8 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
โควิด-19 ส่งผลต่ออายุขัยของเราหรือไม่ และรายได้ส่งผลต่ออายุขัยของเราอย่างไรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
ทราบหรือไม่ว่า อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่เท่าไร
จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ในปี พ.ศ. 2562 พบว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 77.15 ปี เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น แคนาดา อยู่ที่ 82.05 ปี สหราชอาณาจักร อยู่ที่ 81.20 ปี และสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 78.79 ปี
ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ไวรัสโคิวด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก สร้างความเสียหายแก่สุขภาพประชากรทั่วโลก ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ผลกระทบดังกล่าวเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับจุลภาคจนไปถึงระดับมหภาค นับว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลเลยทีเดียว
จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลอย่างไรต่ออายุขัยของมนุษย์เรา
วันนี้มีรายงานการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดัง JAMA รายงานข้อมูลอายุขัยของประชากรในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาในช่วงปี พ.ศ. 2558-2564 ชึ่งเปรียบเทียบอายุขัยของประชาชนในรัฐนี้ก่อนและหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด และเปรียบเทียบความสัมพันธ์กับสถานะทางเศรษฐกิจ
ผลงานวิจัย พบว่ามี ในรัฐแคลิฟอร์เนียมีการเสียชีวิตในช่วงปีดังกล่าว ทั้งหมด 1,988,606 ราย โดยเมื่อวิเคราะห์หาอายุขัยพบว่า อายุขัยของประชากรลดลงจาก 81.40 ปี ในปี 2562 เหลือเพียง 79.20 ปี ในปี 2563 และ 78.39 ปี ในปี พ.ศ. 2564
รูปแสดง อายุขัยซึ่งลดลงภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปี ค.ศ. 2019 จุดประแสดงอายุขัยเฉลี่ยของประชากรทุกเชื้อชาติในการศึกษานี้
เมื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และอายุขัย พบข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด และรายได้ต่ำสุด อายุขัยมีความแตกต่างกันเพิ่มขึ้น จาก 11.52 ปี ในปี พ.ศ. 2562 เป็น 15.51 ปี ในปี พ.ศ. 2564 กล่าวคือ แม้ว่าภาพรวมอายุขัยจะลดลง แต่ถ้าคุณเป็นคนจนแล้วอายุขัยจะลดลงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับคนมีรายได้มาก
รูปแสดงระดับของรายได้เรียงเป็นเปอร์เซนต์ไทล์เทียบกับอายุขัย จะเห็นได้ว่าในปี ค.ศ. 2020 และ 2021 ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ (เปอร์เซนต์ไทลทางขอบด้านซ้ายของกราฟ) มีอายุขัยเฉลี่ยที่ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับก่อนเกิดการระบาดของโคิวด จะเห็นช่องว่างหรือ gap ของอายุขัยต่างกันมากขึ้น เมื่อมีรายได้ต่ำ
จากผลดังกล่าวข้างต้นสะท้อนเว่า นอกจากโควิด-19 จะทำให้ชีวิตเราสั้นลงแล้ว ยังทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพระหว่างคนรวยและคนจนมากขึ้นไปอีก (ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็ยิ่งต่างเป็นอย่างยิ่ง) คนจนจะยิ่งจน และยิ่งอายุสั้นมาก ๆ ส่วนคนรวยนั้นอาจจะรวยน้อยลงไม่มากแถมยัง อายุสั้นลงแต่ไม่มากเท่าคนจน
ภาพที่เห็นนี้เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะไม่สามารถนำมาอนุมานในประเทศเราได้ 100% เนื่องจากความแตกต่างของประชากร รายได้ รวมทั้งข้อจำกัดต่าง ๆ ของงานวิจัย แต่ผลดังกล่าวก็น่าจะสะท้อนภาพบ้านเราได้เช่นกัน และผลที่เกิดขึ้นต่ออายุขัย สุขภาพ และความเหลื่อมล้ำ ก็น่าจะเป็นในทิศทางเดียวกัน แถมยังอาจรุนแรง หรือเด่นชัดมากกว่าเสียอีก เนื่องจากความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค นั้นของประเทศเราอยู่ในระดับสูง
ดังนั้นแล้ว เป็นหน้าที่ของผู้บริหารประเทศ หรือผู้บริหารระดับสูง ทั้งฝ่ายการเมือง รวมทั้งภาคประชาชนจะต้องหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งแก้ไขปัญหาโรคโควิด เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางด้านสุขภาพ จะต้องไม่มีใครต้องอายุสั้นลง เพียงเพราะความจนครับ
อ้างอิง
Schwandt H, Currie J, von Wachter T, Kowarski J, Chapman D, Woolf SH. Changes in the Relationship Between Income and Life Expectancy Before and During the COVID-19 Pandemic, California, 2015-2021. JAMA. Published online July 07, 2022. doi:10.1001/jama.2022.10952

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา