20 ก.ค. 2022 เวลา 09:41 • ข่าว
อภิปรายไม่ไว้วางใจ
ขายฝันเสรีกัญชา
เอื้อทุนใหญ่ บิดเบือนข้อมูลการแพย์
ออกกฎหมายควบคุม (ทิพย์)
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในประเด็นว่าด้วยผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและเยาวชนจากนโยบายเสรีกัญชา ไปจนถึงจงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชา จนทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนปัญหาด้านการทูต การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ
“ท่านรัฐมนตรีบอกว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด เป็นยาพารวย ปลูกได้ทุกบ้าน ตอนแรกบอก 6 ต้น ตอนนี้เหมือนจะอัพเป็น 10 ต้นแล้ว ท่านบอกว่าจะรับซื้อกัญชากิโลกรัมละ 7 หมื่นบาท ไม่รวยตอนนี้ จะไปรวยตอนไหน แต่ท่านไม่ได้ใช้เงินตัวเองรับซื้อ แต่ใช้เงินจากหน่วยงานของรัฐ
“ท่านบอกว่าเอากัญชาไปผสมอาหารได้ พี้กัญชาก็ได้ เพิ่มเสียงหัวเราะของประชาชนด้วยกัญชา แทนที่จะเพิ่มเสียงหัวเราะของประชาชนด้วยนโยบายทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือ การเอากัญชามาผสมอาหารหรือพี้ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ด้านการแพทย์แน่นอน”
• กัญชาไม่ใช่ยาครอบจักรวาล
นพ.วาโย เปิดข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยประโยชน์ของกัญชาทางการแพทย์ 6 ภาวะ คือ
  • 1.
    ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด
  • 2.
    โรคลมชักที่รักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
  • 3.
    ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • 4.
    ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง
  • 5.
    ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
  • 6.
    การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง
นอกจากนั้น กรมการแพทย์ยังได้ประกาศ 4 ภาวะที่กัญชา (น่าจะ) มีประโยชน์คือ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล และโรคปลอกประสาทอักเสบ
“สังเกตดูดีๆ ว่า 6+4 ภาวะนี้อยู่ในกลุ่มโรคระบบประสาททั้งหมด ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้คือแพทย์ด้านประสาทอายุรกรรมแพทย์ ดังนั้น เราต้องไปฟังว่าแพทย์ด้านประสาทอายุรแพทย์เขาว่ายังไง”
ข้อมูลจากประกาศของสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา สรุปได้ว่า โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) นั้น รวมถึงโรคทางประสาทอื่นๆ ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ากัญชามีประโยชน์ที่ชัดเจนต่อโรค ยิ่งกว่านั้น กลับมีหลักฐานว่ามีผลข้างเคียงจากการใช้กัญชามากกว่าด้วย
“ส่วนโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และโรคลมชักประเภทอื่นๆ ไม่มีหลักฐานเลยว่าสามารถเอากัญชาไปใช้ได้ และหากผู้ป่วยอัลไซเมอร์เอากัญชาไปใช้ กลับทำให้สมองเสื่อมมากขึ้น มีความรู้คิดและความจำแย่ลง กระทั่งโรคนอนไม่หลับ โรคปวดหัว
“แพทย์ยังบอกว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนว่ากัญชามีประโยชน์ต่อโรคระบบทางประสาท แปลว่ามันขัดกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข มากกว่านั้น ประกาศและคำแถลงของราชวิทยาลัยทางการแพทย์ต่างๆ ในประเทศไทยก็ไม่มีสักแห่งเดียวที่สนับสนุนเรื่องนี้”
นพ.วาโย อภิปรายถึงการใช้ข้อมูลทางวิชาการที่ไม่ครอบคลุมและหลากหลายเพียงพอในการออกนโยบายระดับชาติ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ยังเผยข้อมูลคนไข้เด็กจากการใช้กัญชาหลังการปลดล็อก โดยราชวิทยาลัยกุมารเพทย์แห่งประเทศไทย ดังนี้
วันที่ 21-26 มิถุนายน มีผู้ป่วย 6 เคส
วันที่ 27-30 มิถุนายน มีผู้ป่วย 3 เคส
วันที่ 1-10 กรกฎาคม มีผู้ป่วย 5 เคส
“ผมโฟกัสไปที่เด็กเพราะว่าเด็กยังไม่มี Executive Functions หรือความรู้สึกนึกคิดที่จะรู้ได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีกับเขา ท่านในฐานะผู้บริหารและผู้ออกกฎ จะต้องคำนึงถึงเด็กและเยาวชนให้มาก เพราะเขาคือกำลังสำคัญในอนาคต
“ประกาศ World Drug Report 2022 ของ UNODC (สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ) ล่าสุดสรุปได้ว่า ถ้าประเทศไหนทำกัญชาให้ถูกกฎหมาย จากสถิติพบว่าจะมีผู้ป่วยจากกัญชามากขึ้น มีผู้ป่วยซึมเศร้า และมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น See less
• จงใจสร้างสุญญากาศกัญชา ออกกฎหมายควบคุมแก้เก้อ
“กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2477 จนถึงปี 2562 ซึ่งมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขออกมาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐ หมอ มหาวิทยาลัย วิสาหกิจชุมชนฯ ผลิตกัญชาได้ จุดสังเกตคือ ท่านอนุทินเข้ามาดำรงตำแหน่งวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 หมายความว่า ประเทศไทยอยู่ในยุคกัญชาทางการแพทย์มาก่อนที่นายอนุทินจะเข้ามารับตำแหน่งแล้ว ดังนั้น คนที่ทำให้ประเทศไทยเข้ามาสู่ยุคกัญชาทางการแพทย์ ไม่ใช่ท่านอนุทิน
“วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำหนดเฉพาะสารสกัดของกัญชาเท่านั้นที่เป็นสารเสพติด แปลว่า ต้น ช่อดอกที่มีความเข้มข้นของ THC สูง กลับไม่เป็นสารเสพติด แม้ตอนท้ายจะระบุว่า ให้มีผลบังคับใช้ 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั่นแปลว่า ประกาศนี้จะมีผลในวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา
นพ.วาโย ชี้ให้เห็นว่า ภายหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เกิดสุญญากาศทางกฎหมายของกัญชา เมื่อพืชกัญชาและกัญชงได้ถูกปลดล็อกไปแล้ว แต่กลับไม่มีกฎกระทรวง หรือกฎหมายย่อยใดๆ เข้ามาควบคุมการใช้ประโยชน์ทางสันทนาการ ทั้งการควบคุมอายุของผู้ครอบครอง การซื้อขาย หรือการใช้ส่วนของกัญชานอกเหนือจากจุดประสงค์ทางการแพทย์ จนสร้างความกังวลให้กับประชาชนจำนวนมาก
“ระหว่างนั้นท่านรัฐมนตรีพยายามออกมาบอกว่า ฉันพยายามควบคุมแล้วนะ ประกาศเป็นสมุนไพรควบคุมแล้ว แถมก่อนหน้านั้นก็ประกาศเป็นเหตุรำคาญด้วย แต่ผมจะชี้ให้เห็นว่าประกาศทั้งหมดคือการแก้เก้อ ใช้ไม่ได้จริง”
นพ.วาโย ตั้งข้อสังเกตว่า นายอนุทินจงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมาย เพราะในระหว่างการปลดล็อกกัญชานั้น เพิ่งมีการยื่นร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง เข้าสภาในวันที่ 26 มกราคม 2565 และส่งให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นร่างฯ ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่รัฐมนตรีประกาศปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด
เมื่อนายกรัฐมนตรีอนุมัติและส่งกลับมานั้น กลายเป็นว่าเป็นช่วงปิดสมัยประชุมไป 3 เดือน ทำให้ร่างบรรจุเข้าวาระช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และรัฐสภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หรือเพียง 1 วันก่อนครบกำหนด 120 วันที่จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติด
“ทำไมท่านไม่แก้ไขประกาศสาธารณสุขวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เพื่อยืดระยะเวลาออกไปจาก 120 วัน แค่นั้นเอง เพราะเห็นแล้วว่ากฎหมายผ่านไม่ทัน ท่านก็แค่ยกเลิกประกาศให้ใช้ประกาศเดิม รอจนกว่าจะมีกฎหมายควบคุมกัญชา แต่ท่านไม่ทำ”
• ขั้นตอนขอใบอนุญาตส่อเอื้อนายทุน ประชาชนเข้าถึงยาก
“ในมาตรา 46 ห้ามไม่ให้ผู้ใดศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย แปรรูปเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาต แปลว่าหากจะวิจัย ส่งออก ขาย หรือแปรรูป ต้องขอใบอนุญาต คำถามคือ ท่านรัฐมนตรีหมายมั่นปั้นมือจะให้มีการขออนุญาตจริงหรือไม่
“ในมาตรา 78 คือการควบคุมและบังคับใช้มาตรา 46 ระบุว่า ใครที่ละเมิดมาตรา 46 มีโทษอาญาถึงขั้นจำคุก ผมสงสัยว่า มีใครบังคับใช้อำนาจตามมาตรานี้แล้วหรือยัง หากท่านจะมาบอกว่า นี่ไง ฉันประกาศเป็นสมุนไพรควบคุมแล้วนะ มีมาตรา 46 ควบคุมแล้วไง กำลังดำเนินการ ผมขอถามว่า ท่านจะตอบแบบนั้นไม่ได้ เพราะตอนท่านประกาศออกมาเป็นสมุนไพรควบคุม ท่านไม่เคยบอกพวกเราเลยว่าต้องมาขอใบอนุญาตนะ ตอนที่ท่านประกาศเป็นสมุนไพรควบคุม ประชาชนทางบ้านมีใครรู้บ้างว่าต้องขอใบอนุญาตด้วย แล้วที่ขายๆ กันอยู่นั้นผิดหมดเลย เพราะไม่มีใบอนุญาต”
นพ.วาโย ชี้ว่า กระที่ประชาชนจะไปขอใบอนุญาตเพื่อวิจัย ส่งออก จำหน่ายและแปรรูปนั้น มีขั้นตอนที่ซับซ้อนและยากที่ประชาชนจะทำตามเงื่อนไขได้ เช่นระเบียบที่ระบุว่า หนึ่ง - ผู้ขอใบอนุญาตต้องส่งแผนที่อันเป็นบริเวณถิ่นกําเนิดสมุนไพรควบคุมที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติ สอง - ข้อตกลงระหว่างนายทะเบียนกับผู้ขอรับใบอนุญาต โ
ดยผู้ขอรับใบอนุญาตตกลงว่า จะดําเนินการปลูกสมุนไพรควบคุมเพื่อทดแทน ณ บริเวณถิ่นกําเนิดสมุนไพรควบคุมที่มีระบบนิเวศ ตามธรรมชาตินั้น และสมุนไพรควบคุมที่จะปลูกทดแทนนั้นต้องมีจํานวนหรือปริมาณไม่น้อยกว่าจํานวนหรือปริมาณที่นําไปใช้
คำถามสำคัญคือ ระเบียบการใบขออนุญาตที่ออกมานั้น ไม่ได้เอื้อให้กับประชาชน แต่เอื้อเฉพาะรายใหญ่ใช่หรือไม่
“จะมีสักกี่คนที่สามารถขอใบอนุญาตแบบนี้ได้ จะมีสักกี่คนที่สามารถทำข้อตกลงระหว่างนายทะเบียนกับผู้ขอรับใบอนุญาตในเรื่องว่าต้องปลูกสมุนไพรควบคุมคืน ณ แหล่งเนิดตามระบบนิเวศ ประชาชนจะทำได้หรือ?”
ที่ผ่านมา นายอนุทินส่งเสริมการผลิตกัญชา อ้างว่าเพื่อรองรับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ โดยผูกให้วิสาหกิจชุมชน 1 แห่ง ทำร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1 แห่งเท่านั้น และให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้รับซื้อ แต่สุดท้าย อย. ไม่ได้รับซื้อในจำนวนที่คาดไว้ เพราะหมอไม่ใช้ นักวิจัยไม่เขียนโครงการ จึงต้องหาช่องทางปล่อยของ
นพ.วาโย นำเอกสารสรุปผลการตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 ในประเด็นกัญชาทางการแพทย์ ชี้ให้เห็นถึงความพยายามจะเพิ่มดีมานด์กัญชาเพื่อการแพทย์ เพราะมีการตั้งเกณฑ์เป้าหมายในการจัดตั้งคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในแต่ละปี โดยภายในปี 2567 โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และสังกัดกรมวิชาการจะต้องมีคลินิกกัญชาทั้งหมด และสถานพยาบาลเอกชนจะต้องมีคลินิกกัญชาเขตสุขภาพละ 10 แห่ง See less
โฆษณา