28 พ.ย. 2022 เวลา 12:38 • ศิลปะ & ออกแบบ
หายไปนานจากการสอนวาด คราวนี้ขอแนะนำผลงานลายเส้นของหนุ่มน้อย “โดม” @ร่มธรรม ไตรพฤกษา (ชื่อเพราะมาก) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จาก โรงเรียนชัยมงคลวิทย์ จ.สงขลา จริงๆ โดมส่งงานมาให้ผมช่วยแนะนำนานมาก.ก.ก.... (มีหลายรูปด้วยสิ) อาจจะนานจนหลานชายตัวน้อยๆ คนนี้ลืมไปแล้วก็ได้.... ไม่แก้ตัวนะครับ เอ้า...เริ่มกันเลย!
รูปแรก (ซ้ายมือสุด) เป็นผลงานวาดเส้นดินสอรูป #หนุมาน ของโดม ถึงจะวาดผิดสัดส่วน (ตามหลักมาตรฐาน) ไปเยอะ แต่....กลับวาดออกมาได้สวย น่ารัก แลดูเป็นธรรมชาติมากๆ รายละเอียดโคตรดี เอาเป็นว่า...สมัยอยู่ในวัยเดียวกัน ผมยังวาดไม่ได้ขนาดนี้เลย ลุงขอแนะนำนะครับว่า ให้โดมเก็บรูปวาดพวกนี้เอาไว้ หาแฟ้มพลาสติกหรือซองดีๆ มาใส่ อย่าทิ้งเชียวนา ผ่านไปอีก 10 ปี เอากลับมาดูใหม่ จะเห็นความแตกต่าง...จนต้องอมยิ้มเชียวแหละ ว่า..ตอนหนูอายุเท่านี้ วาดได้ขนาดนี้ ถือว่าเก่งมั่กๆ เลย
รูปที่ 2 (รูปกลาง) เป็นรูปที่ผมปรับแก้สัดส่วนให้ ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบ #ลายไทยมาตรฐาน* แต่...พยายามวาดให้ท่าทางดูใกล้เคียงกับของโดมแล้วนะ แต่...ได้เท่านี้อ่ะ (ฮา) จุดสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือตรงเท้าลิง (หรือหนุมานในรูป) จะวาดไม่เหมือนกับเท้าคน แต่จะดูคล้ายมือมากกว่า เพราะช่างออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับเท้าลิง ที่อยู่ในธรรมชาตินั่นเองครับ
ตัวลิงหรือตัวยักษ์ ช่างมักนิยมวาดลำตัว แขน ขา รวมถึงอุ้งมือและนิ้วมือให้ดูอ้วนๆ ป้อมๆ (จะได้ดูถึกๆ หน่อย) จะต่างจากตัวพระหรือตัวนาง ที่ช่างมักวาดนิ้วให้เรียวยาวกรีดกราย
รูปที่ 3 (ขวามือสุด) เป็นรูปที่ผมใส่เส้นแกน (เส้นสีชมพูบานเย็น) ให้เห็นว่า...ก่อนจะร่างภาพใดๆ เราควรเริ่มจากการวาดเส้นแกนนำซะก่อน (คล้ายๆ โครงกระดูก) เมื่อมีเส้นแกนเป็นโครงร่างหลัก (ปรับแก้ได้จนกว่าจะพอใจ ก่อนจะวาดจริง) จะทำให้เห็นทิศทางของหัว ลำตัว แขนและขา แบบรวมๆ จะทำให้กำหนดท่าทางในการวาดได้ง่ายขึ้นครับ
หนุมานในรูปนี้หันหน้าไปด้านข้าง แผ่นอกและลำตัวหันตรง แต่ส่วนขา (น่องกับสะโพก) พลิกยื่นออกไปข้างหน้าในลักษณะก้าวเดิน (แต่ท่านี้ดูเหมือนกำลังเหาะมากกว่านะ) ส่วนขาอีกข้างผายออก แล้วงอหัวเข่าและปลายเท้าเข้าหาลำตัว
จริงๆ รูปนี้มีจุดที่น่าสนใจที่อยากแนะนำต่อคือ #การวาดใบหน้าหนุมานด้านข้าง ไว้มีโอกาสจะทำมาให้ชมกันอีกครั้งนะครับ
จิด.ตระ.ธานี : #สอนลายไทย
#Jitdrathanee
*ลายไทยมาตรฐาน : มักอ้างอิงกับรูปแบบลายไทยแบบภาคกลาง สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ร.1 - ร.4) หรือสมัยอยุธยา แต่จริงๆ ลายไทยมีหลายรูปแบบ เช่น ลายไทยภาคเหนือ (ร.5) หรือ ลายไทยภาคอีสาน (ร.6 - ร.7) ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีความเฉพาะตัวสูง แตกต่างและไม่เหมือนกับลายไทยแบบภาคกลาง
#เรียนลายไทย #เรียนลายไทยStyleจิดตระธานี | Learning Thai pattern: Jitdrathanee’s Style
#LearningThaiPattern #LearningThaiDesign

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา