19 ก.ค. 2022 เวลา 04:21 • ไลฟ์สไตล์
“พ้นจากบ่วงของวัฏฏะโดยสิ้นเชิงได้อย่างไร ? ”
“ … ทุกสภาวธรรมที่เข้าถึง ไม่ว่าจะละเอียดลึกซึ้งซักเพียงใดก็ตาม เข้าถึงได้ต้องถอยออกมาได้
เมื่อไหร่ก็ตามที่จิตเราละเอียดมาก เข้าแล้วมันไม่ออกมา มันค้างอยู่อย่างนั้น เช่น มันว่างมันก็ว่างอยู่ตลอดเวลาอยู่อย่างนั้น ถอยออกมาไม่ได้ ให้รู้เลยว่านั่นติดกับดักของวัฏฏะแล้ว
มันคือ กับดัก กิเลสอย่างละเอียดของวัฏฏะนั่นเอง มันไม่เป็นสัจธรรม
สัจธรรมในวัฏสงสาร ก็คือ กฏของไตรลักษณ์
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ทุกสภาวธรรมเข้าถึงแล้วต้องออกออกมาได้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ขนาดพระนิพพานอันเป็นบรมธรรม พระองค์ยังไม่ยึดมั่นถือมั่นเลย จะกล่าวไปใยถึงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมเล่า
พระองค์เป็นแบบอย่างเลย เพราะว่าถ้าเข้าถึงสภาวะที่มันพ้นออกไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ตั้งแต่ระดับพระอรหันต์ ระดับพระพุทธเจ้า ที่เข้าถึงจุดที่พ้นโดยสิ้นเชิงแล้วนั้น จุดนั้นจะเป็นจุดตัดสินใจ
ถ้าจางคลายหมดจดไม่กลับมาอีก ก็จะกลายเป็นคืนสู่ธรรมชาติไปเลย จะไม่มีทางกลับมาได้อีก เรียกว่า “อนุปาทาปรินิพพาน” ดับไม่มีส่วนเหลือ จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เลย
พระอรหันต์ทุก ๆ พระองค์ที่ถึงจุดสภาวะนี้ จะต้องถึงจุดตัดสินใจว่า จะจางคลายโดยสิ้นเชิงไหม หรือว่าจะกลับมา
ถ้าจางคลายโดยสิ้นเชิงไม่กลับมา ก็ “อนุปาทาปรินิพพาน” ดับไม่มีส่วนเหลือ พ้นออกไปเลย เมื่อพ้นแบบนั้นจะไม่สามารถกลับมาได้อีกแล้ว เรียกว่าข้ามฝั่งโดยสิ้นเชิงนั่นเอง แต่ถ้ากลับมา ก็จะถอยกลับมา
พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระอรหันต์ทุก ๆ พระองค์ ต้องถอยกลับมา จึงเรียกว่า “อุปาทาปรินิพพาน” ยังมีส่วนเหลืออยู่
เข้าแล้วขนาดเป็นบรมธรรม ยังถอยออกมาทีเดียว พระองค์แสดงแบบอย่างให้เห็นแล้ว แม้กระทั่งก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ก็เดินจิตเป็นสภาวะวาระสุดท้ายเลย ตั้งแต่ปฐมฌาน ถ้าไม่ถอยออกมาจะเข้าปฐมฌานได้ไหมล่ะ ?​
1
ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ และเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ
จากนั้นพระองค์ก็ถอยกลับมา เนวสัญญานาสัญญายตนะ อากิญจัญญายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากาสานัญจายตนะ จตุตฌาน ตติยฌาน ทุติยฌาน ปฐมฌาน
2
จากนั้นพระองค์ก็ดับวางขันธ์ ตั้งแต่ชั้นหยาบลงไป เข้าถึงทุติยฌานก็ดับส่วนที่เหลือลงไป ตติยฌานก็ดับรอบส่วนที่เหลือลงไป จตุตฌาน ดับไม่มีส่วนเหลือเลย
หมดจดโดยสิ้นเชิง จางคลายโดยสนิทนั่นเอง “อนุปาทาปรินิพพาน” ดับไม่มีส่วนเหลือ คืนสู่ความเป็นธรรมชาติ พ้นออกไปโดยสิ้นเชิง
เพราะฉะนั้นสภาวะที่เรียกว่า ไม่มีไป - ไม่มีมา ไม่มีเข้า - ไม่มีออก มันไม่ใช่สภาวธรรม แต่มันคือปลายทาง
เหมือนเราเข้ามแล้วข้ามไปเลย จะไม่มีทางย้อนกลับมาได้อีก จะถึงตรงนั้นต้องอนุปาทาปรินิพพานเท่านั้น วางขันธ์หมดจด จะไม่กลับมาอีกเลย
แต่ถ้าเป็นระหว่างยังทรงธาตุขันธ์อยู่ จะมีเข้ามีออก มีเดินสภาวธรรม จะไม่สามารถไปถึงจุดอนุปาทาได้ ที่เรียกว่านั่นคือเนื้อธรรมชาติดั้งเดิม ที่อยู่พ้นออกไป
เพราะฉะนั้นให้เข้าใจสิ่งที่เป็นสัจธรรม ทุกสภาวธรรมไม่ว่าจะละเอียดแค่ไหน เข้าแล้วต้องถอยออกมาได้
ถ้าจิตมันว่างแล้วมันว่างตลอดน่ะ แล้วเราหลงเข้าใจว่าเราบรรลุธรรมแล้ว ให้รู้เลยนั่นแหละกับดักของวัฏฏะ
สมัยก่อน ลูกศิษย์จิตว่างสว่างกันหลายคนเลย
ตรวจสภาวะกันจริง ๆ ก็มิติส่วนตัวทั้งนั้นแหละ
เคยเข้าถึงได้จริง จากนั้นมันติดใจ
พอติดใจปุ๊บ จิตจำสภาวะ
พอจิตจำสภาวะปุ๊บ สร้างมิติส่วนตัวขึ้นมา
แล้วมันก็ติดอยู่อย่างนั้นล่ะ
เจอโยมคนหนึ่ง โห ว่างสว่างมา 30 กว่าปี มีความสุขมาก ตรวจสภาวะจริง ๆ มิติส่วนตัว เสียเวลาไปเปล่า 30 ปี
ฉะนั้นการที่เราจะพ้นจากกับดักในวัฏสงสารทั้งปวง นั่นคือหัวใจของพระพุทธศาสนา “ธรรมทั้งปวง ใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”
การไม่ติดข้องต่อสิ่งใด ๆ ทั้งปวง ทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะเลย จึงจะเข้าถึงความเป็นกลางที่แท้จริงได้
พระองค์เป็นแบบอย่างแล้วว่าเข้าแล้วต้องถอยได้ การฝึกเดินสภาวะเป็นกุศโลลบายที่จะทำให้ไม่ติดข้องต่อสภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง
ให้เข้าใจตราบใดที่ยังมีกายเนื้ออยู่ในวัฏฏะ มันไม่พ้นจากสัจธรรมที่เรียกว่า อริยสัจ 4 หรอก ทุกข์หรือไตรลักษณ์ก็ตาม เกิดขึ้น ต้งอยู่ ดับไป
มันจะเข้าถึงสภาวธรรม มันเป็นธรรมดา เราเข้าถึงความบริสุทธิ์ เราก็ไม่อยากที่จะถอยออกมา แต่มันผิดสัจธรรมไง
เมื่อมันผิดสัจธรรม ผิดกฏไตรลักษณ์ มันก็คือสิ่งที่เรียกว่ามายา คือกับดักของวัฏฏะนั่นเอง
ให้รู้เท่าทันกิเลสละเอียดตรงนั้น
การเดินสภาวะ มันคือวิธีการที่จะทำให้เราไม่ติดข้องต่อสภาวธรรมใด ๆ ทั้งปวง
ไม่งั้นวาระสุดท้ายก่อนจะดับขันธปรินิพพาน พระองค์ไม่เดินสภาวะไว้เป็นแบบอย่าง ทิ้งไว้ให้เป็นมรดกของโลกหรอก พระองค์ก็ว่างแล้วก็ว่างไปเลยสิ มันไม่ได้เป็นแบบนั้น
“สุญญตวิหาร” มันเป็นผลจากการที่เข้าแล้วออก เข้าแล้วออก ๆ ข้ามไปแล้วถอยกลับมา ข้ามไปแล้วถอยกลับ จนมันเกิดสภาวะที่เรียกว่าอยู่ได้ทั้งสองฝั่ง
สุญญตวิหาร เปรียบเหมือนธรณีประตู ข้ามไปวิวัฏฏะแล้วถอยกลับมา แล้วอยู่ที่ธรณีประตู สัมผัสได้ทั้งฝั่งความบริสุทธิ์ แล้วก็ฝั่งที่เป็นทุกข์คือวัฏสงสาร
ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดได้ มันเป็นผลจากการที่เดินตามมรรค ชำระตน รู้แจ้งอริยสัจ 4 แทงตลอด ๆ เข้าแล้วออก ๆๆๆ จนชำนาญ แล้วดำรงอยู่ได้ที่เรียกว่า “สุญญตวิหาร” จะสามารถอยู่ได้ทั้งสองฝั่งเลย
แต่ให้เข้าใจ การที่อยู่ทั้ง 2 ฝั่ง มันไม่ใช่พ้นออกไป มันคือการที่เราอยู่ที่ธรณีประตู คือรับรู้ได้ทั้งฝั่งของทุกข์ และฝั่งที่เป็นวิวัฏฏะนั่นเอง
เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งหัวใจของพระพุทธศาสนา คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น การไม่ติดข้องต่อสิ่งใด ๆ ทั้งปวง ทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ ท่านทั้งหลายจึงจะพ้นจากบ่วงของวัฏฏะ โดยสิ้นเชิงได้ … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา