16 ก.ค. 2022 เวลา 20:12 • ศิลปะ & ออกแบบ
จากนักวาดรูปคนหนึ่งที่กำลังถูกลืม แต่กลับถูกพูดถึงอีกครั้งบนโลกไซเบอร์จาก section เล็กๆ ในเว็บไซต์ส่วนตัวชื่อว่า “วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี” : https://jitdrathanee.com/Learning/ (อ่านรายละเอียดต่อท้ายบทความ)
ผมทิ้งการสอนไปนานมาก เนื่องจากช่วงหลังๆ ไม่ค่อยมีคนส่งภาพมาให้วาดเทียบ ประกอบกับผมติดงานนุงนังด้วย ทำให้กว่าจะได้กลับมาวาดสอนแต่ละทีๆ ต้องรอกันนานโข ทำให้ช่วงหลังๆ facebook group “วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี” | www.facebook.com/groups/146935972023961 | แชร์ภาพผลงานครูช่างโบราณ ครูช่างยุคปัจจุบัน หรือผลงานคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจเป็นหลัก แต่วันนี้กลับมาสอนแล้วครับ ต่อไปจะจัดสรรเวลาให้ดีขึ้น จะได้มีโอกาสสอนได้ต่อเนื่อง ตามปณิธานเดิมที่เคยตั้งไว้
วันนี้ประเดิมด้วยผลงานของ คุณธนกร FB: @Thanakorn Banjongsin (ภาพที่ 1 จากทั้งหมด 3 ภาพ) หนุ่มน้อยวัยมัธยม (รุ่นหลานผมแล้ว) จากโรงเรียนตลุกดู่วิทยาคม อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี
ก่อนอื่นขอชมก่อนเลยว่า ธนกรมีทักษะในการวาดลายไทยได้ดี มีความตั้งใจสูง แต่..ยังสามารถปรับปรุงเรื่องสัดส่วนได้อีก เพื่อให้การวาดมีพัฒนาการไปในทางที่ลงตัวได้ดียิ่งขึ้นครับ รูปซ้ายสุดเป็นผลงานต้นฉบับของธนกร เป็นรูปตัวพระกำลังยืนย่อเข่าเหยียบเนินเขามอ มือหนึ่งถือดาบ อีกมือหนึ่งถือช่อดอกไม้ แต่งกายทรงเครื่อง มีรัศมีรอบศีรษะ แต่ไม่สวมชฎา
ธนกรวาดได้ดีครับ แต่สัดส่วนต้องแก้ไข ดูภาพที่ 2 (ตรงกลาง) ผมวาดแก้ไขปรับสัดส่วนให้แล้ว เบื้องต้นธนกร อาจจะลากเส้นก๊อปปี้ตามภาพแก้นี้เลยก็ได้ครับ จะได้ศึกษาไปในตัว หากยังไม่แม่น ส่วนที่ต้องปรับก็เริ่มจากส่วนหัวเลย ตรงตำแหน่ง ตา หู จมูก ปาก กะโหลก ที่ยังเคลื่อนอยู่ แล้วก็มาช่วงลำตัว
(สังเกตเส้นสีน้ำเงินที่ผมวาดเทียบไปเรื่อยๆ นะครับ) หน้าอก แขน บ่า หัวไหล่และมือ ที่ต้องดูจังหวะให้สัมพันธ์กัน ต่อมาคือส่วนของสะโพก ก้น หัวเหน่า ต้นขา และหน้าแข้ง ไล่ไปจนถึงปลายเท้า ให้ดูจังหวะเส้น เพื่อให้ตัวพระดูยืนได้อย่างมั่นคงด้วยครับ
รูปที่ 3 (ขวามือสุด) จะเห็นเส้นสีแดง ซึ่งเป็นเส้นโครงแกนหลักของตัวพระ ถ้าจับเส้นแกนนี้ได้ ก็จะวาดสัดส่วนได้สมมาตรมากยิ่งขึ้นครับ ตอนนี้ให้ปรับสัดส่วนไปก่อน ส่วนลวดลายต่างๆ ยังสามารถพัฒนาต่อได้อีก ถ้าขยันแบบนี้ ไม่นานครับ ให้หัดสังเกตงานที่ชอบ ในกลุ่มนี้ก็มีทั้งงานครูช่างโบราณ และงานครูช่างรุ่นปัจจุบันที่งามๆ โพสต์ให้ชมเป็นระยะๆ หมั่นศึกษานะครับ #ขอให้วาดเล่นๆให้สนุกครับ
อ้อ...มีโพสต์เก่าแนะนำ เรื่อง #การวาดต้นไม้และก้อนหิน ให้ธนกร ได้ศึกษาต่อด้วยครับ
  • ฉากภาพฉากธรรมชาติ โขดหินและเขามอ ฝีมือ ครูเก่ง @นพพล นุชิตประสิทธิชัย โพสต์เมื่อ 25 มี.ค. 2019 : www.facebook.com/groups/146935972023961/posts/2666106793440187/
แหล่งศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม
ขอย้อนเล่าเรื่องที่มาต่อนะครับ (ยาวหน่อย ข้ามได้ครับ) :
ผมแสดงผลงานนิทรรศการศิลปะเต็มตัวครั้งแรก ร่วมกับ อ.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ (ปัจจุบันท่านเสียแล้วครับ) เมื่อ พ.ศ. 2540 ช่วงที่ #วิกฤตต้มยำกุ้ง กำลังเริ่มต้น ชื่อนิทรรศการ “จิตรกรรมไทย ๒ จิตวิญญาณ : Two Souls and Minds in Thai Painting” จัดที่ล็อบบี้ #โรงแรมมณเฑียรริเวอร์ไซด์ ถ.พระราม 3 กรุงเทพฯ หลังจบงานผมขายผลงานได้บางส่วน และมีบางส่วนที่ยังไม่มีเจ้าของ และยังคงอยู่กับผมมาจนถึงทุกวันนี้
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ การจัดนิทรรศการแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ตอนนั้นน่าจะลงทุนไปราว 80,000 บาท (นั่น 20 กว่าปีมาแล้ว ถ้าเทียบกับเงินเฟ้อในยุคปัจจุบัน คงเป็นเงินหลายแสนบาท) ช่วงนั้นคิดว่าจะทำอย่างไร ให้เรามีผลงานโชว์ได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง พอดีกับเวลานั้นเป็นจังหวะที่อินเตอร์เน็ตในบ้านเรากำลังเริ่มบูมใหม่ๆ ผมจึงสนใจเรื่องทำเว็บไซต์เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานของตัวเอง
พิธีเปิดนิทรรศการ "จิตรกรรมไทย ๒ จิตวิญญาณ" โดย คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นประธานในพิธีเปิด
สมัยนั้นค่าจ้างทำเว็บไซต์แพงมาก ทำให้ผมต้องพยายามศึกษาด้วยตนเองทั้งหมด (หัดเขียนเว็บไซต์ เรียนรู้โปรแกรม Adobe Photoshop ผมเริ่มต้นใช้ PS ตั้งแต่เวอร์ชั่น 4.0 ออกปี 1996) จนเว็บไซต์ จิด.ตระ.ธานี www.jitdrathane.com ได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลกไซเบอร์เป็นครั้งแรก (ก่อนหน้ายังไม่จดโดเมนเนมเป็นของตัวเอง ยังใช้พื้นที่เว็บฟรีอยู่เลยครับ พอเรามั่นใจมากขึ้น จึงตัดสินใจเช่าโฮสติ้ง และจดโดเมนเนม ในชื่อของตัวเอง)
ที่มา : https://www.webdesignmuseum.org/old-software/graphic-software/adobe-photoshop-4-0
จิด.ตระ.ธานี มาจากการสมาส (ประสม) คำ 2 คำคือ “จิตร” (อ่านว่า จิด-ตระ) แปลว่า การวาดรูป ระบายสี กับคำว่า “ธานี” (ชื่อจริงของผม) ที่แปลว่า เมือง รวมความแล้วหมายถึง #เมืองแห่งการวาดรูประบายสี ผมคิดคำนี้ออกตอนกำลังนั่งอยู่ริมหน้าต่างบนรถเมล์ ปล่อยให้ลมโกรกตีหน้าไปพลาง ปล่อยใจคิดไปเพลินๆ พอนึกชื่อออกปั๊บ ก็เลยป้ายที่จะลงไปแล้ว (ฮา)
สมัยก่อนผมเขียนว่า #จิตรธานี ซึ่งเป็นคำสะกดที่ถูกต้อง แต่คนทั่วไปชอบอ่านว่า จิด-ธานี (3 พยางค์) ซึ่งไม่ใช่อย่างที่ผมต้องการ หลังๆ ตัดรำคาญ จึงเขียนด้วยคำอ่านเป็น จิด.ตระ.ธานี เสียเลย หมดเรื่อง 555+ (ตั้งใจสะกดคำว่า จิด ด้วย ด.เด็ก ด้วยครับ เพื่อไม่ให้มีความหมาย แบบที่สะกดด้วย ต.เต่า เป็นคำว่า จิต)
ในเว็บไซต์ จิด.ตระ.ธานี www.jitdrathanee.com ส่วนใหญ่จะลงประวัติและผลงานศิลปะของผมเป็นหลัก เหมือนสูจิบัตรออนไลน์ แต่ช่วงหลังผมได้เพิ่ม section ใหม่ เนื่องจากน้องเนอร์ส (ด.ญ. ณัฐวรา เหลืองอุดม) สาวน้อยจาก จ.ขอนแก่น (ขณะนั้นอายุ 14 ปี) ส่งรูปวาดลายไทยของตัวเองมาให้ผมวิจารณ์ทางอีเมล เมื่อ 3 มี.ค. 2541 (1998) เป็นคนแรก : (คลิกชมเว็บไซต์) https://jitdrathanee.com/Learning/learner/nurse_001.htm
‘เทวดาเหลียวหลัง’ ผลงานชิ้นแรกที่น้องเนอร์ส ส่งมาให้ผมวิจารณ์ เมื่อ พ.ศ. 2541
ผมคิดว่าไหนๆ ก็จะสอนวาดแล้ว น่าจะเปิด section ใหม่ในเว็บไซต์เพิ่มเลยดีกว่า เพราะจะได้เป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ที่สนใจเรียนรู้ลายไทยไปพร้อมๆ กัน ตอนนั้นผมต้องการให้ชื่อ section ใหม่นี้ เป็นคำที่ฟังดูสบายๆ ไม่ซีเรียส (เพราะคนส่วนใหญ่พอนึกถึงลายไทย มักรู้สึกจริงจังมากเกินไป) ผมจึงตั้งชื่อว่า “วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี” เพราะลายไทยก็ “วาดเล่นๆ” ชิวๆ ได้นะ
ผลที่ได้หลังจากนั้นคือ มีคนสนใจส่งผลงานมาให้ผมวิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกอาทิตย์ จากทั่วประเทศไทย คนไทยที่อยู่ต่างประเทศก็มี บางครั้งยังมีคนต่างชาติส่งผลงานมาให้ผมวิจารณ์ด้วย (ไม่รู้หลงมาได้ยังไงเหมือนกัน เพราะเว็บไซต์ผมใช้ภาษาไทยเป็นหลัก) มากเสียจนผมทำให้ไม่ทัน รอคิวกันยาวๆ ไปเลยก็มี
ผมเริ่มต้นใช้งานจาก WEB 1.0 (สื่อสารทางเดียว) ต่อมาพัฒนาเป็น WEB 2.0 (สื่อสารได้ 2 ทางแบบเรียลไทม์) เกิดโซเซียลมีเดียอย่าง facebook (ถือกำเนิด 4 ก.พ. 2004) ทำให้ความนิยมของเว็บไซต์รูปแบบ WEB 1.0 ลดลงตามไปด้วย เพราะคนส่วนใหญ่หันไปใช้โซเซียลมีเดียกันมากขึ้นเรื่อยๆ ผมเลยถือโอกาสย้าย section นี้มาถือกำเนิดใหม่ในกลุ่ม facebook แทน [ www.facebook.com/groups/146935972023961 ] จนถึงปัจจุบันครับ
จิด.ตระ.ธานี : #สอนลายไทย
#Jitdrathanee
#เรียนลายไทย #เรียนลายไทยStyleจิดตระธานี | Learning Thai pattern: Jitdrathanee’s Style
#LearningThaiPattern #LearningThaiDesign

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา