Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่าน เขียน เรียน รู้
•
ติดตาม
15 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
4 เรื่องสำคัญ ที่ควรรู้ เมื่อไปพบแพทย์
เวลาเจ็บป่วยไม่สบาย ส่วนมากเรามักหาข้อมูลหรือดูแลตัวเองได้ถ้าไม่ได้รู้สึกว่าเจ็บหนักหรือคิดว่าโรคนั้นรุนแรงจนเราจัดการไม่ได้
แต่ถ้าความเจ็บป่วยนั้นรบกวนชีวิตและเราคาดว่าจะจัดการด้วยตนเองไม่ได้ การไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิก ก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน
เวลาเราเจ็บป่วย และไปพบแพทย์นั้น เมื่อได้รับการตรวจรักษาจนเกือบเสร็จสิ้นกระบวนการ ในขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่เราจะย่างก้าวออกจากห้องแพทย์หรือโรงพยาบาล มีข้อมูลอะไรบ้างที่เราควรรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่เราเป็น ถ้ามีข้อมูลเหล่านี้ เราจะสบายใจและมั่นใจมากขึ้น เมื่อก้าวเท้าออกจากโรงพยาบาล
ข้อมูลสำคัญที่เราในฐานะผู้ป่วยควรได้รับจากแพทย์ เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจ มี 4 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1. ข้อมูลการวินิจฉัยโรค
ผู้ป่วยควรรับทราบว่าตนเองนั้นป่วยเป็นโรคหรือภาวะอะไร วินิจฉัยสุดท้ายว่าเป็นอะไร บางครั้ง อาการบางอย่างในเบื้องต้นอาจยังไม่สามารถทราบวินิจฉัยสุดท้ายได้ เราควรได้รับข้อมูลว่า อาการดังกล่าวนั้น อาจเป็นโรคอะไรได้บ้าง โดยคร่าว ๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้เราสามารถติดตามอาการตนเอง อาการที่อาจต้องมาตรวจก่อนนัด เช่น เวลาปวดท้องปวดบีบ ๆ เบื้องต้นแพทย์อาจบอกว่า อาการดังกล่าวอาจเป็นจากโรคลำไส้อักเสบ หรืออาจเป็นอาการเบื้องต้นของไส้ติ่งอักเสบได้ ถ้าเรารู้จะได้ระมัดระวังและติดตามอาการได้
2. การพยากรณ์โรค
การพยากรณ์โรค หมายถึง การดำเนินโรคหรือความเจ็บป่วยที่เราเป็นจะเป็นอย่างไร ถ้าได้รับการรักษา หรือการวินิจฉัยเบื้องต้นนั้นถูกต้อง ถ้าอาการเจ็บป่วยไม่หาย อาจแปลว่าวินิจฉัยเบื้องต้นคลาดเคลื่อน หรือการรักษาไม่ตรงกับโรค หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ถ้าผู้ป่วยทราบว่าแต่ละอาการหรือแต่ละโรคมีการดำเนินโรคหรือพยากรณ์โรคว่าเป็นอย่างไร ก็จะสามารถรับรู้และติดตามอาการตนเองได้อย่างถูกต้อง
3. การรักษา
ขั้นตอนนี้ เป็นขั้นสำคัญที่จะทำให้เรามีอาการดีขึ้นจากการเจ็บป่วย (กรณีได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง) คำแนะนำที่ดีจากแพทย์ควรประกอบไปด้วย การรักษาแบบจำเพาะต่อโรค และการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ
การรักษาแบบจำเพาะต่อโรค ประกอบไปด้วย การรักษาแบบไม่ใช้ยาและแบบใช้ยา
การรักษาแบบไม่ใช้ยา ตัวอย่างเช่น การดูแลตนเอง การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อน หรือมาตรการการปฏิบัติตนที่จะทำให้อาการของโรคดีขึ้นหรือหายได้อย่างรวดเร็ว เช่น เวลาท้องเสียจากภาวะอาหารเป็นพิษ แพทย์แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มนม เลี่ยงการรับประทานผักผลไม้ หรืออาหารรสจัด ในช่วงแรกของการรักษา เพื่อมิให้อาการท้องเสียรุนแรงมากขึ้น เป็นต้น
ส่วนการรักษาแบบใช้ยา ในบางครั้งโรคบางโรคจำเป็นต้องใช้ยา เพื่อรักษาตัวโรค ตัวอย่างเช่น เวลาติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์สั่งจ่ายยาปฏิบชีวนะ เพื่อกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกายผู้ป่วย เมื่อได้รับยา เราควรได้รับข้อมูลจากแพทย์หรือเภสัชกรว่า ยาที่ได้รับนั้นใช้รักษาจำเพาะต่อโรคใช่หรือไม่ หรือเป็นเพียงยาบรรเทาอาการ ยาออกฤทธิ์อย่างไร ทานแล้วอาการจะดีขึ้น หรือหายในเวลาประมาณเท่าไร ผลข้างเคียงจากยามีอะไรบ้าง ต้องติดตามอาการอะไรบ้าง ยาที่ได้มีปฏิกิริยาหรือไม่กับยาที่ผู้ป่วยรับประทานประจำ เป็นต้น
ส่วนการรักษาเพื่อบรรเทาอาการนั้น อาจเป็นได้ทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยาเช่นกัน เป็นการรักษาเฉพาะตัวอาการ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย โดยที่อาจไม่ได้ทำให้ต้นเหตุของโรคนั้นหายไป ตัวอย่างเช่น การให้ยาลดไข้ หรือพาราเซตามอล หรือการเช็ดตัวลดไข้ในผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 แม้จะรู้สึกดี แต่ตัวโรคยังคงอยู่
4. การติดตามรักษา
บางอาการหรือบางโรค แพทย์มีความจำเป็นต้องติดตามอาการภายหลังรักษา ถ้าต้องติดตามจะนัดมาติดตามในอีกกี่วัน ระหว่างการรักษา อาการอะไรบ้างที่ต้องมาตรวจก่อนนัด หรือถ้าอาการหายสนิทแล้วจะต้องมาตรวจต่อตามนัดหรือไม่
ดังนั้นแล้ว ในฐานะผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ เพื่อการรักษาที่ดีและมีประสิทธิภาพ เราควรรับรู้ข้อมูลสำคัญ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1) ข้อมูลการวินิจฉัยโรค 2) การพยากรณ์โรค 3) การรักษา และ 4) การติดตามการรักษา บางครั้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอาจให้ข้อมูลไม่กระจ่างชัด ดังนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องสอบถามข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้เราสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง และสามารถติดตามการเจ็บป่วยของตนเองได้
หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่มีโอกาสไปหาหมอเป็นครั้งคราว หรือต้องไปรับการตรวจรักษาโรคประจำตัวเป็นประจำครับ
สุขภาพ
โรงพยาบาล
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
รู้ทันหมอ
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย