุกตลกบ๊อง ๆ มาไม่ยั้ง แทรกด้วยฉากแอ็คชั่นประปราย ตามประสาหนังมาร์เวล
ส่วนที่ดีของหนังก็คือ ธีมหลักเรื่องราวที่แข็งแรง ที่ตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของเทพได้น่าท้าทาย รวมถึงเรื่องราวความรักที่เป็นแกนกลางและแรงผลักดันของตัวละคร ทั้งธอร์และกอรร์ได้พอเหมาะพอเจาะมาก แต่หนังก็ยังดำเนินเรื่องราวในโทนเรื่องที่เบาสมอง ด้วยการประดังจังหวะมุกชวนขำมากมาย ที่มาจากบุคลิกของตัวละคร, องค์ประกอบอื่น ๆ โดยรอบ รวมถึงเนื้อเรื่องโดยสรุป ก็ทำให้บรรยากาศออกมาดูสนุกสนานมาก นอกเหนือจากนี้ วิสัยทัศน์ด้านภาพ ในหลาย ๆ ฉาก โดยเฉพาะฉากสำคัญอย่าง “พิภพเงา” ก็เป็นหนึ่งในฉากสู้ที่น่าจดจำมาก ๆ ในเฟส 4
และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ การแสดงของคริสเตียน เบล ในบทบาทตัวร้าย ที่แสดงได้น่าเกรงขาม น่าสะพรึง อีกทั้งยังน่าเห็นใจได้ในคราวเดียวกัน ส่วนการได้ นาตาลี พอร์ตแมน กลับมาแสดงในหนังภาคนี้ ก็เป็นการเติมสีสันและความชีวีตชีวากลับมาอย่างแฟรนไชส์เทพเจ้าสายฟ้าได้ดี และในบางช่วงเวลา เธอก็สร้างเสียงหัวเราะได้ดีไม่น้อย อีกทั้ง รัสเซลล์ โครว์ ที่มาร่วมในหนัง ก็กลายเป็นตัวขโมยซีนที่สุดในเรื่องไปอย่างไม่คาดคิด
กระนั้นเอง ขณะที่ภาคนี้ขับเน้นปมปัญหาของตัวละคร ธอร์ มากขึ้นในด้านความรัก จนเรารู้สึกได้ถึงมิติตัวละครมากขึ้นจากภาคก่อน แต่ด้วยท่าทีทีเล่นทีจริงของหนัง ก็ถอนความจริงจังระหว่างการดำเนินเรื่องลงไปมาก อีกทั้งประเด็นที่น่าสนใจอย่างเรื่องเทพ ก็ดูจะเป็นการใส่มาเพื่อเปิดทางไปต่อ ไม่ได้สร้างเพื่อให้เกิดการขบคิดเชิงลึก นอกเหนือเป็นส่วนประกอบในการสร้างความบันเทิง ซึ่งมุกหลายอย่างที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างเสียงหัวเราะนั้น ก็ไม่ได้เข้าเป้าเสียเท่าไหร่ด้วย
สรุปแล้ว Thor: Love and Thunder คืออีกหนึ่งการผจญภัยสไตล์ธอร์ ที่มาพร้อมมุกฮาที่ประดังเข้ามาแบบภาคก่อน ถึงแม้จังหวะจะไม่เฉียบคมเท่า แต่ก็มากพอจะสร้างความบันเทิงในระดับนึง เรื่องราวเนื้อหาที่ชวนตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของเทพเจ้าและความรักที่เป็นแรงผลักดันของมนุษย์ แถมการแสดงของนาตาลี พอร์ตแมน ที่เข้ามาเติมสีสัน คริสเตียน เบล ในบทบาทที่ชวนเห็นใจและน่าสะพรึง กับ รัสเซลล์ โครว์ ที่แสนขโมยซีน ทำให้นี่เป็นหนึ่งในหนังที่หฤหรรษ์ของแฟรนไชส์ธอร์ แม้มันจะไม่เข้าเป้าและไม่น่าจดจำมากเท่าที่ควรก็ตาม
3.5 / 5
Thor: Love and Thunder (2022)
Directed by Taika Waititi
Written by Taika Waititi & Jennifer Kaytin Robinson
Based on Marvel Comics

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา