15 ก.ค. 2022 เวลา 04:24 • สุขภาพ
ได้สารอาหารไม่พอ หมอนรองกระดูกก็เสื่อมได้
การได้รับสารอาหารของหมอนรองกระดูก และโครงสร้างกระดูกสันหลัง (Disc and Nutrition)
เนื่องจาก หมอนรองกระดูก เป็นโครงสร้างที่ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง ตามธรรมชาติ หมอนรองกระดูกส่วนนอก (peripheral annulus fibrosus) ได้รับสารอาหารโดยการซึมผ่าน (diffusion transport) โดยอาหารของหมอนรองกระดูก คือ น้ำตาล เมื่อหมอนรองกระดูกได้รับอาหารคือ น้ำตาลแล้วจะมีการผลิตกรดแลคติค (lactic acid) ออกมาเป็นของเสีย โดยความต่างระดับของสารละลายสารอาหาร เป็นกลไกที่ทำให้เกิดการซึมผ่านของสารอาหาร (diffusion transport)
สำหรับหมอนรองกระดูกส่วนใน (nucleus & annulus fibrosus) ได้รับสารอาหารจากเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ที่มาจากขอบกระดูกสันหลัง (capillaries of vertebral end plate) ส่วน อ๊อกซิเจน นั้น มีความจำเป็นต่อการสร้างเนื้อของหมอนรองกระดูก (disc matrix) ที่มีทั้งส่วนของน้ำและคอลลาเจนอยู่ด้วย ดังนั้นการที่มีเลือดไหลเวียนมาน้อย หรือ อ๊อกซิเจนน้อยลง ล้วนส่งผลต่อการได้รับอาหารของหมอนรองกระดูก
ความเสื่อมของหมอนรองกระดูกเกิดจาก การที่หมอนรองกระดูก ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งประสิทธิภาพของการซึมผ่านของสารอาหารที่มาเลี้ยงหมอนรองกระดูก มีความเกี่ยวข้องกับลักษณะของสารอาหารไม่ว่าจะเป็น ขนาด รูปร่าง ประจุ แรงดัน เมตาบอลิสิมส์ของสารละลายสารอาหาร ปัจจัยใดๆ ก็ตามที่มีผลต่อสิ่งเหล่านี้ ล้วนมีผลต่อการซึมผ่านของสารอาหาร (nutrient transport) และสามารถทำให้เกิดความเสื่อมของหมอนรองกระดูกตามมา
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการรบกวนของระบบการซึมผ่านสารอาหารอย่างต่อเนื่อง (Progressive nutrient transpont disruption) เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความเสื่อมของหมอนกระดูกโดยตรง ปัจจัยรบกวนดังกล่าว ได้แก่ ท่าทางหรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงดันหมอนรองกระดูกที่ผิดปกติ การขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย การเกิดแรงดันหมอนรองกระดูกที่เพิ่มขึ้น การบาดเจ็บของหมอนรองกระดูก อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ ภาวะเป็นกรดรอบๆ หมอนรองกระดูก และประสิทธิภาพการดูดซึมสารอาหาร
นี่เป็นที่มาของคำแนะนำที่ว่า เมื่อต้องการป้องกันการปวดคอปวดหลังจากหมอนรองกระดูกเสื่อม ควรจะปฏิบัติตัวดังนี้
หลีกเลี่ยง การนั่งนานๆ ก้มตัว ยกของหนัก เนื่องจากเป็นท่าทางที่ทำให้ความดันหมอนรองกระดูกมากขึ้น ควรเปลี่ยนอิริยาบถการท่านั่งเป็นระยะ
หลีกเลี่ยง การสูบบุหรี่ เนื่องจากจะมีผลต่อเส้นเลือดเล็กๆ และอ๊อกซิเจน ที่ไปเลี้ยงหมอนรองกระดูก
หลีกเลี่ยง การไม่ได้ขยับ เคลื่อนไหวร่างกายเลย หรือ นอนนิ่งๆ นานๆ
หลีกเลี่ยง การพักผ่อนน้อย เนื่องจากมีผลต่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยง และการซึมผ่านของสารอาหาร ไปยังหมอนรองกระดูก
ทานน้ำให้เพียงพอ (adequate hydration) เนื่องจากน้ำเป็นส่วนประกอบหลักของหมอนรองกระดูก
เช่นนี้แล้ว เราก็สามารถ ชะลอความเสื่อมหมอนรองกระดูกของเรา ได้ไปอีกนานค่ะ
References
Thijs Grunhagen et al., Nutrient supply and intervertebral disc metabolism, J Bone Joint Surg Am, 2006 Apr;88 Suppl 2:30-5.
Christopher M De Geer et al., Intervertebral Disk Nutrients and Transport Mechanisms in Relation to Disk Degeneration: A Narrative Literature Review, J Chiropr Med. 2018 Jun; 17(2): 97–105.
Uruj Zehra et al., Mechanisms and clinical implications of intervertebral disc calcification
Nature Reviews Rheumatology 18, 9 May 2022, 352-362. volume
โฆษณา