18 ก.ค. 2022 เวลา 08:00 • สิ่งแวดล้อม
《ส่อง "หนันอ้าว" เห็นสึนามิแห่งต้าซ่ง|“南澳岛”古海啸文明遗址》
หากพูดถึง "สึนามิ" ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ก็คงจะนึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 26 ธ.ค. 2547 ซึ่งเราคนไทยคงคุ้นเคยกันอย่างดีและจดจำไม่มีวันลืม ทว่าเหตุการณ์นั้นยังไม่ถึงกับ "ทำลายล้างวัฒนธรรม"
.
รู้หรือไม่ เหตุการณ์ที่ขึ้นชื่อว่า "ทำลายล้างวัฒนธรรม" ในหน้าประวัติศาสตร์จีนก็คือ "สึนามิทะเลจีนใต้" ที่เกาะหนันอ้าว ซึ่งนักวิจัยชาวจีนกล่าวว่า เคยเกิดคลื่นสึนามิซัดถล่มจีนเมื่อ 1000 ปีที่แล้ว และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจจะอุบัติซ้ำอีก
🗺ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ประเทศจีน|中国地理位置🗺
ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ประเทศจีน|中国地理位置
จีนตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของแผ่นดินใหญ่ยุโรป-เอเชีย (ยูเรเซีย; Eurasia) ซึ่งอยู่บนฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก มีพรมแดนบนบกยาว 20,000 กว่ากม. ติดกับประเทศใกล้เคียง 14 ประเทศ
แนวชายฝั่งทะเลของแผ่นดินใหญ่จากทางเหนือตั้งแต่ปากแม่น้ำยาลฺวี่(鸭绿江;Yālǜ jiāng)ซึ่งเป็นเส้นพรมแดนระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ ทางใต้คือปากแม่น้ำเป่ย์หลุน(北仑河;Běilún hé)เป็นเส้นพรมแดนระหว่างจีนกับเวียดนาม
นอกจากนี้ ยังมีพรมแดนติดกับผืนทะเลทั้ง 4 ได้แก่ ทะเลปั๋วไห่(渤海;Bóhǎi)ทะเลเหลือง(黄海;Huánghǎi)ทะเลจีนตะวันออก(东海;Dōnghǎi)และทะเลจีนใต้(南海;Nánhǎi)ทั้งยังมีเกาะ 5,000 เกาะกระจายตัวอยู่ตามแนวชายฝั่งอีกด้วย
🗺ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเกาะหนันอ้าว|南澳岛地理位置🗺
ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเกาะหนันอ้าว|南澳岛地理位置
- รู้จักเกาะ “หนันอ้าว”|南澳岛历史概况 -
โบราณวัตถุและซากโบราณสถานที่สำคัญที่ขุดพบที่เกาะหนันอ้าว(南澳;Nán'ào)เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเกาะข้างต้นมีความเป็นมายาวนานในประวัติศาสตร์จีน ซึ่งหนันอ้าวอยู่ห่างจากเมืองเฉวียนโจว(泉州;Quánzhōu)ของมณฑลฮกเกี้ยน(福建;Fújiàn)อันเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมโบราณทางทะเลประมาณ 300 กม.
นอกจากนี้ ยังมีการขุดพบสินค้าจำนวนมากในซากเรือสมัยราชวงศ์หมิงที่จมลงทางตอนใต้ของเกาะประมาณ 2 กม. สินค้าที่พบประกอบด้วยเครื่องเคลือบ(瓷器;cíqì)เครื่องปั้นดินเผา(陶器;táoqì)และเหรียญกษาปณ์ต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกาะแห่งนี้มีความสำคัญต่อเส้นทางสายไหมทางทะเลเป็นอย่างมาก
- ลักษณะเกาะ “หนันอ้าว”|南澳岛地形 -
เกาะหนันอ้าว(南澳岛)ตั้งอยู่ในอำเภอหนันอ้าว(南澳县;Nán'ào xiàn)เมืองซัวเถา(汕头市;Shàntóu shì)มณฑลกวางตุ้ง(广东;Guǎngdōng)ตัวเกาะอยู่ทางใต้สุดของช่องแคบไต้หวัน ซึ่งอยู่ตรงจุดตัดของทะเล ตามแนวชายฝั่งตอนเหนือของทะเลจีนใต้
ลักษณะส่วนใหญ่ของเกาะจะเป็นภูเขา มีพื้นที่ราบกระจัดกระจายไม่กี่แห่งบริเวณตอนกลางและริมชายฝั่งของเกาะ ระดับน้ำทะเลในน่านน้ำใกล้ๆ เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วง 3000 ปีที่ผ่านมา และเมื่อประมาณ 660~1500 ปีที่แล้วมีระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปัจจุบันอยู่ที่ 0.5~0.2 ม.
ภูมิประเทศของเกาะเป็นอ่าวแคบๆ ตามแนวชายฝั่งและมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลที่คงที่ จึงทำให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการก่อตัวและสะสมสึนามิเป็นอย่างมาก
“หนันอ้าว” สึนามิโบราณ|南澳古海啸
🗂พิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งและงานวิจัย🗂
ภาพแสดงที่ตั้งของเกาะหนันอ้าวและแหล่งที่ทำการวิจัย|南澳岛和研究地区
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สึนามิที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียและญี่ปุ่น รวมถึงสึนามิที่ถล่มอินโดนีเซียทำให้เกิดความสูญเสียอันใหญ่หลวงต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในอดีตมนุษย์ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสึนามิ แน่นอนว่าตามแนวชายฝั่งจีนก็คือหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน
เมื่อเร็วนี้ๆ (ราวปี 2018-2019) ทีมวิจัยศ.ซุนลี่กว่าง(孙立广;Sūn Lìguǎng)และเซี่ยโจวชิง(谢周清;Xiè Zhōuqīng)จากคณะภาควิชาโลกและอวกาศ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน(中国科学技术大学地球和空间科学学院、极地环境与全球变化安徽省重点实验室)ได้ศึกษาวิจัยรายละเอียดตะกอนตามแนวชายฝั่งของเกาะหนันอ้าวในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเผยให้เห็นถึงร่องรอยของการถูกคลื่นสึนามิซัดถล่มในทะเลจีนใต้เมื่อพันปีก่อน และเป็นสิ่งยืนยันว่าเคยมีเหตุการณ์สึนามิเกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งในประวัติศาสตร์จีนมาก่อน
งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์《科学通报》ภายใต้ชื่อ “หนันอ้าวแห่งเมืองซ่ง: ซากอารยธรรมที่ถูกทำลายโดยสึนามิ《南澳宋城:被海啸毁灭的古文明遗址》” ซึ่งผู้เขียนบทความคนแรกคือศ.หยางเหวินชิง(杨文卿;Yáng Wénqīng)
วารสารวิทยาศาสตร์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 1 (ม.ค. 2019)|《科学通报》2019年1月 第64卷 第1期
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยของศ.ซุนลี่กว่างได้ทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในน่านน้ำของจีนและประสบความสำเร็จในที่สุด มีการค้นพบว่าราวปีค.ศ. 1024 หรือ รัชศกเทียนเซิ่งปีที่ 2 แห่ง ซ่งเหรินจง(天圣二年—宋仁宗)เกิดภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาบนหมู่เกาะพาราเซลตะวันออก(西沙东岛;Xīshā dōng dǎo)เป็นครั้งแรก ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวาระครบรอบ 50 ปีของวารสารมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน《中国科学技术大学学报》ในปีค.ศ. 2008
ตามงานวิจัยกล่าวว่า มีชั้นทรายปะการังหนา 10 ซม. ปะปนกับตะกอนในทะเลสาบบนเกาะ ตามการวิเคราะห์ขนาดอนุภาคของทรายปะการังแสดงให้เห็นว่าพวกมันถูกทับถมในช่วงเวลาเดียวกันและก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว อายุของเศษเมล็ดพืช ซากพืชซากสัตว์ที่อยู่ในด้านบนและด้านล่างของชั้นดินมีอายุเฉลี่ยราวปีค.ศ. 1024 ดังนั้น ผลการวิจัยจึงถือว่านี่คือหายนะทางนิเวศที่เกิดจากคลื่นพายุขนาดใหญ่ (สึนามิ) ในทะเลจีนใต้เมื่อ 1000 ปีก่อน แต่ทว่าไม่มีหลักฐานที่มากพอที่จะสรุปได้ว่าเหตุใดสึนามิจึงเกิดเพียงครั้งเดียวเมื่อ 1000 ก่อน?
จากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ยังบ่งชี้ถึงความเสี่ยงแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิตามมาตามแนวร่องทะเลลึกมะนิลา (Manila Trench) และเข้าถล่มบริเวณชายฝั่งกวางตุ้ง ไหหลำของจีน และพื้นที่บางส่วนของไทย
การวิจัยในภายหลังได้พบว่า หอยลาย ก้อนปะการังและกรวดที่ก้นทะเลมีการกระจายภายในพื้นที่กว้าง 200 กม. ตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่เกาะพาราเซลตะวันออก หากเราลองคิดตามหลักเหตุผลก็จะพบว่าหอยและปะการังควรจะอยู่ตามแนวปะการังริมชายฝั่ง ส่วนกรวดก็ต้องอยู่ที่พื้นทะเล การที่พวกมันถูกซัดมายังเกาะได้ต้องปะทะกับแรงมหาศาลบางอย่างมาก่อน หลักฐานจำนวนมากพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติทางนิเวศในปีค.ศ. 1024 เกิดจากสึนามิแน่นอน จึงสามารถการันตีได้ว่าเคยมีเหตุการณ์สึนามิในทะเลจีนใต้มาก่อน
ดังนั้นหลักฐานข้างต้นสามารถนำมาหักล้างกับความเข้าใจที่ว่าในทะเลจีนใต้ไม่มีสึนามิ และงานวิจัยนี้ก็ได้รับการตีพิมพ์ในรายงานทางวิทยาศาตร์《科学报告》ในปีค.ศ. 2013 เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการเกิดสึนามิในอนาคต
ภาพแสดงตำแหน่งร่องลึกก้นสมุทรริวกิว|琉球海沟位置
นอกจากจะวิจัยสึนามิในทะเลจีนใต้แล้ว ทีมงานวิจัยยังได้ทำการวิจัยสึนามิในทะเลจีนตะวันออกอีกด้วย
จากการวิเคราะห์แร่อาร์จิลลิเชียส (Argillaceous) บนพื้นผิวตะกอนในมณฑลฮกเกี้ยนและเจ้อเจียง(浙江;Zhèjiāng)รวมกับการจำลองเชิงตัวเลขสรุปได้ว่า ไม่มีสึนามิขนาดใหญ่เกิดขึ้นบริเวณทะเลจีนตะวันออกในช่วง 2000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ. 2016 ในนิตยสารนานาชาติควอเทอร์นารี《国际第四纪期刊》โดยมีการชี้ให้เห็นว่าบริเวณแนวชายฝั่งทะเลจีนตะวันออกมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดสึนามิ หากเกิดก็คงมาจากการเกิดแผ่นดินไหวที่ร่องลึกก้นสมุทรริวกิว (Ryukyu Trench)
🗂พิจารณาจากชั้นตะกอนและชั้นทรายจากแหล่งที่ทำการวิจัย🗂
ภาพแสดงชั้นตะกอนและชั้นทรายที่ทำการศึกษา|宋井沙滩、澳前村和青澳湾沉积剖面
การค้นพบสึนามิโบราณครั้งแรกในทะเลจีนใต้ได้ความสนใจในวงกว้าง ทีมวิจัยจึงเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงผลกระทบจากสึนามิโบราณที่ซัดถล่มเกาะหนันอ้าวในมณฑลกวางตุ้ง โดยมีการขุดชั้นดินที่ประกอบด้วยเศษเปลือกหอยจำนวนมากและเศษเซรามิคสมัยราชวงศ์ซ่งในตะกอนตามชายฝั่งซ่งจิ่ง(宋井;Sòng jǐng)ซึ่งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะหนันอ้าว อนุภาคตะกอนในชั้นนี้ค่อนข้างหยาบและการกระจายตัวของขนาดอนุภาคก็สอดคล้องกับหาดทรายบริเวณใกล้เคียง ซึ่งสันนิษฐานว่าวัตถุเหล่านี้มาจากชายหาดหรือแนวชายฝั่งใกล้เคียงก็เป็นได้
ชั้นตะกอนบริเวณหมู่บ้านอ้าวเฉียน(澳前村;Ào qián cūn)มีเนื้อละเอียด ทั้งยังมีเศษอิฐและกระเบื้องแตกกระจัดกระจาย ส่วนชั้นตะกอนบริเวณอ่าวจิ่วซี(九溪澳;Jiǔ xī ào)และอ่าวชิงอ้าว(青澳湾;Qīng ào wān)มีความหยาบกว่า แต่การกระจายตัวของขนาดอนุภาคคล้ายกับหาดซ่งจิ่ง ทว่าไม่มีการสะสมของคลื่นสึนามิในชั้นตะกอน
ดังนั้นจึงตัดความเป็นไปได้ที่อ่าวดังกล่าวได้รับผลกระทบจากสึนามิโดยตรง หากแต่หินกรวด เศษครกหินสมัยซ่งและกรวดมนจากอ่าวจิ่วซีไปกระจายอยู่ตามหาดซ่งจิ่งได้นั้นเป็นตัวบ่งบอกถึงกระบวนการทางอุทกพลศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญต่อการยืนยันว่าเกาะหนันอ้าวได้รับผลกระทบจากสึนามิ
ภาพแสดงเศษเซรามิคและครกหินสมัยราชวงศ์ซ่ง|发现的宋代陶瓷器碎片和宋代石臼
🗂พิจารณาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์จีน🗂
พงศาวดารซ่งและจดหมายเหตุแต้จิ๋ว|《宋史》和《潮州府志》
วันที่เกิดสึนามิบริเวณหมู่เกาะพาราเซลตะวันออกประมาณค.ศ. 1024 ซึ่งอ้างอิงตามช่วงเวลาจากซากพืชซากสัตว์ในชั้นตะกอนบนเกาะ (หรือพูดง่ายๆ ก็คืออิงตามที่โลกบันทึกไว้)
หากอ้างอิงตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือก็คือ "จดหมายเหตุแต้จิ๋ว《潮州府志》" และ "พงศาวดารซ่ง《宋史》" ต่างระบุไว้ว่า: "รัชศกซีหนิงปีที่ 9 แห่ง ซ่งเสินจง(熙宁九年—宋神宗)หรือ ค.ศ. 1076 ในระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-28 พ.ย. เกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นตามแนวชายฝั่งทะเลจีนใต้ในมณฑลกวางตุ้ง กระแสน้ำทะเลล้นท่วมขึ้นมาบนฝั่ง บ้านเรือนพังย่อยยับ ชาวบ้านจมน้ำเสียชีวิต แต่ไม่ทราบชนิดพายุนั้น"
สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ มีการพบเศษซากเซรามิคสมัยราชวงศ์ซ่งจำนวนมากในชั้นตะกอนสึนามิ นอกจากนี้ ยังค้นพบเตาเผาเครื่องเคลือบอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณซ่งจิ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีอารยธรรมระดับสูงในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือตอนกลาง
สึนามินำไปสู่การทำลายล้างหนันอ้าว และจำนวนของโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมบนเกาะก็แทบจะสาบสูญไปเกือบ 500 ปี จนทั่งถึงยุคหลังราชวงศ์หมิงจึงค่อยๆ เริ่มปรากฏโบราณวัตถุเหล่านั้นขึ้นมาอีกครั้ง มีการขุดค้นพบเหรียญกษาปณ์ 15,000 เหรียญจากซากเรือ “หนันอ้าวหมายเลข 1(南澳1号)” ซึ่งเป็นเรือในสมัยราชวงศ์หมิงที่จมลงบริเวณทางใต้ของเกาะประมาณ 2 กม.
💡สรุปเนื้อหาและทำความเข้าใจอีกครั้ง💡
สึนามิโบราณเคยเกิดขึ้นมาก่อนในทะเลจีนใต้ ครั้งแรกที่สามารถระบุช่วงอายุได้คือ “ค.ศ. 1024” ซึ่งเป็นสิ่งที่พื้นดินบันทึกไว้ ส่วนวันเวลาที่แน่ชัดและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดคือ “ค.ศ. 1076” ซึ่งปรากฏในพงศาวดารซ่งและจดหมายเหตุแต้จิ๋ว นับว่าเป็นคลื่นสึนามิที่ทำลายล้างวัฒนธรรมจีนที่เกาะหนันอ้าวที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ทางการจีนและบริษัทที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาและวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิใกล้ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลาเมื่อต้นปี 2018 เป็นที่เรียบร้อยตามนโยบาย "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(一带一路)" เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียเหมือนที่ผ่านมา
📢ประกาศจากทางเพจ📢
ทางเพจได้เปิดขายสติ๊กเกอร์ไลน์ Ver.1 มีทั้งหมด 8 ตัว+ภาษาจีน
สามารถซื้ออุดหนุนได้ที่ "Line Store" หรือ ตามลิงก์ด้านล่างได้เลยนะครับ
สติ๊กเกอร์ไลน์ "เป่าหลานคิ้วปลิง"
อ้างอิง|参考
[1] 中国科学院.南澳宋城:被海啸毁灭的古文明遗址[J].科学通报,2019,(1): 107-120.
[2] 科学通报.南澳宋城:被海啸毁灭的古文明遗址[EB/OL].北京:中国科技出版传媒股份有限公司.2018-12-07/2022-07-18.
[3] 海洋知圈.中国科大古海啸研究获突破!揭示广东南澳岛千年前曾遭南海海啸袭击,证实中国历史上曾发生过海啸冲击大陆海岸带事件[EB/OL]. https://www.sohu.com/a/285752139_726570 . 2018-12-30/2022-07-18.
[4] สันติ ภัยหลบลี้. 2565. 13 เขตมุดตัวของเปลือกโลกในอาเซียน ตัวการที่ทำให้เกิดสึนามิ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.mitrearth.org/4-82-subduction-zone-in-asean/ . 18 กรกฎาคม 2565.
[5] ผู้จัดการออนไลน์. 2565. นักวิทย์เผยสึนามิเคยถล่มจีนเมื่อ 1,000 ปีที่แล้ว เตือนความเสี่ยงยังมีอยู่ อาจถล่มกวางตุ้ง ไห่หนัน และบางส่วนของไทย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://mgronline.com/china/detail/9620000000763 . 18 กรกฎาคม 2565.
โฆษณา