16 ก.ค. 2022 เวลา 12:38 • ไลฟ์สไตล์
ทำไม ‘ตัวเราเอง’ ถึงเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ในการไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้?
ช่วงที่ผ่านมาลูกสาววัยเริ่มเข้าสู่วัยที่สามารถโต้เถียงกับพ่อแม่ได้อย่างเมามัน คือต้องบอกว่าลูกสาวไม่ใช่เป็นคนดื้อหรืออะไร เธอเป็นเด็กน่ารัก แต่ถ้าบอกให้ไปซ้าย...เธอจะไปขวา (แหนะ) บอกให้เก็บรองเท้า เธอจะหยิบออกมาวางอีกคู่ (อืมมม)​ บอกให้เร็วๆหน่อย เธอก็จะลีลายึกยักชักช้า (ระเบิดลงบู้มมมม) คือเธอรู้ว่าควรต้องทำอะไร แต่พอบอกให้ทำปุ๊บจะไม่ทำทันที
มันเป็นพฤติกรรมคลาสสิคทางจิตวิทยามีชื่อเรียกว่า “psychological reactance” หรือ แรงต้านทางจิตวิทยา นั้นเอง มันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางลบที่เราแสดงออกเมื่อถูกสั่งให้ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง
นี่คือเหตุผลที่ตอนที่เราเป็นวัยรุ่นแม่บอกว่าอย่าออกไปเที่ยวกับเพื่อนกลางคืนนะมันอันตราย เราก็ไปซึ่งอาจจะไม่มีเหตุผลก็ได้ เพียงเพราะ “ก็จะทำอะ” ทำไม? ซึ่งต่อมาภายหลังเราก็จะรู้สึกว่า...เออ...รู้งี้ไม่มาก็ดีซะเป็นส่วนใหญ่ หรือตอนที่หัวหน้าสั่งให้ทำงานแล้วคุณรู้สึกรำคาญ ทั้งที่ลึกๆคุณก็รู้แหละว่างานที่ต้องทำนั้นสำคัญมากขนาดไหน
แทบจะเรียกว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ก็ว่าได้ ทุกคนจะมีความคิดแบบนี้อยู่เสมอ มันจะเข้ามายึดความคิดในสมองทันทีเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าถูกข่มขู่หรือคุกคาม ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องที่แย่ซะทีเดียว เพราะถ้าเราใสซื่อหรือเชื่อคนอื่นง่ายจนเกินไปก็จะเป็นช่องว่างให้ถูกเอาเปรียบได้ง่ายมาก
แต่แรงต้านทางจิตวิทยาก็สามารถก่อให้เกิดผลในทางลบได้เช่นเดียวกันในบางครั้ง เพราะมันจะเป็นสิ่งที่ยับยั้งเราไม่ให้เราทำในสิ่งที่ควรจะทำ จะเป็นสิ่งที่เตะตัดขาเราไม่ให้ไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ แม้ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ของเราก็ตาม และปลายทางกลายเป็นว่าตัวเราคือคนลงมือทำลายตัวเอง
เป็นไปได้เหรอ? เราจะตอบสนองกับตัวเองแบบนั้นจริงๆเหรอ? เมื่อเราเป็นคนบอกให้เราทำอะไรบางอย่างนี้นะ? ใช่ครับ ยกตัวอย่างเวลาเราพยายามจะทุ่มเทให้กับอะไรสักอย่าง โดยการสร้างตารางออกมาว่าต้องทำอะไรเมื่อไหร่วันไหนยังไง
อย่างสมมุติว่าอยากอ่านหนังสือมากขึ้น โดยการจัดตารางให้ตัวเองอ่านหนังสือวันละหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำเราก็รู้สึกถึงแรงต่อต้านที่เกิดขึ้นจากข้างใน โดยสาเหตุมันก็มาจากการที่ตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็น “ตัดสินใจ” ว่าจะอ่านหนังสือ แต่เป็นตัวคุณในอดีตที่มาสั่งให้คุณอ่านหนังสือ กลายเป็นเราในปัจจุบันกำลังต่อสู้กับตัวเองในอดีตไปซะงั้น
ซึ่งนักจิตวิทยาอธิบายว่านี่คือความขัดแย้งที่ทำให้เรากลายเป็นคนเสแสร้ง พูดอย่างหนึ่ง เมื่อถึงเวลาจริงๆกลับทำอีกอย่าง
โชคดีตรงที่ว่าเมื่อเราเข้าใจมันแล้วว่าสาเหตุมันมาจากอะไร เราก็สามารถรับมือกับแรงต้านทางจิตวิทยานี้ได้อยู่ ทริคของมันก็คือการปรับมุมมองของสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แทนที่จะตอบสนองต่อสิ่งที่เรากำลังจะทำด้วยความรู้สึก แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการพูดกับตัวเอง แทนที่จะบอกตัวเองว่า “ต้องทำ” บางอย่าง (เช่นต้องอ่านหนังสือนะ) ให้เป็นการบอกกับตัวเองว่า “ได้ทำ” บางอย่าง หรือ “คู่ควร” ที่จะได้ทำบางอย่าง (เช่นได้อ่านหนังสือแล้ว หรือ คู่ควรที่จะได้พักอ่านหนังสือแล้ว)
การเปลี่ยนประโยคพูดกับตัวเองในรูปแบบนี้จะช่วยทำให้ตัวคุณเองในปัจจุบันนั้นกลับเข้ามาอยู่ในโหมดของคนที่ควบคุมสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง ไม่ได้ถูกสั่งให้ทำ เรากำลังเลือกที่จะทำอะไรบางอย่างที่มีความหมายกับตัวเอง อิสรภาพของคุณไม่ได้ถูกริดรอนแต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงง่ายขนาดนั้น ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน แต่ก็มีคุณค่ามากพอที่จะเรียนรู้
คุณเลือกที่จะเชื่อส่ิงเหล่านี้หรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของคุณ แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม “อย่า” แชร์บทความนี้เป็นอันขาด ;-)
อ้างอิง
ช่องทางติดตามบทความเพิ่มเติม
Website : www.sopons.com
The People, Beartai, The Matter, CapitalRead, 101.World, GQ, a day Bulletin : สามารถค้นหาชื่อ ‘โสภณ ศุภมั่งมี’ ได้เลยครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา