22 ก.ค. 2022 เวลา 03:54 • ไลฟ์สไตล์
สืบเนื่องจากวันก่อนแอดมินเล่าถึง “NookNookProject” ซึ่งเป็นการลงแข่งขันชงกาแฟในเวทีที่เรียกว่า “Brewers Cup”
หลายคนจึงสงสัย ทำไมผู้เข้าแข่งขันไม่ใช้กาแฟตัวเดียวกัน?
คนกาแฟอาจรู้อยู่แล้ว และการแข่งชงกาแฟก็มีหลายเวที ที่รู้จักกันกันดีก็อย่างเช่น บาริสต้า ลาเต้อาร์ต ไซฟ่อน ฯลฯ ซึ่งรายละเอียดกฏและกติกาแต่ละเวทีก็จะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์การแข่ง
ลงรายละเอียดนิด Brewers Cup คือการแข่งขันชงกาแฟที่ไม่ใช้เครื่องชง เน้นสกัดผ่านทักษะการชงด้วยมือ ของไทยเริ่มมีเวทีการแข่งนี้ในปี 2016 แต่ของโลกนั้นมีแข่งมาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว โดยผู้ชนะจะเป็นตัวแทนแต่ละประเทศ เข้าแข่งขันกันต่อในระดับเวิล์ด World Brewsers Cup เรียกสั้นๆว่า WBC หรือ WBrC
การแข่งบริวเออร์ประกอบด้วยการชง 2 รอบ รอบแรกเรียกว่า “Compulsory Service” และรอบสองเรียกว่า “Open Service”
Compulsory Service : วัดที่ความเข้าใจกาแฟ ทักษะการสกัด และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องใช้กาแฟตัวเดียวกัน น้ำชนิดเดียวกัน เครื่องบดตัวเดียวกัน *อุปกรณ์การชงอื่นๆเตรียมมาเอง ให้ระยะเวลา 7 นาที ชงกาแฟออกมา 3 แก้ว ทุกคนจะยังไม่รู้ว่าตัวกาแฟและน้ำเป็นอย่างไร จนกระทั่งเวลาซ้อมก่อนการแข่ง 30 นาที
กรรมการจะอยู่หลังเวทีโดยไม่รู้ว่าใครชง ตัวกาแฟจะถูกเจ้าหน้าที่นำมาให้ชิมเป็นเบอร์โค้ด ในรอบนี้ การตัดสินรสชาติชี้วัดจากคุณภาพรสชาติกาแฟแต่ละแก้ว และความสม่ำเสมอทางรสชาติของทั้ง 3 แก้ว
Open Service : เป็นรอบที่ผู้เข้าแข่งขันมีโอกาสได้แสดงความสามารถทุกอย่างที่เป็นตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคใหม่ๆ อุปกรณ์ใหม่ๆ เครื่องบด ดริปเปอร์ กาแฟที่เลือก น้ำที่ใช้ นวัตกรรมการชง ฯลฯ รวมทั้งได้มีโอกาสพรีเซ้นต์ทุกสิ่ง รวมถึงบอกเทสโน้ต บอกที่มาที่ไปของกาแฟตัวนั้นๆ สรุปคือสามารถเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวเราขึ้นมาบนเวที เพื่อชงและพรีเซนต์ให้กรรมการ ทั้งชม ทั้งชิม
ในรอบนี้ ให้ระยะเวลา 10 นาที ชงกาแฟ 3 แก้ว ให้กรรมการ 3 คน โดยกรรมการทั้งหมดมานั่งทั้งฟัง ทั้งชม ทั้งชิม การประเมินจะประเมินทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวที อันได้แก่ ตัวคนชง รสชาติกาแฟทั้ง 3 แก้ว ความสม่ำเสมอของรสชาติ
Compulsory ชี้วัดความสามารถ ความเข้าใจในการชงกาแฟตัวเดียวกันด้วยปัจจัยเหมือนกัน วัดแค่ว่าใครทำได้ดีกว่า แต่รอบโอเพ่นเซอร์วิสเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมที่คิดลงแข่งขัน ได้คิดอะไรใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ผู้แข่งทำงานกับผู้คนที่หลากหลาย คนคั่วกาแฟ ปรับโปรไฟล์การคั่วร่วมกัน เกษตรกรที่พร้อมสนับสนุนและทำงานร่วมกัน แค่เฉพาะแค่บนเวทีก็มีรายละเอียด ดนตรีประกอบ เครื่องแต่งกาย ท่วงท่า ภาษาในการพรีเซ้นต์ ทั้งหมดนี้ล้วนต้องใช้ “ผู้คน” เข้ามาทำงานด้วยทั้งนั้น
การตัดสินคือผู้เข้าแข่งขันที่ได้คะแนนสูงสุด โดยคะแนนรวมทั้งหมด 200 คะแนน มาจาก Compulsory Service 100 คะแนน และ Open Service 100 คะแนน
ย้อนกลับไปที่คำถาม ทำไมผู้เข้าแข่งขันไม่ใช้กาแฟตัวเดียวกัน?
เพราะการแข่งขัน Brewers Cup วัดทุกสิ่งทุกอย่าง และถูกคิดมาแล้วว่าควรมีรอบที่ใช้กาแฟตัวเดียวกัน เพื่อชี้วัดความสามารถในการสกัดภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน และรอบที่สามารถโชว์ทุกสิ่ง เพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ~ อุปกรณ์ เทคนิคชง รวมไปถึงต้นทางการทำเมล็ดและสายพันธุ์ ~ เพื่อให้วงการกาแฟเกิดการขับเคลื่อนมุ่งไปข้างหน้า
ผู้ชนะที่ได้คะแนนจากการชงทั้ง 2 รอบสูงสุด ทั้ง Compulsory Service และ Open Service ทำให้อีเว้นท์การแข่งขันชงกาแฟเวทีนี้มีความหมาย มากไปกว่าการได้แค่ “ผู้ชนะ” ที่สกัดกาแฟเก่งที่สุดนั่นเอง.
#กาแฟไทยต้องไปต่อ
#ไปต่อแบบหนุกหนุก
#NookNookProject
โฆษณา