21 ก.ค. 2022 เวลา 09:20 • กีฬา
ดำเกิง-ธำรงค์ ปิยนราพร ชายหนุ่มผู้บุกเบิกอีโค เทรล ในประเทศไทย ตอนที่ 2
ดำเกิง-ธำรงค์ ปิยนราพร
:: ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ::
เมื่อตรวจสอบความพร้อมของสถานที่และทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบเรียบร้อยแล้ว ในปี 2562 ดำเกิงจึงจัดงานวิ่งเทรลเต็มรูปแบบงานแรกขึ้นที่เพชรบุรี ในชื่อพริบพรี อีโค เทรล (Pribpree Eco Trail หรือ PET) ซึ่งมีนักวิ่งสมัครเข้าร่วมงานอย่างล้นหลามกว่า 1,200 คน และตอกย้ำความสำเร็จอีกครั้งในปีที่แล้วด้วยยอดผู้เข้าแข่งขันที่ทะลุไปกว่า 1,500 คน
ในขณะที่ความสำเร็จของกิจกรรมกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี สถานการณ์ระบาดรุนแรงของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่เริ่มลุกลามตั้งแต่ต้นปี ก็ทำให้แผนการทุกอย่างที่จะต้องสานต่อในปีนี้ต้องสะดุดลง งานวิ่งจัดไม่ได้ ร้านก็ไม่ได้เปิด เมื่อพอมีเวลาว่าง พร้อมๆ กับเสียงเรียกร้องจากนักวิ่งขาประจำ ทำให้เขาผุดโปรเจ็คท์ใหม่ขึ้นมาในชื่อ The Booster
The Booster เป็นกิจกรรมที่เขาตั้งใจทำให้เป็นสนามฝึกซ้อมสำหรับนักวิ่งที่ต้องการความท้าทาย พัฒนาร่างกายและทักษะการวิ่งของตน ซึ่งกว่าจะจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้ก็เล่นเอาเจ้าของงานเหงื่อตก เพราะต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อผลักดันให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้
“ที่ใช้คำว่าพยายามเนื่องจากสถานการณ์ก่อนหน้านั้นไม่มีความชัดเจน ยอดติดเชื้อแต่ละวันก็หมื่นกว่า สองหมื่น มันก็ทำอะไรไม่ได้ จนกระทั่งเริ่มมีวี่แววว่าจะมีการคลายล็อก ก็ได้สัญญาณมาว่าถ้าจะจัด ก็อนุญาตได้ไม่เกิน 50 คน เราก็เลยเอา 50 เป็นตัวตั้ง แล้วก็ตีโจทย์ว่า 50 คนทำไงดี จัดงานครั้งเดียวไม่คุ้มหรอก ไม่ได้อะไร อันดับแรกเลยคือต้องไม่ถึงกับควักเนื้อ"
"ก็เลยเกิดเป็นโมเดลว่า งั้นทำทั้งเดือนเลยมั้ย เสาร์-อาทิตย์ แต่ว่าทำแบบนั้นมันก็ไม่ใช่ race ไม่ใช่สนามแข่งขัน เพราะ race ควรต้องจัดในวันเดียวกัน แข่งขันกันในเวลาเดียวกัน บนเงื่อนไข สภาพอากาศ สภาพพื้นที่ การจัดการ เดียวกัน ซึ่งจัดแบบนั้นมันก็รับไม่ได้กับสเกลงานที่เคยรับคนเป็นพัน"
“ตีโจทย์กันจนสุดท้ายก็เลยกลายเป็นโมเดลใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะทุกวันนี้ก็มีเสียงชื่นชมเข้ามา ว่าไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ไอเดียดีนะ ซึ่งเรายอมรับว่าเป็นเพราะสถานการณ์พาเรามา แต่เราก็จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่เงื่อนไขเขาเปิดโอกาสให้ โปรเจ็คท์ The Booster ก็เลยเกิดขึ้นมา ตลอดเสาร์และอาทิตย์ของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทีมงานเราก็เต็มที่กันทุกคน”
ความเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด ได้กลายมาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของทีมงานที่เหล่านักวิ่งให้ความไว้วางใจ ซึ่งดำเกิงเองก็ไม่รู้ตัวมาก่อน จนกระทั่งมีหนึ่งในทีมงานมากระซิบบอกว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน The Booster ขอกันแต่งงานหลังจากวิ่งเข้าเส้นชัย
“เนื่องจากเป็นคนจัด เราก็ต้องรู้ซีเควนซ์งานทุกอย่าง เพื่อไม่ให้มีการเซอร์ไพรส์มากเกินไป ผมทราบแล้วก็อดเอาใจช่วย และตื่นเต้นกับเขาไปด้วยไม่ได้ ถ้าย้อนเวลากลับไปก็จะไปสะกิดบอกว่าอย่าลงระยะ 25k เลย เพราะเป็นระยะที่ค่อนข้างยาก กลัวว่าที่ภรรยาของเขาจะวิ่งไม่จบ"
"แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็จบมาได้แบบต่อเวลานิดหน่อย เนื่องจากทุกอย่างสดหมด ฝ่ายผู้ชายเขาเตรียมอุปกรณ์มาเอง ไม่ว่าจะเป็นป้ายผ้า เวล (ผ้าคลุมผมเจ้าสาว) ก็เอามาด้วย ทุกคนที่อยู่ตรงนั้น น้องนักวิ่งอีกคนที่ไม่ได้มาวิ่งก็มาช่วยจัดแจงงาน ป๋าคมรัฐก็มาช่วยถือป้าย ก็เลยเกิดเป็นความทรงจำที่ดีร่วมกัน”
เจ้าบ่าวทำเซอร์ไพรส์ขอแต่งงานท่ามกลางความตื้นตันของทุกคน
:: ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งการดูแลสิ่งแวดล้อม ::
การจัดกิจกรรมที่ต้องรับรองผู้คนจากหลากหลายแหล่งที่มา จำเป็นต้องวางแผนการจัดงานให้รัดกุม นอกจากในเรื่องของการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแล้ว การจัดการขยะก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งดำเกิงเองก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้นำเอาแนวคิดและประสบการณ์จากการรับหน้าที่เป็นแม่ทัพจัดงานที่ผ่านมามาปรับใช้ ตั้งแต่ทุกงานภายใต้ชื่อ TET for the Wild, PET รวมถึง The Booster ซึ่งเป็นกิจกรรมล่าสุด
“ทุกงานที่ผมจัดจะเน้นไปทางด้านอีโค (Eco) โดยมีคอนเซ็ปต์คือ งานวิ่งที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีแรกของงาน PET เราแจ้งให้นักวิ่งนำแก้วน้ำและช้อนส่วนตัวมาเอง เพราะเราต้องการลดขยะ ขยะต่อให้ทิ้งในงานก็เป็นขยะ แย่กว่านั้นคือการทิ้งในสนาม ซึ่งถ้าเป็นของส่วนตัวเขาก็จะไม่ทิ้ง ก็มีดราม่าบ้างนิดหน่อย แต่เราปล่อยให้เงื่อนไขทำหน้าที่คัดกรองคนเข้าร่วมงาน ซึ่งส่วนมากคนที่เข้าร่วมก็ยินดีและเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ"
ขยะที่รอการเก็บคัดแยก ก่อนลำเลียงลงจากภูเขาเพื่อนำไปทิ้ง
“ดังนั้นก็เลยเกิดเป็นสไตล์ของงาน Eco Trail งานวิ่งที่จะสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากงานให้น้อยที่สุด ขยะในงานจะมีการคัดแยก ทำป้าย แบ่งโซนไว้ชัดเจน ขวดน้ำทิ้งจุดหนึ่ง เศษอาหารทิ้งอีกจุดหนึ่ง แม้ว่างาน The Booster จะไม่ได้ทำเข้มข้นเหมือนกับงาน PET แต่เราก็พยายามทำเท่าที่จะทำได้ แต่เราไม่ห่วงเพราะ CP (จุดบริการ) อยู่ที่สถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นที่เดียวกับจุดปล่อยตัว และ CP ข้างนอกมีเพียงจุดเดียว ซึ่งเราบริหารจัดการได้เพราะรถเข้าถึงได้"
“สิ่งที่ทุกคนไม่รู้คือขยะจากงานที่เราจัดทุกวัน เรานำกลับมาทิ้งในตัวเมืองเพชรบุรี เราจะไม่ทิ้งไว้ที่นั่น เพราะเรามองว่าพื้นที่ของราชภัฏใกล้ชิดกับธรรมชาติมาก ถ้าทิ้งไว้ที่นั่นอาจจะต้องรอการขนถ่ายออกไปข้างนอก กลายเป็นภาระ เราจึงพยายามจะจัดการให้จบในทุกสัปดาห์ หลังจากนักวิ่งกลับไปหมดแล้ว"
“ความที่เป็นคนเดินป่าทำให้เห็นว่าธรรมชาติมันมีความสำคัญ มีอิทธิพลกับเรายังไง หากถามว่าควรจะลดจำนวนคนมาเที่ยวลงไหม ผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าการพาคนมาเที่ยวป่าเยอะๆ ทำให้คนรู้ถึงความสำคัญมากขึ้น ดีกว่าการผลักไม่ให้คนเข้ามา แล้วเขาก็จะไม่เห็น ไม่รู้ อะไรเลย ในฐานะที่เป็นคนจัดงาน ถ้ามีคนฟังเราไม่ว่าจะเป็นงาน The Booster วันละ 50 คน หรืองาน PET วันละ 1,500 คน หรือจะกี่คนก็ได้ มันก็ยังดีที่อย่างน้อยผมก็ได้ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์บางอย่างลงไป ให้เขาได้มองอะไรได้ลึกขึ้น นั่นคือจุดประสงค์ของการจัดงาน”
โฆษณา