22 ก.ค. 2022 เวลา 08:10 • ข่าว
จิราพร สินธุไพร ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณี ใช้มาตรา 44 และมติ ครม. 10 พฤษภาคม 2559 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำอัคราจนผิดพลาดเสียหาย แม้อนุญาโตตุลาการเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่ยุติ และมีแนวโน้มลุกลามบานปลาย ทั้งยังระบุว่า เรื่องนี้เคยถูกนำมาเป็นหัวข้ออภิปรายในสภามาแล้วหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน ทว่าปัญหานี้กลับยังไม่มีทางออก
แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการออกมา และคดีความยังไม่สิ้นสุด แต่ความเสียหายและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ประชาชนต้องจ่ายได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยและบริษัทคิงส์เกต ปีงบประมาณ 2560-2564 จำนวน 731,130,000 ล้านบาท
2. ค่าภาคหลวงที่ควรจัดเก็บจากการทำเหมืองทองคำ ก็ไม่สามารถจัดเก็บได้ ตั้งแต่ปี 2560- ปัจจุบันราว 3,000 ล้านบาท (ตัวเลขอาจสูงกว่านั้น)
3. ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อพนักงานของบริษัทและครอบครัวประชาชนในพื้นที่ รวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ ในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และจังหวัดใกล้เคียงหลายหมื่นชีวิต
4. ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย กระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ
มากกว่านั้น จิราพรชี้ว่า หากในอนาคตประเทศไทยแพ้คดี จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 720 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 30,000 ล้านบาท
ด้านความเห็นจากนักกฎหมายระหว่างประเทศหลายท่านมองว่า ค่าเสียหายที่แท้จริงนั้น อาจจะเฉียดถึงหนึ่งแสนล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีค่าเสียหายจากการที่บริษัทคิงส์เกตทำกับบริษัทประกันความเสี่ยงทางการเมือง (Zurich Australia Insurance Limited) ซึ่งศาลเมืองนิวเซาท์เวลส์ได้ตัดสินแล้วว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยทำกับบริษัทคิงส์เกตเป็นความเสี่ยงทางการเมือง และต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 55 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,700 ล้านบาท ซึ่งบริษัทประกันภัยดังกล่าวสามารถมาไล่บี้เอากับรัฐบาลไทยในภายหลังได้หากประเทศไทยแพ้คดี
มากกว่านั้น หลังจากมีการสืบพยานพิจารณาคดีทีประเทศสิงคโปร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมมีหนังสือลับที่สุด ลงวันที่ 24 มีนาคม 2563 เรื่องรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัทคิงส์เกต ซึ่งที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทยได้ตั้งข้อสังเกตว่า อนุญาโตตุลาการให้ไทยกับบริษัทคิงส์เกตทำแบบจำลองค่าเสียหาย แสดงว่า ต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายแน่นอน สรุปว่า ค่าชดใช้ความเสียหายแบ่งเป็นสองกรณี
1. กรณีบริษัทอัคราฯ ไม่ดำเนินการต่ออีกเลย ประเทศไทยต้องจ่ายค่าชดเชย
2. กรณีบริษัทอัคราฯ ยังดำเนินการต่อ ประเทศไทยต้องจ่ายค่าชดเชย
“สรุปคือ ไม่ว่าบริษัทอัคราฯ จะทำเหมืองหรือไม่ทำเหมือง ไทยก็ต้องจ่ายค่าเสียหายทั้งสิ้น เท่ากับว่า ที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทยกำลังบอกพลเอกประยุทธ์ว่า เตรียมเงินไว้นะ ไทยกำลังจะแพ้คดี”
โฆษณา