27 ก.ค. 2022 เวลา 02:47 • ไลฟ์สไตล์
“ถ้ามันหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ได้เอง
มันจะขึ้นวิปัสสนาได้”
“ … เมื่อเราเดินอยู่ในทางสายกลาง เจริญสติเรื่อยๆ ไป
รู้กายอย่างที่กายเป็น
รู้ใจอย่างที่ใจเป็นไปเรื่อยๆ
แต่ไม่ใช่รู้เฉยๆ รู้แล้วก็หมายรู้
คือมองกายในมุมของความเป็นไตรลักษณ์
มองจิตใจในมุมของความเป็นไตรลักษณ์
ไม่ใช่ดูกายเฉยๆ ดูใจอยู่เฉยๆ
ถ้าเราดูกายอยู่เฉยๆ ก็เป็นสมถกรรมฐาน
ดูใจอยู่เฉยๆ ก็เป็นสมถกรรมฐาน
ฉะนั้นอารมณ์รูปนามกายใจใช้ทำวิปัสสนาก็ได้
ใช้ทำสมถะก็ได้
อย่างบางคนกำหนดลมหายใจ
หายใจออก หายใจเข้า จ้องอยู่ที่ลมไป
ใจไม่หนีไปที่อื่น ใจก็มีความสุข มีความสงบ
ก็ได้สมาธิ ได้สมถะ
1
หรือดูจิตนั้นก็ไปจ้องจิต เพ่งอยู่ที่
มองลงไปทีแรกมันว่างๆ
ก็ไปเพ่งในความว่างก็เป็นสมถะ
ชื่ออากาสานัญจายตนะ
ก็เห็นช่องว่างความว่างมันถูกรู้ จิตมันเป็นผู้รู้ผู้ดู
ก็วางการเพ่งความว่าง หันมาจ้องอยู่ที่จิตผู้รู้
มาเพ่งจิตผู้รู้นั้นมันก็เป็นสมถกรรมฐาน
ชื่อว่าวิญญาณัญจายตนะ
1
ภาวนาต่อไปอีกก็เห็นว่าอารมณ์คือช่องว่าง
จิตผู้รู้เป็นผู้ไปรู้อารมณ์ ทั้งคู่ ทั้งอารมณ์ ทั้งจิต
ถ้ายังต้องคอยสังเกตคอยหมายรู้อยู่ มันเป็นภาระ
จิตก็ไม่เอาทั้งอารมณ์ ไม่เอาทั้งจิต
ก็เป็นสมถะอีกแบบหนึ่งชื่อ อากิญจัญญายตนะ
ตราบใดที่ไม่เห็นไตรลักษณ์
ถึงจะดูกายหรือดูจิตก็ตาม
มันก็จะเป็นสมถกรรมฐานทั้งหมด
สมถกรรมฐานเป็นกรรมฐานที่ไม่เลือกอารมณ์
ใช้รูปธรรมเป็นอารมณ์ก็ได้
อย่างเราจุดเทียนขึ้นมาแล้วจ้องอยู่ที่ไฟ
ใช้ไฟเป็นอารมณ์เป็นกสิณไฟ
หรือเอาน้ำใส่กะละมังมาตั้งข้างหน้าเราแล้วก็ดูอยู่ที่น้ำ
ก็เป็นกสิณน้ำ ไม่เห็นไตรลักษณ์ก็เป็นสมถะทั้งหมด
รู้ลมหายใจ เพ่งลมหายใจ ก็เป็นสมถะ
ฉะนั้นสมถะโอกาสที่เราจะทำสูงกว่าวิปัสสนามากเลย
บางคนคิดว่าดูกายดูใจจะเป็นวิปัสสนา ไม่เป็นหรอก
เกือบร้อยละร้อยของคนที่ดูกายดูใจทำแต่สมถะ
มีกายก็เพ่งกาย มีใจก็เพ่งใจ
อารมณ์ที่ใช้ทำสมถะนั้นยังมีอีก 2 อย่าง
นอกจากอารมณ์รูปนาม
อารมณ์บัญญัติ เรื่องราวที่เราคิด
อย่างเราคิดพิจารณาร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม
เราคิดๆ เอา หรือกำหนดจิตลงไปดูลงในร่างกาย
แล้วพิจารณาเป็นซากศพ
ถ้าตาย 1 ชั่วโมงเป็นอย่างนี้
ตาย 6 ชั่วโมงเป็นอย่างนี้ เริ่มตัวแข็งแล้ว 6 ชั่วโมง
ตาย 12 ชั่วโมงเริ่มเน่าตัวเริ่มนิ่มลง
1
พิจารณาไปเรื่อยเห็นร่างกายเน่าเปื่อยผุพัง
จิตก็สงบ ราคะเข้ามาแทรกแซงจิตไม่ได้
จิตสงบ สบาย เงียบ
การใช้การคิดพิจารณาก็เป็นสมถะ
ถึงจะพิจารณาร่างกายก็เป็นสมถะ
ฉะนั้นสมถะมันกว้างขวาง
ใช้อารมณ์บัญญัติคือเรื่องราวที่คิดก็ได้
ใช้อารมณ์รูปธรรมก็ได้ อารมณ์นามธรรมก็ได้
1
อารมณ์มี 4 ชนิด
อารมณ์บัญญัติ รูปธรรม นามธรรม และก็นิพพาน
อารมณ์นิพพานพวกเราไม่ต้องพูดถึง
เพราะเราไม่เห็น เราเอามาทำสมถะไม่ได้
ก็จะมี 3 อันที่เราจะทำสมถะได้
อารมณ์นิพพานนั้นต้องพระอริยบุคคล
ท่านใช้อารมณ์นิพพานทำสมถะได้ ปุถุชนทำไม่ได้
ฉะนั้นเวลาเราภาวนา เรามาเห็นจิต
บางคนบอกว่า ถ้าเห็นจิตเป็นวิปัสสนา เห็นกายเป็นสมถะ อันนี้เข้าใจผิด
หมายรู้ไตรลักษณ์
ถ้าเราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกายนั้นเป็นวิปัสสนา
ถ้าเราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตถึงจะเป็นวิปัสสนา
ถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ไม่ใช่วิปัสสนา
อย่างเห็นร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ
ไม่ใช่วิปัสสนา เป็นสมถะ เพราะอะไร
ไตรลักษณ์นี้เป็นของจริง เป็นของจริงแท้แน่นอน
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์
สภาวะทั้งหลายเป็นอนัตตา
มันแน่นอนไม่กลับกลอก
ส่วนปฏิกูลอสุภะนั้นเป็นเรื่องคิดๆ เอา
อย่างเราบอกว่าขี้หมาสกปรกเป็นอสุภะ
แมลงวันบอก แหม หอมชื่นใจ
ฉะนั้นมันไม่ใช่ของจริง มันไม่ใช่ความจริง
ถ้าเราดูร่างกาย แล้วก็เห็นความน่ารังเกียจ
แล้วเราก็เข้าฌานถอดจิตไปดูในพรหมโลก
หรือในเทวโลก กายของเทพของพรหม
มันไม่มีอสุภะให้ดู ดูสวยดูงามไปหมด
เพราะฉะนั้นมันเป็นอสุภะเฉพาะกายบางอย่าง
กายบางอย่างไม่เป็น
ไม่เหมือนไตรลักษณ์
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
จะเป็นสังขารที่หยาบที่ละเอียด
สังขารของสัตว์นรก ของเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
สังขารมนุษย์ สังขารเทวดา สังขารของพรหม
ไม่เที่ยงเหมือนกันทั้งนั้น มันเป็นหลักตายตัว
ปฏิกูลอสุภะไม่ใช่ของตายตัว อยู่ที่จิตกำหนดเอา
ถ้าจิตสำคัญมั่นหมายว่ามันสกปรก มันก็สกปรก
สำคัญมั่นหมายว่ามันสวยงาม มันก็สวยงาม
ฉะนั้นในตำรามี ในพระไตรปิฎกบอก
พระอริยบุคคลทุกองค์ มีฤทธิ์อยู่ชนิดหนึ่ง
คือสามารถเห็นของที่เป็นอสุภะว่าเป็นสุภะได้
ของสกปรกดูให้มันไม่สกปรกก็ได้
ของที่มันสวยงามไม่สกปรกดูให้สกปรกก็ได้
ฉะนั้นมันไม่ใช่ของที่แน่นอน
เวลาเราจะเจริญวิปัสสนาจริงๆ ต้องเห็นไตรลักษณ์
กายมนุษย์หรือกายเปรต หรือกายเทวดา กายพรหม
ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ทนอยู่ไม่ได้เหมือนกัน
แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับควบคุมเหมือนๆ กัน
นี่เป็นความจริงทั่วๆ ไปถึงเรียกว่าสามัญญลักษณะ
สามัญญลักษณะคือลักษณะร่วม
ลักษณะทั่วๆ ไปของสังขารทั้งหลาย
สังขารก็คือ สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาทั้งหลาย
พอเราภาวนาแล้วค่อยๆ สังเกตไป
เรารู้ลงในร่างกาย อย่าดูกายอยู่เฉยๆ
ให้หัดมองกายในมุมของไตรลักษณ์
หรือเวลาดูจิตอย่าไปเพ่งจิตอยู่เฉยๆ
ให้หัดดูจิตในมุมของความเป็นไตรลักษณ์ไว้
การที่เราหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์
เรียกเรามีสัญญาที่ถูกต้อง
วิปัสสนาจะทำไม่ได้ถ้าไม่มีสัญญาที่ถูกต้อง
อย่างบางคนบอกว่า ถ้ามีสัญญาจะไม่ใช่
สัญญากับปัญญาเป็นสิ่งตรงข้ามกัน อันนั้นไม่ใช่
อันนั้นเป็นพูดๆ เอาเอง
ฉะนั้นอย่างเราดูกาย
เราต้องหมายรู้กายในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แล้วปัญญาถึงจะเกิด
ถ้าเราไปหมายรู้กายเป็นของสวยของงามอะไรอย่างนี้
ราคะมันก็เกิด
ฉะนั้นเราต้องหัดหมายรู้
หัดหมายรู้จะดูกาย ก็หัดหมายรู้กายว่าเป็นไตรลักษณ์
จะหัดดูจิตก็หมายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์
วิธีหัดหมายรู้ทำอย่างไร
จิตใจเราไม่คุ้นเคยกับการหมายรู้ไตรลักษณ์
จิตใจของเราตั้งแต่เกิดมา เราถูกสอนให้หมายรู้ผิด
มันหมายรู้ผิดเรียกสัญญาวิปลาส
หมายรู้ผิดมี 4 อย่าง
หมายรู้ของมันไม่สวยไม่งาม
หมายรู้ว่าสวยว่างาม
อย่างพวกผู้หญิงชอบหมายรู้
ว่าเรานี้สวยงามเหลือเกิน
วิธีสวยก็คือถ้าหนังมันหย่อนมันยานก็ไปดึงให้ตึง
แล้วก็บอกว่าสวยแล้ว
ที่จริงข้างในไม่สวยอะไร
หรือแต่งหน้า ทาปาก เขียนคิ้ว ย้อมผม บอกสวยๆ
แต่ข้างในก็เป็นเหมือนโรงงานอันหนึ่ง
ร่างกายนี้เหมือนโรงงานอันหนึ่ง
เอาวัตถุดิบป้อนเข้าไป
ผลผลิตออกมาคืออุจจาระปัสสาวะนั่นล่ะ
พอเข้าไปในกระบวนการ เข้าในร่างกายนี้ออกมา
ไม่ดีไม่วิเศษแล้ว
นี้สำหรับพวกที่หลงในรูปมากๆ
ก็หัดดูกายให้เห็นมันเป็นอสุภะเป็นปฏิกูลบ้าง
ถึงยังไม่ขึ้นวิปัสสนา
แต่มันทำให้ใจหายฟุ้งซ่าน
หมายรู้อสุภะยังไม่ได้เป็นวิปัสสนา
หมายรู้อย่างที่สอง คือหมายรู้ความไม่เที่ยง
หมายรู้อันที่สาม หมายรู้การทนอยู่ไม่ได้
มันถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
หมายรู้อันที่สี่คือ หมายรู้ความเป็นอนัตตา
ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
ทำอย่างไรมันจะหมายรู้ได้
ถ้าจิตนี้ไม่เคยหมายรู้ถูก เคยแต่หมายรู้ผิด
อย่างพอมองร่างกายเรา
ก็หมายรู้ว่านี้คือตัวเราทุกทีเลย
มันหมายรู้ผิดมาตั้งแต่เด็ก
เด็กเล็กๆ พอเกิดมา ผู้ใหญ่ก็ไปล้อมจ๊ะเอ๋ๆ ชวนเด็กคุย
สอนเด็กนี่พ่อ นี่แม่ นี่ปู่ ย่า ตา ยาย สอน
ไม่มีใครไปสอนเด็กว่า
เห็นไหมโลกนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ไม่มีใครไปสอนเด็ก
สอน สอนย้ำในความมีตัวมีตนตลอดเวลา
ตัวตนของพ่อของแม่
โตขึ้นมาหน่อยก็มีตัวตนของตัวเอง
มีเราอย่างโน้นเราอย่างนี้
ตั้งแต่เด็กๆ ลองคิดดู
วันหนึ่งๆ เราคิดถึงคำว่าเราๆ กี่ครั้ง
บางคนไม่คิดคำว่าเรา กูอย่างโน้นกูอย่างนี้
มันย้ำมันเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ
มันหมายรู้ผิดอย่างนี้มาตลอด
แล้วจะต้องมาหัดใหม่ หมายรู้ให้ถูก
ทีแรกมันก็ยากเหมือนกัน
วิธีฝึกให้หมายรู้ถูก
เพราะฉะนั้นวิธีฝึกที่ให้หมายรู้ถูก
ขั้นแรกทำใจให้สบายก่อน
ทำสมถะ ไหว้พระ สวดมนต์
หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
ให้ใจมันสบายๆ ก่อน อย่าเครียด
พอจิตใจมันสบายแล้ว คิดพิจารณาลงไปในร่างกายนี้
ร่างกายของเรานี้ไม่เที่ยง
เมื่อก่อนเราเป็นเด็ก
ตอนนี้โตขึ้นมาเป็นคนกลางคนแล้ว หรือว่าแก่แล้ว
หรือพิจารณาไปมันทนอยู่ไม่ได้จริง
ความเป็นเด็กมันก็ทนอยู่ไม่ได้
ความเป็นวัยรุ่นมันก็ทนอยู่ไม่ได้
ความเป็นหนุ่มสาวมันก็ทนอยู่ไม่ได้
ความแก่มันก็ทนอยู่ไม่ได้ ค่อยๆ สอนมันไป
หรือบางทีการสอนนั้นก็สอนแบบมีตัวอย่างให้ดู
เห็นไหมคนรอบๆ ตัวเรา
คนที่เรารู้จัก คนนั้นแก่ คนนี้เจ็บ คนนี้ตาย
สอนมันไปเรื่อยๆ ตรงนี้ยังไม่เป็นวิปัสสนา
ยังเจือการคิดพิจารณาอยู่
แต่การคิดพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
มันเป็นการกระตุ้นให้จิตหัดหมายรู้ให้ถูก
อย่างเราพิจารณาร่างกายเรื่อยๆ
มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ต่อไปเราไม่ได้เจตนาจะมองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จิตมันมองได้เอง
ตรงนั้นจิตมันหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ได้เองแล้ว
ถ้ามันหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ได้เอง
มันจะขึ้นวิปัสสนาได้
วิปัสสนาจะไม่ใช่คิดเอา แต่วิปัสสนานั้นจะต้องเห็นเอา
เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกาย
เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตใจ
อย่างนี้เป็นอุบาย
เป็นวิธีกระตุ้นให้จิตเห็นไตรลักษณ์ของร่างกาย
เราจะมาดู หัดกระตุ้นให้จิตเห็นไตรลักษณ์ของจิตจะทำอย่างไร
เราลองพิจารณาลงไป
จิตเราแต่ละวันไม่เคยเหมือนกันเลย
วันนี้สุข วันนี้ทุกข์ วันนี้ดี วันนี้โลภ วันนี้โกรธ วันนี้หลง
บางวันโมโหทั้งวัน
เบื้องต้นก็มองเป็นวันๆ ไป
ต่อมาเราก็ละเอียดขึ้นไปอีก
ในหนึ่งวันตอนเช้าจิตใจเราก็เป็นแบบหนึ่ง
ตอนสายจิตใจเราก็เป็นแบบหนึ่ง
ตอนกลางวัน ตอนบ่าย ตอนค่ำ ตอนดึก
จิตใจเราไม่เหมือนกัน จิตใจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ
อย่างคนส่วนใหญ่เช้าๆ โมหะเยอะ
ตอนเช้าตื่นมาซึมๆ งัวเงียๆ อยู่ โมหะมันครอบเอา
แล้วตื่นออกมาแข็งใจออกมา
ทำกิจกรรมประจำวันต่างๆ มาทำมาหากิน ทำงาน
กระทบกระทั่งอารมณ์
โทสะมักจะเกิดเยอะเลยช่วงกลางวัน
พอตอนเย็นสบายใจแล้ว
งานการเสร็จไม่มีธุระอะไรสบายใจ
ราคะมักจะเอาไปกิน
เราหัดสังเกต แต่บางคนก็อาจจะไม่เรียงลำดับอย่างนี้
ไม่ใช่โมหะ ราคะ โทสะเหมือนกันทุกคนหรอก
เราไปดูของจริงของเราเอง
เราจะพบว่าในหนึ่งวันแต่ละช่วงเวลา
จิตใจเราก็ไม่เหมือนกัน ไม่เที่ยง
พอเราดูได้อย่างนี้แล้ว
ต่อไปเราก็ดูละเอียดเข้าไปอีก
เราจะพบว่าจิตใจของเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เมื่อตาเห็นรูปจิตเราก็เปลี่ยน
เห็นรูปบางอย่างมีความสุข
เห็นรูปบางอย่างมีความทุกข์
เห็นรูปบางอย่างจิตเป็นกุศล
เห็นรูปบางอย่างจิตโลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่
ได้ยินเสียงบางอย่างจิตก็มีความสุข
ได้ยินเสียงบางอย่างจิตก็มีความทุกข์
ได้ยินเสียงบางอย่างจิตก็เป็นกุศล
ได้ยินเสียงบางอย่างจิตโลภ โกรธ หลง
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์
เราก็จะเห็นว่าจิตเราเปลี่ยน
ทุกครั้งที่มีการกระทบอารมณ์ ใจเราคิด
พอใจเราคิดบางทีก็มีความสุข
ใจเราคิดบางทีก็มีความทุกข์
เราก็เห็นใจนี้เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์
คิดเรื่องนี้สุข คิดเรื่องนี้ทุกข์
คิดเรื่องนี้เป็นกุศล
คิดเรื่องนี้โลภ คิดเรื่องนี้โกรธ คิดเรื่องนี้หลง
ใจไม่แน่นอน
หัดดูไปเรื่อยๆ เราจะเห็นว่าเมื่อมีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตใจเราเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ หัดรู้หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ ไป
ทีแรกก็ดูเป็นวันๆ แต่ละวันไม่เหมือนกัน
ต่อมาละเอียดขึ้นในวันเดียวกัน
เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ดึก ไม่เหมือนกัน
พอละเอียดขึ้นมาถึงที่สุดเลย ก็จะเห็นทุกคราวที่มีผัสสะ
มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
จิตใจเราก็ไม่เหมือนกัน เปลี่ยนตลอด
ถ้าเห็นอย่างนี้เราจะดูจิตได้ละเอียดยิบเลย
จะเห็นจิตมันทำงาน
เดี๋ยวปรุงดี เดี๋ยวปรุงชั่ว เดี๋ยวปรุงสุข เดี๋ยวปรุงทุกข์
สารพัดจะปรุง
แล้วต่อไปเราไม่ได้เจตนาจะเห็น
จิตมันเคยเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของจิต
เราไม่ได้เจตนาจะเห็น มันเห็นเอง …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 กรกฎาคม 2565
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา